วัดโขงเจียมปุราณวาส รอยเสด็จฯ รัชกาลที่ 9

วัดโขงเจียมปุราณวาส อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ (สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์) และสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงเสด็จฯ เยี่ยมราษฎร ณ โรงเรียนบ้านนาแวงและวัดโขงเจียมปุราณวาส อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นการเสด็จฯ จังหวัดอุบลราชธานีครั้งที่ 7 เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ.2518 นอกจากนี้ ภายในวัดยังธรณีและบานประตูหิน ศิลปะยุคเจนละ อายุราว 1400-1600 ปี วัดตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง สามารถชมชมทิวทัศน์และวิถีชีวิตการประมงในแม่น้ำโขงได้

ประวัติวัดโขงเจียมปุราณวาส อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี

ประวัติความเป็นมาของวัดโขงเจียมปุราณวาส อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ตามที่มีการบันทึกไว้ เป็นวัดสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 6 ไร่ 1 งาน 37 ตารางวา อาณาเขตทิศเหนือจดแม่น้ำโขง ทิศใต้จดถนนหมู่บ้าน ทิศตะวันออกจดถนนอนามัย ทิศตะวันตกจดที่ดินของนายอินทรและนายทอง มีที่ธรณีสงฆ์จํานวน 4 แปลง เนื้อที่ 16 ไร่ 7 งาน 70 ตารางวา

ซุ้มประตูทางเข้าวัดโขงเจียมปุราณวาส
ซุ้มประตูทางเข้าวัดโขงเจียมปุราณวาส

อาคารเสนาสนะของวัดโขงเจียมปุราณวาส ประกอบด้วยอุโบสถ กว้าง 5.7 เมตร ยาว 12 เมตร เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ศาลาการเปรียญ กว้าง 16 เมตร ยาว 28 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2532 และกุฏิสงฆ์จํานวน 5 หลัง เป็นอาคารไม้ 3 หลังและครึ่งตึกครึ่งไม้ 2 หลัง ปูชนียวัตถุมีพระประธานประดิษฐานในอุโบสถ และศาลาการเปรียญสร้างด้วยทองเหลืองขนาดหน้าตักกว้าง 40 นิ้ว และพระพุทธรูปไม้ปางมารวิชัยและปางห้ามญาติ จํานวน 2 องค์

อุโบสถวัดโขงเจียมปุราณวาส
อุโบสถวัดโขงเจียมปุราณวาส
ด้านหลังอุโบสถวัดโขงเจียมปุราณวาส
ด้านหลังอุโบสถวัดโขงเจียมปุราณวาส
ศาลาการเปรียญวัดโขงเจียมปุราณวาส
ศาลาการเปรียญวัดโขงเจียมปุราณวาส

วัดโขงเจียมปุราณวาส ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2378 โดยพระยากําแหง เจ้าเมืองโขงเจียม ได้นําชาวบ้านมาตั้งบ้านเรือนและได้สร้างวัดขึ้น การบริหารและการปกครอง มีเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนาม คือรูปที่ 1 พระหงษ์ พ.ศ. 2378-2400 รูปที่ 2 พระฝั้น พ.ศ. 2400-2433 รูปที่ 3 พระหอม พ.ศ. 2433-2446 รูปที่ 4 พระมี พ.ศ. 2446-2461 รูปที่ 5 พระกุลกุสโล พ.ศ. 2461-2475 รูปที่ 6 พระขจัด มลทิน พ.ศ. 2475-2483 รูปที่ 7 พระจร แสงชัย พ.ศ. 2483-2492 รูปที่ 8 พระจันดี จนทูปโม พ.ศ. 2492-2508 รูปที่ 9 พระอร่าม เตชปุญโญ พ.ศ. 2508-2518 รูปที่ 10 พระผึ้ง ธมมธโร พ.ศ. 2518-2537 รูปที่ 11 พระประมูล เขมภาโร พ.ศ.2537-

ธรณีและบานประตูหิน ศิลปะยุคเจนละ อายุราว 1400-1600 ปี ที่ตั้งอยู่ในวัดโขงเจียมปุราณวาส
ธรณีและบานประตูหิน ศิลปะยุคเจนละ อายุราว 1400-1600 ปี ที่ตั้งอยู่ในวัดโขงเจียมปุราณวาส

รอยเสด็จรัชกาลที่ 9 ณ วัดโขงเจียมปุราณวาส

เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในวัดโขงเจียมปุราณวาสนั้น คือ เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ.2518 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์) และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงเยี่ยมราษฎร ณ โรงเรียนบ้านนาแวงและวัดโขงเจียมปุราณวาส อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นการเสด็จฯ จังหวัดอุบลราชธานีครั้งที่ 7 โดยมีรายละเอียดดังนี้

ข่าวในพระราชสำนัก พระบรมมหาราชวัง วันพฤหัสบดีที่ 20 พฤศจิกายน 2518

เมื่อวันพุธที่ 19 พฤศจิกายน 2518 เวลา 08.35 น. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินโดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์จากที่ประทับแรมเขื่อนน้ำอูน ไปทรงเยี่ยมราษฎร ทหาร ตำรวจ และอาสาสมัครรักษาแผ่นดินในเขตพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีและนครพนม

เวลา 11.00 น. เสด็จฯ ถึงสนามหญ้าโรงเรียนบ้านนาแวง ตำบลนาแวง อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี แล้วเสด็จฯ โดยรถยนต์พระที่นั่งไปยังกองบังคับการกองร้อยทหารราบที่ 6011 ตำบลนาแวง อำเภอเขมราฐ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชทานถุงของขวัญ เวชภัณฑ์ และพระเครื่องแก่ผู้แทนหน่วยทหาร หน่วยปฏิบัติการตามลำแม่น้ำโขง หน่วยตำรวจตระเวนชายแดน หน่วยอาสาสมัครรักษาแผ่นดิน และครูโรงเรียนบ้านนาแวง ต่อจากนั้น พันตรีดำรง ทัศนศร รองผู้บังคับศูนย์เฝ้าตรวจชายแดน 303 กราบบังคมทูลถวายบรรยายสรุปสถานการณ์ เสร็จแล้วพระราชดำเนินทอดพระเนตรที่พักทหาร และดูติดต่อรอบกองบัญชาการฯ ตลอดจนมีพระราชปฏิสันถารกับผู้แทนหน่วยต่าง ๆ โดยทั่วถึง แล้วจึงเสด็จฯ โดยรถยนต์พระที่นั่งต่อไปยังวัดโขงเจียมปุราณวาส

เวลา 12.00 น. เสด็จถึงวัดโขงเจียมปุราณวาส ตำบลนาแวง อำเภอเขมราฐ เสด็จขึ้นศาลาการเปรียญ ทรงจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย และมีพระราชดำรัสกับพระราชาคณะ และเจ้าอาวาสถึงความเป็นอยู่ของราษฎร ตลอดพระราชทานเวชภัณฑ์สำหรับพระภิกษุได้ใช้ร่วมกับราษฎร เสร็จแล้วเสด็จลงเพื่อทรงเยี่ยมราษฎรที่มาเฝ้าฯ อยู่อย่างล้นหลาม ได้มีพระราชปฏิสันถารกับราษฎรเหล่านั้นถึงสถานการณ์ตามชายแดนและความเป็นอยู่โดยทั่วไป แล้วจึงเสด็จฯ โดยรถยนต์พระที่นั่งกลับไปยังโรงเรียนบ้านนาแวง ทรงเยี่ยมลูกเสือชาวบ้านจากจังหวัดอุบลราชธานีที่มาเฝ้าฯ ก่อนประทับเสวยพระกระยาหารกลางวัน ครั้นทรงพักผ่อนพระราชอิริยาบถตามพระราชอัธยาศัยแล้ว จึงเสด็จฯ โดยเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งต่อไปเมื่อเวลา 14.40 น.

การเดินทางมายังวัดโขงเจียมปุราณวาสนั้นถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณหาที่สุดมิได้ของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และด้วยเป็นวัดที่อยู่ติดกับแม่น้ำโขง เมื่อเดินทางไปเที่ยววัดก็จะได้ชมทัศนียภาพอันสวยงามองแม่แน่ำโขง รวมทั้งวิถีชีวิตการประมงในแม่น้ำโขงอีกด้วย

แม่น้ำโขง ที่วัดโขงเจียมปุราณวาส
แม่น้ำโขง ที่วัดโขงเจียมปุราณวาส
วิถีชีวิตการทำประมงในแม่น้ำโขง
วิถีชีวิตการทำประมงในแม่น้ำโขง

ที่ตั้ง วัดโขงเจียมปุราณวาส

บ้านนาแวง หมู่ที่ 2 ตําบลนาแวง อําเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี

พิกัดภูมิศาสตร์ วัดโขงเจียมปุราณวาส

16.027925, 105.327845569

บรรณานุกรม

ข่าวในพระราชสำนัก พระบรมมหาราชวัง. (ป้ายประชาสัมพันธ์)

มะลิวัลย์ สินน้อย, ผู้รวบรวม. (2551). ฐานข้อมูลวัดในจังหวัดอุบลราชธานี, 28 กุมภาพันธ์  2560. http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/ubon_temple

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง