วัดราษฎร์ประดิษฐ์ โบราณสถานศิลปะช่างญวนและศิลปะพื้นถิ่นอีสาน

วัดราษฎร์ประดิษฐ์ อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี ภายในวัดมีอุโบสถ ศาลาการเปรียญ กุฏิลาย ซึ่งเป็นงานสถาปัตยกรรมศิลปะแบบช่างญวนและพื้นถิ่นอีสาน ที่กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน วัดนี้เป็นวัดที่ชาวบ้านกระเดียนร่วมแรงร่วมใจกันก่อสร้างขึ้นโดยใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น เช่น อิฐที่เผาจากดินดิบในหมู่บ้าน

ประวัติวัดราษฎร์ประดิษฐ์ อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี

วัดราษฎร์ประดิษฐ์ หรือวัดบ้านกระเดียน มีเนื้อที่ทั้งหมด  14 ไร่ ก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2370  เป็นวัดที่ชาวบ้านกระเดียนร่วมแรงร่วมใจกันก่อสร้างด้วยแรงงานชาวบ้าน โดยใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น อิฐที่ใช้เป็นอิฐที่เผาจากดินดิบในหมู่บ้าน  มีโบราณสถานที่สำคัญ เช่น อุโบสถ ศาลาการเปรียญ กุฏิลาย มีโบราณวัตถุที่สำคัญ เช่น พระพุทธรูปประจำพระอุโบสถ  พระพุทธรูปแกะจากไม้ ธรรมมาสไม้ หีบไม้เก็บตำรา เป็นต้น วัดราษฎร์ประดิษฐ์ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ. 2470 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 11.50 เมตร ยาว 16.50 เมตร เป็นวัดที่ชาวบ้านกระเดียนใช้ในการประกอบพิธีทางศาสนาเป็นเวลานานตั้งแต่บรรพบุรุษจนถึงปัจจุบัน  วัดราษฎร์ประดิษฐ์ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราญสถานเมื่อวันที่ 17  ธันวาคม พ.ศ.2544 จากกรมศิลปากร
ลำดับรายชื่อเจ้าอาวาส รูปที่ 1 หลวงปู่ผู๋ รูปที่ 2 ญาท่านพัน รูปที่ 3 ญาท่านลี  อุตตโร  (พระครูพนาภินันท์) รูปที่ 4 หลวงพ่อเทียม รูปที่ 5 พระประสาน อติสาโร รูปที่ 6 พระประยุทธ ถาวโร รูปที่ 7 หลวงปู่แดง รูปที่ 8 พระอธิการตระกูลศักดิ์   กตสาโร รูปที่ 9 พระจรรยา ปิยธัมโม

ศาลาการเปรียญฝีมือช่างญวน วัดราษฎร์ประดิษฐ์

ศาลาการเปรียญ วัดราษฎร์ประดิษฐ์ ก่อสร้างแล้วเสร็จ เมื่อ พ.ศ. 2468  สร้างขึ้นก่อนพระอุโบสถ ก่อด้วยอิฐฉาบปูนทั้งสองด้าน โดยใช้อิฐที่เผาขึ้นเองซึ่งชาวบ้านได้ใช้ดินจากหนองคันใส  บริเวณตะวันออกของหมู่บ้าน ภายในมีการก่อสร้างธรรมาสน์ไว้กลางศาลา เพื่อใช้ในการแสดงธรรมของพระภิกษุ ซึ่งศาลาการเปรียญเป็นสถานที่ที่ชาวบ้านใช้ปฏิบัติศาสนกิจในวันสำคัญทางศาสนา บริเวณทางเข้ามีประติมากรรมปูนปั้นรูปสัตว์คล้ายกิเลนอยู่ทั้งสองข้าง ประตูทำด้วยไม้เนื้อแข็งขนาดใหญ่สองบาน ด้านหน้ามีการตกแต่งด้วยไม้ฉลุลาย ตามแนวคิดและความเชื่อของชาวบ้านในสมัยนั้น จากการสอบถามผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน ทราบว่าช่างที่ก่อสร้างศาลาการเปรียญนี้มีทั้งช่างพื้นบ้าน  และช่างชาวญวนอพยพที่เข้ามาขายแรงงานในสมัยนั้น

ศาลาการเปรียญ วัดราษฎร์ประดิษฐ์
ศาลาการเปรียญ วัดราษฎร์ประดิษฐ์
การตกแต่งศาลาการเปรียญวัดราษฎร์ประดิษฐ์
การตกแต่งศาลาการเปรียญวัดราษฎร์ประดิษฐ์
การตกแต่งศาลาการเปรียญวัดราษฎร์ประดิษฐ์
การตกแต่งศาลาการเปรียญวัดราษฎร์ประดิษฐ์

ศาลาการเปรียญหลังนี้ มีลักษณะแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหันหน้าไปทางทิศตะวันตก เป็นอาคารก่ออิฐฉาบปูนหมักฐานเอวขันปากพานโบกคว่ำโบกหงาย หลังคาทรงจั่ว ปีกนกมุงด้วยไม้แป้นเกล็ด ช่อฟ้า ลำยอง สันหลังคา ทำด้วยไม้แกะสลัก เชิงชายตกแต่งด้วยไม้แกะสลัก และฉลุลวดลาย มีมุขบันไดขึ้นด้านหน้าและด้านหลังเบี่ยงซ้ายห้องที่สอง ราวบันไดตกแต่งด้วยประติมากรรมปูนปั้นรูปมกรคายนาค ด้านทิศตะวันออกมีสัตว์คล้ายเสือเฝ้าบันไดเพิ่มมาข้างละตัว ภายในศาลามีธรรมมาสเก่าฐานอิฐฉาบปูนตกแต่งด้วยลวดลายพันธุ์พฤกษาหลากสี องค์ธรรมาสน์และยอดทำด้วยไม้ฉลุลายผสมผสานลวดลายลายรดน้ำปิดทองคำเปลว

อุโบสถฝีมือช่างญวน วัดราษฎร์ประดิษฐ์

อุโบสถ วัดราษฎร์ประดิษฐ์ ก่อสร้างแล้วเสร็จ เมื่อ พ.ศ. 2478  ขณะนั้นญาท่านพันเป็นเจ้าอาวาส เป็นอุโบสถก่อด้วยอิฐ ฉาบปูนเรียบทั้งสองด้าน หน้าบันวาดลวดลายเขียนสีเป็นรูปคล้ายมังกรพ่นน้ำ อีกด้านเขียนเป็นรูปนกหัสดีลิงค์ในป่าหิมพานต์  สีสันสวยงามและแปลกตา เนื่องจากเป็นศิลปะช่างญวน  ชาวบ้านร่วมแรงร่วมใจกันก่อสร้างขึ้น (โดยว่าจ้างช่างชาวญวนที่เข้ามาขายแรงงานในสมัยนั้นให้ดำเนินการก่อสร้าง) เพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบศาสนพิธี ปฏิบัติศาสนกิจของพระภิกษุสงฆ์ และเป็นที่อุปสมบทให้แก่กุลบุตร การก่อสร้างเสมารอบอุโบสถและมีกำแพงล้อมรอบสร้างจากอิฐชนิดเดียวกัน ภายในเป็นที่ประดิษฐสถานพระประธานปางมารวิชัยก่ออิฐถือปูน ศิลปะไทยอีสาน และเป็นที่รวบรวมพระพุทธรูปบูชาปางต่าง ๆ ทั้งที่แกะจากไม้ และหล่อด้วยโลหะ  บันไดทางขึ้นมีศิลปะปูนปั้นเป็นรูปคล้ายพญานาคผสมมังกร เหนือบานประตูทางเข้ามีภาพวาดพระพุทธรูปด้วยลายเส้น  อุโบสถนี้หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ต่อมาได้รับการบูรณะซ่อมแซมในปี พ.ศ. 2555

ด้านหน้าและด้านข้างอุโบสถวัดราษฎร์ประดิษฐ์
ด้านหน้าและด้านข้างอุโบสถวัดราษฎร์ประดิษฐ์
อุโบสถวัดราษฎร์ประดิษฐ์
ด้านหลังอุโบสถวัดราษฎร์ประดิษฐ์
การตกแต่งอุโบสถวัดราษฎร์ประดิษฐ์
การตกแต่งอุโบสถวัดราษฎร์ประดิษฐ์
การตกแต่งอุโบสถวัดราษฎร์ประดิษฐ์
การตกแต่งอุโบสถวัดราษฎร์ประดิษฐ์

อุโบสถหลังนี้มีลักษณะแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันตก เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนแบบโบราณ มีขนาด 4 ห้อง แบบมีมุขหน้าและพาไล ฐานเอวขันสูง ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วเตี้ย ๆ หลังคาทรงจั่วปีกนกมุงด้วยไม้แป้นเกล็ด เครื่องประดับหลังคาชุดช่อฟ้า ลำยอง หางหงส์และเชิงชายทำด้วยไม้แกะสลักลวดลาย หน้าบันด้านหน้าตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นรูปมังกร หงส์ ปลา ปู กุ้ง เต่า จระเข้ และดอกบัว ส่วนด้านหลังเป็นรูปนกหัสดีลิงค์ หงส์ ช้าง กวาง ต้นไม้ และดอกไม้ บันไดมีลักษณะผายออกเล็กน้อย ราวบันไดทั้งสองข้างตกแต่งด้วยประติมากรรมปูนปั้นรูปมกร ผนังด้านข้างอุโบสถทั้งสองข้างเว้นช่องหน้าต่างด้านละ 2 ช่อง พร้อมบานเปิดเข้าทำด้วยไม้ ด้านนอกหน้าต่างตกแต่งด้วยซุ้มโค้งครึ่งวงกลม ด้านนอกอุโมงค์และพาไลที่ผนังมีเสาประดับตกแต่งด้วยบัวหัวเสาเหนือบัวหัวเสาบางต้นมีประติมากรรมปูนปั้นรูปปลาแบบนูนสูง ส่วนผนังมุขหน้าทั้งสองข้างเว้นช่องหน้าต่างโล่งเป็นซุ้มโค้งครึ่งวงกลมข้างละ 1 ช่อง มีบัวหัวเสารองรับซุ้มโค้ง ส่วนด้านหน้าเว้นช่องประตูซุ้มโค้ง 1 ช่อง มีบัวหัวเสารองรับซุ้มโค้งประตูเช่นเดียวกัน ประตูเข้าอุโบสถ 1 ช่อง ทำด้วยไม้บ้านคู่เปิดเข้า เหนือซุ้มประตูตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นแบบนูนต่ำ กลางซุ้มมีภาพจิตรกรรมรูปพระพุทธรูปประทับนั่ง ภายในอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปเก่าปางมารวิชัยบนฐานชุกชียาว ผนังด้านหลังองค์พระประธานมีภาพจิตรกรรมรูปพระพุทธรูปประทับยืนขนาบข้างซ้าย-ขวา

กุฏิลาย กุฏิไม้ วัดราษฎร์ประดิษฐ์

กุฏิลาย วัดราษฎร์ประดิษฐ์ จำนวน 2 หลัง เป็นกุฏิที่สร้างด้วยไม้ทั้งหลัง มีเสาจำนวน 12 ต้น หลังคาเดิมมุงด้วยแป้นไม้ทั้งหมด แต่เนื่องจากมีอายุการก่อสร้างเป็นเวลายาวนาน ทำให้ไม้มุงหลังคาผุพัง ชาวบ้านจึงร่วมกันเปลี่ยนเป็นสังกะสี ด้านหน้าจั่วและฝาผนังกุฏิมีการติดประดับด้วยกระจกเพื่อให้เกิดความสวยงาม และใช้สีทาตกแต่งฝาผนังกุฏิ และมีการใช้ไม้แผ่นแกะสลักลวดลาย เพื่อแสดงให้เห็นภูมิปัญญา และฝีมือเชิงช่างพื้นบ้านอีสาน  (ญาท่านพันเป็นผู้นำในการก่อสร้าง) ปัจจุบันกุฏิลายชำรุดทรุดโทรมตามกาลเวลา และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานจากกรมศิลปากรแล้ว  และต่อมาได้รับการบูรณะซ่อมแซมแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2556

กุฏิลาย วัดราษฎร์ประดิษฐ์
กุฏิลาย วัดราษฎร์ประดิษฐ์
การตกแต่งกุฏิลาย วัดราษฎร์ประดิษฐ์
การตกแต่งกุฏิลาย วัดราษฎร์ประดิษฐ์

กุฏิลาย มีลักษณะเป็นเรือนเสาไม้ใต้ถุนโล่ง มี 3 หลังต่อกัน ปัจจุบันเหลือเพียง 2 หลัง หันหน้าไปทางทิศตะวันตก เรือนหลังใหญ่หลังคาทรงจั่วปีกนกมุงด้วยไม้แป้นเกล็ดหน้าจั่วลูกฟัก เครื่องประดับหลังคาทำด้วยไม้แกะสลักลวดลาย ประกอบด้วย ช่อฟ้า ปั้นลม และหางหงส์ ผนังฝาสายบัวทั้งหลังแต้มสี ไม้ปิดหัวตงแกะสลักลวดลายแต้มสี เว้นช่องหน้าต่างแบบมีหย่องด้านหน้าและด้านหลังข้างละ 1 ช่อง บานไม้คู่มีอกเลาเปิดเข้าด้านในวงกรอบแกะสลักลวดลายแต้มสี ส่วนด้านข้างมีขนาดสามห้องเว้นช่องหน้าต่างเล็กห้องละ 1 ช่อง บานไม้เดี่ยวเปิดเข้า ด้านตรงข้ามเป็นประตูบานไม้คู่มีอกเลาเปิดเข้าด้านใน วงกรอบแกะสลักลวดลายแต้มสี ส่วนเรือนอีกหลังเปิดโล่งหลังคาทรงจั่วปีกนกมุงด้วยไม้แป้นเกล็ดหน้าจั่ว รูปพระอาทิตย์แกะสลักลวดลายประดับกระจกแต้มสี มีชานบันไดขึ้นสองข้าง ตกแต่งเครื่องหลังคาด้วยไม้แกะสลัก

ธรรมมาสไม้ วัดราษฎร์ประดิษฐ์

ธรรมมาสไม้ของวัดราษฎร์ประดิษฐ์ ตั้งอยู่ภายในศาลาการเปรียญ เป็นศิลปะผสมระหว่างศิลปะอีสานกับศิลปะญวน สร้างด้วยไม้ฉลุเป็นลวดลาย  และทาสีด้วยสีจากธรรมชาติ  ซึ่งยังสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนจนถึงทุกวันนี้  และมีบันไดซึ่งทำจากไม้เนื้อแข็ง มีการตกแต่งลวดลายอย่างงดงาม จัดเป็นโบราณวัตถุที่หาดูได้ยากในปัจจุบัน  ธรรมมาสนี้เป็นงานฝีมือที่ต้องใช้ช่างที่มีความชำนาญในหลาย ๆ ด้าน ทั้งการแกะฉลุลวดลาย การใช้สี และการตกแต่งบันไดทางขึ้นธรรมมาส ปัจจุบันยังมีการใช้งานธรรมมาสนี้ในการแสดงธรรมในบุญมหาชาติของชาวบ้าน

ธรรมมาสไม้ วัดราษฎร์ประดิษฐ์
ธรรมมาสไม้ วัดราษฎร์ประดิษฐ์
ตู้พระไตรปิฎก ตู้พระคัมภีร์ วัดราษฎร์ประดิษฐ์
ตู้พระไตรปิฎก ตู้พระคัมภีร์ วัดราษฎร์ประดิษฐ์

กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานวัดราษฎร์ประดิษฐ์ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 118 ตอน 124ง ฉบับวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ.2544 พื้นที่โบราณสถานประมาณ 3 ไร่ 1 งาน 55 ตารางวา และบูรณะซ่อมแซมเมื่อปี พ.ศ.2555-2556

ที่ตั้ง วัดราษฎร์ประดิษฐ์

บ้านกระเดียน  ตำบลกระเดียน  อำเภอตระการพืชผล  จังหวัดอุบลราชธานี

พิกัดภูมิศาสตร์ วัดราษฎร์ประดิษฐ์

15.600317, 105.076024918

เอกสารอ้างอิง

ไกด์อุบล. (2556). เชิญชม สิม หอแจก และกุฏิลาย วัดราษฎร์ประดิษฐ์ อ.ตระการพืชผล จ.อุบล, วันที่ 13 มีนาคม 2560. http://guideubon.com/news/view.php?t=18&s_id=66&d_id=66

มะลิวัลน์ สินน้อย, ผู้รวบรวม. (2551). ฐานข้อมูลวัดในจังหวัดอุบลราชธานี, 2 มีนาคม  2560. http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/ubon_temple

สำนักศิลปากรที่ 11 อุบลราชธานี. (ป้ายประชาสัมพันธ์)

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง