ถนนคนเดิน อำเภอเขมราฐ ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเมืองเขมราษฎร์ธานี

ถนนคนเดิน เขมราษฎร์ธานี อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของชาวอำเภอเขมราฐชุมชนเก่าแก่ริมแม่น้ำโขงของอุบลราชธานี สัมผัสวิถีชีวิตอันเรียบง่ายและมีอบอุ่นท่ามกลางบรรยากาศของอาคารบ้านเรือนย้อนยุค เปิดกิจกรรมทุกวันเสาร์

ประวัติอำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี

อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นเมืองเก่าแก่อายุกว่า 200 ปี ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง ซึ่งตรงข้ามกับเมืองสองคอน แขวงสะหวันนะเขตของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เดิมคือ เมือง “เขมราษฎร์” และได้ถูกเปลี่ยนชื่อมาเป็น “เขมราฐ” ในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งมีความหมายเดียวกัน คือ “ดินแดนแห่งความเกษมสุข” (ราษฎร์ = รัฐ, รัฎฐ์ = แว่น แคว้น หรือ ดินแดน ส่วนคำว่า “เขม” หมายถึง ความเกษมสุข)

kemmarat_walking_market_02
ถนนคนเดิน บนถนนวิศิษฐ์ศรี ตำบลเขมราฐ อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี

ประวัติการตั้งเมือง ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  รัชกาลที่ 2 ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งบ้าน “โศกกงพะเนียง” เป็นเมือง “เขมราษฎร์ธานี” ขึ้นตรงต่อกรุงเทพเมื่อปี พ.ศ.2357 ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้มีการปรับปรุงการปกครองส่วนภูมิภาคครั้งใหญ่ มณฑลอีสานถูกแบ่งออกเป็น 5 บริเวณ สำหรับบริเวณอุบลราชธานี มีอยู่ 3 เมือง คือ เมืองอุบลราชธานี เมืองเขมราฐ และเมืองยโสธร แต่ละเมืองมีเมืองที่ขึ้นสังกัดอยู่หลายอำเภอ เมืองเขมราฐมีอำเภอที่อยู่ในความปกครอง 6 อำเภอ คือ อำเภออุไทยเขมราฐ อำเภอประจิมเขมราฐ อำเภออำนาจเจริญ อำเภอคำเขื่อนแก้ว อำเภอโขงเจียม และอำเภอวารินชำราบ ต่อมาในปี พ.ศ.2452 ได้มีการปรับปรุงการปกครองในบริเวณเมืองอุบลราชธานีอีกครั้งหนึ่ง เมืองเขมราฐถูกลดฐานะเป็นลงเป็นอำเภอและรวมอำเภออุทัยเขมราฐกับอำเภอประจิมเขมราฐเข้าด้วยกัน เป็นอำเภออุไทยเขมราฐขึ้นกับเมืองยโสธรแต่ก็ยังคงเป็นบริเวณอุบลราชธานีอยู่เช่นเดิมโดยมี พระเกษมสำราฐรัฐ เป็นนายอำเภอคนแรก อำเภอเขมราฐ  ปี พ.ศ. 2454 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีการแยกมณฑลอีสานออกเป็น 2 มณฑล คือ มณฑลอุบลกับมณฑลร้อยเอ็ด อำเภออุไทยเขมราฐจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “อำเภอเขมราฐ” เมื่อปี พ.ศ.2455 ขึ้นอยู่กับจังหวัดอุบลราชธานี ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

อาคารเก่าบนถนนคนเดิน อำเภอเขมราฐ
อาคารเก่าบนถนนคนเดิน อำเภอเขมราฐ
บ้านขุนไพรีประศาสน์ บนถนนคนเดิน อำเภอเขมราฐ
บ้านขุนไพรีประศาสน์ บนถนนคนเดิน อำเภอเขมราฐ
อาคารเก่าที่ถูกปรับปรุงแล้ว บนถนนคนเดิน อำเภอเขมราฐ
อาคารเก่าที่ถูกปรับปรุงแล้ว บนถนนคนเดิน อำเภอเขมราฐ

ชุมชนเก่าบนถนนวิศิษฐ์ศรี ถนนคนเดิน อำเภอเขมราฐ

ชุมชนเก่าแก่บนถนนวิศิษฐ์ศรีนั้นยังมีบ้านไม้เก่า ๆ ให้พบเห็น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้แสดงถึงวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ และศิลปวัฒนธรรมเก่าแก่ของผู้คนริมฝั่งโขงในจังหวัดอุบลราชธานี ด้วยจุดเด่นนี้จึงได้กำหนดให้บริเวณนี้เป็นตลาดถนนคนเดิน เขมราษฎร์ธานี ซึ่งจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2556 ด้วยกลุ่มฮักนะเขมราฐและผู้บริหารเทศบาลตำบลเขมราฐ  โดยนางลัดดา เจษฎาพานิชย์ นายกเทศมนตรีตำบลเขมราฐ มีแนวความคิดที่จะพัฒนาบ้านเมืองเก่าที่มีประวัติศาสตร์และเศรษฐกิจ ที่เคยคึกคักในอดีต ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งในบรรยากาศย้อนยุค ให้คนรุ่นใหม่ได้สัมผัสบรรยากาศที่อบอุ่นตามคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่

บรรยากาศถนนคนเดิน อำเภอเขมราฐ
บรรยากาศถนนคนเดิน อำเภอเขมราฐ
บรรยากาศถนนคนเดิน อำเภอเขมราฐ
บรรยากาศถนนคนเดิน อำเภอเขมราฐ

กิจกรรมของตลาดถนนคนเดินนั้นได้จัดให้มีการออกร้านจำหน่ายสินค้าพื้นบ้าน ผ้าทอ เสื้อผ้าพื้นเมือง สินค้าหัตถกรรมจากชาวบ้าน อาหารพื้นบ้าน ของที่ระลึกต่าง ๆ การจำหน่ายโปสการ์ด ภาพสวย ๆ ทั้งอดีตและปัจจุบันของอำเภอเขมราฐ  การแสดงทางศิลปวัฒนธรรม การแสดงชุดพื้นบ้านออกมารำโชว์ มุมถ่ายรูปบ้านเก่าแก่ในอดีต โรงแรมสุขสงวน โรงแรมแห่งแรกของอำเภอเขมราฐ รวมทั้งการจัดนิทรรศการภาพเก่าแก่ของอำเภอเขมราฐ โดยกำหนดจัดงานถนนคนเดินจะมีขึ้นทุกวันเสาร์

บรรยากาศถนนคนเดิน อำเภอเขมราฐ
บรรยากาศถนนคนเดิน อำเภอเขมราฐ
บรรยากาศถนนคนเดิน อำเภอเขมราฐ
บรรยากาศถนนคนเดิน อำเภอเขมราฐ
บรรยากาศถนนคนเดิน อำเภอเขมราฐ
บรรยากาศถนนคนเดิน อำเภอเขมราฐ

ที่ตั้ง ถนนคนเดินอำเภอเขมราฐ

ถนนวิศิษฐ์ศรี ตำบลเขมราฐ อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี

พิกัดภูมิศาสตร์ ถนนคนเดินอำเภอเขมราฐ

16.041980, 105.224279016

บรรณานุกรม

ทีมงาน Ubondottown . (2559). เขมราฐ ถนนคนเดินเขมราษฏร์ธานี200ปี อ.เขมราฐ จ.อุบล แหล่งท่องเที่ยวริมฝั่งโขง สำคัญของ จ.อุบลฯ, 28 กุมภาพันธ์ 2560. https://ubon.town/th/เที่ยวถนนคนเดินเขมราฐ

สำนักศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏอุบลราชธานี. (2543). นามานุกรมภูมิศาสตร์จังหวัดอุบลราชธานี. อุบลราชธานี: สำนักศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี.

ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ. (2556). ตลาดถนนคนเดินเขมราฐ, วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560. http://gis.dit.go.th/gis56/market/ThongChomDetail.aspx?id=14663

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง