วัดศรีอุบลรัตนารามหรือวัดศรีทอง อุบลราชธานี เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ และสังกัดธรรมยุตินิกาย ภายในวัดมีพระแก้วบุษราคัม หนึ่งในพระแก้วสำคัญของจังหวัดอุบลราชธานี ประดิษฐานอยู่ภายในพระอุโบสถที่จำลองแบบมาจากพระอุโบสถของวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม และมีพิพิธภัณฑ์วัดศรีอุบลรัตนารามอยู่ในอาคารศาลาการเปรียญหรือหอแจกที่มีรูปแบบศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมท้องถิ่น ภายในพิพิธภัณฑ์ได้จัดแสดงเกี่ยวกับพระพุทธรูป ผ้าห่อคัมภีร์ ตู้พระไตรปิฎก และสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่อยู่ในวิถีชีวิตของชาวอีสาน
ประวัติวัดศรีอุบลรัตนารามหรือวัดศรีทอง อุบลราชธานี
วัดศรีอุบลรัตนารามหรือวัดศรีทอง เป็นวัดธรรมยุตินิกายวัดหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานี สร้างเมื่อ พ.ศ. 2398 หลังจากสร้างวัดสุปัฏนารามวรวิหารแล้ว 2 ปี ตรงกับรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 สร้างโดยพระอุปราชโท (ต้นตระกูล ณ อุบล) ซึ่งท่านเป็นพระบิดาของพระอุบลเดชประชารักษ์ (เสือ ณ อุบล) โดยท่านได้อุทิศที่ดินส่วนของท่านจำนวน 25 ไร่ สร้างเป็นวัด ในวันที่มีการกล่าวถวายที่ดินต่อหน้าพระเถระยกให้เป็นสมบัติในพระพุทธศาสนาเพื่อเป็นการตั้งวัดนั้น ในยามราตรีกาลของวันนั้นเกิดนิมิตประหลาดขึ้น คือ มีแสงสว่างพวยพุ่งขึ้นเป็นสีเหลืองทองภายในบริเวณสวน จึงได้ถือนิมิตมงคลนี้ตั้งชื่อวัดว่า “วัดศรีทอง” แล้วนิมนต์ท่านเทวธัมมี (ม้าว) จากวัดสุปัฏนารามวรวิหารเป็นเจ้าอาวาสองค์แรก ท่านเจ้าอาวาสนี้เป็นพระสิทธิวิหาริกของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและเป็นลูกศิษย์ของท่านพันธุโล (ดี) ได้สร้างพระอุโบสถ พระประธาน หอแจก พระประธานในหอแจก โดยพระอาจารย์สีทา ชัยเสโน เป็นช่างผู้อำนวยการ ซึ่งท่านเป็นลูกศิษย์ของท่านเทวธัมมี (ม้าว) ที่ไปครองวัดบูรพาราม และเป็นอาจารย์ของพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล พระบูรพาจารย์ฝ่ายวิปัสสนาสายอีสาน ได้มีผู้อัญเชิญเอาพระแก้วบุษราคัมของเจ้าพระตามาถวายเป็นสมบัติของวัด และเจ้าพรหมเทวานุเคราะห์วงศ์ได้อัญเชิญเอาพระเจ้าทองทิพย์สำริดจากเวียงจันทน์มาถวายเป็นพระพุทธรูปประจำวัดนี้อีกองค์หนึ่งด้วย ซึ่งเป็นพระพุทธรูปจำลองพระบางแห่งนครหลวงพระบางมาแต่โบราณ
ความสำคัญของวัดศรีอุบลรัตนาราม
- เป็นสถานที่ประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา (พิธีดื่มน้ำสาบาน) ของบรรดาเหล่าข้าราชการ ในสมัยการปกครองแบบระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
- เป็นวัดที่ประกอบพิธีทำน้ำมุรธาภิเษก (พิธีปลุกเสกน้ำสรงสนานในงานบรมราชาภิเษกพระเจ้าแผ่นดิน) ในสมัยรัชกาลที่ 6 รัชกาลที่ 7 และรัชกาลที่ 9
- เป็นวัดที่มีวัตถุโบราณอันมีค่าหลายอย่าง ได้แก่ พระแก้วบุษราคัม พระทิพยเนตร พระประธานในพระอุโบสถ พระทองทิพย์ ตู้พระไตรปิฏกและใบลาน เป็นต้น
- เป็นวัดที่ตั้งอยู่ในย่านชุมชนใกล้กับหน่วยงานราชการหลายแห่งและสถาบันการศึกษา ตลอดจนร้านค้าพาณิชย์ทั้งหลาย จึงเหมาะที่จะเป็นสถานที่บำเพ็ญกุศลและปฏิบัติธรรมชองชาวชุมชนที่อยู่ใกล้วัด
- วัดศรีอุบลรัตนารามเป็นแหล่งการศึกษาจะเห็นได้จากการเปิดสอน ทั่งฝ่ายปริยัติธรรมและสามัญศึกษา (เฉพาะคฤหัสถ์) ได้แก่
- โรงเรียนมูลนิธิวัดศรีอุบลรัตนารามในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เสด็จประกอบพิธีเปิดป้ายชื่อโรงเรียน เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514
- โรงเรียนพระปริยัติธรรมและบาลี เปิดสอนเมื่อ พ.ศ. 2519
- ศูนย์การศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ เปิดสอนเมื่อ พ.ศ. 2522
หอแจกหรือศาลาการเปรียญ วัดศรีอุบลรัตนาราม
หอแจกหรือศาลาการเปรียญของวัดศรีอุบลรัตนารามหรือวัดศรีทอง เป็นสถานที่ในการทำบุญทำทานของชาวบ้านในสมัยก่อน สร้างขึ้นในสมัยพระศาสนดิลก (ชิตเสโน เสน) เป็นเจ้าอาวาสวัด และในสมัยพระครูวิจิตรธรรมภาณี เป็นเจ้าอาวาส ได้มีการรื้อถอนและมีการสร้างประกอบใหม่เพื่อให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมตามแผนผังของอาคารต่าง ๆ ภายในวัด
หอแจก เป็นอาคารไม้ขนาดใหญ่รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีบันไดทางขึ้น 4 ด้าน แป้นฝาไม้กระดานแบบสายบัวตั้งอยู่บนไม้พรึงเป็นลวดบัว มีหน้าต่างระหว่างช่วงเวลาด้านข้าง ด้านละ 10 ช่อง ด้านหน้าและด้านหลังด้านละ 2 ช่อง รวมทั้งหมด 24 ช่อง หน้าต่างจะสลักเป็นลวดลายเท้าสิงห์รองรับกรอบหน้าต่าง (หย่องหน้าต่าง) แต่ละช่องจะมีลวดลายที่มีรายละเอียดไม่เหมือนกัน มีประตูทางเข้า 4 ช่อง หลังคาจั่วแบบปีกนกรอบด้าน ปีกนกกว้างตกแต่งด้วยรวยลำยองแบบเอกลักษณ์ของศาสนคารอีสานแท้ หน้าบันจำหลักไม้เป็นลายเทพนมทั้ง 2 ด้าน มุงด้วยแป้นไม้ แต่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นสังกะสีแล้ว
โหง่ หรือ ช่อฟ้า รวยระกา ของหอแจกเป็นงานไม้แกะสลักรูปหัวพญานาคมีหงอนสะบัดพลิ้วงดงาม เรียงซ้อนกันสวยงาม ซึ่งแตกต่างจากช่อฟ้าของวัดทางภาคกลางที่จะมีเพียงหงอนเดียว ทำจากไม้ตะเคียน เดิมลงรักปิดทอง ประดับด้วยกระจก รูปแบบของโหง่นี้เป็นงานศิลปกรรมท้องถิ่นอุบลราชธานีโดยแท้ มีความงดงามและหาชมได้ยากแล้วในปัจจุบัน
ปัจจุบันหอแจกหรือศาลาการเปรียญของวัดศรีอุบลรัตนาราม ได้ถูกปรับเปลี่ยนให้เป็น “พิพิธภัณฑ์ศรีอุบลรัตนาราม” โดยในปี พ.ศ. 2545 ได้มีการบูรณะขึ้นใหม่แต่ยังคงใช้วัสดุและการตกแต่งแบบเดิม ชั้นบนของอาคารเป็นที่ประดิษฐานของพระประธาน ซึ่งพระประธานนี้สร้างขึ้นในสมัยพระเทวธัมมี (ม้าว) เป็นเจ้าอาวาส เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย นั่งขัดสมาธิเพชร แกะสลักจากไม้กันเกรา หน้าตักกว้าง 1.30 เมตร สูง 1.40 เมตร ลงรัก ทาชาดสีแดงปิดทองคำเปลวทั้งองค์ ประดิษฐานอยู่ภายในบุษบกไม้ทั้งหลัง บุษบกไม้นี้สร้างขึ้นพร้อมกันกับพระประธาน นอกจากนั้นก็ยังมีบุษบกไม้แบบเดียวกันนี้แต่มีขนาดลดหลั่นลงมาขนาบอยู่กับบุษบกพระประธานทั้งสองข้าง ภายในมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่
นอกจากนั้นแล้ว ภายในพิพิธภัณฑ์ยังมีการจัดแสดงวัตถุโบราณต่าง ๆ ซึ่งมีอายุนับร้อยปี ที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา เช่น พระพุทธรูปขนาดเล็กหลายองค์ที่ส่วนใหญ่มีพุทธลักษณะแบบล้านช้าง พบภายใต้ฐานพระพุทธรูปเมื่อคราวเคลื่อนย้ายซ่อมแซมหอแจก ตู้ลายรดน้ำปิดทองที่ใช้สำหรับเก็บพระไตรปิฎก ที่ได้รับพระราชทานจากรัชกาลที่ 6 รวมถึงตู้หนังสือซึ่งเป็นฝีมือของช่างท้องถิ่นทั้งเทคนิคการแกะสลัก ลายรดน้ำ และลายกระแหนะรักปั้น ลงรักปิดทอง ที่สะท้อนศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น หนังสือผูก คัมภีร์ใบลาน ผ้าห่อคัมภีร์ใบลาน ซึ่งเดิมผู้ศรัทธาได้นำผ้าที่ยังไม่ผ่านการใช้งานมาถวายให้กับทางวัดเพื่อเป็นสมบัติของพระศาสนาและเพื่อใช้ห่อเก็บรักษาคัมภีร์ให้อยู่ได้นาน ๆ ซึ่งมีทั้งผ้าซิ่นสำหรับสตรี มีส่วนของหัวซิ่น ตัวซิ่น และตีนซิ่นครบถ้วน บางผืนขาดวิ่นไปตามกาลเวลา เป็นแหล่งศึกษาผ้าโบราณพื้นเมืองอีสานที่ทรงคุณค่า
ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เสด็จทรงเปิดพิพิธภัณฑ์วัดศรีอุบลรัตนาราม เมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2549 พิพิธภัณฑ์นี้เปิดให้เข้าชมได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ในวันพุธ-วันอาทิตย์ ระหว่างเวลา 09.00-16.00 น.
พระอุโบสถ วัดศรีอุบลรัตนาราม
พระอุโบสถของวัดศรีอุบลรัตนาราม ได้ถอดแบบจำลองมาจาดพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม กรุงเทพฯ พระอุโบสถหลังนี้ได้สร้างขึ้นเพื่อทดแทนพระอุโบสถหลังเดิมที่มีอายุกว่า 100 ปี ที่มีสภาพเก่าแก่และทรุดโทรมมากไม่สามารถซ่อมแซมได้ เริ่มทีเดียวจึงคิดจะสร้างเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วบุษราคัมเท่านั้น แต่เนื่องจากขาดทุนทรัพย์ จึงได้ทำพิธีวางศิลาฤกษ์ล่วงหน้าไปก่อน และเริ่มสะสมงบประมาณการก่อสร้างจากเงินบริจาคที่ได้จากการจัดงานนมัสการสรงน้ำพระแก้วบุษราคัมที่ทางวัดได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีและเงินบริจาคจากกิจการต่าง ๆ
เมื่อสะสมเงินบริจาคมาจนถึงปี พ.ศ. 2507 ก็ยังได้งบประมาณไม่เพียงพอต่อการก่อสร้าง ด้วยความเป็นห่วงในเรื่องนี้ ท่านเจ้าคุณธรรมวราภรณ์ เจ้าอาวาสวัดนรนาถสุนทริการาม จังหวัดพระนคร จึงได้ปรารภและขอร้องให้คุณหญิงตุ่น โกศัลวิตร เป็นผู้อุปถัมภ์ในการก่อสร้าง ซึ่งท่านผู้หญิงตุ่นมีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาอยู่แล้วจึงได้บริจาคเงินส่วนตัวของท่านรวมกับเงินทุนสะสมของวัดเป็นงบประมาณก่อสร้างจนสามารถสร้างอุโบสถหลังนี้แล้วเสร็จ โดยได้เริ่มการก่อสร้างเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2508 ใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี 5 เดือน ใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งหมด 2,836,000 บาท นอกจากนั้นแล้วท่านผู้หญิงตุ่นยังได้ทำการก่อสร้างศาลาสันติสุขซึ่งตั้งอยู่ด้านขวาตอนหน้าของอุโบสถ เพื่อให้วัดได้ใช้สำหรับประกอบศาสนกิจต่าง ๆ อีกด้วย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จมาประกอบพิธีฉลองสมโภชฝังลูกนิมิต และยกช่อฟ้าในวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2511 และทางวัดได้ทูลถวายพระอุโบสถหลังนี้ให้อยู่ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต เปลี่ยนชื่อจาก “วัดศรีทอง” เป็น “วัดศรีอุบลรัตนาราม”
ในปี พ.ศ. 2522 สมัยที่พระธรรมฐิติญาณเป็นเจ้าอาวาสนั้น วัดศรีอุบลรัตนารามได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ ดังนั้น วัดศรีอุบลรัตนารามจึงได้รับพระราชทานผ้ากฐินเป็นประจำทุกปี และในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาซึ่งมีประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาที่ยิ่งใหญ่ของจังหวัดอุบลราชธานี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเทียนพรรษา หรือที่เรียกว่า “เทียนหลวงพระราชทาน” ให้จังหวัดอุบลราชธานี เทียนพระราชทานนี้จะนำเข้าไปถวายในพระอารามหลวง ซึ่งจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันรับตามวาระกับพระอารามหลวงในจังหวัดอุบลราชธานีอีก 2 วัด คือ วัดมหาวนาราม และวัดสุปัฏนาราม
พระแก้วบุษราคัม วัดศรีอุบลรัตนาราม
พระแก้วบุษราคัม เป็นพระพุทธรูปบูชาหน้าตักกว้างประมาณ 3 นิ้ว สูงประมาณ 5 นิ้ว แกะด้วยบุษราคัมทึบทั้งแท่ง พระเศียรหุ้มด้วยพระศกสีทองทำเป็นเม็ด ๆ มีพระสังวาลประดับที่องค์พระ มีฐานหุ้มด้วยทองคำ เป็นพระพุทธรูปฝีมือช่างสกุลเชียงแสน ปางมารวิชัย เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของนครเชียงรุ้ง พระเจ้าเชียงรุ้งทรงโปรดให้ช่างหลวงแกะสลักไว้เคารพบูชา จนปี พ.ศ. 2180 ฮ่อยกมาตีเชียงรุ้ง เจ้านายเชียงรุ้งอพยพมาอาศัยอยู่กับเจ้าสุริยวงศาธรรมาธิราช พระเจ้าล้านช้าง ต่อมาเจ้าปางคำเสกสมรสกับเจ้านางสุพรรณ พระราชนัดดาแห่งเชียงรุ้ง สร้างเมืองใหม่ที่ตำบลหนองบัวลุ่มภู ในนามเมืองใหม่ว่า เมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน เจ้าอินทกุมาร เชษฐาได้มอบพระแก้วบุษราคัมเป็นพระประจำตระกูลเมือง เมื่อพระวอพระตาอพยพจากหนองบัวลุ่มภูมาตั้งเมืองอุบลราชธานี ก็ได้อัญเชิญพระแก้วบุษราคัมมาด้วย โดยนำมาประดิษฐานที่วัดหลวง ในสมัยเจ้าพระมหาเทวานุเคราะห์ เจ้าพระอุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร ได้อัญเชิญพระแก้วบุษราคัมไปซ่อนที่บ้านยางวังกางฮุง เนื่องจากเกรงว่าเจ้าพรหมจะนำพระแก้วบุษราคัมไปถวายแก่เจ้านายกรุงเทพฯ จนเมื่อเจ้าพระอุปฮาดโทสร้างวัดศรีทองหรือวัดศรีอุบลรัตนาราม และนิมนต์พระเทวธัมมี (ม้าว) มาเป็นเจ้าอาวาส และอัญเชิญพระแก้วบุษราคัมจากบ้านยางวังกางฮุงมาถวายแด่พระเทวธัมมี (ม้าว) และประดิษฐานไว้ที่วัดศรีทองเพื่อเป็นมิ่งขวัญเมืองอุบลราชธานีต่อไป
ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ วันที่ 13 เมษายน ของทุกปี ชาวอุบลราชธานีจะอัญเชิญพระแก้วบุษราคัมลงมาจากพระอุโบสถแล้วจัดขบวนแห่พระแก้วบุษราคัมรอบเมืองอุบลราชธานี เพื่อเปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนได้นมัสการและสรงน้ำองค์พระแก้วบุษราคัมกันอย่างถ้วนหน้า ซึ่งงานจะจัดไปจนถึงวันที่ 17 เมษายน ของทุกปี และเป็นการเปิดงานประเพณีสงกรานต์ของชาวอุบลราชธานีด้วย
ไหว้พระ 9 วัดในจังหวัดอุบลราชธานี : วัดศรีอุบลรัตนาราม
ที่ตั้ง วัดศรีอุบลรัตนาราม
ถนนอุปราช ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี โทร 045-241-660
พิกัดภูมิศาสตร์ วัดศรีอุบลรัตนาราม
15.227782, 104.856257
บรรณานุกรม
ขนิษฐา ทุมมากรณ์. ภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองอุบล, วันที่ 22 มกราคม 2558. http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/picture.
ท่องธารธรรม ตามมูนเมืองอุบล แหล่งธรรมะและธรรมชาติ. (2553). อุบลราชธานี: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.
ที่ระลึกในงานแสดงมุทิตาสักการะ พระวินัยโกศล (พระมหาทองคู่ สุขวฑฺฒโน ปธ.6) เจ้าอาวาสวัดศรีอุบลรัตนาราม พระอารามหลวง เจ้าคณะอำเภอเมืองอุบลราชธานี (ธ) ต.ในเมือง อ.เมืองอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี วันเสาร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2544. (2544). อุบลราชธานี: วัดศรีอุบลรัตนาราม.
ปิยะฉัตร ปีตะวรรณ และสุภัต รักเปี่ยม. (2541). สถาปัตยกรรมอุบลราชธานี. อุบลราชธานี: ชมรมอนุรักษ์ สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมท้องถิ่น จังหวัดอุบลราชธานี สำนักศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏอุบลราชธานี.
มะลิวัลย์ สินน้อย (ผู้รวบรวม). ฐานข้อมูลการท่องเที่ยวในจังหวัดอุบลราชธานี, 18 มกราคม 2558. http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/ubontravel.
มะลิวัลย์ สินน้อย (ผู้รวบรวม). ฐานข้อมูลเลื่องลือเล่าขานพระดังเมืองอุบลราชธานี, วันที่ 17 มกราคม 2558. http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/monkubon.
ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม วิทยาลัยครูอุบลราชธานี. (2534). รายงานการประชุมเสวนาทางวิชาการ “วัดและประเพณีพื้นบ้าน”. อุบลราชธานี: ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม วิทยาลัยครูอุบลราชธานี.