วัดขุมคำ อำเภอกุดข้าวปุ้น จังหวัดอุบลราชธานี ที่ประดิษฐานพระเจ้าใหญ่ขุมคำ พระพุทธเจ้าศักดิ์สิทธิ์ให้พรสมหวังเรื่องความรัก ตั้งอยู่บนบริเวณที่เป็นต้นกำเนิดของนิทานตำนาน เรื่อง ท้าวคันธนาม วรรณกรรมพื้นบ้านที่สอดคล้องกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่ปรากฏเป็นชื่อสถานที่ต่าง ๆ
ประวัติวัดขุมคำ อำเภอกุดข้าวปุ้น จังหวัดอุบลราชธานี
ประวัติของวัดขุมคำ อำเภอกุดข้าวปุ้น จังหวัดอุบลราชธานี ที่มีการบันทึกไว้นั้น เป็นวัดในสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 15 ไร่ อาคารเสนสนะประกอบด้วย ศาลาการเปรียญ กว้าง 12 เมตร เป็นอาคารไม้ กุฏิสงฆ์ จํานวน 4 หลัง เป็นอาคารไม้ และศาลาบําเพ็ญ จํานวน 1 หลัง
วัดขุมคำมีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ประดิษฐานอยู่ ชื่อว่า พระเจ้าใหญ่ขุมคำ หรือ พระพุทธมหิทธาดล ขนาดหน้าตักกว้าง 11 เมตร ความสูงจากพื้นดินถึงเกศ 22 เมตร เป็นแท่นพระ 6 เมตร องค์พระ 16 เมตร ก่อสร้างเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2508 ปีมะเส็ง ตรงกับวันจันทร์ขึ้น 3 ค่ำ และถือเอาวันนี้เป็นวันจัดงานบุญประจำปีของวัด ว่ากันว่าถ้าหากหนุ่มสาวอยากพบรักให้มากราบไหว้ขอพรจากพระเจ้าใหญ่ขุมคำแล้วจะสมหวัง และหากคู่รักแต่งงานกันไปแล้วถ้ามีบุตรยากก็ให้ไปกราบไหว้ขอพรจากพระเจ้าใหญ่ขุมคำก็จะมีบุตรได้ นอกจากนั้นยังมีคนแก่เล่าเพิ่มเติมว่า เมื่อก่อนถ้ามาเที่ยวงานบุญประจำปีของวัด พอกราบไหว้พระเจ้าใหญ่ขุมคำเสร็จแล้ว จะต้องไปกราบไหว้หินแกะสลักรูปอวัยวะโดยมีลักษณะเป็นลึงค์ และโยนีที่อยู่ภายในวัดด้วย เพื่อขอให้พบกับคนรักที่มาเที่ยวงานในคืนเดียวกัน และก็มักจะสมหวังดังที่ขอกันทุกคน
สภาพพื้นที่ภายในวัดเป็นลานหินและมีแหล่งหินทรายสีเขียว และมีหลุมที่เกิดจากการกระทำของน้ำ คล้ายเป็นโพรงหรือถ้ำเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังค้นพบหรือขุดพบวัตถุโบราณในบริเวณวัดอีกด้วย เช่น
- ดาบโบราณ ที่ทำจากหิน ไม่ทราบอายุ
- หินแกะสลักคล้ายคลึงรูปอวัยวะเพศ โดยมีลักษณะเป็นลึงค์ (อวัยวะเพศชาย) และโยนี (อวัยวะเพศหญิง) ไม่ทราบอายุ
- แหล่งหินทรายสีเขียว ซึ่งประชาชนเข้าใจว่ามีการนำหินมาจัดเรียงคล้ายกำแพง อันเรียกกันว่า กำแพงโบราณนั้น เมื่อพิจารณาจากสภาพพื้นที่แล้ว พบว่าเป็นแหล่งหินทรายสีเขียวซึ่งมีร่องรอยการตัด แต่ยังไม่แน่ชัดว่าเกิดจากการกระทำตามธรรมชาติหรือว่าจากการกระทำของมนุษย์ และยังมีหินลักษณะประหลาดและสวยงามที่ขุดพบภายในวัดตั้งแต่ก่อตั้งวัดในปี พ.ศ.2507
- พบร่องรอยต่าง ๆ เช่น หินกระดูกงูซวง จำนวน 13 ชิ้น
- พบเห็นรอยพญานาค รอยพญาช้างสาร (ตามตำนาน) หลุมมันแซง
- บางอย่างค้นพบในเวลาต่อมา เช่น
- หินหัวงูซวงค้นพบเมื่อ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2557 โดยหลวงปู่ที่วัดขุมคำ
- รอยเท้าแม่ย่ายักษ์ ค้นพบ 24 กรกฎาคม 2557 โดยหลวงปู่ที่วัดขุมคำ
- ดาบหินที่ใหญ่และสวยงามค้นพบเมื่อ 20 สิงหาคม 2557 โดยหลวงปู่สิง
ภายในวัดแห่งนี้ยังมีสัตว์นานาพันธ์ุ เช่น นกยูงกว่า 30 ตัว ไก่ป่า 1,000 ตัว และสัตว์อื่น ๆ อีกมากมาย
และเมื่อเดือน เมษายน พ.ศ. 2557 ได้มีการขุดพบมีดกริชโบราณ ภายในบริเวณวัดขุมคำ ค้นพบโดย โดยพระอาจารย์บุญศรี อนุตตโร โดยทางวัดได้ขุดสระเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ขณะขุดได้พบมีดกริชโบราณคล้ายกับทองสัมฤทธิ์ สภาพยังสมบูรณ์ มีความยาวประมาณ 50 เซนติเมตร ซึ่งทางวัดได้นำขึ้นมาเก็บรักษาไว้ภายในวัด โดยชาวบ้านและคนแก่คนเฒ่าในหมู่บ้านขุมคำ ต่างเชื่อกันว่ามีดกริชที่พบนี้น่าจะเป็นของท้าวคันธนาม ตามตำนานและนิทานที่เล่าต่อกันมาว่า ณ ที่แห่งนี้มีถ้ำสมบัติที่มีนางยักษ์และงูใหญ่เฝ้าสมบัติอยู่หน้าถ้ำ ต่อมามีท้าวคันธนามทราบเรื่องจะเข้าไปเอาสมบัติ เกิดมีการต่อสู้กับงูใหญ่และนางยักษ์ที่เฝ้าอยู่ปากถ้ำ ท้าวคันธนามได้ใช้กริชตัดงูออกเป็นท่อน ๆ และฆ่านางยักษ์ได้สำเร็จ จึงเข้าไปเอาสมบัติคือทองคำในถ้ำไปได้ ทางวัดได้นำมีดกริชขึ้นมาให้ชาวบ้านเข้ามากราบไหว้ขอพร ขอโชคลาภอยู่เป็นระยะ ๆ ซึ่งในปัจจุบันนี้ หลักฐานที่เชื่อว่า เป็นหลุมทรัพย์หรือบ่อทองคำ ก็ยังคงหลงเหลืออยู่บริเวณของวัดแห่งนี้ ทำให้กับผู้มาเยือนได้เห็นและทราบความเกี่ยวเนื่องเกี่ยวพันกับตำนานที่มีมาแต่ในอดีต
คำแนะนำสำหรับผู้ที่เข้าไปท่องเที่ยวในวัดขุมคำ
- กราบพระเจ้าใหญ่ขุมคำขอพรหรือบนบานศาลกล่าวศักดิ์สิทธิ์นักแล
- ศึกษาแหล่งเรียนรู้ ตำนานประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เรื่อง ท้าวคันธนาม ซึ่งจะได้พบกับขุมคำ รอยพญาช้างสาร รอยเข่านางยักขินี ถ้ำงูซวง กระดูกงูซวง สัญลักษณ์ชี้ขุมคำโบราณ รอยคันธนาม รอยเสือโคร่ง และบ่อขุดค้นพบดาบของคันธนาม
- ศึกษาธรรมชาติ ป่าไม้และสัตว์ป่า เช่น นกยูงกว่า 20 ตัว ปลาหลากหลายพันธุ์ ไก่ป่ากว่า 1000 ตัว พันธุ์ไม้กว่า 2000 ชนิด
- เดินตามเส้นทางเดินป่าเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติระยะทาง 2.5 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 1-2 ชั่วโมง (ค่ามัคคุเทศก์ 100 บาท/รอบ)
- ทำบุญ 2 วัดบ้าน 7 วัดป่าบนยอดภู (รวม 9 วัด) ใช้เวลา 3-4 ชั่วโมง (ค่ารถและมัคคุเทศก์ 500 บาท)
วรรณกรรมเชิงประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เรื่อง ท้าวคันธนาม
วรรณกรรมเชิงประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เรื่อง ท้าวคันธนาม ซึ่งสอดคล้องกับชื่อสถานที่ต่าง ๆ ในท้องถิ่นของจังหวัดอุบลราชธานี เช่น ห้วยที บ้านหนองเอาะ บ้านคอนสาย หนองขุหลุ ท่าบ่อแบง แจระแม เป็นต้น เรื่องท้าวคันธนาม มีอยู่ว่า
ในอดีตกาล แม่อัมลา เป็นชาวเมืองสีสาเกษในอดีตเชื่อกันว่า น่าจะเป็นเมืองขุฃันธ์หรือเมืองษีไคล (เมืองคง) ซึ่งเป็นอาณาเขตของจังหวัดศรีสะเกษในปัจจุบัน แม่อัมลาเป็นหญิงหม้าย ผัวของนางตายตอนที่นางยังอายุยังสาวเพราะเหตุที่นางเป็นคนดี มีมารยาทเรียบร้อย มีอาชีพเป็นช่างตัดเย็บจึงทำให้ชาวบ้านรักใคร่ชอบพอนางมาก ปกตินางไม่มีไร่นาสาโทเลย ชาวบ้านเกิดความสงสารจึงพากันแบ่งที่นาให้แก่นาง ครั้นถึงฤดูกาลทำนาชาวบ้านก็จัดแจงแบ่งพันธุ์ข้าวให้
ที่นาของแม่อัมลาอยู่ตรงกลาง ซึ่งมีที่นาของชาวบ้านอยู่ล้อมรอบ เมื่อทำการหว่านกล้าและปักดำเสร็จ ปรากฏว่าข้าวกล้าในนาของแม่อัมลางอกงามกว่าของชาวบ้าน นางได้ออกไปดูแลข้าวกล้าในนาทุกวัน อยู่มาคืนหนึ่งพระอินทร์บนสรวงสวรรค์ได้แปลงกายเป็นช้างเผือกสง่างามลงมาเหยียบย่ำข้าวกล้าในนาของนางจนแตกกระจายเป็นผุยผง ตื่นเช้ามานางก็ออกไปดูแลข้าวกล้าในนาเหมือนที่เคยปฏิบัติมาเช่นทุกวัน เมื่อได้เห็นข้าวกล้าถูกช้างเหยียบย่ำจนเสียหาย ก็เกิดความเสียใจคร่ำครวญบอกเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ชาวบ้านฟัง ชาวบ้านเกิดความเห็นใจนาง และได้ปรึกษาหารือกันไปต่าง ๆ นานา สุดท้ายก็ตกลงกันว่า จะพากันตามฆ่าช้าง ว่าแล้วก็ออกเดินทางตามรอยช้างไปเรื่อย ๆ จนมาถึงป่าดงหนา ซึ่งมีสายน้ำลำธารและโขดหินที่สวยงาม สถานที่ดังกล่าวก็ได้แก่ดินแดนที่เป็นขุมคำในปัจจุบันนั่นเอง ทุกคนได้พบรอยช้างที่พระอินทร์เนรมิตเหยียบให้เป็นหลุมแล้วเยี่ยวใส่ไว้จนเต็ม เพราะความหิวกระหาย ทุกคนก็ดีใจที่เห็นน้ำในรอยเท้าช้างและก็ได้ดื่มน้ำเยี่ยวช้างจนเต็ม เมื่อดื่มแล้วทุกคนต่างก็มีเรี่ยวแรงเดินทางกลับเมืองสีสาเกษ หลังจากกลับถึงบ้านของตนแล้วปรากฏว่าแม่อัมลาได้ตั้งท้อง เพราะดื่มน้ำจากรอยเท้าช้างนั้นเอง 10 เดือนต่อมา นางก็ได้คลอดลูกออกมาเป็นชาย มีหน้าตาหล่อเหลาเอาการแถมยังมีดาบกายสิทธิ์ติดตัวมาด้วย ทำให้นางดีใจเป็นอย่างยิ่ง จึงได้ตั้งชื่อ ดาบกายสิทธิ์นั้นว่า ดาบคันไชย แล้วตั้งชื่อลูกว่า คันธนาม เมื่อคันธนามอายุได้ 4-5 ขวบ ได้ไปวิ่งเล่นกับเพื่อนบ้าน เพื่อนทั้งหลายก็พูดหยอกล้อว่า “ไอ้ลูกช้างมึงมาเล่นกับกูทำไม ทำไมมึงไม่ไปกินหญ้าอยู่บนภูเขากับพ่อมึงโน่น” เพื่อน ๆ ชาวบ้านได้พูดหยอกล้ออย่างนั้นทุกวัน คันธนามน้อยใจวิ่งไปถามแม่ว่า “แม่จ๋าแม่ พ่อของฉันเป็นใคร พ่อของลูกอยู่ที่ไหน ” เพราะนางมีความรักต่อลูกมากจึงได้บอกลูกตามความจริงทุกอย่าง ต่อมาเมื่อคันธนามอายุได้ 7-8 ขวบ จึงถามแม่อีกครั้งว่า “แม่จ๋า แม่เคยบอกว่าแม่ได้กินน้ำในรอยเท้าช้างแล้วแม่ตั้งท้องนั้น ขอให้แม่พาลูกไปดูรอยเท้าช้างนั้นด้วย ลูกอยากเห็นว่ามันเป็นความจริงมากน้อยแค่ไหน” นางอัมลาจึงพาลูกออกเดินทางดั้นด้นป่าดงดอนจนมาถึงดินแดนประวัติศาสตร์ คือ ขุมคำ ในปัจจุบัน เมื่อพาลูกดูรอยเท้าช้างแล้วก็พาลูกมานั่งพักผ่อนตามโขดหิน เพื่อจะเอาแรงเดินต่อ แม่อัมลาได้มองเห็นเครือมันแซง นางจึงขุดมันแซงเผาให้ลูกกิน ส่วนตัวนางก็ขุดมันไปเรื่อย ๆ ควันไฟได้พวยพุ่งขึ้นไปบนท้องฟ้า พวกยักษา (ยักษ์) ที่อาศัยอยู่ในถ้ำบนภูดาววีหรือภูถ้ำวิ่ง (ปัจจุบันเรียกว่า ภูผักหวาน) ได้มองเห็นควันไฟ ก็เกิดความโกรธย่างแรง จึงส่งงูใหญ่ (งูซวง) ที่เป็นบริวารมาดูว่าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น บรรดางูที่เป็นบริวารของยักษ์นั้นครั้นมาถึงระหว่างทางบางตัวก็แปลงกายเป็นคน บางตัวก็เป็นงูเหมือนเดิม พอมาเห็นคันธนามกำลังเผามันกิน ส่วนแม่อัมลาก็ตั้งหน้าตั้งตาขุดมันแซงอยู่เรื่อยไป งูที่เป็นคนก็ชี้หน้าด่าคันธนาม ที่เป็นงูก็ตั้งวงล้อมแม่อัมลาที่อยู่ในหลุม พอนางมองเห็นงูตกวงล้อมก็ตกใจกลัว เพราะตัวเองไม่สามารถขึ้นจากหลุมได้ จึงได้ร้องบอกคันธนามว่า “ลูกเอ๋ย ตอนนี้งูมันตกวงล้อมแม่แล้ว ขึ้นจากหลุมไม่ได้ ขอให้ลูกหลบหนีเอาตัวให้รอดเถิด เดี๋ยวงูมันจะกัดเอา ปล่อยให้แม่ตายในหลุมเพียงคนเดียวเถิด” เมื่อคันธนามมองเห็นแม่กำลังเสียท่าให้แก่งู ก็รับชักดาบคันไชยออกมาฟาดฟันงูซวงจนตายเกลื่อน งูที่แปลงกายเป็นคนเมื่อถูกคันธนามฟันตายแล้วก็กลับกลายร่างเป็นงูเหมือนกันหมด ส่วนงูที่ไม่ถูกฟันก็รีบหลบหนีไปบอกเจ้านายของตน คือพวกยักษ์ที่อยู่ในถ้ำบนภูดาววี เมื่อรู้ว่ามีคนรุกล้ำเขตแดนและฆ่าบริวารของตนเอง ยักษาก็ได้เหาะเหินมาดูอย่างเร็วไว เมื่อเห็นจริงดังว่า ก็เกิดความโกรธอย่างหนัก จึงถลาเข้าไปจับมวยผมของแม่อัมลา พร้อมทั้งตวาดด่าคันธนามว่า “ไอ้เด็กน้อยสามหาว เขาว่าเจ้านั้นเก่งนักหนา เราจะฆ่าเจ้าให้ตายเดี๋ยวนี้”
คันธนามมองเห็นแม่เสียทีให้กับยักษ์ ก็ได้แตะอัดเข้าท้องยักษ์อย่างแรง เล่นเอายักษ์ตกกระเด็นไปไกลประมาณ 20 วา มีการต่อสู้กันนาน ในที่สุดยักษ์ก็ยอมแพ้ขอชีวิตกับคันธนามว่า “ขอได้โปรดไว้ชีวิตข้าด้วยเถิด ถ้าท่านปล่อยให้ข้าเป็นอิสระ ข้าจะขอเป็นทาสรับใช้ท่านตลอดไป และข้าจะให้ทองคำจำนวนหนึ่งเป็นของกำนัลแก่ท่านด้วย” ว่าแล้วยักษ์ก็เดินไปเปิดแผ่นหินที่ปิดขุมคำออก แล้วยกทองคำในขุมนั้นให้แก่คันธนามและแม่ คันธนามกับแม่ก็ได้หาบเอาทองคำทั้งหมด กลับไปเมืองสีสาเกษไปถึงหนองน้ำแห่งหนึ่ง สองแม่ลูกก็พากันเอาะคำ (คือหลอมทองคำให้เป็นแท่ง) ณ ที่ตรงนั้นปัจจุบัน เรียกว่า บ้านหนองเอาะ จากนั้นสองแม่ลูกก็ได้เดินทางต่อไปถึงลำห้วยแห่งหนึ่งมีน้ำใสไหลเย็น จึงพากันพักเหนื่อยดื่มน้ำเอาแรง และได้นำเอาคำออกมาทีดู (นับดู) ปรากฎว่า คันธนามสามารถนำเอาทองคำไปได้ 3 แสน 4 หมื่น ส่วนแม่อัมลานำไปได้ 5 พัน ห้วยน้ำตรงที่คันธนามและแม่ทีคำนั้น ต่อมาเรียกว่า บ้านห้วยที
ต่อมาเปลี่ยนเป็นเมืองเกษมสีมา ปัจจุบันเรียกว่า บ้านเกษม พอหาบเดินต่อไปอีกสักระยะหนึ่งสายคุ (ถังน้ำ) ที่บรรจุคำด้านหนึ่งขาด แม่อัมลาจึงได้คอนเอา ปัจจุบันเรียกที่ตั้งนั้นว่า บ้านคอนสาย สองแม่ลูกพากันหาบคำต่อไปเรื่อย ๆ จนมาถึงหนองน้ำแห่งหนึ่งเป็นหนองใหญ่ มีน้ำใสสะอาด ทั้งสองจึงพักผ่อนเอาแรง คันธนามได้บอกแม่ให้ไปตักน้ำหนองนั้นมาดื่ม นางได้เทคำออกเอาคุไปตักน้ำ คุได้หลุดออกจากไม้คาน แม่อัมลาจึงได้เอาไม้คานลงควานหาคุ หัวไม้คานไปโดนก้นคุหลุ (ทะลุ) ภายหลังคนจึงเรียกหนองน้ำนั้นว่า หนองคุหลู ปัจจุบันเรียกว่า หนองขุหลุ จากนั้นสองแม่ลูกก็หาบคำเดินหน้าต่อไป จนถึงท่าน้ำแห่งนี้ มีสาว ๆ ต้มเกลืออยู่มากมาย สาว ๆ เห็นคันธนามน่ารักก็พากันพูดหยอกล้อ ส่วนคันธนามมองเห็นเกลือที่สาว ๆ กองเอาไว้จึงได้ออกปากขอแจดู (ชิมดู) สาว ๆ ก็บอกว่า แจระแม ข้าบ่แพง (ชิมได้ฉันไม่หวง) ที่ตรงนั้น คือ ท่าบอแบง ในปัจจุบัน ต่อจากนั้นสองแม่ลูกก็พากันหาบคำดั้นด้นไปถึงลำห้วยอีกแห่งหนึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกดงอู่ผึ้ง ในห้วยนั้นมีน้ำใสสะอาด จึงพักผ่อนดื่มน้ำเอาแรง ในขณะนั้นคันธนามคิดถึงคำสาว ๆ ต้มเกลือ บอกให้ชิมเกลือว่า แจระแม ข้าบ่แพง เลยตั้งชื่อลำห้วยนั้นว่า ห้วยแจระแม อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของเมืองอุบลราชธานีในปัจจุบันนั่นเอง
ที่ตั้ง วัดขุมคำ
บ้านขุมคํา หมู่ที่ 9 ตําบลแก้งเค็ง อําเภอกุดข้าวปุ้น จังหวัดอุบลราชธานี (ริมถนนสายตระการพืชผล-เขมราฐ)
พิกัดภูมิศาสตร์ วัดขุมคำ
15.804505 105.139950415
บรรณานุกรม
เรื่องย่อวรรณกรรมเชิงประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เรื่อง ท้าวคันธนาม. (ป้ายประชาสัมพันธ์)
มะลิวัลย์ สินน้อย, ผู้รวบรวม. (2551). ฐานข้อมูลวัดในจังหวัดอุบลราชธานี, 28 กุมภาพันธ์ 2560. http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/ubon_temple
หนังสือพิมพ์บ้านเมือง. (2558). ปีใหม่ กราบไหว้ขอพรพระเจ้าใหญ่ขุมคำ เที่ยวชมศิลปะวัฒนธรรม วัตถุโบราณอันล้ำค่า, 28 กุมภาพันธ์ 2560. http://www.banmuang.co.th/news/region/35861