วัดบุ่งขี้เหล็ก อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี วัดที่มีหลวงปู่จันทร์หอม สุภาทโร เป็นเจ้าอาวาสและผู้สืบสานวิทยาคมจากพระเถราจารย์แห่งราชอาณาจักรลาว ศิษย์ยุคสุดท้ายของสมเด็จลุน แห่งประเทศลาว ภายในวัดโดดเด่นด้วยเจดีย์อริยเมตตรัย รูปทรงสูงใหญ่สวยแปลกตากว่าที่อื่น ๆ และมีพระพุทธรูปปางมารวิชัยสีขาว 56 องค์ ที่วางเรียงอย่างสวยงาม ซึ่งทั้งหมดสร้างขึ้นจากการร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านบุ่งขี้เหล็กและผู้เลื่อมใสศรัทธาในหลวงปู่จันทร์หอม สุภาทโร
ประวัติวัดบุ่งขี้เหล็ก อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี
ประวัติวัดบุ่งขี้เหล็ก อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ตามที่มีการบันทึกไว้ เป็นสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 7 ไร่ 3 งาน หนังสือสําคัญสําหรับที่ดิน คือ โฉนดที่ดินเลขที่ 38592 เดิมชื่อ “วัดสังวรวนาราม” ภายหลังหลวงปู่จันทร์หอม ได้มาสร้างและบูรณะใหม่ ได้ชื่อว่า “วัดบุ่งขี้เหล็ก” ประกาศตั้งเป็นวัดเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2543 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2550 การบริหารและการปกครองมีเจ้าอาวาสตามลำดับ ดังนี้
รูปที่ 1 พระครูสุนทรพัฒโนดม(หลวงปู่จันทร์หอม สุภาทโร) 18 ธันวาคม 2543 – 4 กุมภาพันธ์ 2562
รูปที่ 2 พระมหาบันทอน สุธีโร 1 เมษายน 2563-ปัจจุบัน
อาคารเสนาสนะ ประกอบด้วย มหาวิหารพระพุทธชินราชและอุโบสถ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2546 สร้างเสร็จเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547 หอเจ้าแม่กวนอิม สร้างปี 2548 เจดีย์ศรีอริยะเมตตรัย
ปูชนียวัตถุสำคัญ ประกอบด้วย พระศรีอริยเมตไตรย พระพุทธชินราช พระพุทธรูปสีทอง ๒๘ องค์ และพระพุทธรูปปางมารวิชัย (ลานพระขาว) จำนวน 56 องค์ เป็นพระพุทธรูปที่ตั้งเรียงกันอย่างสวยงาม สร้างขึ้นโดยอาศัยการร่วมแรงร่วมใจช่วยกันคนละไม้ละมือจากชาวบ้านบุ่งขี้เหล็กและผู้เลื่อมใสศรัทธาในหลวงปู่จันทร์หอม สุภาทโร
วัดบุ่งขี้เหล็ก อยู่ห่างจากอําเภอเขมราฐไปทางอําเภอโขงเจียมประมาณ 13 กิโลเมตร วัดนี้เคยได้รับเกียรติบัตรรางวัลเป็นวัดที่มีความสะอาดดีมากตามโครงการ “อุบลเมืองสะอาด ราชธานีอีสาน” ประจำปี 2553
พระครูสุนทรพัฒโนดม หรือ หลวงปู่จันทร์หอม สุภาทโร
พระครูสุนทรพัฒโนดม หรือ หลวงปู่จันทร์หอม สุภาทโร พระคณาจารย์ผู้สืบสานวิทยาคมจากพระเถราจารย์แห่งราชอาณาจักรลาว ศิษย์ยุคสุดท้าย สมเด็จลุน แห่งประเทศลาว
หลวงปู่จันทร์หอม เกิดเมื่อเดือน 5 ปีมะโรง พ.ศ. 2459 ที่บ้านนาเอือด อำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี เนื่องจากสมัยนั้นไม่มีการจดบันทึกวันเดือนเกิด ทางคณะศิษย์จึงขอให้วันที่ 1 มีนาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันเกิด เพื่อร่วมแสดงมุทิตาจิตต่อท่าน ท่านเป็นคนไทยแท้ เกิดที่เมืองไทย แต่ไปโตที่ประเทศลาว เพราะครอบครัวย้ายถิ่นฐานไปทำมาหากินที่นั่น จนได้มีโอกาสร่ำเรียนวิชากับปรมาจารย์ใหญ่ อย่าง “สำเร็จลุน” ผ่านทาง “สำเร็จตัน” พระสังฆราชแห่งราชอาณาจักรลาวองค์ต่อจากสมเด็จลุน
หลวงปู่จันทร์หอม เป็นผู้ดำริให้มีการสร้างมหาเจดีย์ขึ้นเพื่อสืบพระพุทธศาสนาให้อยู่คู่บ้านคู่เมือง ให้ชื่อว่า “เจดีย์ศรีอริยะเมตตรัย” มีรูปทรงที่แปลกตาไม่เหมือนกับเจดีย์ที่พบเห็นทั่วไป มีความสูงจากพื้น 37 เมตร ทาผนังด้ายนอกด้วยสีทอง ตั้งโดดเด่นอยู่กลางวัด สร้างเมื่อปี พ.ศ.2556 และด้วยความเลื่อมใสศรัทธาที่มีต่อท่านทำให้มหาเจดีย์นี้สร้างแล้วเสร็จปี พ.ศ.2558 ใช้เวลเพียง 1 ปี 4 เดือน เท่านั้น
เจดีย์ศรีอริยะเมตตรัย วัดบุ่งขี้เหล็ก จะแบ่งเป็น 6 ชั้น เปรียบดั่งสวรรค์ทั้ง 6 ชั้น ทุกชั้นจะเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ดังนี้
- ชั้นจาตุมหาราชิกา (สวรรค์ชั้นที่ 1) เป็นที่อยู่ของท้าวมหาราช 4 พระองค์ปกครอง มีอายุ 500 ปีทิพย์ หรือ 9 ล้านปีมนุษย์ อยู่เมืองมนุษย์ทำแต่ความดี ชักชวนคนอื่นทำบุญทำทาน
- ชั้นดาวดึง (สวรรค์ชั้นที่ 2) เป็นเมืองใหญ่ มีพระธาตุเกศแก้วจุฬามณี พระอินทร์ปกครอง มีอายุ 1,000 ปีทิพย์ หรือ 36 ล้านปีมนุษย์ อยู่เมืองมนุษย์มีจิตใจดี ให้ทาน รักษาศีล ไม่ดูหมิ่นชาติตระกูล
- ชั้นยามา (สวรรค์ชั้นที่ 3) มีท้าวสยามเทวาธิราชเป็นผู้ปกครอง มีอายุ 2,000 ปีทิพย์ หรือ 144 ล้านปีมนุษย์ อยู่เมืองมนุษย์เป็นผู้นำพาคนอื่นบำเพ็ญกุศล รักษาศีล ภาวนาไม่เคยขาด
- ชั้นดุสิต (สวรรค์ชั้น 4) มีท้าวสันดุสิตเทวราชปกครอง มีอายุ 4,000 ปีทิพย์ หรือ 576 ล้านปีมนุษย์ อยู่เมืองมนุษย์ เป็นผู้มีจิตใจบริสุทธิ์ ทรงศีล ทรงธรรม ชอบฟังพระธรรมเทศนา
- ชั้นนิมมานรตีภูมิ (สวรรค์ชั้นที่ 5) มีท้าวสุนิมมิตเทวราชปกครอง มีอายุ 8,000 ปีทิพย์ หรือ 2,304 ล้านปีมนุษย์ อยู่เมืองมนุษย์ประพฤติปฏิบัติธรรมสม่ำเสมอ มีใจสมบูรณ์ด้วยศีล
- ชั้นปรนิมมิตสวัสดี (สรรค์ชั้นที่ 6) มีท้าวปรนิมมิตสวัสดีและท้าวปรมินมิตสวัสดีมาราธิราชเป็นผู้ปกครอง มีอายุ 16,000 ปีทิพย์ หรือ 9,216 ล้านปีมนุษย์ อยู่เมืองมนุษย์ก่อสร้างกองการกุศลให้ยิ่งใหญ่ อบรมจิตใจให้สูงขึ้น มีคุณธรรม จิตเลื่อมใสในการให้ทานรักษาศีล
เจดีย์ศรีอริยะเมตตรัย ภายหลังได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ โดยการนำของพระมหาบันทอน สุธีโร เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน พร้อมด้วยชาวบ้านและพุทธศาสนิกชน และเปิดให้เข้าไปสักการะตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 เป็นต้นมา ภายในเจดีย์จะมีลิฟต์บริการขึ้น-ลงทุกชั้น โดยทุกชั้นจะเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ พระพุทธรูปสำคัญ และชั้นบนยอดดาดฟ้ามหาเจดีย์ก็จะเป็นที่ชมวิวทัศนียภาพสองฝั่งโขง เพื่อให้ญาติโยมพุทธศาสนิกชน เข้าไปนมัสการกราบไหว้ขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคล เป็นมงคลชีวิตแก่ตนเองและครอบครัว
ที่ตั้ง วัดบุ่งขี้เหล็ก
เลขที่ 139 หมู่ 4 บ้านบุ่งขี้เหล็ก ตําบลนาแวง อําเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี
พิกัดภูมิศาสตร์ วัดบุ่งขี้เหล็ก
16.029416, 105.297224675
บรรณานุกรม
เดลินิวส์. (2558). หลวงปู่จันทร์หอม รุ่น ‘มหาบารมียอดฉัตร’ ฉลองมหาเจดีย์ 7 ชั้น วัดบุ่งขี้เหล็ก จ.อุบลฯ, 1 มีนาคม 2560. http://www.dailynews.co.th/article/354729
มะลิวัลย์ สินน้อย, ผู้รวบรวม. (2551). ฐานข้อมูลวัดในจังหวัดอุบลราชธานี, 1 มีนาคม 2560. http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/ubon_temple
สนธยา ทิพย์อุตร์. (2560).นมัสการพระบรมสารีริกธาตุองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าวัดบุ่งขี้เหล็ก, 1 มีนาคม 2560. http://www.ryt9.com/s/tpd/2595947