วัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์ ธรรมมาสสิงห์เทินบุศบกมรดกของชาติ

วัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ภายในวัดมีธรรมมาสเก่าที่ตั้งอยู่ในศาลาการเปรียญหรือหอแจกแบบอีสาน ธรรมมาสมีลักษณะเป็นรูปสิงห์ยืนเทินปราสาท สร้างด้วยอิฐถือปูน ยอดปราสาทเป็นเครื่องไม้เป็นชั้นลดหลั่น บนตัวธรรมาสน์สิงห์ประดับประดาด้วยกระจกสีต่าง ๆ อย่างสวยงาม สร้างขึ้นโดยช่างชาวญวน พระอุปัชฌาวงศ์ พรหมฺสโร และนายคำหมา แสงงาม ปัจจุบันธรรมมาสสิงห์นี้ใช้เป็นที่สำหรับให้พระสงฆ์นั่งเทศน์มหาชาติในงานบุญเดือน 4 หรือบุญผะเหวด หรือบุญมหาชาติ

ซุ้มประตูทางเข้าวัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์
ซุ้มประตูทางเข้าวัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์

ประวัติวัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์ บ้านชีทวน ตำบลชีทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี

วัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์ ตามที่มีการบันทึกไว้ เป็นวัดในสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2340 โดยมีญาครูก้อมเป็นผู้นําชาวบ้านสร้างวัดขึ้น ต่อมาคุณยายศรีนวลเห็นว่าบริเวณวัดคับแคบจึงได้บริจาคที่ดินเพิ่มเติม ชาวบ้านจึงตั้งชื่อวัดว่า “วัดศรีนวล” ภายหลังได้เพิ่มชื่อว่า “แสงสว่างอารมณ์” ต่อท้าย และใช้เรียกวัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์มาจนถึงปัจจุบัน ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. 2347 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 12.30 เมตร ยาว 17.80 เมตร การบริหารและการปกครอง มีเจ้าอาวาสเท่าที่ ทราบนาม คือ รูปที่ 1 ญาครูก้อม รูปที่ 2 พระวงศ์ พรหฺมสโร พ.ศ. 2430-2492 รูปที่ 3 พระทอง พ.ศ. 2493-2508 รูปที่ 4 พระข่าย พ.ศ. 2509-2513 รูปที่ 5 พระเสงี่ยม โฆสโก พ.ศ. 2514-2522 รูปที่ 6 พระพันธ์ จารุวณฺโณ พ.ศ. 2523-2532 รูปที่ 7 พระอธิการทา สุขกาโม ตั้งแต่ พ.ศ. 2532-

หอแจก หรือศาลาการเปรียญ วัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์

หอแจก หรือศาลาการเปรียญ ของวัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์ เป็นอาคารไม้ มีขนาดความกว้าง 12 เมตร ยาว 17 เมตร ยกพื้นสูงประมาณ 50 เซนติเมตร พื้นปูด้วยไม้ มีฝาผนังด้านทิศตะวันออกด้านเดียว หลังคาทรงจั่วมุงด้วยสังกะสี ฝ้าเพดานจะมีภาพจิตรกรรมวาดบนแผ่นสังกะสีและแผ่นไม้เป็นลวดลายต่าง ๆ เช่น ราหู ดอกไม้ ใบไม้ สัตว์ต่าง ๆ ดวงดาว พญานาค และหงส์ เป็นต้น ภายในศาลาการเปรียญมีธรรมมาสสิงห์เทินบุษบกที่สวยงามตั้งอยู่ ศาลาการเปรียญนี้จะใช้ประโยชน์ในงานบุญประเพณีต่าง ๆ ของบ้านชีทวน เช่น บุญมหาชาติหรือบุญผะเหวด การเทศนาช่วงเข้าพรรษา

หอแจก วัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์
หอแจก วัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์
ด้านหลังของหอแจก วัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์
ด้านหลังของหอแจก วัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์
หลังคาของหอแจก วัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์
หลังคาของหอแจก วัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์

ธรรมมาสสิงห์เทินบุษบก วัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์

ธรรมมาสสิงห์เทินบุษบกนี้ตั้งอยู่ในหอแจกหรือศาลาการเปรียญของวัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์ มีลักษณะเป็นรูปสิงห์ยืนเทินปราสาท สร้างด้วยอิฐถือปูน ยอดปราสาทเป็นเครื่องไม้เป็นชั้นลดหลั่น บนตัวธรรมาสสิงห์ประดับประดาด้วยกระจกสีต่าง ๆ อย่างสวยงาม สร้างขึ้นระหว่างปี พ.ศ. 2468-2470 โดยพระอุปัชฌาวงศ์ พรหมฺสโร เจ้าอาวาสในสมัยนั้นได้ให้ช่างชาวญวน (ชาวเวียดนาม) ชื่อ เวียง หรือชาวบ้านเรียกว่า แกวเวียง ซึ่งมาขออาศัยอยู่ภายในวัดเป็นผู้สร้างธรรมมาสสิงห์ในส่วนฐานจนถึงยอดธรรมมาส ส่วนงานบันไดนาค รั้วกั้น พร้อมกับเสาหงส์เป็นฝีมือของพระอุปัชฌาวงศ์ พรหมฺสโร และนายคำหมา แสงงาม ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (การปั้นแกะสลัก) ซึ่งเป็นลูกศิษย์ที่มาเรียนวิชาศิลปะกับพระอุปัชฌาวงศ์

ธรรมมาสสิงห์เทินบุษบก วัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์
ธรรมมาสสิงห์เทินบุษบก วัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์
ศิลปกรรมบนธรรมมาสสิงห์เทินบุษบก วัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์
ศิลปกรรมบนธรรมมาสสิงห์เทินบุษบก วัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์
ศิลปกรรมบนธรรมมาสสิงห์เทินบุษบก วัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์
ศิลปกรรมบนธรรมมาสสิงห์เทินบุษบก วัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์
ศิลปกรรมบนธรรมมาสสิงห์เทินบุษบก วัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์
ศิลปกรรมบนธรรมมาสสิงห์เทินบุษบก วัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์
ภาพจิตรกรรมบนฝ้าหลังคาของหอแจก วัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์
ภาพจิตรกรรมบนฝ้าหลังคาของหอแจก วัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์

ศิลปกรรมที่ใช้ในการตกแต่งธรรมมาสสิงห์ของช่างญวนนี้ ล้วนเป็นภาพที่มีความในเชิงสัญลักษณ์แบบพุทธศาสนานิกายมหายานแบบจีนผสมกับเรื่องราวในไตรภูมิและชาดกประกอบกัน หล่อหลอมจนเป็นงานศิลปะพื้นบ้านของอีสานที่มีเอกลักษณ์และมีแห่งเดียวในโลก

วัตถุประสงค์ในสร้างธรรมมาสสิงห์นี้คือเป็นที่สำหรับให้พระสงฆ์นั่งเทศน์มหาชาติในงานบุญเดือน 4 หรือบุญผะเหวด หรือบุญมหาชาติเท่านั้น ซึ่งจะจัดขึ้นปีละครั้งตามประเพณีฮีต 12 ของชาวอีสาน การเทศน์นี้จะมีทั้งหมด 13 กัณฑ์ ชาวอีสานมีความเชื่อว่าการฟังเทศน์มหาชาติจะได้อานิสงค์สูง หากฟังครบทั้ง 13 กัณฑ์จบภายในวันเดียวจะทำให้ผู้นั้นได้มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ หรือนิพพานสมบัติ หากปรารถนาที่จะพบพระศาสนาของพระศรีอริยเมตไตรยก็จะได้พบสมความปรารถนา

การเทศนาบนธรรมมาสสิงห์เทินบุษบก วัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์
การเทศนาบนธรรมมาสสิงห์เทินบุษบก วัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์

เมื่อธรรมมาสถูกใช้งานเป็นเวลานานและมีความทรุดโทรมลง ในปี พ.ศ.2536 ชาวบ้านได้เห็นความสำคัญว่าควรอนุรักษ์ของดีนี้ไว้  จึงได้ช่วยกันบริจาคทรัพย์สินสมทบทุนกับกรมศิลปากร ในการบูรณะธรรมมาสไว้และได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกของชาติ นอกจากนั้นแล้วยังงดใช้งานธรรมมาสนี้ด้วย จากการอนุรักษ์ดังกล่าว ทำให้วัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์ ได้รับรางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี 2556 ประเภท “ปูชนียสถานและวัดวาอาราม” จากสมาคมสถาปนิกสยาม

อุโบสถวัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์
อุโบสถวัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์ กว้าง 6 เมตร ยาว 13.90 เมตร เป็นอาคารคอนกรีต สร้างเมื่อ พ.ศ. 2529
โฮงฮด วัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์
โฮงฮด วัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์
โฮงฮด วัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์
โฮงฮด ตั้งให้ชมบนหอแจก วัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์
ภาพเมรุบุษบกแก้วนกหัสดีลิงค์ของท่านอุปัชฌาย์วงค์ พรหมฺสโร
ภาพเมรุบุษบกแก้วนกหัสดีลิงค์ของท่านอุปัชฌาย์วงค์ พรหมฺสโร ผู้สร้างธรรมมาสสิงห์เทินบุษบก ท่านเกิดเมื่อ พ.ศ. 2407 และมรณภาพเมื่อ พ.ศ. 2492
เกวียน วัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์
เกวียน วัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์
ธรรมมาสสิงห์เทินบุษบก มรดกของชาติ
ธรรมมาสสิงห์เทินบุษบก มรดกของชาติ

ที่ตั้ง วัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์

บ้านชีทวน หมู่ 2 ตำบลชีทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี

พิกัดภูมิศาสตร์ วัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์

15.283043, 104.662042

บรรณานุกรม

ท่องเที่ยว.com. (2551). วัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์ วัดพระธาตุสวนตาล และวัดทุ่งศรีวิไล อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี, วันที่ 10 มีนาคม 2560. www.thongteaw.com

TK.Takky. (2557). เทศน์แบบโบราณ บนธรรมสิงห์เทินบุษบก (บ้านชีทวน) อัตลักษณ์ 1 เดียวในโลกที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์, 10 มีนาคม 2560. https://pantip.com/topic/31555089

มะลิวัลย์ สินน้อย, ผู้รวบรวม. (2551). ฐานข้อมูลวัดในจังหวัดอุบลราชธานี, 10 มีนาคม  2560. http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/ubon_temple

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง