วัดป่าวิเวกธรรมชาน์ วัดสาขาที่ 7 ของวัดหนองป่าพง

วัดป่าวิเวกธรรมชาน์ อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นวัดสาขาที่ 7 ของวัดหนองป่าพง มีพระมงคลกิตติธาดาเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก ตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนที่มีความเงียบสงบเหมาะสำหรับการปฏิบัติธรรมวิปัสนากรรมฐาน

แผนผังวัดป่าวิเวกธรรมชาน์
แผนผังวัดป่าวิเวกธรรมชาน์

ประวัติวัดป่าวิเวกธรรมชาน์ อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี

วัดป่าวิเวกธรรมชาน์ ตามที่มีการบันทึกไว้ เป็นวัดในสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2529 วัดนี้ได้สร้างขึ้นเนื่องจากชาวอําเภอม่วงสามสิบได้ยินกิตติศัพท์ในการประพฤติปฏิบัติธรรมและจริยธรรมอันงดงามของ พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทโท) วัดหนองป่าพง อําเภอวารินชําราบ จังหวัดอุบลราชธานี จึงพากันไปนมัสการฟังธรรมรักษาศีลภาวนาอยู่เป็นประจําและเห็นประโยชน์ของการปฏิบัติธรรม หลายปีต่อมาจึงพากันจัดหาพื้นที่สำหรับตั้งสํานักปฏิบัติขึ้นอันจะเป็นประโยชน์ต่อลูกหลานต่อไป ในวันที่ 2 มกราคม 2513 จึงได้นิมนต์พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทโท) พระมงคลกิตติธาดา (อมร เขมจิตโต) และ พระราชสุเมธาจารย์ (โรเบิร์ต สุเมโธ) มารับไทยธรรมและถวายภัตตาหาร โดยจัดที่พักรับรองเป็นกระท่อม (บรรณศาลา) ไว้ 5 หลัง และขอให้ท่านรับไว้เป็นสํานักสาขาของวัดหนองป่าพง พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทโท) ท่านรับไว้พิจารณา และในวันที่ 4 มิถุนายน 2513 ท่านได้ส่งพระมงคลกิตติธาดา (อมร เขมจิตโต) พร้อมด้วย พระภิกษุสามเณร จํานวน 11 รูป มาอยู่จําพรรษาเป็นครั้งแรก นับเป็นสาขาที่ 7 ของวัดหนองป่าพง ให้ชื่อว่า “วัดป่าวิเวกธรรมชาน์”

ทางเข้าวัดป่าวิเวกธรรมชาน์
ทางเข้าวัดป่าวิเวกธรรมชาน์
พระนอน ภายในวัดป่าวิเวกธรรมชาน์
พระนอน ภายในวัดป่าวิเวกธรรมชาน์

ด้วยแรงศรัทธาของพระพุทธศาสนิกชนจึงได้มีการสร้างเสนาสนะถาวรขึ้นเป็นลําดับ ได้รับการอุปถัมภ์จากนายบุญทัน จันทร์ประสานและคณะ และมีนายประศาสน์ ศ.พากเพียร นายอําเภอม่วงสามสิบ สมัยนั้นให้การสนับสนุน ต่อมาทายกทายิกาได้มอบให้นายวีระ หินแก้ว เป็นผู็ดําเนินการขออนุญาตสร้างวัด ในปี 2525 และได้รับอนุญาตให้สร้างวัดจาก กระทรวงศึกษาธิการเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2529 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2529 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 30 เมตร ยาว 44 เมตร ปัจจุบันมีพื้นที่วัดทั้งหมด 210 ไร่ อยู่ในเขตป่าสงวนที่ได้รับอนุญาตให้สร้างวัดแล้ว

อาคารเสนาสนะของวัดป่าวิเวกธรรมชาน์ ประกอบด้วย อุโบสถ กว้าง 30 เมตร ยาว 30 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2521 เป็นอาคารแบบจัตุรมุขคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคากระเบื้องเคลือบดินเผา ด้านในมีจิตรกรรมฝาผนัง ศาลาการเปรียญ กว้าง 20 เมตร ยาว 50 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2514 เป็นอาคารสร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ฝาผนังก่ออิฐถือ ปูน กุฏิสงฆ์ จํานวน 30 หลัง เป็นอาคารไม้ 25 หลัง ครึ่งตึกครึ่งไม้ 1 หลัง และตึก 4 หลัง ศาลาอเนกประสงค์ กว้าง 10 เมตร ยาว 16 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2525 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก หลังคาทรงไทย อาคารของพระเถระ เป็นอาคารชั้นเดียว กว้าง 6 เมตร ยาว 14 เมตร ผนังก่อ อิฐถือปูน สร้างเมื่อ พ.ศ. 2529 อาคารห้องสมุด กว้าง 6 เมตร ยาว 10 เมตร เป็นอาคารชั้นเดียวทรงไทย ผนังก่ออิฐถือปูน สร้างเมื่อ พ.ศ. 2529 อาคารรับรอง กว้าง 6 เมตร ยาว 18 เมตร เป็นอาคารคอนกรีต ผนังก่ออิฐถือปูน สร้างเมื่อ พ.ศ. 2530 ศาลาบําเพ็ญกุศล จํานวน 1 หลัง เป็นอาคารไม้ชั้นเดียว อาคารโรงครัวชั้นเดียว กว้าง 10 เมตร ยาว 15 เมตร พื้นคอนกรีต โรงย้อมผ้า กว้าง 9 เมตร ยาว 12 เมตร พื้นคอนกรีต หลังคาสังกะสี

อุโบสถวัดป่าวิเวกธรรมชาน์
อุโบสถวัดป่าวิเวกธรรมชาน์
หอแจกธรรมชาน์
หอแจกธรรมชาน์

ปูชนียวัตถุสำคัญของวัดป่าวิเวกธรรมชาน์ มีพระประธานปางมารวิชัยแบบพระพุทธชินราชลงรักปิดทอง ขนาดหน้าตัก กว้าง 1.80 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2524 พระพุทธรูปประจําศาลาการเปรียญปางมารวิชัย ขนาดหน้าตัก 1.50 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2517 พระพุทธรูป “พระพุทธศรีโพธิญาณ” (หลวงพ่อโต) ปางสมาธิ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ขนาดหน้าตักกว้าง 9.65 เมตร สูง 13 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2535 เจดีย์พระธาตุพนมจําลองฐานวัดโดยรอบ 16.09 เมตร สูง 13 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2520

พระพุทธศรีโพธิญาณ
พระพุทธศรีโพธิญาณ
เจดีย์พระธาตุพนมจําลอง
เจดีย์พระธาตุพนมจําลอง

นอกจากนี้มีโบราณวัตถุ คือ ใบเสมาแลงโบราณมีอายุประมาณ 1000 ปี ปักเขตวิสุงคสีมา จํานวน 7 ใบ และปักเขตรอบศาลาการเปรียญ จํานวน 9 ใบ กรมศิลปากรได้ขึ้น ทะเบียนเป็นวัตถุโบราณไว้แล้ว และใบเสมาศิลาภูเขาพัทธสีมาสลักเป็นรูปดอกบัว 5 ดอก ใบบัว 4 ใบ

พระมงคลกิตติธาดา (อมร เขมจิตโต) เจ้าอาวาสรูปแรกของวัดป่าวิเวกธรรมชาน์

พระมงคลกิตติธาดา (อมร เขมจิตโต) เจ้าอาวาสรูปแรกของวัดป่าวิเวกธรรมชาน์ พระผู้เปี่ยมด้วยเมตตาและศิษยานุศิษย์ให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างมาก ท่านเป็นพระปฏิบัติด้านวิปัสสนากรรมฐาน โดยเป็นลูกศิษย์รุ่นแรกๆ ของพระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรตั้งแต่อายุได้ 13 ปี ท่านตั้งใจศึกษาเล่าเรียนจนสอบได้นักธรรมชั้นเอกในปี พ.ศ. 2494 หลังจากนั้นท่านจึงได้อุปสมบทเป็นพระ และสอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยคในปี พ.ศ. 2497

ในปี พ.ศ. 2508 เป็นครั้งแรกที่พระมงคลกิตติธาดา (อมร เขมจิตโต) ได้พบกับพระโพธิญาณเถร (ชา สุภทโท) ที่วัดหนองหลัก ความรู้สึกแรกคือท่านนึกชอบในอากัปกิริยาที่ดูเคร่งขรึมอันสำรวมของพระโพธิญาณเถร (ชา สุภทโท) แต่ด้วยเหตุที่ยังหยิ่งในภูมิปริยัติของตนเอง ที่ได้เปรียญธรรม 6 ประโยคจากกรุงเทพฯ ส่วนพระโพธิญาณเถร (ชา สุภทโท) แม้จะเป็นนักธรรมเอกแต่ก็เป็นพระบ้านนอก จึงทำให้ในขณะนั้นท่านยังไม่รู้สึกเลื่อมใสพระโพธิญาณเถร (ชา สุภทโท) มากนัก แต่ในที่สุดแล้ว ท่านก็ได้ตัดสินใจไปวัดหนองป่าพง โดยตั้งใจว่าจะไปทดลองดูก่อน เมื่อเหยียบย่างเข้าไปในวัดหนองป่าพงครั้งแรก ท่านเกิดความรู้สึกประทับใจ และเกิดความเลื่อมใสในพระโพธิญาณเถร (ชา สุภทโท) เป็นอย่างมาก จึงได้ฝากตัวเป็นลูกศิษย์พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทโท) ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จนถึงปี พ.ศ. 2513 ท่านได้รับบัญชาจากพระโพธิญาณเถร (ชา สุภทโท) ให้ไปอยู่อบรมสั่งสอนญาติโยมที่สำนักใหม่ในอำเภอม่วงสามสิบ ซึ่งก็คือ วัดป่าวิเวกธรรมชาน์

  • พ.ศ. 2517 ดำรงตำแหน่งรองเจ้าอาวาสวัดม่วงสามสิบ
  • พ.ศ. 2518 ดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะอำเภอม่วงสามสิบ
  • พ.ศ. 2525 เป็นพระอุปัชฌาย์ในเขตอำเภอม่วงสามสิบ
  • พ.ศ. 2529 ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดป่าวิเวก(ธรรมชาน์) สาขาที่ 7 ของวัดหนองป่าพง
  • พ.ศ. 2530 ดำรงตำแหน่งรักษาการเจ้าคณะอำเภอม่วงสามสิบ
  • พ.ศ. 2531 ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอม่วงสามสิบ
  • พ.ศ. 2523 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าคณะอำเภอชั้นเอกที่ พระครูศรีปัญญาคุณ
  • 5 ธันวาคม พ.ศ. 2530 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระมงคลกิตติธาดา

พระมงคลกิตติธาดา (อมร เขมจิตโต) ท่านได้อาพาธและเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี ด้วยอาการโรคหัวใจ ความดันโลหิต และโรคปอดบวม ทางแพทย์ได้ดูแลเยียวจนสุดความสามารถ แต่อาการก็มีแต่ทรงและทรุดมาตลอด จนมรณภาพด้วยอาการสงบ เมื่อวันอังคารที่ 23 พฤศจิกายน 2553 สิริอายุ 79 ปี 59 พรรษา

ด้วยสำนึกและเป็นการระลึกถึงคุณงามความดีของพระมงคลกิตติธาดา (อมร เขมจิตโต) ทางวัดป่าวิเวกธรรมชาน์ได้มีการสร้างเจดีย์อนุสรณ์สถานแก่ท่าน ซึ่งปัจจุบันยังไม่แล้วเสร็จ และจัดงานปฏิบัติธรรมขึ้นในวันที่ 31 ธันวาคม-4 มกราคม ของทุกปี ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเกิดของพระมงคลกิตติธาดา (อมร เขมจิตโต)

เจดีย์อนุสรณ์สถานพระมงคลกิตติธาดา (อมร เขมจิตโต)
เจดีย์อนุสรณ์สถานพระมงคลกิตติธาดา (อมร เขมจิตโต)

 คติธรรมคำสอนของพระมงคลกิตติธาดา (อมร เขมจิตโต)

 อยากมาก ทุกข์มาก  อยากน้อย ทุกข์น้อย หมดยาก หมดทุกข์ ยิ่งยึด ยิ่งทุกข์ หยุดยึด ก็หยุดทุกข์

ธรรมะจากต้นไม้ วัดป่าวิเวกธรรมชาน์
ธรรมะจากต้นไม้ วัดป่าวิเวกธรรมชาน์
บรรยากาศภายในวัดป่าวิเวกธรรมชาน์
บรรยากาศภายในวัดป่าวิเวกธรรมชาน์
พระถนอมรัฐ จิตฺตทนฺโต
พระถนอมรัฐ จิตฺตทนฺโต

ที่ตั้ง วัดป่าวิเวกธรรมชาน์

เลขที่ 229 หมู่ที่ 1 ตําบลม่วงสามสิบ อําเภอม่วงสามสิบ จังหวัด อุบลราชธานี เว็บไซต์ : http://vivekadhamma.org 

พิกัดภูมิศาสตร์ วัดป่าวิเวกธรรมชาน์

15.534030, 104.726592

บรรณานุกรม

พระถนอมรัฐ จิตฺตทนฺโต. สัมภาษณ์, 26 มกราคม 2560

วัดป่าวิเวก (ธรรมชาน์). (2551). วัดป่าวิเวก(ธรรมชาน์), 14 มีนาคม 2560. http://vivekadhamma.org 

วิกิพีเดีย. (2559). พระมงคลกิตติธาดา (อมร เขมจิตโต), 14 มีนาคม 2560. https://th.wikipedia.org/wiki/พระมงคลกิตติธาดา_(อมร_เขมจิตฺโต)

มะลิวัลย์ สินน้อย, ผู้รวบรวม. (2551). ฐานข้อมูลวัดในจังหวัดอุบลราชธานี, 14 มีนาคม  2560. http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/ubon_temple

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง