วัดพิชโสภาราม อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดอุบลราชธานีแห่งที่ 3 ที่เปิดสอนกรรมฐานทั้งสมถะและวิปัสสนา ทั้งภายในและภายนอกสถานที่ รวมทั้งมีโรงเรียนปริยัติธรรมที่ดำเนินการจัดการศึกษาทางวิชาการพระพุทธศาสนา แผนกนักธรรม-ภาษาบาลี และหลักสูตรการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ให้แก่พระภิกษุสามเณร
ประวัติวัดพิชโสภาราม อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี
ประวัติวัดพิชโสภาราม อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานีตามที่มีการบันทึกไว้ เป็นวัดในสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 53 ไร่ 7 ตารางวา อาคารเสนาสนะ ประกอบด้วย อุโบสถ กว้าง 9 เมตร ยาว 17 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2511 ศาลาการเปรียญ กว้าง 14 เมตร ยาว 30 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2508 กุฏิสงฆ์ และโรงเรียนปริยัติธรรม
ปูชนียวัตถุมีพระประธาน จํานวน 4 องค์ประดิษฐานในอุโบสถ ศาลาการเปรียญ โรงเรียนพระปริยัติธรรมและกุฏิร่วมใจ และพระเบญจมงคลมณีรัตน์ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2528
วัดพิชโสภาราม ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2428 ได้รับพระราชทานวิงสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2482 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 40 เมตร ยาว 40 เมตร การบริหารและการปกครอง มีเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนาม คือ รูปที่ 1 พระจันทร์ พ.ศ.2459-2463 รูปที่ 2 พระเข็ม รูปที่ 3 พระสี รูปที่ 4 พระพรม รูปที่ 5 พระแดง รูปที่ 6 พระคูณ รูปที่ 7 พระบุญมี รูปที่ 8 พระเคน รูปที่ 9 พระโสม รูปที่ 10 พระอ่อน รูปที่ 11 พระมา รูปที่ 12 พระคําพันธ์ รูปที่ 13 พระคําเวิน พ.ศ. 2494-2502 รูปที่ 14. พระครูวิศาลเขมคุณ ตั้งแต่ พ.ศ. 2502-
ปัจจุบันวัดพิชโสภาราม มีพระภาวนาสุตาภิรัต เป็นเจ้าอาวาส ทางวัดได้เปิดสอนกรรมฐานทั้งสมถะและวิปัสสนามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 ปัจจุบันได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น สำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดอุบลราชธานี แห่งที่ 3 มีการสอนกรรมฐานทั้งภายในสำนักและนอกสำนัก โดยเฉพาะในเทศกาลเข้าพรรษาและภาคฤดูหนาว
แนวทางของการปฏิบัติ คือ วิปัสสนากรรมฐาน ตามนัยแห่งสติปัฏฐาน 4 ได้แก่กำหนดพิจารณากาย เวทนา จิต ธรรม ใช้คำบริกรรม พองหนอ-ยุบหนอ และการเดินจงกรม 6 ระยะ มีการสอบอารมณ์ผู้ปฏิบัติ โดยวิปัสสนาจารย์
สำนักปฏิบัติธรรมวัดพิชโสภาราม มีหลักสูตรในการปฏิบัติธรรม คือ มหาสติปัฏฐาน 4 มีพระวิปัสสนาจารย์ จำนวน 5 รูป วิทยากรพิเศษ จำนวน 7 รูป/คน สามารถรับผู้ปฏิบัติธรรมได้ ครั้งละจำนวน 300 คน แห่งนี้ประกอบด้วย 1. ศาลาการเปรียญ 2. ศาลาอเนกประสงค์ 3. ลานปฏิบัติธรรม 4. ห้องกรรมฐาน 5. สถานที่พักค้างคืนสำหรับปฏิบัติธรรม: กุฏิกรรมฐาน จำนวน 55 หลัง ห้องรวมใหญ่ จำนวน 3 ห้อง และ 6.ห้องสุขา/ห้องน้ำ จำนวน 50 ห้อง
ช่วงเวลาที่วัด/สำนักจัดปฏิบัติธรรมประจำปี คือ เดือนกรกฎาคม เดือนสิงหาคม และเดือนกันยายน การดูแลเรื่องสุขอนามัย และความปลอดภัย มีเวชภัณฑ์ประจำ และเจ้าหน้าที่ดูแลความปลอดภัย ตลอดระยะเวลาการปฏิบัติธรรม อาหาร วันละ 2 มื้อ เช้า-เพล ตอนเย็น มีน้ำปานะ
ระเบียบข้อปฏิบัติสำหรับผู้ปฏิบัติธรรมวัดพิชโสภาราม
- ไม่พึงรับแขก เยี่ยม พูดคุยกับผู้ปฏิบัติด้วยกัน ถ้าจำเป็นต้องสำรวม
- ไม่พึงอ่านหนังสือ ดูหนังสือ เขียนหนังสือ เว้นไว้แต่จำเป็น
- ห้ามสูบบุหรี่ และกินหมาก หรือยาเสพติด ทุกประเภท
- ไม่พึงนอนมาก ทำความเพียรน้อย โยคีไม่ควรนอนเกินกว่าวันละ 4 ชั่วโมง
- พึงรักษาระเบียบข้อปฏิบัติ พระธรรมวินัยให้เคร่งครัด
- เวลาออกไปนอกสถานที่ปฏิบัติ ต้องแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย แม้แต่อยู่ในที่พักก็ต้องพยายามแต่งกาย และนั่งนอนให้เรียบร้อย
- ถ้าเป็นวันอุโบสถ ผู้ปฏิบัติที่เป็นสามเณร อุบาสก – อุบาสิกา พึงสมาทานศีลอุโบสถ
- พึงรักษาความสะอาดที่พัก บริเวณสถานที่ปฏิบัติ และห้องน้ำ ห้องสุขาให้สะอาดเรียบร้อยอยู่เสมอ
- ห้ามทิ้งขยะ เศษอาหาร สิ่งโสโครกออกนอกกำแพงวัด หรือภายในบริเวณสถานที่ปฏิบัติ ให้ทิ้งในที่ควรทิ้ง และที่จัดไว้ให้
- เมื่อมีกิจธุระจำเป็นจะต้องออกไปนอกสถานที่ปฏิบัติ ให้บอกลาพระอาจารย์ผู้ดูแลการปฏิบัติ หรือพระเจ้าหน้าที่เสียก่อน
- ห้ามนำบุคคลภายนอกเข้ามาพักอยู่ค้างคืน ภายในสถานที่ปฏิบัติก่อนได้รับอนุญาต
- เวลาจะออกจากสำนัก กลับคืนที่อยู่ของตน ต้องบอกลาท่านเจ้าอาวาสพระอาจารย์ หรือพระเจ้าหน้าที่ แล้วแจ้งมอบสิ่งของเครื่องใช้ให้เป็นที่เรียบร้อยแล้วจึงไป
- เมื่อเจ็บป่วยด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ต้องรีบแจ้งให้พระอาจารย์ หรือพระเจ้าหน้าที่ทราบโดยเร็ว และ
- ถ้าสิ่งใดที่จะเป็นเหตุนำมา ซึ่งความเสื่อมเสียแก่หมู่คณะ สำนัก และแก่พระศาสนา จงเรียนต่อพระอาจารย์ หรือพระเจ้าหน้าที่ให้ทราบโดยเร็ว
ที่ตั้ง วัดพิชโสภาราม
เลขที่ 43 บ้านเรืองอุดม หมู่ที่ 2 ตําบลแก้งเหนือ อําเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี โทร.045-218019
เว็บไซต์ : http://www.watpitch.com
พิกัดภูมิศาสตร์ วัดพิชโสภาราม
15.930351, 105.136113098
บรรณานุกรม
คมชัดลึก. (2554). วัดพิชโสภารามสำนักปฏิบัติธรรมประจำ จ.อุบลฯ, 1 มีนาคม 2560. http://www.komchadluek.net/news/lifestyle/117226
มะลิวัลย์ สินน้อย, ผู้รวบรวม. (2551). ฐานข้อมูลวัดในจังหวัดอุบลราชธานี, 1 มีนาคม 2560. http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/ubon_temple