หัตถกรรมการทอผ้าไหมบ้านลาดสมดี ตำบลกุศกร อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานีแหล่งผลิตผ้าไหมชั้นดีแห่งหนึ่งของจังหวัดอุบลราชธานี ชาวบ้านที่เป็นผู้หญิงในหมู่บ้านนี้ได้รวมกลุ่มกันประกอบอาชีพหลัก คือ การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทำงานหัตถกรรมทอผ้าไหมพื้นบ้านที่มีคุณภาพ ลวดลายที่นิยมทอจะมีทั้งลายพื้นบ้าน เช่น หมากจับ โคมห้า โคมเจ็ด สร้อยดอกหมาก ลายปราสาทผึ้ง ลายจกดาว ด้วยความชำนาญและฝีมือดีจึงได้รับการว่าจ้างจากร้านค้าในตัวเมืองให้ทอผ้าส่งขายสร้างรายได้อย่างมาก ชาวบ้านจึงนิยมทอผ้ากันแทบจะทุกหลังคาเรือน เมื่อมีรายได้เกิดขึ้นจึงทำให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้เชิงช่างจากรุ่นสู่รุ่น
กลุ่มหัตถกรรมทอผ้าไหมบ้านลาดสมดี
กลุ่มหัตถกรรมทอผ้าไหมบ้านลาดสมดี ตำบลกุศกร อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี เป็นกลุ่มสตรีที่ผลิตผ้าไหมทอมือ ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมดประมาณ 60 ราย ในจำนวนนั้นมีสมาชิกที่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมประมาณ 20 ราย ซึ่งได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมกระบวนการต่าง ๆ จากศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ อุบลราชธานี ไม่ว่าจะเป็นวัสดุอุปกรณ์ พันธุ์หม่อน พันธุ์ไหม มีนางสำราญ เจริญท้าว เป็นประธานกลุ่ม อาชีพหลักของสมาชิก คือ การทำนา นอกจากนั้นแล้วยังนิยมปลูกมันสำปะหลังด้วย ซึ่งปัจจุบันมีราคาดีและได้รับผลตอบแทนเร็ว สมาชิกส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ทำการผลิตผ้าไหมทุกขั้นตอนตั้งแต่การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม จนถึงการทอเป็นผืนผ้า
ภูมิปัญญางานหัตถกรรมทอผ้าไหมบ้านลาดสมดี
1.พันธุ์หม่อนที่ปลูก คือ บุรีรัมย์ 60 ชาวบ้านจะปลูกในพื้นที่นาและพื้นที่สวนของตนเอง ซึ่งไม่เพียงพอต้องไปซื้อมาจากแหล่งอื่น ๆ ด้วย องค์การบริหารส่วนตำบลกุศกรมีโครงการเพื่อสนับสนุนกลุ่มทอผ้า โดยได้จัดหาพื้นที่ส่วนกลางให้ชาวบ้านได้ปลูกหม่อน แต่เนื่องจากในตำบลกุศกรชาวบ้านมีการประกอบอาชีพหลากหลาย จึงเห็นว่าไม่เหมาะสมนักที่จะเอาพื้นที่ส่วนกลางของตำบลมาปลูกหม่อนอย่างเดียว โครงการนี้จึงถูกยุบไป
2.พันธุ์ไหมที่เลี้ยง คือ พันธุ์นางตุ่ย พันธุ์นางสิ่ว ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ อุบลราชธานีเช่นกัน ซึ่งจะส่งให้ปีละ 7 ครั้ง แต่ก็ได้ปริมาณเส้นไหมไม่เพียงพอสำหรับทอผ้า จึงมีการใช้เส้นไหมสำเร็จรูปด้วย เช่น จุลไหมไทย บ้างก็ใช้เส้นไหมสำเร็จรูปทั้งหมด บ้างก็นำมาผสมกับเส้นไหมพื้นเมืองที่สาวได้ เช่น ใช้ไหมสำเร็จรูปทำเป็นเส้นยืน ใช้เส้นไหมเลี้ยงเองทำเป็นเส้นพุ่ง
3.ลวดลายผ้าไหม สมาชิกกลุ่มทอผ้าไหมมีการออกแบบลวดลาย มัดหมี่ และย้อมสีเป็นลวดลายต่าง ๆ ตามความสร้างสรรค์ ซึ่งลวดลายส่วนใหญ่จะเป็นลายพื้นบ้านที่สืบต่อกันมา เช่น หมากจับ ดอกผักแว่น โคมห้า โคมเจ็ด โคมเก้า เอี้ย ตีนหย่อน เป็นต้น และมีลวดลายประยุกต์บ้าง สีที่ใช้ย้อมจะเป็นสีเคมี เนื่องจากมีความสะดวก รูปแบบการใช้สีจะมีความกลมกลืนและผสมผสานสีกันอย่างลงตัว ทำให้ผ้าไหมที่ได้มีความสวยงามและไม่ล้าสมัย การย้อมสีธรรมชาติมีน้อยลง เนื่องจากวัตถุดิบที่นำมาใช้ย้อมหายาก แต่ก็ยังพอมีวัตถุดิบที่นิยมนำมาใช้ทำสีย้อมเส้นไหม เช่น ย้อมเปลือกมะหาด หมากคูน เปลือกก้านเหลือง ครั่ง มะเกลือ เปลือกมะม่วง เป็นต้น ทั้งนี้หากลูกค้าต้องการผ้าทอที่ย้อมด้วยสีธรรมชาติจะต้องสั่งทำเป็นพิเศษ
การออกแบบลวดลายและมัดหมี่ สมัยก่อนจะเรียนรู้วิธีการมัดหมี่ด้วยวิธีครูพักลักจำ ผู้ที่มีความชำนาญจะสามารถมัดหมี่ได้ทันทีเพียงแค่เห็นลวดลาย แต่ปัจจุบันสมาชิกกลุ่มทอผ้าจะมีอายุราว 30-40 ปี จะมีวิธีการเรียนรู้และออกแบบลวดลายให้ง่ายขึ้น โดยการเขียนกราฟ ซึ่งทำให้เข้าใจและคำนวณเส้นไหมได้สะดวกและแม่นยำขึ้น
ด้วยความชำนาญและความประณีตในการทอผ้า ทำให้ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมของกลุ่มทอผ้าไหมบ้านลาดสมดีได้รับความนิยมและเป็นที่ต้องการของตลาด เคยมีพ่อค้าคนกลางมาติดต่อกลุ่มทอผ้าบ้านลาดสมดีให้ทอผ้าไหมให้เพื่อส่งออกไปขายยังประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีความต้องการผ้าไหมที่ย้อมสีธรรมชาติ แต่เนื่องจากวัตถุดิบที่ใช้สำหรับการย้อมสีหายากทำให้ไม่สามารถผลิตผ้าไหมได้ตามความต้องการ ไม่นานก็ยกเลิกการทอไป
กลุ่มทอผ้าไหมนี้มีการจัดตั้งศูนย์ขึ้น เพื่อเป็นศูนย์สำหรับปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ทอผ้าและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่กลุ่มผลิตได้ แต่สมาชิกจะทอผ้าที่บ้านของตนเองซึ่งมีความสะดวกมากกว่า เป็นการทอมือ ส่วนใหญ่ใช้ฟืม 58 45 42 ทำผ้าไหมหน้ากว้าง 1 เมตร
กลุ่มทอผ้าไหมบ้านลาดสมดี มีรายได้อย่างต่อเนื่องและเป็นรายได้หลักมากขึ้นเมื่อได้รับการติดต่อจากร้านค้าในตัวเมืองอุบลราชธานีให้ทอผ้าไหมลายพื้นเมือง ซึ่งกำลังได้รับความนิยมอย่างมาก เช่น ผ้าลายปราสาทผึ้ง ผ้าหัวจกดาว ซึ่งเป็นลวดลายที่ต้องอาศัยความชำนาญและความประณีตเป็นอย่างมาก โดยทางร้านจะออกแบบหรือให้แกะลวดลายจากลวดลายพื้นเมืองหรือลายดั้งเดิม กำหนดสีของผ้าให้ และที่สำคัญคือให้ค่าตอบแทนในอัตราสูง สมาชิกในกลุ่มจึงมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้สมาชิกมีความมุ่งมั่นและผลิตผ้าทอออกมาอย่างต่อเนื่อง และมีสมาชิกรุ่นใหม่มาเรียนรู้กรรมวิธีการทอผ้ามากขึ้น ซึ่งกลุ่มสมาชิกเหล่านี้จะเป็นผู้สืบสานและอนุรักษ์กรรมวิธีการทอผ้าไหมพื้นบ้านให้คงอยู่ต่อไป
หากมีความสนใจที่จะเรียนรู้กรรมวิธีขั้นตอนการทอผ้าไหมพื้นบ้าน หรือเข้าไปชมผ้าทอที่ฝีมือประณีตและสวยงาม สามารถเดินทางเข้าไปที่หมู่บ้านกุศกร ตำบลกุศกร อำเภอตระการพืชผลได้ สมาชิกทุกบ้านทุกคนมีความยินดีและความเต็มใจที่จะบอกเล่าเรื่องราวและนำเสนอผ้าทอที่งดงามจนท่านต้องประหลาดใจ ซึ่งมีอยู่มากมายแทบทุกหลังคาเรือน
ที่ตั้ง หัตถกรรมทอผ้าไหมบ้านลาดสมดี
บ้านลาดสมดี ตำบลกุศกร อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี
พิกัดภูมิศาสตร์ หัตถกรรมทอผ้าไหมบ้านลาดสมดี
15.563707, 105.106863688
บรรณานุกรม
สำราญ เจริญท้าว. สัมภาษณ์, 26 มกราคม 2560