พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดศรีสุพนอาราม หรือวัดหนองช้างน้อย อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี แหล่งรวมวัตถุสิ่งของโบราณ เครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่อยู่ในวิถีชีวิตของคนอีสานหลายพันชิ้นโดยพระอาจารย์ฉลอง ธัมมิโก เพื่อจัดเก็บและจัดแสดงให้ผู้คนได้ศึกษาเรียนรู้
ความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดศรีสุพนอาราม
บ้านหนองช้างน้อย ตำบลหนองช้างใหญ่ อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี ได้ก่อตั้งหมู่บ้านขึ้นในปี พ.ศ.2465 โดยได้แยกตัวออกจากบ้านหนองช้างใหญ่ เนื่องจากอยู่ไกลที่ทำมาหากิน หลังจากตั้งหมู่บ้านเสร็จก็ได้ก่อตั้งวัดขึ้น ซึ่งที่แห่งนี้เคยเป็นที่อยู่ของพวกข่าและขอมโบราณมาก่อน ด้วยว่ามีหมู่บ้านร้างของพวกข่าและขอมกระจายอยู่โดยทั่วไป เช่น ดงบ้านกรุง ดงบ้านสังข์ ดงบ้านทม ดงบ้านแขม ปัจจุบันเป็นที่สาธารณะประโยชน์ของตำบล ต่อมาเมื่อชาวบ้านซึ่งเป็นพวกลาวดั้งเดิมอพยพมาพร้อมกับการตั้งเมืองอุบลราชธานีได้เข้ามาอาศัยอยู่แทน ได้ขุดพบข้าวของเครื่องใช้ของพวกขอมโบราณมากมาย เช่น ไห 4 หู พระพุทธรูปโบราณ พระอาจารย์ฉลอง ธัมมิโก ซึ่งมีบรรพบุรุษอาศัยอยู่หมู่บ้านแห่งนี้ ผู้ที่มีความรักและสะสมวัตถุโบราณอยู่แล้ว ได้มาจำพรรษาที่วัดศรีสุพนอาราม ท่านจึงได้รวมวัตถุโบราณข้าวของเครื่องใช้เหล่านั้นไว้ เมื่อมีวัตถุสิ่งของมากขึ้น ท่านและชาวบ้านจึงร่วมกันระดมทุนและสร้างพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านขึ้น เพื่อจัดเก็บและจัดแสดงให้ผู้คนได้ศึกษาเรียนรู้ ต่อมาลูกหลานที่ไปทำงานต่างถิ่นได้เห็นความสำคัญด้วยจึงได้ทอดผ้าป่าสมทบทุนก่อสร้างพิพิธภัณฑ์จนเสร็จเรียบร้อย
ปัจจุบันภายในพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดศรีสุพนอาราม มีวัตถุโบราณและสิ่งของเครื่องใช้ที่รวบรวมได้มากกว่า 1,000 ชิ้น จัดเก็บและจัดแสดงไว้ในอาคารพิพิธภัณฑ์ซึ่งเป็นอาคารคอนกรีตชั้นเดียว กว้าง 9 เมตร ยาว 18 เมตร ใช้งบประมาณค่าก่อสร้าง 1,200,000 บาท วัตถุโบราณและสิ่งของเครื่องใช้ที่มี ได้แก่ รอยพระพุทธบาทจำลอง ขันหมาก ขันโตกไม้ เครื่องจักสาน เครื่องดักสัตว์ ไหโบราณ ผ้าซิ่น เงินโบราณ เช่น เงินฮอย เงินฮาง เงินมะค้อ เงินสมัยปัจจุบัน เป็นต้น มีเครื่องดนตรีพื้นบ้าน พระพุทธรูปโบราณ หนังสือใบลาน ที่ได้มาจากแหล่งต่าง ๆ เช่น บ้านเชียง อุดรธานี นครราชสีมา มุกดาหาร เป็นต้น นอกจากนั้นแล้วยังได้จัดแสดงเรือโบราณที่มีอายุกว่า 200 ปี ที่ด้านหน้าอาคารพิพิธภัณฑ์อีกด้วย ข่าวการขุดพบเรือลำนี้ทำให้ผู้คนหลั่งไหลเข้ามาที่วัดศรีสุพนอารามอย่างมากมาย ผู้ที่เข้ามากราบไหว้ชมเรือก็จะได้ชมพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านนี้ด้วย
พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดศรีสุพนอารามจึงถือว่าเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านแห่งแรกของอำเภอม่วงสามสิบเป็นเกียรติประวัติอย่างยิ่งของคนในท้องถิ่นนี้ที่ได้แสดงออกถึงการอนุรักษ์และสืบทอดทางวัฒนธรรมของบรรพบุรุษและแสดงออกถึงความกตัญญูต่อบรรพชนเป็นอย่างยิ่ง
ประวัติวัดศรีสุพนอาราม อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี
วัดศรีสุพนอาราม หรือวัดบ้านหนองช้างน้อย อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นวัดในสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 6 ไร่ 2 งาน ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2472 หลังจากตั้งหมู่บ้านได้ 1 ปี โดย นายโสม พลเทพ ผู้ใหญ่บ้านได้เป็นผู้นำชักชวนชาวบ้านมาร่วมกันตั้งวัดขึ้น เดิมชื่อ “วัดบ้านหนองช้างน้อย” ซึ่งเรียกตามชื่อบ้าน ต่อมาพระครูจันทสิโรปมาคุณ (สังข์) เห็นว่าชื่อยังไม่เป็นมงคลนักจึงตั้งชื่อว่า “วัดศรีสุพนอาราม” จนถึงปัจจุบันนี้ มีเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนามคือ รูปที่ 1 หลวงปู่ลุน พ.ศ. 2472-2517 รูปที่ 2 พระไทย พ.ศ. 2517-2522 รูปที่ 3 พระเพลิด พ.ศ. 2522-2530 รูปที่ 4 พระชัย พ.ศ. 2530-2535 รูปที่ 5 พระอธิการอุดร ปัญญาว.โร พ.ศ. 2535-2549 รูปที่ 6 พระอธิการนวล ฐานวโร พ.ศ. 2549-
เจ้าแม่ตะเคียนทอง อายุกว่า 200 ปี ณ วัดศรีสุพนอาราม
เจ้าแม่ตะเคียนทอง เป็นแม่ย่านางของเรือโบราณ ที่สันนิษฐานว่ามีอายุกว่า 200 ปี จากบันทึกการค้นพบเรือโบราณที่เรียบเรียงโดย พายัพ ปรุโปร่ง ได้กล่าวว่า เรือโบราณลำนี้ค้นพบในลำเซบก อยู่ระหว่างบ้านหนองช้างน้อย ตำบลหนองช้างใหญ่ อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี และบ้านหนองหัวลิง ตำบลจานลาน อำเภอพนา จังหวัดอุบลราชธานี โดยตัวเรือฝังจมอยู่ในน้ำลำเซบกอยู่ริมฝั่งบ้านหนองช้างน้อย ชื่อวังวัดท่า โดยหางเรือโผล่ขึ้นมาเหนือดินเล็กน้อย แต่จมอยู่ใต้น้ำ หัวเรือหันไปทางด้านต้นน้ำ คือ ลำเซบก มีต้นกำเนิดในเขตอำเภอเมือง และอำเภอลืออำนาจ (บ้านอำนาจน้อย) และอยู่ใกล้จากห้วยพระเหลาที่ไหลมาบรรจบลำเซบก ประมาณ 1 กิโลเมตร โดยมีชาวบ้านหนองช้างใหญ่ คือ นายบุญเพ็ง รังทอง ไปหาปลาในเขตลำเซบก พบว่า มีขอนไม้ขนาดใหญ่จมอยู่ใต้น้ำ ด้วยความสงสัยจึงสำรวจดูใต้น้ำพบว่ามีลักษณะคล้ายเรือมาก จึงบอกนายประไพ เขียวสวัสดิ์ แล้วไปเล่าให้พระอาจารย์ฉลอง ธมฺมิโก วัดหนองช้างน้อยทราบ ซึ่งท่านมีความสนใจในการอนุรักษ์ของเก่าและเก็บรวบรวมวัตถุมีค่าไว้ในพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดศรีสุพนอาราม บ้านหนองช้างน้อย
ก่อนหน้านี้อาจจะมีคนค้นพบอยู่ก่อนแล้วแต่ไม่ได้สนใจและไม่คิดว่าจะเป็นเรือขนาดใหญ่ โดยหลังจากขุดแล้วพบว่า เรือมีความกว้าง 1.85 เมตร ยาว 21.60 เมตร และคาดว่าได้ขาดหายไปประมาณ 3-5 เมตร พระอาจารย์ฉลอง ธมฺมิโก จึงได้นำประชาชนชาวบ้านหนองช้างน้อย ชาวบ้านหนองช้างใหญ่ และชาวบ้านใกล้เคียงทำการขุดเรือขึ้นมาจากลำเซบก ในวันที่ 1 มิถุนายน 2554 ใช้เวลาขุดทั้งสิ้น 2 วัน จนวันที่สามจึงได้นำรถแมคโฮมาขุด จึงสามารถนำเรือขึ้นมาจากน้ำได้ ระหว่างทำการขุดเรือทั้ง 3 วันนั้นมีฝนตกทุกวัน ทำให้อากาศครึ้มสบายดี วันที่ 4 มิถุนายน 2554 จึงเคลื่อนตัวเรือจากลำเซบกไปที่วัดศรีสุพนอาราม ใช้เวลา 8 ชั่วโมง ใช้กำลังคนประมาณ 300 คน และมีการจัดขบวนแห่โดยชาวบ้านหนองช้างน้อยและหนองช้างใหญ่ ข่าวการขุดพบเรือได้แพร่กระจายออกไปทุกทั่วสารทิศ ทำให้ประชาชนเดินทางมาเยี่ยมชมเรือโบราณอย่างมากมายและต่อเนื่อง
เรือโบราณ เจ้าแม่ตะเคียนทอง คาดว่ามีอายุประมาณ 200 ปี โดยการคมนาคมสมัยก่อนชาวบ้านส่วนใหญ่นิยมเดินทางและขนส่งทางน้ำเป็นสำคัญ เนื่องจากสะดวกและรวดเร็ว มีการเดินทางติดต่อค้าขายระหว่างเมือง และหมู่บ้านต่าง ๆ และผู้คนก็นิยมตั้งบ้านเมืองใกล้แม่น้ำใหญ่ ลำเซ ลำห้วย หนองน้ำ เพื่อสะดวกในการติดต่อค้าขายและใช้น้ำในการอุปโภค บริโภค ทำการเกษตร การประมง
การเดินเรือในลำเซบก การคมนาคมขนส่งในอดีต
ลำเซบก มีต้นกำเนิดอยู่ในเขตอำเภอเมืองอำนาจเจริญ อำเภอหัวตะพาน ไหลผ่านอำเภอลืออำนาจ อำเภอพนา อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอเหล่าเสือโก้ก อำเภอตระการพืชผล และอำเภอตาลสุม ไปบรรจบกับแม่น้ำมูลที่จังหวัดอุบลราชธานี มีความยาวทั้งสิ้น 150 กิโลเมตร มีลำห้วยไหลมาบรรจบกับลำเซบก เช่น ห้วยเวียงหลวง อำเภอหัวตะพาน ห้วยพระเหลา อำเภอพนา ห้วยพระโรจน์ อำเภอม่วงสามสิบ และลำห้วยอื่น ๆ ซึ่งเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านต่าง ๆ ที่ใช้ลำห้วย ลำเซบกในการเดินทางคมนาคมขนส่ง บ้านเมืองที่ตั้งอยู่ใกล้ลำห้วย ลำเซบก เช่น
- บ้านค้อใหญ่ (บ้านอำนาจน้อย) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดฯ ให้ยกเมืองค้อใหญ่ขึ้นเป็นเมืองอำนาจเจริญ ปี พ.ศ.2401 ให้ท้าวจันทบุรม (เสือ) เป็น พระอมรอำนาจขึ้นกับเมืองเขมราฐซึ่งบ้านค้อใหญ่เป็นชุมชนโบราณที่มีขนาดใหญ่
- บ้านพนานต์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะบ้านพระเหลา (บ้านพนานต์) ขึ้นเป็นเมืองพนานิคม ได้โปรดเกล้าฯ ให้ท้าวเพี้ยเมืองจันทร์เป็นพระจันทวงษา ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองคนแรก ตั้งเมืองอยู่ใกล้ห้วยพระเหลา เป็นชุมชนขนาดใหญ่เช่นกัน
ท่าเรือที่สำคัญที่เป็นจุดค้าขายหรือแลกเปลี่ยนสินค้าหรือเดินทางเข้าสู่ตัวเมืองอุบลราชธานี เช่น
- เมืองพนานิคม อาศัยลำห้วยพระเหลาในการเดินทางขายข้าว เกลือ ผ่านลำห้วยพระเหลาลงสู่ลำเซบกไปสู่ตัวเมืองอุบลราชธานี
- บ้านค้อใหญ่ อาศัยลำเซบกในการติดต่อค้าขายระหว่างเมือง และหมู่บ้านต่าง ๆ
- ท่าบ่อขุม บ้านหนองช้างใหญ่ ตำบลหนองช้างใหญ่ อำเภอม่วงสามสิบ เป็นจุดพักสินค้า แลกเปลี่ยนซื้อขาย หรือเดินทางเข้าสู่ตัวเมือง
- ท่าบ่อแบง อำเภอตระการพืชผล เป็นจุดพักสินค้า แลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้า หรือเดินทางเข้าสู่ตัวเมือง สินค้าที่นิยมค้าขายในสมัยโบราณ ได้แก่ ข้าว เหลือ ป่าน ปอ หม้อ ไห หินลับมีด เช่น เกลือบ้านกุงชัย อำเภอลืออำนาจ เกลือหนองฮาง บ้านหนองช้างน้อย หม้อไห บ้านดุมใหญ่ ตำบลดุมใหญ่ อำเภอม่วงสามสิบ หม้อไหหนองเปือย บ้านหนองช้างน้อย แหล่งผลิตอยู่หนองเปือย บ้านหนองช้างน้อย ตำบลหนองช้างใหญ่ อำเภอม่วงสามสิบ
ดังนั้น จึงสันนิษฐานว่าเรือโบราณลำนี้น่าจะเป็นเรือที่ใช้ขนส่งสินค้าไปมาระหว่างลำเซบกตามบ้านเมืองต่าง ๆ ไปสู่เมืองอุบลราชธานี หรือใช้ในการเดินทางไปมาทั้งขาขึ้นและขาล่อง การขุดค้นพบเรือโบราณนี้จึงเป็นเกียรติประวัติอย่างยิ่งที่จะทำให้อนุชนรุ่นหลังได้ทราบประวัติความเป็นมา และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของบรรพบุรุษ สมัยการสร้างบ้านแปงเมือง การก่อตั้งเมืองอุบลราชธานีและเมืองต่าง ๆ
ที่อยู่ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดศรีสุพนอาราม
วัดศรีสุพนอาราม บ้านหนองช้างน้อย หมู่ 1 ตำบลหนองช้างใหญ่ อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี
พิกัดภูมิศาสตร์ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดศรีสุพนอาราม
15.5777364, 104.807188908
บรรณานุกรม
ฉลอง ธรรมมิโก. คำกลอนสอนธรรม ของ ท.ธรรมะคีตา นครเวียงจันทร์ (สำเนียงภาคอีสานและลาว). ม.ป.ท. : ม.ป.ท.
พระอธิการฉลอง ธัมมิโก. สัมภาษณ์, 19 มกราคม 2560
พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน วัดศรีสุพนอาราม บ้านหนองช้างน้อย. (แผ่นพับ)