วัดอัมพวันนาราม เรียนรู้ท้องถิ่นจากการขุดพบเรือกระแซง

วัดอัมพวันนาราม อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี วัดที่ติดริมฝั่งแม่น้ำชี เรียนรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจากการขุดพบเรือกระแชง ซึ่งเป็นเรือโบราณที่สันนิษฐานว่าใช้สำหรับการคมนาคมขนส่งสินค้าในลุ่มน้ำชี

วัดอัมพวันนาราม หรือวัดท่าศาลา อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี

วัดอัมพวันนาราม หรือวัดท่าศาลา เริ่มต้นนั้นตั้งขึ้นพร้อมกับการตั้งหมู่บ้าน สถานที่ตั้ง คือ บริเวณบ้านคุณตาเพ็ง-คุณยายลำพอง ธานี ต่อมาปี พ.ศ. 2463 พระบริคุตคามเขตร (โง่นคำ สุวรรณกูฎ) นายอำเภอเขื่องในในขณะนั้นได้มาเป็นผู้นำชาวบ้านในการตัดถนนหนทางให้เป็นสัดส่วนและเป็นระเบียบเรียบร้อย จึงมีแนวคิดที่จะย้ายวัดไปตั้งในที่แห่งใหม่ที่มีความเหมาะสมกว่า พ่อใหญ่คำตาและพ่อใหญ่จัน ได้ทราบข่าวก็มีความยินดีและมีจิตศรัทธาบริจาคสวนมะม่วงริมฝั่งแม่น้ำชีให้สร้างวัด ซึ่งมีพื้นที่ 17 ไร่ จึงเรียกชื่อวัดว่า “วัดอัมพวันนาราม” ซึ่งหมายถึง วัดอันตั้งอยู่ในป่ามะม่วงนั่นเอง

วัดอัมพวันนาราม ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2463 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2473 รายนามเจ้าอาวาสวัด รูปที่ 1 อาจารย์ครูพันธ์ ธานี (พ.ศ.2461-2471) รูปที่ 2 อาจารย์ครูเพชร (พ.ศ.2471-2482) รูปที่ 3 อาจารย์ครูปุ้ย (พ.ศ.2482-2498) รูปที่ 4 อาจารย์ครูหลาย มาลัย (พ.ศ.2498-2500) รูปที่ 5 หลวงพ่อข่าย (พ.ศ.2500) รูปที่ 6 อาจารย์ครูสุทัน ธานี (พ.ศ.2500-2510) รูปที่ 7 พระภิกษุแอ๋ง (พ.ศ.2510-2512) รูปที่ 8 พระภิกษุเตี้ย (พ.ศ.2512-2514) รูปที่ 9 หลวงพ่อทุย (พ.ศ.2514-2517) รูปที่ 10 หลวงพ่อชาลี (พ.ศ.2517-2520) รูปที่ 11 หลวงพ่อพา (พ.ศ.2520-2529) รูปที่ 12 พระครูสิทธิธรรมนุสิฐ (อู๊ด เตชธมฺโม) (พ.ศ.2530- )

การขุดพบเรือกระแซง เรือขนสินค้าโบราณ

ณ วัดอัมพวันนาราม มีประวัติการขุดพบการค้นพบเรือใหญ่ในบริเวณชายหาดในลำน้ำชี อยู่ฝั่งตรงข้ามกับหมู่ที่ 5 บ้านท่าศาลา ตำบลชีทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ตัวเรือฝังจมอยู่ใต้หาดทรายมีกาบเรือโผล่ขึ้นมาเหนือดินทรายเล็กน้อย หัวเรือหันไปทางต้นน้ำ ตัวเรือหันออกมาทางลำน้ำชีเป็นแนวเฉียงกึ่งขวางทางน้ำ

ผู้ค้นพบคนแรกไม่ปรากฏแน่ชัด จากคำบอกเล่าของชาวบ้านที่หาปลาอยู่บริเวณนั้น บอกว่าพบตั้งแต่ปี พ.ศ.2538 ช่วงฤดูน้ำหลากของทุกปีน้ำจะท่วมหลังหาด ชาวบ้านจะลากข่าย (ไหลมอง) บริเวณหลังหาด พอลากมาถึงบริเวณที่เรือฝังอยู่ ข่ายจะติดโครงเรือที่โผล่พ้นทรายขึ้นมา แล้วชาวบ้านก็จะตัดออก พอหน้าแล้งหาดทรายจะพ้นน้ำเป็นแนวยาว บางปีหัวเรือจะโผล่ทรายเล็กน้อย ชาวบ้านคิดว่าเป็นขอนไม้ฝังดินอยู่ ก็ก่อไฟเพื่อปิ้งปลา ทำอาหาร ดังจะเห็นปรากฏว่ามีรอยไฟไหม้ที่หัวเรืออยู่ พอช่วงปลายปี 2554 น้ำท่วมขังเป็นเวลานาน คุ้งน้ำเหนือหาดพังทลายลงทำให้น้ำไหลเซาะหาดพัดพาไปตามน้ำ ทำให้หาดบริเวณนั้นตื้นเขิน โครงเรือจึงโผล่สูงขึ้น ด้วยความสงสัยจึงขุดสำรวจดูใต้พื้น พบว่า มีลักษณะคล้ายเรือใหญ่ จึงได้บอกกล่าวกันไปขุด โดยใช้แรงงานชาวบ้านและรถแบคโฮ 2 คัน ทำการขุดในวันที่ 4 และ 5 เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2555 รวมเป็นเวลา 2 วัน หลังจากขุดพบและกู้ขึ้นจากพื้นหาดแล้วปรากฏว่าเป็นเรือขนาดใหญ่ มีความยาว 26.40 เมตร กว้าง 3.50 เมตร เป็นเรือติดด้วยไม้ตะเคียนทอง อยู่ในสภาพแข็งแรงและความสมบูรณ์ราว 70-80% เป็นเรือขนสินค้าในสมัยโบราณ ซึ่งเรียกว่า “เรือกระแซง”

เรือกระแซง ที่วัดอัมพวันนาราม
เรือกระแซง ที่วัดอัมพวันนาราม

ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับเรือโบราณ อายุราว 200 ปี

ในสมัยก่อนที่จะมีถนนหนทางเหมือนในปัจจุบัน ชาวบ้านส่วนใหญ่นิยมเดินทางและขนส่งทางน้ำ เนื่องจากสามารถบรรทุกสินค้าได้เป็นจำนวนมากสะดวกรวดเร็วในการเดินทางติดต่อซื้อขายระหว่างเมืองต่าง ๆ รวมทั้งคนสมัยก่อนก็นิยมตั้งบ้านเรือนของตนเองไว้ใกล้แม่น้ำใหญ่ เช่น แม่น้ำชี เพื่อสะดวกในการติดต่อค้าขายและใช้น้ำในการอุปโภค บริโภค ทำการเกษตรและการประมง

แม่น้ำชีไหลลงบรรจบกับแม่น้ำมูล ณ บริเวณที่เป็นอาณาเขตของตำบลหนองบ่อ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี และตำบลหนองแวง อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ ชาวบ้านเรียกบริเวณที่แม่น้ำไหลบรรจบกันนี้ว่า “ปากเจ้า” ซึ่งเป็นฝั่งซ้ายของแม่น้ำมูล ตรงข้ามกับที่ตั้งบ้านวังยาง ตำบลหนองกินเพล อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี

ดังนั้น เรือโบราณลำนี้ จึงน่าจะเป็นเรือที่ใช้ขนส่งสินค้าไปมาระหว่างแม่น้ำชี สู่แม่น้ำมูลตามบ้านเมืองต่าง ๆ จากจังหวัดชัยภูมิจนถึงจังหวัดอุบลราชธานี หรือใช้ในการเดินทางไปมาระหว่างเมืองหรือหมู่บ้านต่าง ๆ ทั้งขาขึ้นและขาล่อง การขุดพบเรือโบราณนี้จึงสำคัญอย่างยิ่งแก่อนุชนรุ่นหลังทำให้ทราบความเป็นมาของบรรพบุรุษ ทราบวิถีชีวิตของชุมชนในยุคสร้างบ้านแปงเมืองเป็นเมืองอุบลราชธานีและเมืองต่าง ๆ

เรือโบราณถูกขุดขึ้นและนำมาเก็บแสดงไว้ที่วัดอัมพวันนาราม บ้านท่าศาลา ตำบลชีทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้เรียนรู้ศึกษาต่อไป

ลำดับเหตุการณ์การขุดเรือกระแซง วัดอัมพวันนาราม

  • วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2555 นายธัชพร แสงงามวริสรา เกิดความสงสัยที่เห็นโครงเรือโผล่อยู่จึงใช้ไม้พายขุดทรายลงไปดูปรากฏว่าเป็นเรือใหญ่ จึงเรียกเพื่อนที่ไปหาปลาด้วยกันมาดู เห็นเป็นแน่ชัดจึงได้ขึ้นไปบอกชาวบ้านให้รู้ทั่วกัน
  • วันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ.2555 ชาวบ้านมีมติร่วมใจกันขุดเรือ โดยมีนายประจิตร ธานี อดีตกำนันตำบลชีทวน เจ้าของบริษัทไผ่สีทอง ได้นำรถแบคโฮ 2 คัน ไปขุดพร้อมแรงงานชาวบ้านกว่า 100 คน จนเห็นเป็นรูปเรือทั้งลำฝังอยู่ใต้หาดทราย
  • วันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ.2555 ได้ไปขุดต่อประมาณ เวลา 12.45 น. จึงยกขึ้นพ้นจากหาดทราย ตั้งไว้บริเวณหาดเพื่อผึ่งแดดให้ไม้แห้ง
  • วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2555 ตัดไม้ไผ่เพื่อมัดเป็นแพขนาบข้างเรือทั้งสองข้าง ให้เรือสามารถลอยน้ำได้โดยไม้ไผ่ได้รับอนุเคราะห์จากนายบุญหลาย ธานี อดีตกำนันตำบลชีทวน นายวินัย ธานี และชาวบ้านทั้งสองหมู่บ้าน
  • วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ.2555 น้ำชีมีระดับสูงขึ้น เรือลอยตัวขึ้นได้จึงล่องน้ำข้ามฝั่งมาจอดไว้ที่บริเวณท่าน้ำหน้าวัดอัมพวันนาราม
  • วันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2555 ล่องเรือลงไปท่าโศกซึ่งอยู่ใต้ท่าน้ำวัดอัมพวันนารามเล็กน้อยเพื่อลากเรือขึ้นฝั่งโดยทำเป็นรางเหล็ก ยกเรือขึ้นเหนือรางเหล็ก ใช้รถแบคโฮ 2 คัน พร้อมด้วยแรงงานชาวบ้านตำบลชีทวนกว่า 200 คน ชักลากมาเก็บไว้บริเวณวัดอัมพวันนาราม บ้านท่าศาลา ตำบลชีทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อเวลา 13.30 น.

ในการขุดพบเรือใหญ่โบราณขึ้นจากแม่น้ำชี ได้มีข่าวแพร่กระจายออกไป ทั้งกระจายข่าวทางสื่อโทรทัศน์ และสื่อออนไลน์ ทำให้ประชาชนทั่วสารทิศ เดินทางมาเยี่ยมชมเรือโบราณอย่างมากมายและต่อเนื่องมาโดยตลอดโดยเฉพาะใกล้วันหวยออก 1-2 วัน เมื่อได้รับเงินบริจาคทางคณะกรรมการจึงได้สร้างโครงหลังคามุงไว้เพื่อป้องกันแดดและฝนอยู่ระหว่างอุโบสถกับศาลาการเปรียญ

อุโบสถวัดอัมพวันนาราม
อุโบสวัดอัมพวันนาราม ขนาดกว้าง 10 เมตร ยาว 15 เมตร ภายในมีภาพเขียนฝาผนังเกี่ยวกับทศชาติ บูรณะปฏิสังขรณ์โดยการเปลี่ยนหลังคาและทาสีใหม่ทั้งหลังแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2536
สิงโตหน้าอุโบสถวัดอัมพวันนาราม
สิงโตหน้าอุโบสถวัดอัมพวันนาราม
มกรคายนาคที่บันไดอุโบสถวัดอัมพวันนาราม
มกรคายนาคที่บันไดอุโบสถวัดอัมพวันนาราม
วังมัจฉา วัดอัมพวันนาราม
วังมัจฉา พระครูสิทธิธรรมานุสิฐ ได้ขอความร่วมมือจากญาติโยมบ้านท่าศาลาให้ลำแม่น้ำชีบริเวณหน้าวัดความยาวประมาณ 1 กิโลเมตร เป็นเขตอภัยทานสัตว์ หรือ เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำ ห้ามจับสัตว์น้ำทุกชนิดในบริเวณดังกล่าว พร้อมทั้งหาก้อนหิน ขอนไม้ ท่อปูนซีเมนต์ลงวางในลำน้ำชีเพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยของปลาและสัตว์น้ำอื่น ๆ

wat_ampawannaram_7

wat_ampawannaram_2

ที่ตั้ง วัดอัมพวันนาราม

บ้านท่าศาลา หมู่ 4 ตำบลชีทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี

พิกัดภูมิศาสตร์ วัดอัมพวันนาราม

15.268940, 104.645569000

บรรณานุกรม

ระลึก ธานี. (2553). บ้านท่าศาลา (พ.ศ.2460-2553). อุบลราชธานี: รุ่งศิลป์การพิมพ์ออฟเซ็ท.

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง