วัดใต้ยางขี้นก อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ภายในวัดมีอุโบสถสิมที่ก่อสร้างตามแบบกรุงศรีสัตนาคนหุต (กรุงเวียงจันทน์) หรือจำปาศักดิ์ รูปแบบที่คล้ายคลึงกับสิมของวัดแจ้ง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ด้านนอกมีการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังแบบล้านช้าง แม้ว่าสภาพปัจจุบันจะทรุดโทรมไปมาก แต่ก็ยังมีร่องรอยให้ศึกษาเรียนรู้ได้
ประวัติวัดใต้ยางขี้นก อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี
วัดใต้ยางขี้นกตามที่มีการบันทึกไว้เป็นวัดในสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 8 ไร่ 40 งาน อาคารเสนาสนะประกอบด้วยอุโบสถ กว้าง 6 เมตร ยาว 15 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2530 ศาลาการเปรียญ กว้าง 13 เมตร ยาว 20 เมตร กุฏิสงฆ์จํานวน 3 หลัง เป็นอาคารไม้ 1 หลัง และครึ่งตึกครึ่งไม้ 2 หลัง และศาลาบําเพ็ญกุศล จํานวน 1 หลัง ปูชนียวัตถุมีพระประธาน 1 องค์ พระพุทธรูปยืน 1 องค์ และพระพุทธรูปแกะสลักด้วยหิน จํานวน 10 องค์
วัดใต้ยางขี้นก ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2392 ชาวบ้านนิยมเรียกว่า วัดใต้อัมพวัน ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2531 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร การบริหารและการปกครอง มีเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนาม คือ รูปที่ 1 พระหล้า รูปที่ 2 พระสา รูปที่ 3 พระจันทร์ รูปที่ 4 พระบัว รูปที่ 5 พระตา รูปที่ 6 พระบรรลือ รูปที่ 7 พระทองดี รูปที่ 8 พระพวง ญาณทีโป ตั้งแต่ พ.ศ. 2523-
จากการสืบถามประวัติจากผู้เฒ่าผู้แก่และสืบค้นมาได้ว่าชุมชนบ้านยางขี้นกนั้น เกิดขึ้นพร้อมกับเมืองอุบลราชธานี โดยไพร่พลลูกหลานพระวอพระตา ที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ดงอู่ผึ้งและห้วยแจระแม ส่วนหนึ่งจะแตกออกมาอยู่ตามหมู่บ้าน ชุมชนต่าง ๆ และบ้านยางขี้นก เป็นชุมชนที่อพยพต่อมาจากบ้านลาก หนองบ่อ เดิมมาตั้งหมู่บ้านอยู่บริเวณตรงข้ามป่าช้า ต่อมาประมาณ 60-70 ปี เกิดโรคระบาดในหมู่บ้าน จึงได้อพยพมาตั้งบ้านเรือน และวัดยางขี้นกใต้ ณ หมู่บ้านปัจจุบัน ประมาณ พ.ศ.2392 ซึ่งวัดยางขี้นกใต้ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้านมีสิมก่อสร้างตามแบบกรุงศรีสัตนาคนหุต (กรุงเวียงจันทน์) หรือจำปาศักดิ์ เป็นวัดที่ชาวบ้านยางขี้นกและบ้านใกล้เคียงให้ความเคารพนับถือมากอีกวัดหนึ่ง
ที่มาของชื่อหมู่บ้านยางขี้นก
ณ บริเวณที่ตั้งหมู่บ้านยางขี้นกนั้นมีต้นยางนาขนาดใหญ่ล้อมรอบ มีฝูงนกนานาชนิดอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก บริเวณใกล้ ๆ เป็นชายทุ่งมีแหล่งน้ำขังตลอดปี หนองสร้างถ่อ หนองดู่ นกมาอาศัยต้นยางแล้วขี้รดไว้เป็นจำนวนมาก ถือเป็นภูมิศาสตร์ที่เหมาะสม และอุดมสมบูรณ์ มีต้นยาง มีนก มีขี้นก จึงตั้งชื่อว่า บ้านยางขี้นก เดิมมีตามแสง (กำนัน) หรือพ่อบ้านปกครอง ขึ้นกับอำเภอเขื่องใน เมื่อคราวปรับปรุงการปกครองส่วนภูมิภาคครั้งใหญ่ สมัยรัชกาลที่ 5 ในราว พ.ศ.2443 ได้กำหนดเป็นตำบลยางขี้นก โดยมีขุนสีหนาทเป็นกำนันคนแรก
สิม วัดใต้ยางขี้นก
สิมของวัดใต้ยางขี้นกหลังนี้มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่ออิฐฉาบปูน มีมุขโล่งด้านหน้าเป็นเครื่องไม้ หลังคาทรงจั่ว เดิมมุงหลังคากระเบื้องดินขอ ดังจะเห็นหลักฐานที่ตกค้างบริเวณซุ้มหน้าต่าง รูปแบบของสิมมีลักษณะแบบอีสาน เมืองอุบลราชธานี โดยเฉพาะที่มีคล้ายคลึงกับสิม วัดแจ้ง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
สิมวัดยางขี้นกใต้นี้ มีความน่าสนใจเป็นพิเศษ เนื่องด้วยปรากฏงานไม้แกะสลักประดับงดงาม ไม่ว่าจะเป็นมุขด้านหน้า ซุ้มประตูหน้าต่างและคันทวย ทั้งมีการประดับตกแต่งด้วยกระจกเกรียบหลายสี และยังคงมีฮูปแต้มปรากฏอยู่ภายนอกสิม ตามแบบอย่างสิมอีสานที่ได้รับอิทธิพลจากเวียงจันทน์ ด้วยเส้นสายและสีสันที่ใช้น่าจะสร้างขึ้นในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งน่าจะได้ศึกษาเทียบเคียงได้กับฝีมือจิตรกรรมภายในสิมวัดทุ่งศรีเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ต่อไป โดยมีความแตกต่างคือ สิมวัดทุ่งศรีเมือง มีการเขียนฮูปแต้มภายในตามอย่างศิลปกรรมรัตนโกสินทร์ ส่วนสิมวัดยางขี้นก แม้รูปแบบอาคารจะได้รับอิทธิพลรัตนโกสินทร์ แต่การเขียนฮูปแต้มกลับเขียนภายนอกแบบล้านช้าง และที่สำคัญคือเป็นเรื่องราวในวิถีชีวิต มีภาพสัปดน แต่น่าเสียดายว่าภาพสัปดนเหล่านั้น เพิ่งถูกเจ้าอาวาสรูปก่อนลบไป เนื่องจากอาจไม่เข้าใจถึงปริศนาธรรมที่จิตรกรต้องการสื่อให้ผู้ชมทราบ
ภายในสิมวัดใต้ยางขี้นก เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทองบนฐานชุกชีแบบอีสาน มีพระไม้ทรงเครื่องปิดทองงดงามมาก และพระหินทรายแกะสลักอยู่บนฐานชุกชีด้านข้างด้วย
สิมวัดใต้ยางขี้นกหลังนี้ นับเป็นมรดกทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่สำคัญของอำเภอเขื่องในและจังหวัดอุบลราชธานีได้ แต่เนื่องจากความชำรุดทรุดโทรม จึงควรได้รับการอนุรักษ์ปฏิสังขรณ์ให้กลับมาสวยงานทรงคุณค่าแก่ชุมชน จังหวัด และภูมิภาคต่อไป
ที่ตั้ง วัดใต้ยางขี้นก
บ้านยางขี้นก หมู่ 2 อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี
พิกัดภูมิศาสตร์ วัดใต้ยางขี้นก
15.434336, 104.5287750000
บรรณานุกรม
ธาดา สุทธิธรรม. (2553). รายงานผลการดำเนินโครงการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม การอนุรักษ์สิมและฮูปแต้มอีสาน กรณีวัดโนนศิลา บ้านสำราญ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่นและวัดยางขี้นกใต้ บ้านยางขี้นก อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ปีที่ 1: การซ่อมหลังคา การทำความสะอาดและบันทึกฮูปแต้ม. อุบลราชธานี: คณะศิลปะประยุกต์และการออกแบบ.
มะลิวัลย์ สินน้อย, ผู้รวบรวม. (2551). ฐานข้อมูลวัดในจังหวัดอุบลราชธานี, 2 มีนาคม 2560. http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/ubon_temple