วัดบ้านโพนทราย อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านโพนทรายและแหล่งอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสาน เช่น ผ้าผะเหวด หนังสือใบลาน ธุงผะเหวด การแทงหยวกในประเพณีแห่ประสาทผึ้ง
ประวัติวัดบ้านโพนทราย อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี
ประวัติวัดบ้านโพนทราย ตามที่มีการบันทึกไว้เป็นวัดในสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 4 ไร่ 2 งาน อาคารเสนาสนะ ประกอบด้วยอุโบสถ กว้าง 5 เมตร ยาว 15 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2533 หอสวดมนต์ กว้าง 15 เมตร ยาว 24 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2515 และศาลาอเนกประสงค์ กว้าง 8 เมตร ยาว 12 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2512
วัดบ้านโพนทราย ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2400 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 4 เมตร ยาว 15 เมตร การบริหารและการ ปกครอง มีเจ้าอาวาสเท่าที่ ทราบนาม คือรูปที่ 1 พระพรหมมา รูปที่ 2 พระเคน รูปที่ 3 พระพันธ์ รูปที่ 4 พระพุทธา รูปที่ 5 พระเฮือง สุวณฺโณ
วัดบ้านโพนทราย เป็นศูนย์รวมและยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้านโพนทรายอย่างเหนียวแน่น และยังส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์และสืบสานศิลปวัฒนธรรมและประเพณีอันดีของหมู่บ้านไว้ เช่น การอนุรักษ์ผ้าผะเหวด ธุง ประเพณีการแห่ประสาทผึ้ง บุญผะเหวด
ผ้าผะเหวด วัดบ้านโพนทราย
ผ้าผะเหวดหรือพระเวสสันดร วาดเมื่อปี พ.ศ. 2504 เป็นเรื่องราวของพระเวสสันดร 13 กัณฑ์ ผ้านี้จะแขวนในศาลาการเปรียญในช่วงงานบุญเดือน 4 หรือบุญผะเหวด หรือบุญมหาชาติ ตามประเพณีฮีต 12 ของชาวอีสาน ผ้าผะเหวดผืนนี้ไม่ได้ใช้งานแล้วเนื่องจากชำรุด ผู้นำชาวบ้านมีแนวคิดที่จะอนุรักษ์โดยการเย็บตรึงกับผ้าผืนใหม่ เพื่ออนุรักษ์ให้ลูกหลานได้ศึกษาและคงอยู่ยาวนานยิ่งขึ้น
หนังสือใบลาน วัดบ้านโพนทราย
วัดบ้านโพนทรายได้อนุรักษ์หนังสือใบลานไว้ มีประมาณ 700 ผูก อยู่ในสภาพดี และประมาณร้อยละ 60 เป็นนิทานพื้นบ้าน เช่น พระเวสสันดร นางสิบสอง สังข์ศิลป์ไชย ผ้าห่อใบลานส่วนใหญ่จะเป็นผ้าขิดที่ทอจากเส้นไหม ซึ่งถือว่าเป็นของสูงที่ชาวบ้านให้ความเคารพบูชา
ธุงผะเหวด วัดบ้านโพนทราย
วัดบ้านโพนทราย ได้ทำการเก็บรักษาและอนุรักษ์ธุงไว้ มีประมาณ 70-80 ผืน ซึ่งเป็นธุงที่มีทั้งแบบลวดลายดั้งเดิมและลวดลายแบบใหม่
ที่ตั้ง วัดบ้านโพนทราย
บ้านโพนทราย หมู่ที่ 3 ตําบลบ้านไทย อําเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี
พิกัดภูมิศาสตร์ วัดบ้านโพนทราย
15.457115, 104.446220000
เอกสารอ้างอิง
บุญธรรม กากแก้ว. สัมภาษณ์, 22 ธันวาคม 2559
มะลิวัลย์ สินน้อย, ผู้รวบรวม. (2551). ฐานข้อมูลวัดในจังหวัดอุบลราชธานี, 2 มีนาคม 2560. http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/ubon_temple