วัดอูบมุง อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ที่ประดิษฐานพระเจ้าใหญ่อูบมุง หรือพระเจ้าใหญ่องค์หมื่น พระพุทธรูปเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองเขมราฐอีกองค์หนึ่ง
ประวัติวัดอูบมุง อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี
ประวัติวัดอูบมุง อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ตามที่มีการบันทึกไว้นั้น เป็นวัดในสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 4 ไร่ 3 งาน 54 ตารางวา อาณาเขต ทิศเหนือจดทุ่งนา ทิศใต้จดทุ่งนา ทิศตะวันออกจดถนนสาธารณะ ทิศตะวันตกจดทุ่งนา อาคารเสนาสนะ ประกอบด้วยอุโบสถกว้าง 12 เมตร ยาว 21 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2514 กุฏิสงฆ์ จํานวน 2 หลัง เป็นอาคารไม้และครึ่งตึกครึ่งไม้ ศาลาอเนกประสงค์ กว้าง 8 เมตร ยาว 8 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2536 และศาลาบําเพ็ญกุศลจํานวน 1 หลัง สร้างด้วยไม้ บรรยากาศภายในวัดมีความร่มรื่นด้วยต้นไม้ ซึ่งท่านเจ้าอาวาสมีแนวคิดจะทำการอนุรักษ์พันธุ์ไม้หายากในท้องถิ่นที่นับวันจะลดน้อยลงโดยการรวบรวมและนำมาปลูกไว้ในบริเวณวัด
วัดอูบมง ตั้งเมื่อ พ.ศ.2303 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2541 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 15 เมตร ยาว 30 เมตร การบริหารและการปกครอง มีเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนาม คือรูปที่ 1 พระชม โอภาโส พ.ศ.2502-2511 รูปที่ 2 พระครูโกวิทเขมคุณ ตั้งแต่ พ.ศ. 2517- ปัจจุบัน คือ พระอธิการสมควร สญฺญโม
พระเจ้าใหญ่อูบมุง (พระเจ้าใหญ่องค์หมื่น) วัดอูบมุง
พระอธิการสมควร สญฺญโม เจ้าอาวาสวัดอูบมุง ได้ให้ข้อมูลว่า พระเจ้าใหญ่อูบมุง (พระเจ้าใหญ่องค์หมื่น) เป็นพระพุทธรูปที่เก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ สร้างในสมัยใดไม่ปรากฏแน่ชัด แต่พบเมื่อประมาณ 200 กว่าปีนี้เอง
ความเป็นมาในดินแดนแห่งนี้แต่ก่อนยังเป็นที่รกร้างว่างเปล่าไม่มีผู้คนเข้ามาอาศัยอยู่ ต่อมาเมื่อประมาณปี พ.ศ.2349 มีท้าวศรีจันทร์ ศรีสุราชเป็นชาวอำเภอเขมราฐได้อพยพมาพร้อมกับพรรคพวกจำนวนหนึ่งมาตั้งแหล่งทำมาหากินในบริเวณที่ตั้งหมู่บ้านอูบมุงแห่งนี้ และในครั้งนั้นมีการค้นพบพระพุทธรูปองค์นี้อยู่ในป่ารกชัฏประดิษฐานอยู่ในวัดร้างเป็นพระพุทธรูปปางนาคปรก และมีอูบมุงก่อด้วยอิฐครอบองค์พระเอาไว้ ส่วนองค์พระมีปลวกขึ้นพอกจนถึงพระอุระและเรียกว่า “อูบมุง” ซึ่งสันนิฐานว่าคงจะมาจากคำว่า สถูป หรือ อูบ จึงได้พากันเรียกว่าพระอูบมุง หรือพระเจ้าใหญ่อูบมุงตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และท้าวศรีจันทร์ ศรีสุราช พร้อมด้วยคณะได้ตั้งหมู่บ้านขึ้นมาชื่อว่า บ้านอูบมุง โดยเรียกตามชื่อพระพุทธรูปที่ค้นพบสืบมาจนทุกวันนี้
ด้วยความเชื่อและความศรัทธาของชาวบ้านซึ่งมีความเคารพสักการะในความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธรูปองค์นี้ จึงเรียกได้ว่าเป็นพระพุทธรูป คู่บ้าน คู่เมือง ของชาวอำเภอเขมราฐอีกองค์ ซึ่งคู่กับพระเจ้าใหญ่องค์แสนที่ประดิษฐานที่วัดโพธิ์เขมราฐ และมีความเชื่อกันว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์สิงสถิตอยู่จึงไม่มีใครกล้าเข้าไปบูรณะวัดร้างแห่งนี้ ใครจะมาทำอะไรไม่ได้โดยเด็ดขาด ถ้าไม่เชื่อและขืนทำไปก็จะมีอันเป็นไปในทางที่ไม่ดีอย่างแน่นอน ดังนั้นวัดร้างแห่งนี้จึงถูกปล่อยทิ้งไว้เรื่อยมา
จนถึงประมาณปี พ.ศ.2460 ได้มีพระธุดงค์องค์หนึ่งมาพบและพำนักในวัดพระเจ้าใหญ่อูบมุงและได้บำเพ็ญเพียรภาวนา พระธุดงค์รูปนี้ชื่อว่าพระอาจารย์บุญมา เป็นชาวเวียงจันทร์ พระรูปนี้มีญาติโยมให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างมาก ต่อมาพระอาจารย์บุญมาได้พาชาวบ้านบูรณะวัดร้างแห่งนี้ให้เป็นวัดขึ้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งมีการยกแท่นพระเจ้าใหญ่แล้วซ่อมแซมอุโมงค์ครอบองค์พระขึ้นมาใหม่เป็นรูปสถูปหรือเจดีย์ เสร็จเรียบร้อยแล้วต่อจากนั้นเป็นต้นมามีผู้คนรู้จักและให้ความเคารพศรัทธาพระเจ้าใหญ่อูบมุงเป็นอย่างมากเนื่องมาจากมีความเลื่อมใสศรัทธากันว่าพระเจ้าใหญ่อูบมุงเป็นพระพุทธรูปที่มีความศักดิ์สิทธิ์องค์หนึ่งในท้องถิ่นนี้
วัดพระเจ้าใหญ่อูบมุงตั้งเป็นวัดมาเป็นเวลานานมากกว่า 60 ปี จนถึงปี พ.ศ.2514 สมัยพระอธิการลี หรือพระครูโกวิทเขมคุณเป็นเจ้าอาวาส และเป็นเจ้าคณะตำบล ในสมัยนั้นได้มีการประชุมพิจารณาที่จะสร้างวิหารพระเจ้าใหญ่อูบมุงขึ้นใหม่ โดยมีพระครูวรกิจโกวิท เจ้าคณะอำเภอเขมราฐ เป็นประธาน ที่ประชุมมีความเห็นพร้อมให้สร้างขึ้นซึ่งมีขนาดกว้าง 12 เมตร ยาว 21 เมตร หลังปัจจุบันโดยมีผู้มีจิตศรัทธาบริจาคและงบประมาณในการจัดงานบุญประจำปี และงบประมาณบางส่วนทางราชการได้สนับสนุนอุดหนุนจนแล้วเสร็จ สิ้นค่าก่อสร้างประมาณล้านเศษ เมื่อปี พ.ศ.2528 ได้ทำการรื้ออุโมงค์หลังเก่าออก แล้วเปลี่ยนเป็นรูปฉัตรครององค์พระไว้และยกแท่นใหม่ ค่าก่อสร้างในครั้งนั้น จำนวน 15,000 บาท
ที่ตั้ง วัดอูบมุง
บ้านอูบมง หมู่ที่ 5 ตําบลเขมราฐ อําเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี
พิกัดภูมิศาสตร์ วัดอูบมุง
16.067711, 105.148669213
บรรณานุกรม
ชมรมอนุรักษ์พุทธศิลป์แห่งภาคอีสาน. (2555). พระเจ้าใหญ่อูบมุง (พระเจ้าใหญ่องค์หมื่น), 2 มีนาคม 2560. http://www.ubonpra.com
พระอธิการสมควร สญฺญโม. สัมภาษณ์, 27 มกราคม 2560.
มะลิวัลย์ สินน้อย, ผู้รวบรวม. (2551). ฐานข้อมูลวัดในจังหวัดอุบลราชธานี, 2 มีนาคม 2560. http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/ubon_temple