กลุ่มเจียระไนพลอย บ้านสร้างมิ่ง ตำบลหนองเรือ อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี ได้รวมกลุ่มกันทำงานเจียระไนพลอย เพื่อสร้างรายได้หลังฤดูการทำนา ส่วนใหญ่จะรับพลอยมาจากจังหวัดจันทบุรี กลุ่มนี้ได้รับการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ในการเจียระไนพลอยจากนายโกศล จันทร์ดี อดีตลูกจ้างที่เจียระไนพลอยในกรุงเทพฯ แล้วกลับมาสร้างงานสร้างรายได้ให้กับชุมชน ราคาการเจียระไนจะสูงขึ้นตามขนาดของพลอย
ความเป็นมาของงานเจียระไนพลอยที่บ้านสร้างมิ่ง
เมื่อ 30 ปีที่แล้ว นายโกศล จันทร์ดี อดีตลูกจ้างเจียระไนพลอยของเถ้าแก่ในกรุงเทพฯ ภายหลังเมื่อเถ้าแก่เลิกกิจการจึงหวนกลับมาทำมาหากินที่บ้านเกิดของตัวเอง พร้อมความรู้ทักษะประสบการณ์ในการเจียระไนพลอยติดตัวมาด้วย จึงได้รวมกลุ่มชาวบ้านตั้งเป็นกลุ่มเจียระไนพลอยขึ้น ณ บ้านสร้างมิ่ง ตำบลหนองเรือ อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี มีสมาชิกทั้งหมด 30-50 คน ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่จะมีอาชีพทำนา และรับงานเจียระไนพลอยเป็นอาชีพเสริม พลอยที่นำมาเจียระไนจะรับมาจากจังหวัดจันทบุรี และพลอยที่มีลูกค้านำมาให้เจียระไนด้วยตนเอง ราคาที่เจียระไนอยู่ที่เม็ดละ 2.80 บาท และราคาจะสูงขึ้นตามขนาดของพลอย
ปัจจุบันมีสมาชิกอยู่ประมาณ 10 คน ทำรวมกลุ่มกันที่บ้านนายโกศล จันทร์ดี และรับไปทำที่บ้านของตนเอง จำนวนพลอยที่เจียระไนได้แต่ละเดือนประมาณ 20,000-30,000 เม็ด รายได้และค่าจ้างของสมาชิกจะได้ตามความยากง่ายของงาน
ขั้นตอนการเจียระไนพลอยที่บ้านสร้างมิ่ง
1.พลอยที่ได้รับมาจะนำไปติดกับไม้ทวน ในขั้นตอนนี้จะเรียกการติดโกรน โดยที่หัวไม้โกรนนั้นจะมีแชล็ค (ลักษณะคล้ายขี้ผึ้ง) ปั้นเป็นเบ้าติดอยู่ เมื่อติดเม็ดพลอยลงไป ก็ลนด้วยไฟอ่อน ๆ ให้แชล็คอ่อนตัว และทำให้ติดกับเม็ดพลอยได้แน่นขึ้น
2.ทำการเจียรหรือโกรนเม็ดพลอยให้ปลายแหลม เพื่อให้มีรูปร่างที่สามารถเข้ากับไม้ทวนได้ เมื่อโกรนแล้วก็แกะออกจากไม้ทวนโดยการลนไฟแล้วใช้เหล็กคีบเม็ดพลอยออกจากทวน เม็ดพลอยที่ได้จะแช่ด้วยโซดาไฟเพื่อล้างแชล็คออก
3. นำเม็ดพลอยไปติดเข้ากับไม้ทวนด้วยกาว โดยวางด้านที่มีปลายแหลมลงไปในไม้ทวน กาวที่ใช้จะเป็นกาวอีพอกซ์ซี่แบบผสม ซึ่งเหมาะสำหรับงานการเชื่อมโลหะไม้ แก้ว กระจก เซรามิค พลาสติกแข็ง เพชร พลอย เมื่อติดเสร็จแล้วทิ้งไว้ให้กาวแห้ง
4. นำพลอยที่ติดกับไม้ทวนไปอบด้วยไฟอ่อน ๆ เพื่อให้เม็ดพลอยติดกับไม้ทวนได้แน่นขึ้น วิธีการอบดัดแปลงโดยวางไม้ทวนในแก้วอะลูมิเนียม นำไปวางบนเตาแก๊ส ใช้ไฟอ่อน ๆ แล้วนำปี๊บสังกะสีมาครอบ ใช้เวลาอบประมาณ 30 นาที
5. นำพลอยไปแต่งด้วยหินเพชรเบอร์ละเอียดให้ได้รูปทรงกระบอก ลบหน้าให้เรียบ ลบไหล่ แต่งเหลี่ยม จะได้พลอยที่มีรูปร่างชัดเจนขึ้น
6. การเจียระไน นำพลอยที่แต่งเรียบร้อยแล้วไปเจียรที่จักรสำหรับเจียระไน ซึ่งทำด้วยเหล็กกล้าพื้นหน้าเซาะเป็นร่อง เรียกว่า ฟันจักร ซึ่งมีน้ำยาผสมด้วยเพชรป่นละเอียดกับน้ำมันมะพร้าวเป็นตัวช่วยให้พลอยเกิดเหลี่ยม และเงางาม
7. พลอยที่เจียระไนแล้ว จะนำมาลนไฟเพื่อดึงเม็ดพลอยออกจากไม้ทวน พลอยที่ดึงออกมาจะแช่ไว้ในกรดน้ำส้ม กรดน้ำส้มจะช่วยล้างกาวออกจากพลอย
8. นำพลอยไปติดไม้ทวนอีกครั้ง ในลักษณะกลับเอาด้านที่ยังไม่ได้เจียระไนขึ้นมาใส่ไม้ทวน เพื่อนำไปเจียระไนแต่งก้น เสร็จแล้วก็นำไปลนไฟเพื่อนำออกจากไม้ทวน และแช่ในกรดน้ำส้มอีกครั้ง
9. ตรวจสอบคุณภาพโดยดูเหลี่ยมดูมุมให้สวยงาม ถ้าไม่ได้คุณภาพก็นำไปติดไม้ทวนเพื่อแก้ไขใหม่ ส่วนที่ได้คุณภาพแล้วจึงนำไปแช่เมทิลแอลกอฮอล์เพื่อให้ขึ้นเงาและเพื่อทำความสะอาด แล้วจึงนำขึ้นมาเช็ดให้แห้งด้วยผ้าขนหนูที่สะอาด
พลอยที่รับมาเจียระไนจะส่งคืนได้ประมาณร้อยละ 97 อีกร้อยละ 3 ที่เหลือ คือ พลอยที่ไม่ผ่านคุณภาพ แตกหัก เสียหาย ซึ่งเป็นคุณภาพที่ยอมรับกันได้ทั้งสองฝ่าย
ปัจจุบันมีผู้ที่สามารถเจียระไนพลอยได้น้อยลง เนื่องจากผู้ที่ทำจะต้องมีความชำนาญและความอดทนอย่างมาก อีกทั้งเมื่อทำไปนาน ๆ อาจมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพตา เนื่องจากเม็ดพลอยมีขนาดเล็ก ต้องสวมแว่นขยายและมีไฟส่องสว่างตลอดระยะเวลาทำงาน
พิกัดภูมิศาสตร์ กลุ่มเจียระไนพลอยบ้านสร้างมิ่ง
15.561746, 104.698401712
ที่ตั้ง กลุ่มเจียระไนพลอยบ้านสร้างมิ่ง
บ้านสร้างมิ่ง หมู่ 6 ตำบลหนองเรือ อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี
บรรณานุกรม
โกศล จันทร์ดี. สัมภาษณ์, 26 ธันวาคม 2559.
หนูกร จันทร์ดี. สัมภาษณ์, 26 ธันวาคม 2559.