วัดทุ่งศรีวิไล บ้านชีทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ก่อนนั้นคืออุทยานของนางเจียงได ธิดาของเจ้าเมืองชีชวนในประวัติศาสตร์ท้องถิ่นบ้านชีทวน เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธวิเศษ พระชัยสิทธิ์ พระร่วงโรจนฤทธิ์ พระพุทธรูปเก่าแก่ที่เคารพศรัทธาของชาวอุบลราชธานี
ประวัติวัดทุ่งศรีวิไล บ้านชีทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี
ประวัติวัดทุ่งศรีวิไล บ้านชีทวน ตำบลชีทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ตามที่มีการบันทึกไว้ เป็นวัดในสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 15 ไร่ 3 งาน 13 ตารางวา ตั้งอยู่กลางทุ่งนา มีปูชนียวัตถุที่สำคัญ คือ พระพุทธรูปศิลาแลง ปางนาคปรก ศิลปะสมัยขอม จํานวน 2 องค์ มีนามว่า พระพุทธวิเศษ และพระชัยสิทธิ์ และพระพุทธรูปยืน มีนามว่า พระร่วงโรจนฤทธิ์
วัดทุ่งศรีวิไล ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2340 เดิมที่ดินที่ตั้งวัดนี้เป็นอุทยานของธิดาแห่งเจ้าเมืองชีชวน ชื่อว่า พระนางเจียงได บริเวณวัดมีใบเสมาหลายชั้นล้อมรอบอุโบสถ และวิหารหลังเก่าไปจนถึงกำแพงรอบวัด ทุกทิศตลอดทั้งสระน้ำใหญ่ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาตั้งเป็นวัดอย่างถูกต้องตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์แห่งราชอาณาจักรไทย โดยมีการจารึกเป็นลายลักษณ์อักษรการได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2430 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร การบริหารและ การปกครอง มีเจ้าอาวาสเท่าที่ ทราบนาม คือรูปที่ 1 พระญาท่านด้าน รูปที่ 2 ญาครูกัน รูปที่ 3 หลวงปู่หนู (พระครูคัมภีรวุฒาจารย์) รูปที่ 4 พระครูสุนทรสุตกิจ (มณี จิรธมฺโม ผ่องแผ้ว) เจ้าอาวาสวัดทุ่งศรีวิไล และรองเจ้าคณะอำเภอเขื่องใน
ปัจจุบันวัดทุ่งศรีวิไลมีเนื้อที่ประมาณ 24 ไร่เศษ (ขยายเขตวัดเพิ่มเติม) เป็นสำนักอบรมปฏิบัติธรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานีที่จัดให้มีการปฏิบัติธรรมอบรมจิตภาวนาแก่ข้าราชการ หน่วยงานและสถานศึกษาต่าง ๆ ในจังหวัดอุบลราชธานีและใกล้เคียง
หลวงพ่อพระพุทธวิเศษ วัดทุ่งศรีวิไล
หลวงพ่อพระพุทธวิเศษ เป็นพระพุทธรูปปางนาคปรกสร้างด้วยหินศิลาแลง หน้าตักกว้าง 55 เซนติเมตร สูง 90 เซนติเมตร เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ในยุคทวารวดี อายุ 1000 กว่าปี โดยมีหลวงพ่อพระพุทธชัยสิทธิ์ อยู่เบื้องขวา หลวงพ่อพระร่วงโรจนฤทธิ์ อยู่เบื้องซ้ายซึ่งปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในวิหารวัดทุ่งศรีวิไล บ้านชีทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี
สำหรับพุทธคุณของหลวงพ่อพระพุทธวิเศษ เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์มากของจังหวัดอุบลราชธานี ที่ได้รับการกล่าวขานมาก คือ หากท่านผู้ใดได้มากราบไหว้บูชาบนบานศาลกล่าวขอสิ่งใดมักจะประสบความสำเร็จโดยมีเรื่องเล่าว่า เมื่อครั้งที่กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ อดีตเจ้าเมืองอุบลราชธานี พร้อมกับหม่อมเจียงคำ (พระชายา) ได้เสด็จโดยทางแม่น้ำชีเยี่ยมประชาชนที่บ้านชีทวนและหมู่บ้านใกล้เคียง และได้นำดอกไม้ธูป เทียน ทอง ไปสักการบูชาและขอพระโอรสและพระธิดาไว้สืบสกุลจากหลวงพ่อพุทธวิเศษ จากนั้นไม่นานหม่อมเจียงคำก็ทรงมีพระครรภ์ พร้อมประสูติพระโอรสและพระธิดา 2 พระองค์ คือ หม่อมเจ้าอุปลีสาน และหม่อมเจ้ากมลีสาน ตามที่กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ได้บนบานเอาไว้
นอกจากนี้ยังมีความเชื่อเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ที่หลวงพ่อพุทธวิเศษช่วยรักษาอาการเจ็บป่วยของมนุษย์ได้ โดยมีเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ที่หลวงพ่อพระพุทธวิเศษช่วยรักษาอาการเจ็บป่วยตามส่วนใดของร่างกาย ก็ให้มาไหว้บนบานบอกกล่าวกับหลวงพ่อพระพุทธวิเศษแล้วนำแผ่นทองคำเปลวไปติดตามส่วนต่าง ๆ ขององค์พระ เช่น มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก ก็ให้นำแผ่นทองคำไปปิดที่หน้าองค์ขององค์พระ อาการเจ็บป่วยก็จะหายไป
ประชาชนชาวบ้านชีทวน ชาวอำเภอเขื่องใน ชาวเมืองอุบลราชธานี และประชาชนในจังหวัดต่าง ๆ รวมทั้งที่ต่างประเทศ ต่างก็เลื่อมใสศรัทธาในองค์หลวงพ่อพระพุทธวิเศษ พระพุทธชัยสิทธิ์ พระร่วงโรจน์ฤทธิ์ ได้พากันนำดอกไม้ธูปเทียนมาสักการะมิได้ขาด เพื่อขอพรให้ปกป้องคุ้มครองรักษา และให้ประสบความสำเร็จในสิ่งที่ปรารถนาชีวิตครอบครัว พร้อมด้วยบุตร-ธิดา และญาติพี่น้องของตน ให้ประสบความเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไป
พระครูคัมภีรวุฒาจารย์ เจ้าอาวาส รูปที่ 3 ของวัดทุ่งศรีวิไล
หลวงปู่หนู (หลวงปู่หนู นามสกุลเดิม ดั่งดอนบม) เกิดที่บ้านผือ ตำบลพระลับ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น บวชเป็นสามเณรที่วัดตาลเรียง ตำบลพระลับ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ตั้งแต่ตอนอายุ 16 ปี เพื่อเรียนมูลกัจจายนะ จนกระทั่งอายุได้ 20 ปี จึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดตาลเรียง จำพรรษาอยู่ที่วัดตาลเรียง 1 พรรษา หลังจากนั้นพรรษาที่ 2 ก็ได้ออกเดินทางเพื่อศึกษาเล่าเรียนมูลกัจจายนะและได้เดินธุดงค์มาเรื่อย ๆ จากจังหวัดขอนแก่น พร้อมกับพระคำผอง ผ่านมาทางจังหวัดกาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และยโสธร จนกระทั่งเดินทางมาถึงบ้านชีทวนตำบลชีทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี และไปปักกรดอยู่ที่บ้านหนองแคนที่เรียกกันว่า ดอนธาตุ แล้วจึงเข้ามาศึกษาเล่าเรียนมูลกัจจายนะที่วัดทุ่งศรีวิไล โดยมีพระอาจารย์ครูกัน (ญาครูกัน) เป็นเจ้าอาวาสวัดทุ่งศรีวิไล อยู่ในตอนนั้น หลังจากเรียนมูลกัจจายนะสำเร็จแล้วก็ไม่ได้เดินทางไปที่ไหนอีก อยู่จำพรรษาที่วัดทุ่งศรีวิไลนับจากนั้นเป็นต้นมา และสอนหนังสือกัจจายนะให้กับลูกศิษย์ลูกหาอีกมากมายหลายพรรษา จนกระทั่งพระอาจารย์ครูกันลาสิกขา หลวงปู่หนูจึงได้เป็นเจ้าอาวาสวัดและทำหน้าที่สอนหนังสือตัวขอม ตัวธรรม และมูลกัจจายนะให้กับพระสงฆ์สามเณรที่มาขอเรียนศึกษากับท่าน
หลวงปู่หนู นับว่าเป็นพระเกจิอาจารย์ที่เก่งด้านมูลกัจจายนะมากและได้รับความเคารพเป็นอย่างสูง มีลูกศิษย์มากมายทั้งในตำบลชีทวน ต่างอำเภอ และต่างจังหวัด
ด้านงานคณะสงฆ์ การปกครอง ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดทุ่งศรีวิไล ต่อจากพระอาจารย์ครูกัน เป็นครูสอนนักธรรมปริยัติ ได้รับพระราชทานเป็นพระครูสัญญาบัตรในราชทินนาม ที่ พระครูคัมภีรวุฒาจารย์ (หนู คัมภีโร) และได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ และเจ้าคณะตำบลชีทวน ปกครองคณะสงฆ์ชีทวนจนกระทั่งมรณภาพ ในปี พ.ศ. 2525 รวมอายุ 97 พรรษา 77 (ตามใบสุทธิ)
ตำนานบ้านชีทวน จากคำบอกเล่าของพระครูสุนทรสุตกิจ เจ้าอาวาสวัดทุ่งศรีวิไลและรองเจ้าคณะอำเภอเขื่องใน ตำนานนี้มีความสอดคล้องกับชื่อสถานที่ต่าง ๆ ในท้องถิ่นนี้ และแสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของเมืองชีทวนเมื่อ 300 กว่าปีมาแล้ว
บ้านชีทวน เป็นบ้านเก่าแก่ซึ่งเรียกกันว่า เมืองซีซวน คือ แม่น้ำชีที่มันไหลโค้งวนขึ้นมา หรืออีกนัยหนึ่งคือ เจ้าเมืองไปโอบอุ้มหัวเมืองเล็ก ๆ เข้ามารวมไว้ด้วยกันเพื่อปกครองและดูแลให้อยู่เย็นเป็นสุข
ตำนานเมืองชีทวน
ณ เมืองชีทวน เจ้าเมืองแห่งนี้มีลูกสาวชื่อนางเจียงได เป็นผู้มีรูปลักษณ์สวยงามจนเป็นที่เลื่องลือไปยังหัวเมืองต่าง ๆ เจ้าชายกาละหงส์ ลูกชายเจ้าเมืองจำปาศักดิ์ได้มาพบนางเจียงได จึงถูกใจจนได้หมั้นหมายเอาไว้ ท้าวอินทะสะเกษ หรือท้าวบุญมา แห่งเมืองนครลำดวน ก็ได้ยินคำร่ำลือในความงามของนางเจียงได ก็ได้เดินทางข้ามแม่น้ำชีมาเพื่อมาพบนางเจียงไดขณะกำลังชมสวนที่อุทยานของนาง หรือปัจจุบันคือ บริเวณวัดทุ่งศรีวิไล เมื่อท้าวอินทะสะเกษได้พบนางเจียงไดแล้วก็ได้เกี้ยวพาราสี แต่นางเจียงไดไม่อาจรับไมตรีนั้นได้จึงบอกว่า มีคู่หมั้นแล้ว แต่ท้าวอินทะสะเกษก็ยังดื้อดึงเพราะนางเจียงไดแค่หมั้นหมายยังไม่ได้แต่งงานซะหน่อย จึงได้ฉุดนางเจียงไดขึ้นหลังม้าแล้วเดินทางไปยังเมืองของตน โดยได้ควบม้าข้ามทุ่งนา (บริเวณขัวน้อย) เรื่อยไปจนถึงบ้านท่าศาลา จึงได้พัก นางเจียงไดได้ไปนั่งโศกเศร้าอยู่ ตรงนั้น บริเวณนั้นจึงเรียกว่า ท่าโศก และได้โกหกท้าวอินทะสะเกษว่า ลืมเครื่องแต่งตัว ลืมสร้อยลืมแหวนอยากกลับไปเอา อีกทั้งก็คิดถึงบิดาด้วย แต่ท้าวอินทะสะเกษรู้ทันก็บอกไม่ให้กลับไปต้องเดินทางข้ามแม่น้ำชีไปที่เมืองนครลำดวนด้วยกัน พวกที่เดินทางมากับท้าวอินทะสะเกษมีทั้งคนเดิน ขี่ม้า มีการอุ้มการขี่หลังกันไป จึงเรียกบริเวณนั้นว่า บ้านเจี่ย (ภาษาอีสาน เจี่ย หรือ เกี่ย คือ การขึ้นขี่หลัง) ผ่านบ้านอ้น (ตำบลระทาย) และพักอยู่บริเวณนั้น ได้ทำการล่าสัตว์เพื่อมาทำอาหาร สัตว์ที่ล่าได้คือ ตัวอ้น จึงเรียกบริเวณนั้นว่า บ้านอ้น จากนั้นเดินทางต่อจนไปพักอยู่ใกล้กับหนองน้ำแห่งหนึ่งซึ่งเต็มไปด้วยสาหร่ายชนิดหนึ่ง ที่ชาวบ้านเรียกว่า เทา จนเป็นชื่อเรียกบ้านนั้นว่า บ้านหนองเทา พักบริเวณนี้ได้เต่ามาเป็นอาหาร และมีการเฉลิมฉลองกันที่ได้นางเจียงไดมา กุดที่อยู่บริเวณนั้น จึงเรียกว่า กุดสันดอน หรือ กุดกินดอง จากนั้นจึงได้เดินทางต่อไปจนถึงนครลำดวนขุขันธ์
ต่อมาเจ้าชายกาละหงส์แห่งเมืองจำปาศักดิ์ ซึ่งยังไม่ทราบเรื่องว่านางเจียงไดถูกลักพาตัว ได้จัดขบวนขันหมากเพื่อจะมาแต่งงานกับนางเจียงได พอทราบแล้วจึงโกรธมากและตามไปชิงนางเจียงได ซึ่งขณะนั้นเองนางเจียงไดกำลังตั้งครรภ์อ่อน ๆ เจ้าชายกาละหงส์ไปท้าทายท้าวอินทะสะเกษที่บริเวณบ้านระทายในปัจจุบัน ท้าวอินทะสะเกษยกพลมาตั้งค่ายเพื่อต่อสู้ที่บ้านเมืองน้อย หรือ เมืองอินทะสะเกษ และเกิดการสู้รบกัน นานจนนางเจียงไดท้องแก่ก็ได้คลอดลูกที่ค่ายนี้ ลูกที่คลอดออกมามีหน้าตาเป็นคนแต่มีขนขึ้นตามตัวเต็มไปหมด จึงให้ชื่อว่า ท้าวบาลิง ท้าวอินทะสะเกษได้ให้โหรมาทำนายว่าทำไมท้าวบาลิงจึงได้เกิดมาเป็นแบบนี้ โหรผู้ที่ทำนายรับสินบนจากนางทางเขมรซึ่งไม่ชอบนางเจียงไดอยู่แล้ว จึงได้ทำนายให้ว่า เพราะนางเจียงไดเป็นกาลีบ้านกาลีเมือง เป็นต้นเหตุทำให้เกิดศึกสงครามผู้คนล้มตายมากมาย พอคลอดลูกมาจึงเหมือนลิง ท้าวอินทะสะเกษเชื่อตามที่โหรทำนาย จึงขับไล่นางเจียงไดออกจากค่ายให้ไปอยู่ในสวนกล้วย อีกตำนานหนึ่ง ก็ว่าท้าวอินทะสะเกษนี้ได้บังคับให้นางเจียงไดนำลูกไปลอยน้ำตรงท่าน้ำ (ปัจจุบันที่ท่าข้ามระหว่างกันทรารมย์มาบ้านระทาย บ้านเหม่า เรียกว่า ท่านางเหงา มีการสร้างสะพานข้ามและสร้างศาล เรียกว่า ศาลนางเหงา) แพลอยไปตามน้ำจนถึงนครจำปาศักดิ์
จากนั้นเมื่อนางเจียงไดได้ตายไป ท้าวอินทะสะเกษ ก็ไม่ได้กลับไปครองบ้านครองเมืองอีก เมืองซีซวนก็ล่มสลายไป ไม่มีเจ้าเมืองปกครองต่อ แต่ก็ยังมีลูก ๆ หลาน ๆ อาศัยอยู่ ซึ่งก็ยังได้ยินการเรียกชื่อที่ขึ้นต้นว่า ท้าวหรือ นาง กันอยู่ เช่น ญาแม่นางยาน ญาแม่คำเกิน
อุทยานของนางเจียงได ก็ถูกปล่อยร้างจนกลายเป็นป่าเป็นดง มีนกกระเรียน หรือนกเขียนมาอาศัยอยู่มากมาย มีคำกล่าวว่า “ทุ่งสามขา เนินนกเขียน เงินสามเกวียนอยู่ใต้ต้นมะพลับ” ซึ่งเกี่ยวเนื่องไปถึงการสร้างพระธาตุพนม
เมื่ออุทยานรกร้างกลายเป็นป่า ชาวบ้านก็มาหากินหรือหาของป่าจนได้มาพบเกศของพระพุทธรูปโผล่ขึ้นมา จึงได้ช่วยกันขุดจนพบว่าเป็นพระพุทธรูปซึ่งทำด้วยศิลาแลง หรือพุทธวิเศษในปัจจุบัน จึงพากันสร้างโรงเรือนเพื่อประดิษฐาน มีญาติโยมเข้ามากราบไหว้ หลวงพ่อสันนิษฐานว่า เมื่อท้าวอินทะสะเกษได้ออกบวชเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้นางเจียงได คงสร้างสำนักสงฆ์ขึ้น ณ บริเวณนี้ และพระที่ขุดพบก็คล้ายคลึงกับพระศิลาแลงที่ประสาทสระกำแพงใหญ่ ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นศิลปะแบบขอม
ค่ำคืนหนึ่งเกิดไฟไหม้โรงเรือนที่ประดิษฐานพระพุทธวิเศษ ชาวบ้านที่อาศัยในหมู่บ้านไม่ทราบว่าเกิดเหตุจนกระทั่งตอนเช้า จึงมาสำรวจที่เกิดเหตุ พบว่า พระพุทธวิเศษนี้ถูกวางไว้นอกกองเพลิง ไม่ถูกไฟไหม้ ซึ่งเป็นเรื่องที่วิเศษมหัศจรรย์ใจ ชาวบ้านจึงเรียกว่า พระเจ้าวิเศษ และสร้างโรงเรือนสำหรับประดิษฐานขึ้นมาใหม่ ลูกหลาน ชาวบ้านที่เจ็บไข้ได้ป่วย หรืออยากมีบุตรธิดา เมื่อมาบนบานหรือกราบไหว้ขอพรก็หายจากโรคภัยนั้นหรือได้บุตรธิดาตามที่ต้องการ ความศักดิ์สิทธิ์ถูกเลื่องลือไปจนถึงพระเนตรพระกรรณของกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ และหม่อมเจียงคำ ทรงทราบว่าหลวงพ่อวิเศษสามารถประทานบุตรธิดาให้ได้จึงได้มาขอบุตรธิดา และก็สำเร็จผลได้บุตรสองท่าน คือ หม่อมเจ้าอุปลีสาน ชุมพล และหม่อมเจ้ากมลีสาน ชุมพล
หลวงพ่อเล่าว่า หม่อมราชวงศ์พฤติศาล ชุมพล (บุตรหม่อมเจ้าอุปลีสาน) ผู้เป็นหลาน ได้มาทำบุญตามรอยย่าเจียงคำ ที่วัดสุปัฏนารามวรวิหาร ได้เล่าให้ฟังว่า หม่อมพ่อของผมเป็นลูกของพระพุทธวิเศษ วัดทุ่งศรีวิไล วัดนี้อยู่ที่ไหน ผมอยากไปกราบท่าน จึงได้มีผู้พาท่านมากราบ
หลังจากนั้นไม่มีหลักฐานหรือการบอกเล่าว่าเกิดอะไรขึ้น จนกระทั่งหลวงปู่ญาท่านด้าน ซึ่งเป็นผู้สำเร็จอภิญญาได้ธุดงค์มาถึงบริเวณนี้ เห็นญาติโยมให้ความเคารพบูชาหลวงพ่อพุทธวิเศษ ท่านจึงมาจำพรรษาอยู่ที่นี่ และตั้งสำนักสงฆ์ขึ้นจนเป็นวัดทุ่งศรีวิไลในปัจจุบัน
เพิ่มเติม : ธรรมาสน์วัดทุ่งศรีวิไล
ที่ตั้ง วัดทุ่งศรีวิไล
เลขที่ 109 บ้านชีทวน หมู่ 1 ตำบลชีทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี
พิกัดภูมิศาสตร์ วัดทุ่งศรีวิไล
15.293424, 104.663537
บรรณานุกรม
ชมรมอนุรักษ์พุทธศิลป์แห่งภาคอีสาน. (2553). พระอุปัชฌาย์หนู คัมภีโร วัดทุ่งศรีวิไลย ชีทวน อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี, 8 มีนาคม 2560. http://www.ubonpra.com
พระครูสุนทรสุตกิจ. สัมภาษณ์, 15 ธันวาคม 2559
มะลิวัลย์ สินน้อย, ผู้รวบรวม. (2551). ฐานข้อมูลวัดในจังหวัดอุบลราชธานี, 8 มีนาคม 2560. http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/ubon_temple