ไหม คือ เส้นใยจากรังไหมผีเสื้อชนิด Bombyx mori ในวงศ์ Bombycidae ผีเสื้อชนิดนี้อ้วนป้อม มีขนขาวและสีครีมคลุมเต็มตัว ปีกมีลายเส้นสีน้ำตาลอ่อนหลายเส้นพาดตามแนวขวาง เมื่ออยู่ในช่วงวัยอ่อนจะเป็นตัวหนอนสีขาวหรือครีม มีรยางค์เล็ก ๆ สั้น ๆ คล้ายขาที่ปลายหาง หนอนไหมที่เลี้ยงกันในประเทศไทยกินใบหม่อนเป็นอาหาร เมื่อหนอนโตเต็มที่จะถักใยหุ้มดักแด้เพื่อฟักตัวเป็นผีเสื้อ ในช่วงนี้เองที่เรานำมาต้มเพื่อสาวเส้นใยออกมาทอเป็นผืนผ้าได้
ไหมเป็นแมลงที่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างแบบสมบูรณ์ (completely metamorphosis insect) แบ่งออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ไข่ ตัวหนอน ดักแด้ และผีเสื้อ วงจรชีวิตไหมจะเริ่มต้นจากไข่ ใช้เวลาฟักตัวประมาณ 9-10 วัน กลายเป็นหนอนไหม ในระยะนี้หนอนไหมจะกินใบหม่อนเป็นอาหาร และนอนประมาณ 4-5 ช่วง ใช้เวลาประมาณ 22-26 วัน พอหนอนไหมแก่ หรือสุกจะชักใยทำรังหุ้มตัวเอง ตัวไหมจะลอกคราบเป็นตัวดักแด้อยู่ในรัง ช่วงเป็นรังไหมใช้เวลาประมาณ 8-10 วัน จากนั้นดักแด้ก็จะกลายเป็นผีเสื้อ ผีเสื้อไหมจะใช้น้ำลายซึ่งมีฤทธิ์เป็นด่างละลายใยไหม และเจาะรังไหมออกมาผสมพันธุ์และวางไข่ โดยจะมีชีวิตอยู่ในช่วงนี้ประมาณ 2-3 วัน ก็จะตาย
เส้นไหมที่ชาวบ้านสมพรรัตน์นำมาทอเป็นผืนผ้านั้น ส่วนหนึ่งได้จากการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมของชาวบ้านเอง สมัยก่อนชาวบ้านสมพรรัตน์จะเลี้ยงหนอนไหมสายพันธุ์นางน้อย ปัจจุบันกรมหม่อนไหมได้พัฒนาสายพันธุ์และส่งเสริมให้เลี้ยงพันธุ์ดอกบัว พันธุ์นางตุ่ย เป็นต้น
ไชยยงค์ สำราญถิ่น กล่าวว่า ชื่อไหมพันธุ์พื้นเมืองส่วนใหญ่จะมีคำว่า “นาง” นำหน้า เนื่องจากเกษตรกรผู้เลี้ยงจะเรียกชื่อตามผู้ที่เลี้ยงคนก่อนที่เลี้ยงมาอย่างต่อเนื่องจนได้ผลดี และมีคุณสมบัติดีเด่นเฉพาะตัว เกษตรกรจึงให้เกียรติแก่เจ้าของพันธุ์ โดยการเรียกชื่อเจ้าของซึ่งส่วนใหญ่จึงใช้คำว่า “นาง” นำหน้าและต่อด้วยผู้เลี้ยงมาตั้งเป็นชื่อพันธุ์ไหมเช่น นางเหลือง นางเขียว นางลิ่ว นางน้อย นางน้ำ ฯลฯ ยุคต่อมาก็ใช้เรียกชื่อตามสถานที่ หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัดที่นำมา เช่น โนนฤษี หนองแก้ว เขียวสกล เป็นต้น
- ไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้านพันธุ์นางตุ่ย
- พันธุ์ไหมไทยนางน้อยสกลนคร(SP1)
- ไหมพันธุ์นางน้อยศรีสะเกษ-1
- พันธุ์ไหมลูกผสมอุบลราชธานี 60-35
การเตรียมการก่อนการเลี้ยงไหม
ชาวบ้านจะต้องเตรียมการก่อนที่จะเริ่มต้นการเลี้ยงไหมในแต่ละรุ่น ดังนี้
1. อุปกรณ์การเลี้ยงไหม เช่น กระด้งเลี้ยงไหม มีด เขียง ตาข่ายถ่ายมูล จ่อ ตะแกรงร่อน ตะเกียง ถังน้ำ เข่งหรือตะกร้าเก็บใบหม่อน รองเท้าแตะ สารโรยตัวไหม ปูนขาว เป็นต้น
2. ห้องเลี้ยงไหม สำหรับในส่วนของอุปกรณ์และห้องเลี้ยงไหมจะต้องทำความสะอาดโดยการล้างด้วยผงซักฟอกและตากแห้ง เพื่อเป็นการฆ่าเชื้อโรค และเป็นวิธีการป้องกันกำจัดโรคที่ดีที่สุด ชาวบ้านสมพรรัตน์ส่วนใหญ่จะทำโรงเรือนไว้ใต้ถุนบ้าน มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก และคลุมด้วยมุ้งไนล่อนเพื่อป้องกันแมลง
3. ไข่ไหมพันธุ์ดี ส่วนใหญ่ชาวบ้านสมพรรัตน์จะเลี้ยงหนอนไหมพันธุ์นางน้อย พันธุ์ดอกบัว พันธุ์นางตุ่ย ซึ่งชาวบ้านจะได้รับการสนับสนุนจากศูนย์ศิลปาชีพ อ.บุณฑริก จ.อุบลราชธานี และจากประสบการณ์การเลี้ยงของชาวบ้านสมพรรัตน์ พบว่า การเลี้ยงหนอนไหมพันธุ์นางน้อยจะให้เส้นไหมสวยและสาวได้เยอะ
4. แปลงหม่อนที่สมบูรณ์พร้อมที่จะเก็บมาเลี้ยงไหม ซึ่งหากชาวบ้านรายใดเป็นสมาชิกของโครงการศิลปาชีพก็จะได้รับการจัดสรรแปลงปลูกหม่อนของโครงการ
กรมหม่อนไหมได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงหนอนไหม ดังนี้
การจัดการไหมแรกฟัก
นำแผ่นไข่ไหมที่ผ่านการกกมาเรียบร้อยแล้ว มาวางบนกระด้งเลี้ยงไหมเพื่อพร้อมเปิดเลี้ยงไหมในวันรุ่งขึ้น แผ่นไข่ไหมจะถูกห่อหุ้มด้วยกระดาษแก้วขาวขุ่นอยู่ชั้นใน ส่วนชั้นนอกจะห่อด้วยกระดาษดำ ในช่วงเช้าตรู่ประมาณ 05.00น. ให้ทำการแกะกระดาษดำออกเพื่อให้ไข่ไหมได้รับแสงสว่าง ไข่ไหมจะเริ่มแตกเพื่อให้ตัวอ่อนออกจากไข่ ปล่อยให้ได้รับแสงประมาณ 5-6 ชั่วโมง คือ เวลาประมาณ 10.00-11.00 น. แล้วจึงเปิดกระดาษห่อแผ่นไข่ไหมชั้นในออก ทำการโรยสารพาราฟอร์มาดีไฮด์ผง ความเข้มข้นประมาณ 3 เปอร์เซนต์ ให้ทั่วตัวไหม ให้นำใบหม่อนที่หั่นเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมเล็กๆ ขนาดประมาณ 0.5 x 0.5 เซนติเมตร ประมาณ 40 กรัม ไปโรยให้หนอนไหมกิน ประมาณ 10-15 นาที แล้วทำการเคาะแผ่นไข่ไหมด้านตรงข้ามกับด้านที่มีตัวหนอนไหมอยู่ เพื่อให้หนอนไหมล่วงลงในกระด้งเลี้ยงไหมที่เตรียมไว้ จากนั้นใช้ขนไก่ปัดตัวหนอนไหมที่เหลืออยู่ที่แผ่นให้ไปอยู่รวมกันบนกระด้งเลี้ยงไหม พร้อมทั้งใช้ขนไก่เกลี่ยให้ตัวหนอนไหมกระจายอย่างสม่ำเสมอบนกระด้งเลี้ยงพร้อมกับขยายพื้นที่ให้ได้ประมาณ 2 เท่าของแผ่นไข่ไหม แล้วให้ใบหม่อนอีกครั้งประมาณ 80 กรัม ในมื้อเย็นเวลาประมาณ 17.00 น. เป็นการเสร็จสิ้นของการเลี้ยงไหมในวันแรก จากนั้นในการเลี้ยงไหมวันต่อ ๆ มาก็จะมีการให้ใบหม่อนแก่หนอนไหมวันละ 3 มื้อ คือเวลา 07.00-08.00 น. 11.00-12.00 น. 17.00-18.00 น. ยกเว้นวันไหมนอนเพราะหนอนไหมจะหยุดกินใบหม่อน
การเลี้ยงไหมแรกฟักออกจากไข่แล้วเจริญเติบโตเป็นวัย 1 วัย 2 วัย 3 ไหมวัยนี้มีความอ่อนแอต่อโรค จึงจำเป็นต้องมีการเลี้ยงอนุบาลที่ดี โดยเน้นเทคนิคการเลี้ยงไหมที่ถูกต้องทุกขั้นตอน เอาใจใส่อย่างดี เป้าหมายการเลี้ยงไหมวัยอ่อน คือ เลี้ยงให้หนอนไหมสมบูรณ์แข็งแรง เจริญเติบโตอย่างสม่ำเสมอตื่น – นอนพร้อมเพรียงกัน และลดการสูญหายของหนอนไหม
ใบหม่อนที่เหมาะสมกับไหมวัยอ่อน
- ใบหม่อนสำหรับไหมแรกฟัก (วัย 1 วันที่ 1/ไหมแรกฟัก) ใช้หม่อนใบที่ 1–2 โดยนับใบที่คลี่แผ่นใบรับแสงมากที่สุดเป็นใบที่ 1 หั่นละเอียดก่อนนำไปเลี้ยงหนอนไหม
- ใบหม่อนสำหรับไหมวัย 1 ใช้ใบหม่อนใบที่ 1–3 เท่านั้น และหั่นละเอียดก่อนนำไปเลี้ยงหนอนไหม
- ใบหม่อนสำหรับไหมวัย 2 ใช้ใบหม่อนใบที่ 4–6 หรือสังเกตจากตาหม่อน โดยตาหม่อนจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล จะใช้ส่วนนี้ขึ้นไปถึงยอดอาจเก็บโดยการตัดหรือเด็ดใบก็ได้ และห้ามใช้ยอดหม่อนอ่อน (ใบหม่อนที่ยังไม่คลี่แผ่นใบ) นำมาหั่นขนาดประมาณ 1 ซม. ก่อนนำไปเลี้ยง
- ใบหม่อนสำหรับไหมวัย 3 ให้สังเกตจากสีของกิ่งหม่อนช่วงรอยต่อระหว่างสีเขียวกับสีน้ำตาล ใบหม่อนบริเวณรอยต่อเป็นใบหม่อนที่เหมาะสมที่สุดในการเลี้ยงไหมวัย 3 ประมาณใบที่ 7–10 นำมาหั่นขนาดประมาณ 1 ซม. ก่อนนำไปเลี้ยง
การเลี้ยงไหมวัยแก่
การเลี้ยงไหมวัยแก่ หมายถึง การเลี้ยงไหมนับตั้งแต่หนอนไหมตื่นจากนอนวัย 3 จนถึงไหมสุกทำรัง ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 11 – 13 วัน หนอนไหมวัยแก่จะกินใบหม่อนปริมาณมาก ทำให้เกิดความร้อน ความชื้น และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อันเกิดจากการเผาผลาญอาหาร การหายใจ การขับถ่ายของเสีย ห้องเลี้ยงไหมจึงอาจมีอุณหภูมิและความชื้นที่สูงขึ้น ทำให้หนอนไหมอ่อนแอและเชื้อโรคเข้าทำลายได้ง่าย เทคนิคการเลี้ยงไหมที่สำคัญสำหรับการเลี้ยงไหมวัยแก่ คือ คัดและเก็บหนอนไหมที่มีลักษณะผิดปกติ เป็นโรค แคระแกรน หรือไม่สมบูรณ์ ก่อนการเลี้ยงไหมทุกครั้ง
การเลี้ยงไหมวัยแก่มี 2 วิธี คือ
- การเลี้ยงในกระด้งหรือกระบะ เป็นวิธีที่ปฏิบัติมาดั้งเดิม ภายในห้องเลี้ยงไหมจะมีชั้นวางกระด้งหรือกระบะ วิธีการเลี้ยงไหมจะใช้วิธีเก็บใบหม่อนที่ค่อนข้างแก่ มีสีเขียวเข้ม มาโรยให้หนอนไหมกิน วิธีนี้ทำให้เปลืองพื้นที่และเสียเวลาในการเลี้ยงไหม
- การเลี้ยงไหมแบบชั้นเลี้ยง เป็นวิธีการเลี้ยงไหมแผนใหม่ เพื่อให้สามารถใช้พื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ ประหยัดพื้นที่โรงเลี้ยงไหม ทำให้เลี้ยงไหมได้ปริมาณมาก สะดวก และประหยัดแรงงาน โดยชั้นเลี้ยงไหมจะทำด้วยไม้หรือเหล็ก ขนาดกว้าง x ยาว x สูง เท่ากับ 1.2 x 2.5 x 0.45 เมตร พื้นโต๊ะทำด้วยตะแกรงตาข่ายหรือตาข่ายเชือก วิธีการเลี้ยงไหมจะใช้วิธีการตัดกิ่งหม่อนเลี้ยงไหมทั้งกิ่ง
ใบหม่อนสำหรับเลี้ยงไหมวัยแก่
สำหรับไหมวัยแก่สามารถเก็บใบหม่อนได้ทั้งช่วงเช้าและบ่ายที่แสงแดดไม่ร้อนจัดมาก และเก็บใบหม่อนที่เจริญสมบูรณ์เต็มที่และมีคุณภาพดี เป็นใบสีเขียวที่สังเคราะห์แสงได้เต็มที่และอยู่ในช่วงกลางของกิ่งลงมา การเก็บรักษาใบหม่อน สถานที่เก็บหม่อนควรมีอุณหภูมิต่ำ ความชื้นสัมพัทธ์สูง เพื่อให้ใบหม่อนคงความสดไว้ได้ดี นอกจากนี้ควรเป็นห้องที่มืดเพื่อลดการสังเคราะห์แสงของหม่อนลง ใบหม่อนที่เก็บมาสามารถนำไปเลี้ยงหนอนไหมได้เลยโดยไม่ต้องหั่นก่อน จากประสบการณ์ของชาวบ้านสมพรรัตน์ พบว่า ยิ่งหนอนไหมมีอายุมากขึ้นจะกินใบหม่อนที่แก่ขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งจะทำให้ได้เส้นไหมที่สวยมีคุณภาพดีด้วย แต่ถ้าหนอนไหมแก่แต่กินใบหม่อนอ่อนจะสาวเส้นไหมยาก ไม่ลื่นมือ
นอกจากนั้นยังพบว่า ในช่วงที่ต้นหม่อนออกใบน้อย เช่น ฤดูฝน ระยะเวลายาวไปถึงช่วงปลายฝนต้นหนาว หรือประมาณเดือนธันวาคมนั้น อาจจะต้องเลี้ยงหนอนไหมด้วยใบหม่อนอ่อนผสมกับใบหม่อนแก่ การเลี้ยงหนอนไหมในช่วงนี้จะได้หนอนไหมที่ไม่สมบูรณ์นัก มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ ชาวบ้านจะเรียกว่า เป็นหมากบก กล่าวคือ มีลักษณะคล้ายต้นกระบกที่ในช่วงฤดูฝนลูกกระบกจะหล่นและเน่า ฉะนั้นการเลี้ยงหนอนไหมจะให้ผลผลิตดี ชาวบ้านจะนิยมเลี้ยงในช่วงฤดูร้อนและหนาว
ของที่เหลือจากการเลี้ยงหนอนไหมแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเศษใบหม่อน กิ่งก้านหม่อน และมูล ชาวบ้านสมพรรัตน์จะนำไปทำปุ๋ย ทำสีย้อมผ้าซึ่งใบหม่อนจะให้สีเขียวไพล นอกจากนั้นแล้วใบหม่อนยังสามารถนำไปทำชาขี้หม่อนได้อีกด้วย
เทคนิคการเลี้ยงหนอนไหมให้แข็งแรงและได้ผลผลิตสูง
- เลือกใบหม่อนเหมาะสมกับวัยของหนอนไหม
- ก่อนให้ใบหม่อน ควรเกลี่ยให้มีการกระจายตัวไหมให้สม่ำเสมอ
- ให้ใบหม่อนที่มีขนาดเหมาะสมกับวัยของหนอนไหม
- ขยายพื้นที่เลี้ยงให้กับหนอนไหมอย่างเหมาะสม
การเก็บไหมสุก
1. ไหมสุก หมายถึง หนอนไหมวัย 5 ที่กินใบหม่อนเต็มที่แล้ว ก็จะเริ่มสุก พร้อมที่จะพ่นเส้นใย ในวัย 5 ใช้เวลาประมาณ 5-6 วัน ไหมก็จะเริ่มสุก หยุดกินใบหม่อน หากเป็นไหมไทยก็จะสังเกตได้ง่าย คือลำตัวหนอนไหมจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองใส เพราะภายของตัวหนอนไหมส่วนที่เป็น silk-gland ก็จะเต็มไปด้วยสารพ่นใยไหม ซึ่งไหมไทยมีสีเหลืองจึงทำให้เห็นได้ชัด แต่หากเป็นไหมลูกผสมก็จะมีสีขาวใสโปร่งแสง ในระยะนี้หนอนไหมพร้อมที่จะพ่นใยไหมออกมาเพื่อห่อหุ้มตัว เรียกว่า ไหมทำรัง แล้วหนอนไหมก็จะพัฒนาไปเป็นดักแด้อยู่ภายในรัง สภาพที่เหมาะสม คือ อุณหภูมิ ประมาณ 24 องศาเซลเซียส ความชื้นประมาณ 75 เปอร์เซ็นต์
2. การเก็บไหมสุกเข้าจ่อ ให้ทำการเก็บไหมสุกโดยการใช้มือ นำไปใส่ลงในจ่อ ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำหรับไหมทำรัง ปริมาณหนอนไหมต่อจ่อจะต้องมีความเหมาะสมไม่แน่นจนเกินไป เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดรังแฝด ซึ่งเป็นรังไหมชนิดหนึ่งของรังเสีย การเก็บไหมสุกเข้าจ่อจะต้องทำการเก็บให้ทันเวลา คือ จะต้องเก็บไหมสุกเข้าจ่อก่อนที่ไหมสุกจะพ่นเส้นใยทำรัง เพราะจะกระทบต่อผลผลิตรังไหม
3. การเก็บเกี่ยวรังไหม ให้หนอนไหมทำรังอยู่ในจ่อประมาณ 5-6 วัน จึงทำการเก็บรังไหมออกจากจ่อ จากนั้นก็นำรังไหมไปทำการสาวเส้นไหมต่อไป
การต่อไหม..ขยายพันธุ์
ภูมิปัญญาของชาวบ้านสมพรรัตน์นอกจากจะปลูกหม่อนเลี้ยงไหมได้คุณภาพดีแล้ว ชาวบ้านยังมีเทคนิควิธีในการเก็บพันธุ์หนอนไหม เพื่อใช้ในการเลี้ยงครั้งต่อไปอีกด้วย เรียกว่า การต่อไหม
การต่อไหม หรือ การเก็บพันธุ์หนอนไหมนั้น ชาวบ้านจะเลือกเอารังไหมที่จะให้กำเนิดผีเสื้อไหมหรือบี้ทั้งตัวผู้และตัวเมีย การคัดเลือกจะเลือกรังไหมที่สมบูรณ์โดยการสังเกตจากรูปร่างภายนอก และจะเลือกเพศของบี้ด้วยวิธีการสั่นหรือเขย่ารังไหม กล่าวคือ เมื่อเขย่ารังไหมแล้วแล้วถ้ารังไหนสั่นหรือคลอนมาก มีน้ำหนัก รังไหมนั้นจะเป็นบี้ตัวเมีย ถ้ารังไหนสั่นหรือคลอนน้อย น้ำหนักเบาจะเป็นบี้ตัวผู้ คัดเลือกรังไหมให้ได้จำนวนตามที่ต้องการโดยประมาณจากปริมาณใบหม่อนที่จะนำมาเลี้ยง และจำนวนเส้นไหมที่ต้องการ ซึ่งจากประสบการณ์การเลี้ยงหนอนไหม รังไหมจำนวน 300 ฝักจะใช้ใบหม่อนในการเลี้ยงประมาณ 1 ไร่ และรังไหมประมาณ 40 ฝัก จะให้เส้นไหมได้ประมาณ 1 หลบ
จากนั้นเก็บรังไหมที่คัดเลือกไว้ให้สุกเต็มที่ใช้เวลาประมาณ 9-14 วัน ดักแด้ในรังไหมจะกลายลอกคราบเป็นผีเสื้อตัวเต็มวัยหรือบี้ ซึ่งบี้มักจะออกจากรังไหมในเวลาเช้า หลังจากบี้คลี่ปีกออกจะผสมพันธุ์ทันที บี้ตัวผู้จะมีขนาดเล็กกว่าตัวเมียและมีความว่องไวกว่า และสามารถผสมพันธุ์กับตัวเมียได้ 2 ถึง 3 ตัว แต่ความสามารถในการผสมพันธุ์จะลดลง ถ้าต้องการยืดเวลาการผสมพันธุ์สามารถเก็บบี้ตัวผู้ไว้ในห้องที่มีอุณหภูมิ 10 องศาเซลเซียสได้ประมาณ 1 สัปดาห์ โดยยังคงความสามารถในการผสมพันธุ์อยู่ การผสมพันธุ์นั้นบี้ตัวเมียจะบินเข้าหาบี้ตัวผู้ จากนั้นจะปล่อยให้บี้ผสมพันธุ์กันจนเวลาเย็น จึงจะทำการเก็บหรือแยกบี้ตัวผู้ออกจากบี้ตัวเมีย นำบี้ตัวเมียมาวางบนกระดาษ และนำเอาชามหรือถ้วยครอบตัวบี้ไว้ บี้ตัวเมียจะออกไข่ลงบนกระดาษ อย่างต่อเนื่องโดยปล่อยทิ้งไว้ทั้งคืนเมื่อถึงเวลาเช้าของอีกวัน จึงเปิดถ้วยหรือชามที่ครอบ จะได้ไข่ไหมประมาณ 300-500 ฟอง แล้วนำบี้ตัวเมียออกจากไข่ ไข่ที่ได้นำไปเลี้ยงให้เป็นหนอนไหมต่อไป ถ้าทิ้งไข่ไหมไว้ประมาณ 1 สัปดาห์จะเกิดตัวหนอนไหมในระยะแรกตัวหนอนจะมีขนขึ้นตามตัว ชาวบ้านจะเรียกหนอนไหมระยะนี้ว่า หนอนขี้ขน หรือหนอนวัย 1 เลี้ยงจนถึงวัย 4 ตัวหนอนใกล้จะสุก ระยะนี้จะกินอาหารหรือใบหม่อนได้น้อยลง และไม่เคลื่อนไหว ชาวบ้านจะเรียกวัยนี้ว่า นอนเฒ่า ข้อควรระวังในการเลี้ยงหนอนไหมคือ ห้ามมีสารพิษ มดและแมลงต่าง ๆ รบกวนโดยเด็ดขาด
บรรณานุกรม
- กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์. ขั้นตอนการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม. สื่อการเรียนรู้ออนไลน์ภูมิปัญญาผ้าไหมไทย. [ออนไลน์] สืบค้นจาก http://www.qsds.go.th/monmai/cloth_process.php?cloth_id=4&process_id=44.
- ไชยยงค์ สำราญถิ่น. (2554). ไหมพันธุ์ไทย:ข้อมูลบางประการของไหมพันธุ์ไทย. [ออนไลน์]. สืบค้นจาก http://www.thaikasetsart.com
- อุไรวรรณ นิลเพ็ชร์, สุรจิต ภูภักดิ์, รักเกียรติ แสนประเสริฐ. ฐานข้อมูลการผลิตเส้นไหมและการใช้สีธรรมชาติในจังหวัดอุบลราชธานี. อุบลราชธานี: คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี