วัดกลาง จังหวัดอุบลราชธานี เป็นวัดที่ถูกสร้างคู่กับวัดหลวงเพื่อเป็นอนุสรณ์การทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาของข้าราชการผู้ปกครองเมืองในสมัยพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง) เป็นที่ประดิษฐานของพระบทม์ พระพุทธรูปที่ได้ชื่อว่ามีพุทธลักษณะสวยงามของจังหวัดอุบลราชธานี
ประวัติวัดกลาง อุบลราชธานี
วัดกลาง สร้างราวปีเถาะ จ.ศ.1155 หรือปี พ.ศ. 2336 สร้างขึ้นหลังจากการสร้างวัดหลวงแล้ว 3 ปี เหตุที่ชื่อวัดกลาง คือ ตามคติโบราณการตั้งเมืองนั้นจะหาทำเลใกล้แม่น้ำ และจะเรียกทางน้ำไหลเป็นเหนือ เป็นใต้ และเป็นกลางด้วย วัดที่ตั้งทางทิศเหนือมักจะเรียกว่า วัดเหนือท่า วัดเหนือเทิง และวัดที่ตั้งทางทิศใต้ก็จะเรียกว่าวัดท่าใต้ ใต้เทิง วัดกลางนั้นตั้งอยู่กลางเมืองอุบล จึงเรียกว่า วัดกลาง
มูลเหตุการสร้างวัดกลางนั้น อนุมานว่า เมื่อเจ้าเมืองสร้างวัดแล้วข้าราชการผู้ใหญ่ก็จะสร้างวัเเพื่อเป็นการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นอนุสารณ์คู่บ้านคู่เมืองไว้ด้วย เมื่อพระประทุมราชสุริยวงศ์ได้สร้างวัดหลวงขึ้นเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองแล้ว เจ้าราชวงศ์ซึ่งเป็นข้าราชการผู้ใหญ่ ได้แก่ ท้าวก่ำ บุตรพระวรราชวงศา ก็มีจุดประสงค์ที่จะทำนุบำรุงสร้างถาวรวัตถุการกุศลเป็นอนุสรณ์ เป็นหลักฐานคู่บ้านขวัญเมืองเช่นเดียวกับเจ้าหลวง จึงได้สร้างวัดขึ้นอีกวัดหนึ่งอยู่ใกล้กับคุ้มเจ้าราชวงศ์ นั่นคือวัดกลาง
เจ้าอาวาสวัดกลาง
เจ้าอาวาสวัดกลางรูปแรก ได้แก่ อาชญาท่านเจ้าหลักธรรมจันทร์ กำเนิดที่บ้านหนองหลัก อำเภอม่วงสามสิบ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิแตกฉานในพระไตรปิฎก เป็นสมัยเดียวกับอาชญาท่านหอแก้วแห่งวัดหลวง
เจ้าอาวาสรูปที่ 4 ได้แก่ อาชญาท่านกัญญา กำเนิดบ้านชีทวน เป็นพระเถระที่ทรงคุณธรรม เป็นนักโหราศาสตร์และไสยศาสตร์ที่หาตัวจับยาก มีความรู้เรื่องยาแผนโบราณ
เจ้าอาวาสรูปที่ 9 ได้แก่ พระศรีธรรมโสภณ (ปรีชา พิณทอง) เป็นผู้คงแก่เรียน วุฒิเปรียญ 9 ประโยค มีผลงานด้านวรรณกรรม เรียบเรียงประเพณีโบราณอีสาน ผญาอีสาน เมื่อลาสิกขาบทได้รับยกย่องเป็นดุษฎีกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาภาษาไทย
พระบทม์ พระประธาน วัดกลาง
พระบทม์ เป็นพระประธานในวิหารเก่าแก่ของวัดกลางที่มีมาตั้งแต่ครั้งสร้างวัด เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่งดงามมาก ขนาดหน้าตักกว้าง 78 นิ้ว สูง 108 นิ้ว สร้างด้วยอิฐดินเหนียวผสมเกสรดอกบัวและว่านจำปาศักดิ์ป่นละเอียดคลุกเคล้ากับยางบง น้ำแช่หนังวัวเผา น้ำแช่เปลือกเม็ก น้ำข้าวเจ้าต้ม หินเผาไฟป่นให้ละเอียด น้ำอ้อยเคี่ยวให้เหนียวผสมเป็นเนื้อเดียวกันดีแล้วใช้ฉาบทาให้เป็นผิวขององค์พระบทม์ ด้วยกรรมวิธีแบบโบราณที่เรียกว่า “ปูนน้ำอ้อย”
คำว่า “พระบทม์” มาจากคำว่า ปทุม ปทม บทม์ หมายถึง พระดอกบัว ได้แก่ บัวหลวงมีสีแดงกลิ่นหอม เป็นพระพุทธรูปที่ประสาทพรเกื้อกูลให้เกิดความสำเร็จ ตามแรงแห่งสัจจาอธิษฐานปรารถนา พระบทม์นั้นมีพุทธลักษณะที่งดงาม จึงทำให้เกิดภาษาพูดของคนโบราณเมื่อได้พบเห็นสิ่งที่งดงาม จึงมักจะอุทานเปรียบเทียบว่า “จะแม่นงามปานพระบทม์” หรือ งดงามดังพระบทม์
เพิ่มเติม : “ขันกะย่อง” หัตถกรรมเครื่องจักสานหนึ่งเดียว…ในงานพุทธศิลป์ถิ่นอีสาน…!
ไหว้พระ 9 วัดในจังหวัดอุบลราชธานี : วัดกลาง
ที่ตั้ง วัดกลาง
เลขที่ 241 ถนนพรหมราช ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
พิกัดภูมิศาสตร์ วัดกลาง
15.22549, 104.86327
บรรณานุกรม
ท่องธารธรรม ตามมูนเมืองอุบล แหล่งธรรมะและธรรมชาติ. (2553). อุบลราชธานี: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.
มะลิวัลย์ สินน้อย (ผู้รวบรวม). ฐานข้อมูลเลื่องลือเล่าขานพระดังเมืองอุบลราชธานี, วันที่ 17 มกราคม 2558. http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/monkubon.
ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม วิทยาลัยครูอุบลราชธานี. (2534). รายงานการประชุมเสวนาทางวิชาการ “วัดและประเพณีพื้นบ้าน”. อุบลราชธานี: ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม วิทยาลัยครูอุบลราชธานี.