พิพิธภัณฑ์เมืองเกษมสีมา มรดกทางศิลปวัฒนธรรมอีสาน

พิพิธภัณฑ์เมืองเกษมสีมา วัดเกษมสำราญ อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี แหล่งรวบรวมโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ ซึ่งเป็นมรดกอันล้ำค่าของชาวอีสาน เกิดจากทางวัดเกษมสำราญและชาวบ้าน นำโดย พระครูเกษมธรรมานุวัตร เจ้าอาวาสวัดเกษมสำราญ มีแนวความคิดในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ขึ้น เพื่อจัดเก็บหลักฐานทางด้านประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรมท้องถิ่น เพื่อประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของเยาวชนและชุมชนเป็นการเชื่อมโยงระหว่างวัดกับชุมชนเข้าหากัน และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในชุมชนอีกด้วย

พิพิธภัณฑ์เมืองเกษมสีมา วัดเกษมสำราญ อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี
พิพิธภัณฑ์เมืองเกษมสีมา วัดเกษมสำราญ อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี

ประวัติพิพิธภัณฑ์เมืองเกษมสีมา วัดเกษมสำราญ

พิพิธภัณฑ์เมืองเกษมสีมาแห่งนี้ เกิดจากแนวคิดของทางวัดและชาวบ้าน นำโดย พระครูเกษมธรรมานุวัตร หรือญาท่านเกษม เจ้าอาวาสวัดเกษมสำราญ ที่เห็นว่าบ้านเกษม ตำบลเกษมแห่งนี้ เคยมีฐานะเป็นเมืองเกษมสีมา ในช่วงระหว่าง ปี พ.ศ. 2425-2452 โดยมี พระพิชัยชาญณรงค์ เป็นเจ้าเมืองคนแรก เป็นเมืองเก่าแม้ว่าจะถูกลดฐานะลงจากเมืองเป็นตำบลก็ตาม แต่ยังมีประวัติศาสตร์ หลักฐาน เรื่องราว และตำนานที่น่าสนใจอยู่มาก และวัดเกษมสำราญก็เป็นวัดเก่าแก่ เดิมชื่อวัดศรีโพธิ์ชัย ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2291 จากนั้นเปลี่ยนชื่อมาเป็นวัดเกษมสำราญ ปี พ.ศ. 2484 และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ปี พ.ศ. 2399 มีหลวงพ่อเกษมธรรมมานุวัตร เป็นเจ้าอาวาส รูปที่ 15

อกจากนั้นแล้วยังมีแรงจูงใจที่เกิดจากการที่ชาวบ้านไปขยายที่นาและขุดพบวัตถุโบราณ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 ซึ่งชาวบ้านได้มานิมนต์หลวงพ่อไปตรวจสอบ ซึ่งในเวลาต่อมาได้นำวัตถุสิ่งของเหล่านั้นมาถวายวัด พระครูเกษมธรรมานุวัตรได้ให้ภัณฑารักษ์ประจำวัดติดต่อประสานงานไปยังสำนักงานศิลปากร จังหวัดอุบลราชธานีเพื่อมาตรวจสอบ ผลการตรวจสอบได้ข้อสันนิษฐานว่า เป็นโบราณวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์ มีอายุประมาณ 2,000-1,500 ปี เรียกว่า แหล่งโบราณคดีนาโนนว่าน อำเภอตระการพืชผล (บริเวณที่พบเป็นเขตพื้นที่นาใกล้วัดป่าเก่า ซึ่งมีต้นว่านเกิดขึ้นเองมากมาย และขุดพบอีกครั้งที่บริเวณห้วยที ใกล้หมู่บ้าน) ในการนี้จึงทำให้ พระครูเกษมธรรมานุวัตรเกิดแนวความคิดในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ขึ้น เพื่อสร้างแหล่งความรู้และจัดเก็บหลักฐานทางด้านประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งให้เกิดประโยชน์ต่อการเรียนรู้ของเยาวชนและชาวบ้านในท้องถิ่น เป็นการเชื่อมโยงระหว่างวัดกับชุมชนเข้าหากัน นอกจากนั้นยังจะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในชุมชนอีกด้วย

เมรุนกหัสดีลิงค์จำลอง จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์เกษมสีมา
เมรุนกหัสดีลิงค์จำลอง จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์เกษมสีมา วัดเกษมสำราญ
ภายในพิพิธภัณฑ์เกษมสีมา วัดเกษมสำราญ
ภายในพิพิธภัณฑ์เกษมสีมา วัดเกษมสำราญ
ภายในพิพิธภัณฑ์เกษมสีมา วัดเกษมสำราญ
ภายในพิพิธภัณฑ์เกษมสีมา วัดเกษมสำราญ

วัดเกษมสำราญ แต่เดิมเคยมีสถานที่สำหรับจัดเก็บของเก่าภายในวัดอยู่แล้ว ซึ่งเป็นหอเก่าแก่เรียกว่า หอแก้วโนนอาราม โดยได้จัดเก็บรักษารวบรวมของเก่าโบราณ รวมทั้งพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ปางห้ามญาติ อายุเก่าแก่ แต่สูญหายไปในปี พ.ศ. 2537 หลังจากที่พระพุทธรูปสูญหายไปกลับได้มีผู้บริจาคของเก่ามากขึ้นเรื่อย ๆ จนได้ย้ายบางส่วนมาจัดเก็บบริเวณใต้ถุนกุฏิจนเต็มพื้นที่ ส่วนของสำคัญจัดเก็บไว้ในห้องบนกุฏิใส่กุญแจอย่างแน่นหนา

อาคารพิพิธภัณฑ์เมืองเกษมสีมา วัดเกษมสำราญ

พิพิธภัณฑ์เมืองเกษมสีมา เป็นอาคารคอนกรีตทรงไทย 2 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยทั้งหมด 64 ตารางเมตร ชั้นละ 34 ตารางเมตร โดยพิพิธภัณฑ์นี้สร้างขึ้นกลางสระน้ำ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า สระหอโปง ทั้งนี้ เพื่อป้องกันปลวกหรือแมลงมาทำลายหนังสือและใบลานที่มีอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์ โดยสระน้ำนี้ขุดในปี พ.ศ. 2537 และเริ่มก่อสร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ในปี พ.ศ. 2544 จนมาแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2552

ภายในพิพิธภัณฑ์มีของเก่ามากมาย ได้แก่ ของใช้ในครัวเรือน ของที่ใช้ในการทำมาหากินของคนอีสานโบราณ โดยได้รับความร่วมแรงร่วมใจจากชาวบ้าน และผู้มีจิตศรัทธาจากทั่วสารทิศ บริจาคปัจจัย และสิ่งของต่าง ๆ การสร้างพิพิธภัณฑ์นี้ใช้งบประมาณในการ ก่อสร้างทั้งสิ้น 5,500,000 บาท ส่วนการจัดพื้นที่ตกแต่งและการออกแบบต่าง ๆ ภายในพิพิธภัณฑ์ ได้รับความกรุณา ผศ.ดร.ศักดิ์ชาย สิกขา ผศ.ดร.ประทับใจ สิกขา และทีมงานจากคณะศิลปประยุกต์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่มีจิตศรัทธาได้จัดทำโครงการ การออกแบบและพัฒนาพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านในภาคอีสาน โดยได้รับบประมาณสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มาช่วยในการดำเนินการสมทบร่วมกับทางวัดและชาวบ้านจนเสร็จลุล่วงด้วยดี

ความโดดเด่นของพิพิธภัณฑ์กลางน้ำ เมืองเกษมสีมา คือ การออกแบบตัวอาคารที่สวยงาม และการจัดหมวดหมู่แยกแยะจำพวกสิ่งของโดยเก็บแยกกันเป็นสัดส่วน โดยในชั้นที่ 1 ของพิพิธภัณฑ์จะเก็บสิ่งของเป็นกลุ่ม ๆ ได้แก่ กลุ่มเครื่องดนตรีอีสาน เช่น โหวด แคน ซอ ระนาด พิณ ฉิ่ง ฉาบ พังฮาด ฆ้อง กลอง ฯลฯ กลุ่มเครื่องใช้เครื่องมือในการทอผ้า เช่น ฟืม อัก หม้อสาวไหม หลา เหล่น อิ้ว กระสวย ไนป่าน กลุ่มเครื่องใช้โบราณ เช่น ตะเกียงเจ้าพายุ ตะเกียงโป๊ะ เตารีด ขันหมาก แอบยา ตาชั่ง ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเงินเหรียญสมัยโบราณ เช่น เงินฮาง เงินฮ้อย เงินเหรียญสตางค์แดง เงินเหรียญสิบสตางค์ ฯลฯ และอีกมุมหนึ่งในชั้นที่ 1 นี้ ยังมี หอกสามง่าม หน้าไม้ มีด ดาบ ปืนแก๊ปกระดูกช้าง กล่องข้าว หม้อ โฮงกระบอง พาข้าวไม้ กระบวย แอก คราด ไถ แงบ ลอบ ไซ กระโซ่ เป็นต้น

ส่วนชั้นที่ 2 ของพิพิธภัณฑ์ จะมีพระพุทธรูปปางต่าง ๆ และวัตถุมงคล หีบพระธรรม พระพุทธรูปไม้ วัตถุโบราณตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา ลพบุรี และภาพเกจิอาจารย์ดังในแต่ละยุค รวมทั้งเครื่องถ้วยสังคโลกจากสุโขทัย และภาพถ่ายชีวประวัติ ปราชญ์ชาวบ้านของหมู่บ้านเกษมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมากมายหลาย การจัดแสดงจะมีแผ่นป้ายสำหรับให้ข้อมูล บอกชื่อสิ่งของ ประวัติความเป็นมา การใช้งาน อธิบายเรื่องราวและเหตุการณ์สำคัญในชุมชน และจำลองการใช้งานในบางรายการตามความเหมาะสม

อาคารนันทปัญญานุสรณ์ วัดเกษมสำราญ
อาคารนันทปัญญานุสรณ์ อาคารพิพิธภัณฑ์อีกหลังหนึ่งของวัดเกษมสำราญ
สิ่งของที่แสดงในอาคารนันทปัญญานุสรณ์ วัดเกษมสำราญ
สิ่งของที่แสดงในอาคารนันทปัญญานุสรณ์ วัดเกษมสำราญ
เมรุนกหัสดีลิงค์จำลอง วัดเกษมสำราญ
เมรุนกหัสดีลิงค์จำลอง วัดเกษมสำราญ

พิพิธภัณฑ์เมืองเกษมสีมาได้ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2553 โดย นายชวน ศิรินันท์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีในขณะนั้น เป็นประธานในพิธีเปิดร่วมกับนักการเมืองท้องถิ่นและบุคคลสำคัญในจังหวัดอุบลราชธานี นับแต่นั้นเป็นต้นมามีผู้ให้ความสนใจ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่มาทำบุญ มาเที่ยวงานบุญ นักเรียน นักศึกษา และชาวต่างประเทศ เข้าชมพิพิธภัณฑ์มากมาย พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จึงเป็นแหล่งเรียนรู้ในชุมชน แหล่งค้นคว้าขอมูลของนักศึกษา นักวิชาการในการศึกษาวิจัย เขียนรายงาน เอกสารตำรา และก่อให้เกิดประโยชน์กับหลายสาขาวิชาชีพ ปัจจุบันมีการ ต่อเติมขยายพื้นที่สร้างอาคารพิพิธภัณฑ์เพิ่มเติมอีกหลายจุด เพื่อจัดเก็บสิ่งของต่าง ๆ ที่มีอยู่มากมายให้เพียงพอและจัดระเบียบให้เรียบร้อย สวยงาม รองรับจำนวนสิ่งของต่าง ๆ ที่มีมากขึ้น และเพื่อดึงดูดผู้คนให้เข้าวัดมากขึ้นด้วยเช่นกัน

ที่ตั้ง พิพิธภัณฑ์เมืองเกษมสีมา

วัดเกษมสำราญ บ้านเกษม หมู่ 8 ตำบลเกษม อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี

พิกัดภูมิศาสตร์ พิพิธภัณฑ์เมืองเกษมสีมา

15.686177, 105.042787693

บรรณานุกรม

กิตติภณ เรืองแสน. (2559). ไปเยี่ยมชมวัตถุโบราณ มรดกทางวัฒนธรรม อันล้ำค่า ที่พิพิธภัณฑ์ “เมืองเกษมสีมา”, วันที่ 10 มีนาคม 2560. http://www.banmuang.co.th/news/region/45950

ประภาส บรรเรืองทอง. สัมภาษณ์, 20 มกราคม 2560

ศักดิ์ชาย สิกขา. (2554). พิพิธภัณฑ์เมืองเกษมสีมา, 12 มีนาคม 2560.  http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/artdesign

หมื่นกรรณ พันตา. (2554). พิพิธภัณฑ์เมืองเกษมสีมา, 12 มีนาคม 2560. www.guideubon.com

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง