วัดมณีวนาราม หรือ วัดป่าน้อย จังหวัดอุบลราชธานี เป็นวัดที่เป็นศูนย์กลางทางการศึกษาของเมืองอุบลราชธานีในอดีต เป็นที่ประดิษฐานของพระแก้วโกเมน หนึ่งในพระแก้วสำคัญของจังหวัดอุบลราชธานี ภายในวัดมีกุฏิพระอริยวงศาจารย์ หรือกุฏิแดง ซึ่งเป็นอาคารเรือนไม้งานสถาปัตยกรรมไทย โบราณสถานที่ทางวัดได้อนุรักษ์ไว้เป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมให้ประชาชนได้ศึกษาเรียนรู้
ประวัติวัดมณีวนาราม หรือวัดป่าน้อย อุบลราชธานี
วัดมณีวนาราม หรือวัดป่าน้อย สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. 2332 ผู้สร้างคือ อุปฮาดก่ำ โอรสของพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง) มีพระอริยวงศาจารย์ (สุ้ย) เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก วัดป่าน้อยเป็นศูนย์การศึกษา ศูนย์การปกครอง มีเจ้าอาวาสองค์สำคัญ ได้แก่
- พระอริยวงศาจารย์ (สุ้ย) เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านคันถธุระ และศิลปหัตถกรรม ได้สร้างหอไตร และพระอุโบสถที่ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง เรียก หอพระพุทธบาท ที่วัดทุ่งศรีเมือง
- ท่านจันทรังสี (จันลา) เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านคันถธุระและศิลปหัตถกรรม
- ท่านสุวณฺโณ (ดำ) เชี่ยวชาญด้านคันถธุระและวิปัสสนาธุระ
- ท่านธรรมบาล (ผุย) เชี่ยวชาญด้านคันถธุระ ปฏิบัติเคร่งในธรรวินัย มีไหวพริบเฉียบแหลมในการแปลปริยัติ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์ เคยอาราธนาไปรับบิณฑบาตที่วัง ตรัสถามปริศนาธรรมจึงได้ทรงทราบว่าเป็นผู้ความรู้ลึกซึ้งพุทธธรรมวินัย จนเปล่งวาจาว่า “เมืองอุบลมีแก้ววิเศษ” เมื่อท่านมรณภาพจึงได้อัญเชิญศพขึ้นนกหัสดีลิงค์เป็นการยกย่องตามธรรมเนียมโบราณเช่นเดียวกับท่านอริยวงศาจารย์ (สุ้ย)
- พระครูวิจิตรธรรมภาณี (พวง ธัมมทีโป) เชี่ยวชาญด้านคันธธุระและแพทย์แผนโบราณ
- ปัจจุบันมีพระราชธีราจารย์ เป็นเจ้าอาวาสและเจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี
พระแก้วโกเมน วัดมณีวนาราม
พระแก้วโกเมน เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 4 นิ้ว สูงประมาณ 5 นิ้ว สันนิษฐานกันว่าสร้างขึ้นมาพร้อมกับพระแก้วบุษราคัม ที่ประดิษฐานอยู่ที่วัดศรีอุบลรัตนาราม เป็นพระพุทธรูปอัญมณีในตระกูลนพรัตนชาติ
เมื่อสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ไทยมีสงครามกับเวียงจันทน์ ผู้รักษาการบ้านเมืองและทายกทายิกา ได้พากันนำพระแก้วโกเมนมาประดิษฐานไว้ ณ วัดมณีวนาราม ซึ่งเจ้าอาวาสและคณะกรรมการวัดเก็บรักษาไว้เป็นความลับต่อกันมา โดยทำผอบไม้จันทน์ครอบพระแก้วนั้นไว้ ภาษาอีสานเรียกว่า “งุม” วัดซึ่งเป็นที่เก็บรักษาพระแก้วโกเมนในครั้งนั้น จึงถูกเรียกว่า “วัดกุดละงุม” และใช้ชื่อนี้เป็นชื่อวัดมาจนปัจจุบัน พระแก้วโกเมนนั้นเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ เรื่องราวต่าง ๆ ในอดีตของจังหวัดอุบลราชธานี
พระแก้วโกเมนเป็นพระพุทธรูปอัญมณีศักดิ์สิทธิ์ของวัดมณีวนาราม ทั้งนี้เนื่องด้วย พระแก้วโกเมนเป็นพระพุทธรูปที่มีค่าหาได้ยากยิ่งเกรงจะสูญหาย ด้วยความห่วงใยและหวงวแหน เจ้าอาวาสของวัดมณีวนารามทุกรูปจึงเก็บรักษาพระแก้วโกเมนไว้อย่างดีในตู้นิรภัย ครั้งเมื่อหมดช่วงเวลาปกครองวัดของหลวงปู่พระธรรมเสนานี (กิ่ง มหับผโล) คณะกรรมการวัดมณีวนาราม จึงขออนุญาตนำพระแก้วโกเมน ลงมาประดิษฐานให้พุทธศาสนิกชนได้กราบไหว้บูชา และสรงน้ำในเทศกาลวันวิสาขบูชา เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว และได้ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ภายหลังในช่วงเทศกาลสงกรานต์ก็ได้อัญเชิญลงมาเพื่อให้ประชาชนได้สรงน้ำด้วยเช่นกัน เป็นหนึ่งในประเพณีสงกรานต์ของชาวอุบลราชธานี
กุฏิพระอริยวงศาจารย์ หรือกุฏิแดง วัดมณีวนาราม
กุฏิพระอริยวงศาจารย์ หรือกุฏิแดง ตั้งอยู่ด้านหลังของวัดมณีวนาราม เดิมเคยเป็นที่จำพรรษาของท่านเจ้าพระคุณอริยวงศาจารย์ญาณวิมลอุบลคณาภิบาลสังฆปาโมกข์ (สุ้ย) เจ้าคณะสงฆ์เมืองอุบลราชธานี เมื่อปี พ.ศ. 2371 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3
กุฏิพระอริยวงศาจารย์ หรือ กุฏิแดง เป็นโบราณสถานที่สำคัญยิ่งอีกแห่งหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานี มีเอกลักษณ์อันโดดเด่นทางด้านสถาปัตยกรรมไทย เป็นอาคารสร้างด้วยไม้ชั้นเดียว ตั้งเสา ยกพื้นสูง ตีฝาผนังแบบเรือนไทยฝาปะกน ในเทคนิคการเข้าเดือยไม้แบบโบราณ หลังคาแต่เดิมมุงด้วยไม้แป้นเกล็ดและเปลี่ยนมาใช้กระเบื้องมุงในภายหลัง ภายในแบ่งเป็น 4 ห้อง มีห้องโถงใหญ่ 2 ห้อง ห้องเล็กด้านข้างอีก 2 ห้อง ประดับลูกกรงไม้ขนาดเล็กที่ขอบหน้าต่างและระเบียงด้านหน้า หน้าต่างระหว่างห้องด้านทิศเหนือมีการเขียนรูปเทวดาประดับไว้ทั้งสองบาน และลายพันธุ์พฤกษาอีก 2 บาน
ในปี พ.ศ.2556 วัดมณีวนาราม ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี และกรมศิลปากรได้ร่วมกันบูรณะโบราณสถานแห่งนี้ เพื่ออนุรักษ์ไว้เป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของจังหวัดอุบลราชธานีสืบไป
เจดีย์ปูชนียาจารย์ วัดมณีวนาราม
เจดีย์ปูชนียาจารย์ ตั้งอยู่ด้านหน้าของหอพระแก้วโกเมน เป็นเจดีย์ที่บรรจุอัฐิธาตุท่านบูรพาจารย์และอดีตเจ้าอาวาสวัดมณีวนาราม ซึ่งประกอบด้วย
- พระอริยวงศาจารย์ญาณวิมลอุบลคณาภิบาลสังฆปาโมกข์ (สุ้ย) เจ้าอาวาสรูปแรกของวัดมณีวนาราม
- ท่านจันลา จะนฺทรํสี
- ญาท่านคำ สุวณฺโณ
- ญาท่านผุย ธมฺมปาโล
- พระครูวิจิตรธรรมภาณี (พวง ธมฺมทีโป)
- พระธรรมเสนานี (กิ่ง มหปฺผลเถร นิลดำอ่อน) อดีตเจ้าอาวาสวัดมณีวนาราม และรองเจ้าคณะภาค 10
- พระครูศรีพิริยกิจ ทองลส เตชปัญโญ (ส่งเสริม) ป.ธ. 6 อดีตรองเจ้าคณะอำเภอเมือง และรองเจ้าอาวาสวัดมณีวนาราม
- พระครูอาทรกิจโกศล (ทอนกนฺตสีละเถระจันทป) อดีตเจ้าอาวาสวัดมณีวนาราม และเจ้าคณะอำเภอเมืองอุบลราชธานี
- พระกิตติญาณโสภณ (แสง นาคเสโน ป.ธ. 7) อดีตเจ้าอาวาสวัดมณีวนารามและอดีตเจ้าคณะอำเภอเมืองอุบลราชธานี
ไหว้พระ 9 วัดในจังหวัดอุบลราชธานี : วัดมณีวนาราม
ที่ตั้งวัดมณีวนาราม
ถนนหลวง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
พิกัดภูมิศาสตร์ วัดมณีวนาราม
15.231682, 104.861711
บรรณานุกรม
ท่องธารธรรม ตามมูนเมืองอุบล แหล่งธรรมะและธรรมชาติ. (2553). อุบลราชธานี: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.
มะลิวัลย์ สินน้อย (ผู้รวบรวม). ฐานข้อมูลเลื่องลือเล่าขานพระดังเมืองอุบลราชธานี, วันที่ 17 มกราคม 2558. http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/monkubon.
มะลิวัลย์ สินน้อย (ผู้รวบรวม). ฐานข้อมูลวัดในจังหวัดอุบลราชธานี, วันที่ 17 มกราคม 2558. http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/ubon_temple
ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม วิทยาลัยครูอุบลราชธานี. (2534). รายงานการประชุมเสวนาทางวิชาการ “วัดและประเพณีพื้นบ้าน”. อุบลราชธานี: ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม วิทยาลัยครูอุบลราชธานี.