วัดสุปัฏนารามวรวิหาร

วัดสุปัฏนารามวรวิหาร อุบลราชธานี พระอารามหลวงชั้นตรี และเป็นวัดแรกของคณะสงฆ์ธรรมยุตินิกายที่ตั้งขึ้นในจังหวัดอุบลราชธานีและภาคอีสาน ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำมูล ภายในวัดมีอุโบสถที่เป็นงานสถาปัตยกรรมร่วมระหว่างศิลปะไทย ญวน และฝรั่งเศส เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธสัพพัญญูเจ้า พระนาคปรกศิลาทราย พระพุทธสิหิงค์จำลอง และพระแก้วขาวเพชรน้ำค้าง หนึ่งในพระแก้วสำคัญของจังหวัดอุบลราชธานี นอกจากนั้นแล้วภายในวัดยังได้มีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ของวัดสุปัฏนารามวรวิหารขึ้นเพื่อจัดเก็บและแสดงสิ่งของและโบราณวัตถุต่าง ๆ

ซุ้มประตูทางเข้าวัดสุปัฏนารามวรวิหาร

ประวัติวัดสุปัฏนารามวรวิหาร อุบลราชธานี

วัดสุปัฏนารามวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีและเป็นวัดแรกของคณะสงฆ์ธรรมยุตินิกายในจังหวัดอุบลราชธานีและภาคอีสาน ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำมูลทางด้านทิศใต้ของตัวเมืองอุบลราชธานี  มีพื้นที่ทั้งหมด 21 ไร่  3 งาน 10 ตารางวา โดยในราว พ.ศ. 2394 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พระพรหมราชวงศ์ (กุทอง สุวรรณกูฏ) เจ้าเมืองอุบลราชธานีในสมัยนั้นให้สร้างวัดถวาย เจ้าเมืองและคณะกรรมการเมืองอุบลราชธานี จึงได้เลือกพื้นที่ท่าน้ำที่มีคุ้งน้ำลึกริมฝั่งแม่น้ำมูลตั้งอยู่ระหว่างตัวเมืองอุบลและบ้านบุ่งกาแซวเป็นสถานที่สร้างวัดถวายพระองค์ เพราะสะดวกในการคมนาคมทั้งทางบกและทางน้ำ ด้วยเป็นเขตน้ำลึกเข้าออกสะดวก โดยมีสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสโส) เป็นผู้อำนวยการสร้างวัด ได้มอบหมายให้หลวงสถิตนิมานกาล (ชวน) เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง และได้อาราธนาท่านพันฺธุโล (ดี) ปุราณสหธรรมิก และท่านเทวธัมฺมี (ม้าว) สิทธิวิทาริก มาครองวัด พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานทรัพย์ 10 ชั่ง (800 บาท) ให้มีผู้ปฏิบัติวัด 60 คน และพระราชทานนิตยภัตต์แก่เจ้าอาวาสเดือนละ 8 บาท วัดถูกสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2396 ทรงพระราชทานนามว่า วัดสุปัฏนาราม และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ได้ทรงยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดวรวิหาร เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ.​2479

เจ้าอาวาสที่ครองวัดสืบต่อกันมาเริ่มตั้งแต่ ท่านพันธุโล (ดี) ท่านเทวธัมมี (ม้าว) พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) พระพรหมมุนี (อ้วน) และท่านมหาวีระวงศ์ (อ้วน ติสโส)

river
ท่าน้ำวัดสุปัฎนารามวรวิหาร

ความสำคัญของท่าน้ำวัดสุปัฏนารามวรวิหาร

  1. ชื่อวัดสุปัฏนาราม เกิดจากคำ 3 คำ คือ สุ+ปัฏนะ+อาราม สุ แปลว่า ดี งาม ปัฏนะ แปลว่า ท่าน้ำ ท่าเรือ อาราม แปลว่า วัด สุปัฏนาราม จึงมีคำแปลว่า วัดที่มีท่าน้ำหรือท่าเรือที่ดีสะดวกในการขึ้นลงเรือ
  2. ท่าน้ำวัดสุปัฏนาราม เมื่อครั้งแรกสร้างวัด เป็นที่ตั้งของอุทกุกเขปสีมา หรือเรียกว่าโบสถ์กลางน้ำ ซึ่งเป็นเขตสามัคคีชั่ววักน้ำสาดแห่งคนมีอายุและกำลังปานกลาง หมายถึง เขตชุมนุมทำสังฆกรรมที่กำหนดลงในแม่น้ำหรือทะเล ชาตสระ (ที่ขังน้ำเกิดเองตามธรรมชาติ เช่น บึง หนอง ทะเลสาบ) โดยพระภิกษุประชุมกันบนเรือหรือบนแพซึ่งผูกติดกับหลักในน้ำ หรือทอดสมออยู่ห่างจากตลิ่งกว่าชั่ววิดน้ำสาด (ห้ามผูกโยงเรือหรือแพนั้น กับหลักหรือต้นไม้ริมตลิ่ง และห้ามทำในเรือ หรือแพที่กำลังลอยหรือเดิน) พระภิกษุวัดสุปัฏนารามในสมัยนั้นทำสังฆกรรม เช่น อุปสมบท เป็นต้น ที่แพท่าน้ำวัดสุปัฏนารามนี้
  3. ท่าน้ำวัดสุปัฏนาราม เป็นท่าลงเรือเดินทางไปศึกษาเล่าเรียนในกรุงเทพมหานครของปูชนียบุคคลของเมืองอุบลราชธานี เช่น เจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนโท) สมเด็จพระมหาวีระวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์ ธัมมธโร) สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (สนั่น จันทปัชโชโต) สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร)
  4. ปัจจุบันท่าน้ำวัดสุปัฏนารามวรวิหาร เป็นเขตอภัยทานของสัตว์น้ำนานาชนิดเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาแม่น้ำมูลที่ เรียกว่า “วังมัจฉา” และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของพุทธศาสนิกชนชาวอุบลราชธานี

    apai-tan
    วังมัจฉา
boht
พระอุโบสถวัดสุปัฏนารามวรวิหาร สถาปัตยกรรม 3 ชาติ
supat_03
ภาพเก่าพระอุโบสถวัดสุปัฏนารามวรวิหาร

พระอุโบสถวัดสุปัฏนารามวรวิหาร

ในสมัยสมเด็จพระมหาวีระวงศ์ (อ้วน ติสโส) เมื่อครั้งเป็นพระพรหมมุนี ได้ทำการรื้ออุโบสถหลังเก่าออก และสร้างอุโบสถหลังใหม่ขึ้น อุโบสถหลังนี้มีผู้เขียนแบบ คือ หลวงสถิตนิมานกาล (ชวน สุปิยพันธ์) ซึ่งเป็นนายช่างทางหลวงแผ่นดิน โดยร่วมกันวางแผนและเตรียมการก่อสร้าง เมื่อ พ.ศ. 2460 ลงมือก่อสร้างในปี พ.ศ. 2463 การก่อสร้างเป็นการก่ออิฐถือปูนโดยมีช่างญวนกับช่างจีนเป็นผู้ดำเนินการสร้าง มีขนาดความยาว 35 เมตร กว้าง 21 เมตร ลักษณะอุโบสถสร้างคล้ายทรงพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 (อิทธิพลจีน) ตัวอาคารมีชาลาหรือระเบียง เสานางจรัลหรือเสานางเรียงทรงสี่เหลี่ยมล้อมรอบอุโบสถ ระหว่างเสาก่ออิฐเป็นรูปโค้งเรือนแก้วแบบโกธิคของฝรั่งเศส ตัวอาคารไม่มีหน้าต่างแต่ทำเป็นประตูโดยรอบทั้งทางด้านหน้าและด้านข้าง หลังคาทรงจั่ว ชั้นเดียวมีพะไรหรือปีกนก 2 ข้างคลุมชาลา หน้าจั่วเรียบเต็มเสมอเสาด้านหน้าคล้ายโบสถ์อิทธิพลจีนในสมัยรัชกาลที่ 3 ตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นเป็นลายไทยฝีมือช่างญวน ช่อฟ้ารวยลำยองทำเป็นรูปพญานาคแบบญวน เชิงบันไดทั้ง 4 ด้าน ปั้นเป็นรูปสิงโตหมอบยิ้มแบบญวนอยู่มุมละ  1 ตัว ซึ่งเป็นแบบที่พบตามวัดต่าง ๆ หลายแห่งในจังหวัดอุบลราชธานีที่สร้างโดยช่างชาวญวน

boht2
ช่องลม เพดาน และสิงโตหมอบที่หน้าพระอุโบสถวัดสุปัฏนารามวรวิหาร

ประติมากรรมสิงโตหมอบที่อยู่เชิงบันไดด้านหน้าพระอุโบสถนั้นเป็นกุศโลบายของสมเด็จพระมหาวีระวงศ์ (อ้วน ติสโส) ซึ่งแสดงให้เห็นว่า แม้แต่สัตว์ป่าดุร้ายเมื่อเข้าถึงพระพุทธศาสนาก็สามารถทำให้เชื่องลงได้

พระอุโบสถของวัดสุปัฏนารามวรวิหารหลังนี้ จึงมีลักษณะผสมผสานกันทางสถาปัตยกรรม 3 ชาติ นั่นคือ หลังคาเป็นสถาปัตยกรรมแบบชาวสยามหรือแบบไทย ตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมทางยุโรปแบบเยอรมัน ส่วนฐานเป็นสถาปัตยกรรมขอม พระอุโบสถนี้สร้างเสร็จส่วนหยาบในปี พ.ศ. 2473 ติดดวงดาวเพดานในปี พ.ศ. 2478 และจัดงานฉลองผูกพัทธสีมา ในปี พ.ศ.​ 2479 ใช้งบประมาณก่อสร้างประมาณ 70 ล้านบาท พระประธานในพระอุโบสถ นามว่า “พระพุทธสัพพัญญูเจ้า”

monk2
พระพุทธสัพพัญญูเจ้า พระนาคปรกศิลาทราย และพระพุทธสิหิงค์จำลอง ประดิษฐาน ณ อุโบสถวัดสุปัฏนารามวรวิหาร

ในปี พ.ศ. 2489 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎร ณ จังหวัดอุบลราชธานีเป็นครั้งแรก ได้เสด็จฯ มายังอุโบสถวัดสุปัฏนารามวรวิหาร เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2489 หลังทรงจุดธูปเทียนบูชาพระพุทธสัพพัญญูเจ้าในพระอุโบสถแล้ว เสด็จออกมาทรงรับการบายศรีสมโภชซึ่งข้าราชการและประชาชนชาวอุบลราชธานีจัดถวายตามประเพณีของชาวอุบลราชธานี โดยประทับนั่งภายใต้พระมหาเศวตฉัตรบนระเบียงหน้าพระอุโบสถ

king_2498_13
ทรงรับการบายศรีสมโภช ณ อุโบสถวัดสุปัฏนารามวรวิหาร

พิพิธภัณฑ์วัดสุปัฏนารามวรวิหาร

วัดสุปัฏนารมวรวิหารเป็นวัดใหญ่และเก่าแก่ มีพระเถรานุเถระสำคัญเป็นผู้สร้างและครองวัดมายาวนาน จึงมีผู้ถวายสิ่งของอันมีค่าไว้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงที่สมเด็จพระมหาวีระวงศ์ (อ้วน ติสโส) เป็นเจ้าอาวาส ในปี พ.ศ. 2520 จึงได้มีการสร้างหอพิพิธภัณฑ์ขึ้นหนึ่งหลัง เป็นอาคารสองชั้นด้วยเงินบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา ภายในพิพิธภัณฑ์ได้มีการจัดเก็บโบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่ทรงคุณค่าทางศาสนา สังคม ประวัติศาสตร์ ศิลปะ  วัฒนธรรม และการศึกษาเป็นจำนวนมาก ซึ่งแบ่งกลุ่มได้แก่ พระบรมสารีริกธาตุ พระพุทธรูป รูปหล่อพระอุบาลีคุณูปมาจารย์และสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ตู้พระไตรปิฎกและตู้ต่าง ๆ ธรรมาสน์ ตาลปัตร ใบเสมา ศิลาจารึก ทับหลัง เทวรูป เครื่องทองเหลือง เครื่องเคลือบดินเผา เครื่องลายคราม เครื่องแก้วเจียรนัย เครื่องประดับสมณศักดิ์ และสิ่งของเครื่องใช้ของสมเด็จพระมหาวีระวงศ์ (อ้วน ติสโส) สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จัดแสดงและจัดเก็บไว้ที่ต่าง ๆ คือ หอพิพิธภัณฑ์ หอศิลปวัฒนธรรม พระอุโบสถ และกุฏิศรีธัญรัตน์

musiem
ภายในหอพิพิธภัณฑ์วัดสุปัฏนารามวรวิหาร
door
บานประตูหอพิพิธภัณฑ์วัดสุปัฏนารามวรวิหาร แกะสลักลวดลายเครือเถาดอกกาละกับ เป็นงานศิลปะแบบท้องถิ่น

พระพุทธสัพพัญญูเจ้า พระประธานในอุโบสถวัดสุปัฏนารามวรวิหาร

พระพุทธสัพพัญญูเจ้า เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีขนาดหน้าตักกว้าง 150 เซนติเมตร สูงราว 250 เซนติเมตร  หล่อขัดเงาไม่ปิดทอง โดยถอดแบบมาจากพระพุทธชินราช มีพระอาจารย์สีทา ชัยเสโน เจ้าอาวาสวัดบูรพารามเป็นช่าง ในพระเกศมาลาของพระพุทธสัพพัญญูเจ้าบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ เมื่อปี พ.ศ. 2487 โดยสมเด็จพระมหาวีระวงศ์ (อ้วน ติสโส) เป็นผู้มอบพระบรมสารีริกธาตุนี้มา คุณลักษณะพิเศษของพระพุทธสัพพัญญูเจ้า คือ ในเวลาอากาศปกติในฤดูร้อนและฤดูฝนองค์พระจะเป็นสีแดงแบบสีนากหรือสีทองชมพู หากอากาศหนาวเย็นมากโดยเฉพาะในฤดูหนาวสีนากขององค์พระจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอย่างสีทองคำสุกปลั่งไปทั้งองค์

monk4
พระพุทธสัพพัญญูเจ้า พระประธานในพระอุโบสถวัดสุปัฏนารามวรวิหาร

พระแก้วขาวเพชรน้ำค้าง

พระแก้วขาวเพชรน้ำค้างหรือพระแก้วเพชรน้ำค้าง หรือพระแก้วขาว เป็นพระพุทธรูปแก้วผลึกเนื้อใสไม่มีสี ปางมารวิชัย ทรงเครื่องทำด้วยทองคำ ฐานทำด้วยเงิน มีขนาดหน้าตักกว้าง 7 เซนติเมตร (ไม่รวมเครื่องทรง) องค์พระสูง 9.5 เซนติเมตร ความสูงตั้งแต่ฐานจนถึงพระเมาลี 19.5 เซนติเมตร พุทธศิลป์แบบศิลปะเชียงแสน ว่ากันว่าสมเด็จพระมหาวีระวงศ์ (อ้วน ติสโส) ได้มาจากประเทศลาว ปัจจุบันประดิษฐานอยู่บนบุษบกด้านขวาของบุษบกพระบรมสารีริกธาตุในหอศิลปวัฒนธรรม ในคืนวันที่ 31 ธันวาคม-วันที่ 2 มกราคม ของทุกปี ทางวัดจะอัญเชิญพระแก้วเพชรน้ำค้างลงมาไว้ ณ พระอุโบสถ เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้กราบไหว้ ทั้งนี้เป็นไปตามที่บูรพาจารย์สายธรรมยุติของเมืองอุบลที่ได้กำหนดแนวปฏิบัติไว้จนเป็นประเพณีสืบมา

petchnamkang
พระแก้วขาวเพชรน้ำค้าง

พระนาคปรกศิลาทราย

พระนาคปรกศิลาทราย เป็นพระพุทธรูปปางสมาธินาคปรกทำด้วยศิลาทรายของโบราณสมัยขอม เดิมมีทั้งหมด 4 องค์ มีมาแต่ครั้งสมเด็จพระมหาวีระวงศ์ (อ้วน ติสโส) เป็นเจ้าอาวาส เล่ากันว่าอัญเชิญมาจากวัดศาลาทอง อ.เมือง จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นวัดตั้งแต่สมัยขอมโบราณ ปัจจุบันยังคงอยู่ 3 องค์ ด้วยองค์หนึ่งนั้นได้ถูกอัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดประชาอุทิศ อ.คำเขื่อนแก้ว จ.ยโสธร พระพุทธรูปปางสมาธินาคปรก  3 องค์ของวัดสุปัฏนารามวรวิหาร ประกอบด้วย พระพุทธรูปปางสมาธินาคปรกศิลาทรายครองจีวรห่มเฉียง พระพุทธรูปปางสมาธินาคปรกศิลาทรายครองจีวรห่มคลุม สององค์นี้ประดิษฐานอยู่ด้านหน้าของพระพุทธสัพพัญญูเจ้าในอุโบสถ และพระพุทธรูปปางสมาธินาคปรกศิลาทรายพระหัตถ์ซ้ายทับขวา ประดิษฐานอยู่ในหอศิลปวัฒนธรรม

พระพุทธสิหิงค์จำลอง

พระพุทธสิหิงค์จำลองเป็นพระพุทธรูปแบบศิลปะสุโขทัย-ล้านนา หล่อด้วยโลหะผสม ปัจจุบันทาด้วยสีทอง ปางสมาธิ ขัดสมาธิราบ พระศกขมวดเป็นก้นหอย พระรัศมีเปลวเพลิง พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระนาสิกโด่ง พระเนตรเหลือบลงต่ำ ทรงครองจีวรห่มเฉียง มีสังฆาฏิพาดบนพระอังสาซ้ายยาวจรดพระนาภี บั้นพระองค์คอด ฐานทำด้วยปูน ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถด้านหน้าเบื้องขวาของพระพุทธสัพพัญญูเจ้า

รูปหล่อพระอุบาลีคุณูปมาจารย์และสมเด็จพระมหาวีระวงศ์

พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนโท) และสมเด็จพระมหาวีระวงศ์ (อ้วน ติสโส) เป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดสุปัฏนารามวรวิหาร ที่เป็นพระเถระผู้ใหญ่ที่สำคัญของประเทศ และเป็นนักปราชญ์สำคัญของเมืองอุบลราชธานีด้วย บรรดาศิษยานุศิษย์ได้ร่วมกันสร้างรูปหล่อของท่านทั้งสองขึ้นเนื่องในวาระอายุครบ 7 รอบของสมเด็จพระมหาวีระวงศ์ (อ้วน ติสโส) ประดิษฐานไว้ในซุ้มภายในพระอุโบสถวัดสุปัฏนารามวรวิหารด้านหน้าของพระพุทธสัพพัญญูเจ้า พระประธาน

monk3
รูปหล่อพระอุบาลีคุณูปมาจารย์และสมเด็จพระมหาวีระวงศ์

โปงไม้ วัดสุปัฏนารามวรวิหาร

โปง คือ ระฆังที่ทำด้วยไม้ ทำให้เกิดเสียงดัง ทำด้วยไม้แคน สร้างโดยพระครูวิโรจน์รัตโนบล (รอด นันตโร) ปัจจุบันตั้งอยู่ชั้นล่างของหอระฆัง ที่ตั้งอยู่ด้านหน้าของหอศิลปวัฒนธรรมของวัดสุปัฏนารามวรวิหาร

art
หอศิลปวัฒนธรรมวัดสุปัฏนารามวรวิหาร สร้างเมื่อปี 2533 หอระฆัง และโปงไม้แคน


ไหว้พระ 9 วัดในจังหวัดอุบลราชธานี : วัดสุปัฏนารามวรวิหาร

ที่ตั้งวัดสุปัฎนารามวรวิหาร

ริมฝั่งแม่น้ำมูล ถนนสุปัฏ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

พิกัดภูมิศาสตร์ วัดสุปัฎนารามวรวิหาร

15.225375, 104.853372

บรรณานุกรม :

ขนิษฐา ทุมมากรณ์. ภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองอุบล, วันที่ 22 มกราคม 2558.  http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/picture.

ประวัติศาสตร์และโบราณคดีอุบลราชธานี. (2531). เอกสารการสัมมนาประวัติศาสตร์และโบราณคดีอุบลราชธานี 26-28 กันยายน 2531 ณ หอประชุมอาคารหอสมุด วิทยาลัยครูอุบลราชธานี.อุบลราชธานี: วิทยาลัยครูอุบลราชธานี.

ปิยะฉัตร ปีตะวรรณ และสุภัต รักเปี่ยม. (2541). สถาปัตยกรรมอุบลราชธานี. อุบลราชธานี: ชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมท้องถิ่น จังหวัดอุบลราชธานี สำนักศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏอุบลราชธานี.

วราวุธ ผลาอนันต์ .พิมพ์ครั้งที่ 2. (2557). พิพิธภัณฑ์ล้ำค่าในวัดสุปัฏนารามวรวิหาร. อุบลราชธานี: ชมรมอุบลรักดนตรีไทย จังหวัดอุบลราชธานี.

มะลิวัลย์ สินน้อย, ผู้รวบรวม. ฐานข้อมูลเลื่องลือเล่าขานพระดังเมืองอุบลราชธานี, วันที่ 17 มกราคม 2558. http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/monkubon.

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง