ผ้าลายปลาอีด ผ้าลายเอกลักษณ์ของบ้านชีทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ลวดลายผ้าเกิดจากการลียนแบบลายของปลาอีด ปลาน้ำจืดขนาดเล็กที่นิยมรับประทาน เป็นงานหัตถกรรมพื้นบ้านของกลุ่มสตรีในชุมชนเพื่อหารายได้เพิ่มและรักษาเอกลักษณ์ของชุมชนไว้
ผ้าลายปลาอีด ลวดลายเอกลักษณ์ของบ้านชีทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี
บ้านชีทวน ตำบลชีทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี หมู่บ้านเก่าแก่ ดินแดนแห่งวัฒนธรรมของจังหวัดอุบลราชธานี ที่ยังคงอนุรักษ์และสืบสานศิลปวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงามมาจวบจนปัจจุบัน เมื่อเดินทางมาที่บ้านชีทวนจะได้เรียนรู้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่นริมแม่น้ำชี เรียนรู้ประวัติศาสตร์ชุมชนเก่าแก่ ไหว้พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ และชมศิลปกรรมงานช่างท้องถิ่นตามวัดต่าง ๆ
ภูมิปัญญาการทอผ้าพื้นเมืองของบ้านชีทวนก็มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ มีการสืบทอดและสืบสานกันมาช้านาน นั่นคือ ผ้าลายปลาอีด ซึ่งเป็นการดัดแปลงมาจากลวดลายของปลาอีด ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดขนาดเล็กที่พบในท้องถิ่น พบมากฤดูเก็บเกี่ยวข้าว ชาวอีสานนิยมนำมาทำเป็นอาหาร ประเภทอ่อมหรือห่อหมก เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นความอุดมสมบูรณ์
ผ้าลายปลาอีด มีลักษณะคล้ายผ้าลายขัดพื้นฐาน ส่วนใหญ่จะทอด้วยฝ้ายหรือเส้นด้ายสำเร็จรูป หนึ่งผืนประกอบด้วย 2 สี คือ สีพื้นและตัดเป็นลวดลายด้วยสีขาว สีที่นิยมใช้มีหลากหลายสี เช่น ดำ น้ำเงิน เหลือง เขียว ชมพู ขึ้นกับความต้องการของตลาด ความยากของการทอผ้าลายนี้ คือ เป็นลายขนาดเล็ก ละเอียด ต้องอาศัยฝีมือและความชำนาญ รูปแบบการทอผ้าลายปลาอีดสีม่วง
ขาว 1 ม่วง 1 | ขาว 1 ม่วง 1 | ขาว 1 ม่วง 2 | สลับกันไปเรื่อย ๆ
ผ้าลายปลาอีดที่ทอจะใช้ฟืม 14 หน้า สำหรับผ้าหน้ากว้าง 80 เซนติเมตร ใช้ฟืม 20 22 หรือ 28 สำหรับผ้าหน้ากว้าง 1 เมตร ถ้าทอทั้งวันจะได้ผ้ายาวประมาณ 1 เมตร ปัจจุบันมีการประยุกต์เป็นลายดาวด้วย ผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการแปรรูปผ้าลายปลาอีด เช่น ผ้าถุง ผ้าคลุมไหล่ ผ้าพันคอ ผ้าโพกหัว เสื้อ กระเป๋า เป็น
ตำบลชีทวน เป็นตำบลเก่าแก่ สมัยก่อนชาวบ้านจะทอผ้าใช้เอง ต่อมาแขกบ้าน แขกเมืองมาเที่ยวเห็นความสวยงามของผ้าเลยถามเพื่อที่จะซื้อ ชาวบ้านจึงรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มผลิตเพื่อจำหน่าย โดยเริ่มที่หมู่ 3 แต่ยังขายได้ไม่มากนัก จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2538 กรมการพัฒนาชุมชนได้สนับสนุนงบประมาณ 100,000 บาท เป็นวัสดุอุปกรณ์ให้กับกลุ่มสมาชิกซึ่งกลุ่มจะแบ่งงานกันทำ เช่น ฝ่ายทอ ฝ่ายการตลาด ฯลฯ และยังไปแนะนำให้หมู่บ้านอื่นในตำบลชีทวนทอผ้าเพื่อจำหน่ายและเน้นการทอผ้าลวดลายดั้งเดิมของหมู่บ้านเช่น ผ้าลายเกร็ดเต่า, ผ้าลายตาหม่อง, ผ้ามัดหมี่, หมี่ขั้น, หมี่ข้อ
กลุ่มทอผ้าลายปลาอีด หมู่ 2 บ้านชีทวน มีสมาชิกรวมกลุ่มกันประมาณ 20 คน โดยมีนางมี จันทร์เขียว เป็นประธานกลุ่ม ซึ่งมีประสบการณ์ในการทอผ้าไหมมาก่อน สามารถทำงานหัตถกรรมทอผ้าไหมได้ทุกขั้นตอน ตั้งแต่การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การสาวไหม การย้อม การสืบ การค้น การมัดหมี่ การทอ กลุ่มทอผ้าลายปลาอีดหมู่ 2 นี้ เริ่มต้นจากโครงการขององค์การบริหารส่วนตำบลชีทวนได้จัดให้มีการอบรมการทำผ้าลายปลาอีดขึ้น เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2559 ชาวบ้านจึงได้รวมกลุ่มกันและและสร้างศูนย์ OTOP ของหมู่บ้านในบริเวณวัดศรีนวลสว่างอารมณ์ขึ้น เพื่อสร้างช่องทางการขายให้กับนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชมธรรมาสน์เทินบุศบกที่มีชื่อเสียงอยู่แล้วอีกทางหนึ่ง
ปัจจุบันในตอนกลางวันจะมีสมาชิกที่มาทอผ้าที่ศูนย์นี้ 4 คน ที่เหลือจะทอที่บ้านของตนเอง หากมีความต้องการจะสั่งซื้อผ้าลายปลาอีด สามารถติดต่อได้ที่ประธานกลุ่ม ซึ่งจะเป็นผู้ดำเนินการบริหารจัดการให้สมาชิกทอผ้าตามความต้องการของตลาด ผ้าที่สมาชิกทอได้นั้น สามารถตัดขายเองหรือฝากขายกับทางกลุ่มก็ได้ โดยทางกลุ่มจะหักรายได้เข้ากลุ่มร้อยละ 3 เพื่อนำไปซื้ออุปกรณ์และเครื่องมือต่าง ๆ ให้กับสมาชิก
ปลาอีด มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lepidocephalichthys hasselti (Val. In Cuv.&Val., 1846) เป็นปลาน้ำจืดขนาดเล็ก ตัวค่อนข้างยาวโคนหางเป็นแถบสีเข้ม ไม่มีจุด ลายเปราะเลาะ ขนาดเมื่อโตเต็มวัย ประมาณ 7-8 เซนติเมตร อาศัยอยู่เป็นฝูงตามแหล่งน้ำที่น้ำไหลไม่แรงนัก หรือแหล่งน้ำบริเวณหน้าดิน กินสัตว์หน้าดินขนาดเล็กและซากสัตว์ต่าง ๆ เป็นอาหาร
ที่ตั้ง ผ้าทอลายปลาอีด
บ้านชีทวน หมู่ 2 ตำบลชีทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี
พิกัดภูมิศาสตร์ ผ้าทอลายปลาอีด
15.283291, 104.661445118
บรรณานุกรม
กลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม. (2542). ดัชนีสิ่งมีชีวิต, วันที่ 6 มีนาคม 2560. http://siamensis.org
มี จันทร์เขียว. สัมภาษณ์, 15 ธันวาคม 2559
ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. (2555). กลุ่มทอผ้าลายปลาอีด, 8 มีนาคม 2560. http://www.m-culture.in.th/album/129501