การทำธูปหอมและธูปพันแบบโบราณของชาวบ้านเป้า อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านในการนำไม้หอมในท้องถิ่นมมาทำเป็นธูปสำหรับจุดถวายเป็นพุทธบูชา และเป็นเครื่องถวายผะเหวดในงานบุญมหาชาติหรือบูญเดือนสี่ตามฮีตสิบสอง ไม้หอมที่ใช้ ได้แก่ เนียมหอม เนียมแม่ฮ้าง เนียมสร้อย ตังตุ่น ยางบง เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ชาวบ้านเป้าพยายามอนุรักษ์ไว้ให้คงอยู่
ความเป็นมาของการทำธูปหอมและธูปพันแบบโบราณของชาวบ้านเป้า
ณ บ้านเป้า ตำบลเป้า อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี ชาวบ้านแห่งนี้ยังคงอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมภูมิปัญญา และประเพณีของท้องถิ่นไว้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะประเพณีตามฮีตสิบสองที่ยึดถือและสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน ตลอดจนการยึดมั่นในพระพุทธศาสนาอย่างเหนียวแน่น โดยการนำของพระครูไพโรจน์บุญญากร เจ้าอาวาสวัดปุญญานิวาส ผู้ที่มีความสนใจและอนุรักษ์มรดกอันล้ำค่านี้ไว้ให้คงอยู่แก่ลูกหลานต่อไป
การทำธูปหอมและธูปพัน เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างหนึ่งที่ชาวบ้านเป้าสืบสานกันมานานกว่า 100 ปี และชาวบ้านยังคงมีความพยายามที่จะอนุรักษ์และสืบสานให้คงอยู่ ลักษณะของธูปหอมและธูปพันหรือประทีป จะมีความแตกต่างกันตามวิธีการทำ คือ ธูปหอม จะใช้ก้านธูปคลุกกับเครื่องหอมและกลิ้งให้ติดกับก้าน ส่วนธูปพันหรือประทีป จะใช้เครื่องหอมโรยลงบนกระดาษแล้วม้วนเก็บเครื่องหอม แล้วใช้เส้นไหมพันธูปให้เป็นแท่ง ลักษณะการใช้งานไม่แตกต่างกัน และทั้งธูปหอมและธูปพันนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมประเพณีซึ่งจะนิยมทำกันเพื่อใช้งานต่าง ๆ ได้แก่
1.ใช้เป็นเครื่องผะเหวด เพื่อบูชาคาถาพันคู่กับข้าวพันก้อน ในงานบุญเดือนสี่ หรือบุญผะเหวด ตามประเพณีฮีตสิบสองของคนอีสาน ดังคำพูดติดปากว่า “ธูปพำพันดวง บัวหลวงพอฮ้อย ข้าวพันก้อนพอพัน” โดยชาวบ้านจะช่วยกันทำธูปหอมหรือธูปพันหลังคาเรือนละ 40-50 อัน จากนั้นจะนำมารวมกันที่วัดให้ได้ราว 1000 อัน หรือให้ได้มากที่สุด บ้างก็จะมีการระดมพลกันทำที่วัด สร้างความสามัคคีในชุมชน
คาถาพัน หมายถึง คาถาภาษาบาลีจำนวน 1000 คาถา การเทศน์คาถาพันในบุญผะเหวดก็คือการเทศน์มหาชาติที่เป็นภาษาบาลีล้วน ๆ จำนวน 1000 พระคาถา ซึ่งเท่ากับจำนวนคาถาทั้งหมดในเวสสันดรชาดก 13 กัณฑ์
อานิสงส์คาถาพัน
เมื่อครั้งพระมาลัยรับดอกอุบลจากบุรุษเข็ญใจแล้ว ได้นำขึ้นบูชาพระจุฬามณีเจดียสถานในดาวดึงสเทวโลก และมีโอกาสสนทนากับพระศรีอริยเมตไตรย์ พระองค์ได้ตรัสแก่พระเถรเจ้าว่า
“ขอพระคุณเจ้าได้บอกแก่มนุษย์ทั้งหลายว่า ผู้ใดใคร่พบปะพระศรีอาริย์เจ้า ผู้นั้นพึงงดเว้นอนันตริยกรรม 5 ประการ มี ฆ่ามารดา บิดา เป็นต้น และพึงอุตสาหะหมั่นก่อสร้างกองการกุศล มีให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา และสดับรับฟังพระธรรมเทศนามหาเวสสันดรชาดก อันประกอบด้วยคาถาพันหนึ่ง การทำสักการบูชาด้วยข้าวตอกดอกไม้ต่าง ๆ และดอกไม้ธูปเทียนอย่างละพัน ตั้งใจฟังให้จบในวันเดียวครบบริบูรณ์ทั้ง ๑๓ กัณฑ์ ดังนี้แล้ว จะได้พบ พระศรีอาริย์พุทธเจ้าในอนาคตโดยแท้ หากดับขันธ์แล้ว ก็จะได้ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์เสวยทิพยสมบัติอันมโหฬาร ครั้งถึงพุทธกาล พระศรีอาริย์พุทธเจ้า เทพบุตร เทพธิดาเหล่านั้น ก็จะได้จุติลงไปเกิดเป็นมนุษย์ ครั้นได้ฟังพระธรรมเทศนา ก็จักได้บรรลุมรรคผล มีพระโสดาปัตติผล เป็นต้น เป็นพระอริยะบุคคลในพระพุทธศาสนา”
2.ใช้จุดเป็นพุทธบูชาในช่วงเข้าพรรษา โดยชาวบ้านจะเตรียมการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อใช้ทำธูปก่อนเข้าพรรษา 1 เดือน เช่น การเก็บเนียมแม่ฮ้าง เนียมสร้อย นำมานึ่งและตากให้แห้ง ขูดเปลือกตังตุ่น การถากยางบง เป็นต้น ซึ่งจะจัดหาให้ได้มากที่สุดเพื่อให้เพียงพอสำหรับการทำธูปที่จะนำไปใช้งานในช่วงเข้าพรรษาเนื่องด้วยช่วงเข้าพรรษาเป็นช่วงหน้าฝน การจัดเตรียมวัสดุให้แห้งอาจจะไม่สะดวกนัก อีก 15 วันต่อมาจะมีการตีกลองรวมพลหรือบอกกล่าวต่อ ๆ กัน ให้มาช่วยกันทำธูปที่วัด ทำให้ชาวบ้านได้พบปะพูดคุยและสร้างความสามัคคีให้กับชุมชน
3.ใช้จุดบูชาคู่กับมารข้าวในวันออกพรรษา ซึ่งช่วงนี้จะเป็นช่วงที่ข้าวในนากำลังตั้งท้อง ชาวบ้านจะเรียกว่า ข้าวมาร ในช่วงวันออกพรรษาก็จะจุดธูปเทียนคู่กับมารข้าวเพื่อบูชาพระแม่โพสพและรับขวัญข้าวตั้งท้อง อธิษฐานขอให้ข้าวในนาออกรวงสมบูรณ์และได้ผลผลิตดี และจุดไต้ประทีปเพื่อบูชาพระแม่คงคา ในประเพณีไหลเรือไฟไต้ประทีป หรือการลอยกระทงตามประเพณีอีสาน
พืชที่ใช้ในการทำธูปหอมและธูปพัน
พืชที่ใช้ในการทำธูปหอมปละธูปพัน ส่วนใหญ่จะเป็นพืชที่ให้กลิ่นหอมสามารถหาได้ในท้องถิ่น ได้แก่
1. เนียมหอม
ชื่ออื่น : อ้มหอม, อ้มเนียม, เนียมอ้ม, เนียมข้าวเม่า
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Strobilanthes nivea Bremek.
ชื่อวงศ์ : ACANTHACEAE
เนียมหอม ลำต้นเป็นไม้ที่มีขนาดเล็กถึงขนาดกลาง เป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี ลำต้นมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมถึงค่อนข้างกลมและเป็นข้อปล้อง เป็นพืชชอบร่มรำไร ชื้นแต่ไม่แฉะ ใบเนียมหอม มีลักษณะเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปไข่กลับ มีขนสากทั่วไป ปลายใยหยักขอดเป็นติ่งสั้นหรือเว้าแหว่งเป็นริ้ว รูปใบแตกต่างกันมากจากค่อนข้างแหลมจนถึงกลมกว้าง ใบหนาสดหักง่าย ยาวประมาณ 1.5-11.5 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1.5-9.5 เซนติเมตร ก้านใบยาวประมาณ 0.75-7.5 เซนติเมตร ใบจะมีกลิ่นหอมคล้ายใบเตย ดอกเนียมหอม ออกเป็นช่อยาว 14-39 เซนติเมตร กลีบสีม่วงอ่อนหรือสีขาว ช่อดอกอออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีอย่างละ 5 กลีบ เกสรเพศผู้มีจำนวนมากและล้อมรอบรังไข่ ผลเนียมหอม ผลกลมหรือลักษณะเหมือนรูปไข่กลับ ผิวของผลมีขนทั่วไป เมื่อแก่สีเหลือง ออกดอกติดผลตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กันยายน
2. เล็บครุฑ
ชื่ออื่น : เล็บครุฑ, ครุฑเท้าเต่, ครุฑทอดมัน, ครุฑใบเทศ, ครุฑผักชี, เล็บครุฑใบฝอย
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Polyscias fruticosa (L.) Harms
ชื่อวงศ์ : ARALIACEAE
เล็บครุฑ เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงราว 2 เมตร ลักษณะต้นเป็นข้อ ลำต้นอ่อนมีสีเขียวอ่อนแกมน้ำตาลอ่อน เมื่อลำต้นแก่เต็มที่ก็จะเปลี่ยนกลายเป็นสีน้ำตาลอ่อน ลำต้นจะมีรอยแผลของกาบใบ ใบเล็บครุฑ เป็นใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ใบย่อยมีรูปร่างและขนาดแตกต่างกัน ขอบใบหยักย่อยละเอียด ปลายใบเรียวแหลม ดอกเล็บครุฑ ช่อดอกแยกแขนง มีแกนกลางช่อยาว 60 เซนติมเตร ขนาดเล็ก ช่อดอกย่อยออกเป็นช่อซี่ร่ม กลีบดอก 5 กลีบ เกสรตัวผู้ 5 อัน ผลเล็บครุฑ ผลรูปเกือบกลม มีเนื้อผล
3. ชะลูดช่อสั้น
ชื่ออื่น : ตังตุ่น, ตังตุ่นขาว
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Alyxia schlechteri H. Lev.
ชื่อวงศ์ : Apocynaceae
ชะลูดช่อสั้น หรือตังตุ่น เป็นไม้พุ่มรอเลื้อยหรือไม้เถาเนื้อแข็งขนาดเล็ก มีน้ำยางขาว สูงได้ถึง 4 เมตร เปลือกต้นและกิ่งก้านสีเทา มีรูอากาศมาก กิ่งอ่อนมีขนละเอียด กิ่งแก่เกลี้ยง ใบชะลูดช่อสั้น เป็นใบเดี่ยว เรียงเป็นวงรอบข้อ ใบหนาแน่นช่วงบนของกิ่ง รูปวงรีแกมขอบขนาน รูปใบหอกกลับ หรือรูปใบหอก ปลายใบแหลม โคนใบสอบ ขอบใบเป็นคลื่น ผิวใบเรียบเป็นมัน เนื้อใบค่อนข้างหนาเหนียว บริเวณท้องใบมองเห็นเส้นใบข้างไม่ชัดเจน ก้านใบยาว 2-4 มิลลิเมตร เกลี้ยงหรือมีขนนุ่ม ดอกชะลูดช่อสั้น เป็นช่อกระจุก ออกที่ซอกใบ ดอกย่อยหลายดอก ขนาดเล็ก กลีบดอกมี 5 กลีบ กลีบดอกสีขาว เชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว โคนหลอดสีเหลืองแกมส้ม มีกลิ่นหอม กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ รูปวงรีแคบ สีเขียวอมเหลือง ที่ส่วนปลายกลีบมีขนประปราย ผลชะลูดช่อสั้น ผลสดรูปขอบขนาน คอดเป็นข้อ ๆ ตามเมล็ด 2-3 ข้อ ผลอ่อนสีเขียว เมื่อสุกเปลี่ยนเป็นสีม่วงดำ มี 1-3 เมล็ด พบตามป่าเต็งรัง ป่าโปร่งป่าละเมาะ ออกดอกและติดผลช่วงเดือน มีนาคมถึงกรกฎาคม
4. ยางบง
ชื่ออื่น : บงปง มง หมี ยางบง
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Persea kurzii
ชื่อวงศ์ : Lauraceae
ยางบง เป็นไม้ขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ความสูงประมาณ 10 – 15 เมตร มีเรือนยอดเป็นพุ่มกว้างเปลือกค่อนข้างหนาสีเทาแก่ เปลือกในมีสีขาวและสีแดง ใบยางบง เป็นใบเดี่ยว ขึ้นเวียนสลับตามกิ่ง ทรงรี โคนสอบ ปลายใบแหลม มีเส้นแขนงใบ 7-11 คู่ บางเส้นมีเส้นแยกออกด้วย เนื้อใบหนา แสดงลักษณะอุ้มน้ำมาก ดอกยางบง ออกเป็นช่อตามซอกใบ และปลายกิ่ง ดอกจะมีขนาดเล็กสีเหลือง ผลยางบง มีรูปทรงกลมขนาดเล็ก คล้ายผลหว้า เมื่อสุกจะสีดำ มีเยื่อหุ้ม ด้านในมีเมล็ดเดี่ยว กลมเล็กคล้ายผลหว้า มีเยื่อหุ้มผล เมล็ดมีเมล็ดเดี่ยว เปลือกเมล็ดเมื่อแก่ล่อนได้ ผิวในมีน้ำมันเล็กน้อย พบขึ้นอยู่ในป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรังเป็นไม้ที่ไม่ผลัดใบ มีมากในบางจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดยเฉพาะในแถบที่มีฝนตกชุกมาก ๆ แถบจังหวัดมุกดาหาร นครพนม อุบลราชธานี และบางท้องที่ในภาคเหนือ
5. ปอเต่าไห้
ชื่ออื่น : เต่าไห้ พญาไม้ผุ พันไฉน พันไสน ปอตับเต่า
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Enkleia siamensis (Kurz) Nevling
ชื่อวงศ์ : Thymelaeaceae
ปอเต่าไห้ เป็นไม้พุ่มรอเลื้อยตั้งตรง หรือไม้เถาเนื้อแข็ง สูง 2-5 เมตร เปลือกต้นเรียบ สีน้ำตาลเข้ม เหนียว มีมือเกาะออกตรงข้าม กิ่งอ่อนและยอดอ่อนมีขนสีน้ำตาลแดง มีขนประปราย ใบปอเต่าไห้ เป็นใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม พบบ้างที่เรียงสลับ รูปไข่หรือรูปรี พบบ้างที่เป็นรูปกลม ปลายแหลมหรือมน มักมีติ่งหนามเล็ก ๆ โคนรูปลิ่มหรือมน ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนสีเขียวเกลี้ยง มีขนสีเทาสั้นนุ่มตามร่องเส้นใบด้านล่างและที่เส้นแขนงใบประปรายถึงหนาแน่น เส้นแขนงใบชัดเจนทั้งสองด้าน ก้านใบเกลี้ยงหรือมีขนสั้นนุ่ม ช่อดอกปอเต่าไห้ เป็นแบบช่อซี่ร่ม ออกที่ปลายกิ่ง สีเขียวหรือสีเหลือง ออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ใบประดับเป็นเยื่อบางสีครีมแกมเขียวอ่อน รูปรี ปลายและโคนมน มีขนทั้งสองด้านติดทน กลีบดอก 5 กลีบ รูปลิ้น อวบน้ำ ปลายเป็นแฉกลึก 2 แฉก รูปขอบขนาน ผลปอเต่าไห้ ผลสดเป็นรูปไข่ คล้ายผลผนังชั้นในแข็ง ผลมีสีเขียว ปลายแหลม เกลี้ยงหรือมีขนละเอียด มีก้านผลยาว มักพบร่องรอยของกลีบเลี้ยงที่โคนผล มีใบประดับ 2 ใบ สีน้ำตาลอ่อน เมล็ดปอเต่าไห้ เป็นรูปไข่ พบทั่วไปตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ ออกดอกและติดผลระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายน
วัสดุอุปกรณ์ในการทำธูปหอมและธูปพัน
1.ไม้ไผ่สำหรับทำก้านธูปหอม นิยมใช้ไม้ไผ่รวกไม่แก่มาก ขนาดความยาวประมาณ 2 คืบ หรือ 1 ฟุต เหลาให้เป็นท่อนกลม ๆ และเหลาเอาส่วนติวหรือเปลือกไม้ไผ่ออกเพราะส่วนนี้จะไม่ติดไฟ
2.ภาชนะทรงกระบอก สำหรับแช่น้ำยางบง อาจจะใช้กระบอกไม้ไผ่ ขวดพลาสติก หรือแก้วทรงสูง
3. ถาด ใช้สำหรับบรรจุเครื่องหอม
4. กระดานแผ่นเรียบ หรือก้นถาด สำหรับกลิ้งเครื่องหอมให้ติดกับก้านธูป
5. มีด ใช้สำหรับเหลาไม้ไผ่สำหรับทำก้านธูป และใช้ขูดเปลือกตังตุ่น
6. เส้นไหม ใช้สำหรับพันก้านธูปพัน
6. ตะแกรง สำหรับร่อนเครื่องหอม
7. แม่แบบ สำหรับทำกระดาษหรือเจี้ยจากปอเต่าไห้ โดยจะนำไม้มาทำเป็นกรอบสี่เหลี่ยม ขึงด้วยผ้าขาวบางให้ตึง ก่อนจะเทเยื่อไม้ลงไปให้นำทรายมาขัดตาผ้าที่ขึงไว้ให้ทั่ว เพื่อไม่ให้เยื่อไม้ที่เทลงไปในแม่แบบไหลทะลุออกจากผ้า
ขั้นตอนการเตรียมเครื่องหอมสำหรับทำธูปหอมและธูปพัน
1. การเตรียมเนียมหอม ชาวบ้านจะเรียกพืชชนิดนี้ว่า เนียมแม่ฮ้าง จะเก็บต้นสด นำมาล้างทำความสะอาดด้วยน้ำ จากนั้นนำไปนึ่งให้สุก แล้วจึงนำไปตากแดดให้แห้งกรอบ ทดสอบโดยการใช้มือกำแล้วเนียมละเอียดคามือ จึงนำมาตำด้วยครกเพื่อป่นให้ละเอียด ถ้าต้องการความละเอียดมากให้ร่อนด้วยตะแกรง
2. การเตรียมเล็บครุฑ ชาวบ้านจะเรียกพืชชนิดนี้ว่า เนียมสร้อย จะเก็บเอาเฉพาะใบ นำมาทำความสะอาด นึ่ง ตากแห้ง และป่นให้ละเอียดเช่นเดียวกับเนียมแม่ฮ้าง
เนียมทั้งสองชนิด สามารถใช้ได้ทั้งแบบสดและแบบนึ่ง แต่การนึ่งให้สุกก่อนจะช่วยทำให้กลิ่นหอมคงอยู่ได้นานยิ่งขึ้น
3. การเตรียมชะลูดช่อสั้น หรือ ตังตุ่น ตัดกิ่งตังตุ่นขนาดพอประมาณ ใช้มีดขูดเอาเฉพาะเปลือก นำไปตากแห้ง แล้วนำมาป่น จากนั้นร่อนเอาผงละเอียด
4. ยางบง จะใช้มีดถากเอาเปลือกสดจากต้น จากนั้นนำมาแช่น้ำ เพื่อให้เป็นกาวเหนียว บรรจุในภาชนะทรงกระบอกสูง นอกจากนั้นแล้วเปลือกสดที่ได้ให้นำไปตากให้แห้ง จากนั้นนำมาป่นให้ละเอียด ใช้เป็นส่วนผสมในการทำธูป ทำให้เครื่องหอมยึดติดกันได้ดียิ่งขึ้น
ขั้นตอนการทำธูปหอม
1.นำเครื่องหอมต่าง ๆ ที่เตรียมไว้ ได้แก่ เนียมแม่ฮ้าง เนียมสร้อย ตังตุ่น ผงยางบง นำมาผสมและคลุกเคล้าเข้าด้วยกัน อัตราส่วน คือ 2:1:1:1 ตามลำดับ
2.นำเปลือกต้นบงมาแช่น้ำเพื่อทำกาว นิยมบรรจุไว้ในกระบอกไม้ไผ่ หรือขวดน้ำ เพื่อให้สามารถจุ่มก้านธูปลงไปแล้วได้เครื่องหอมที่ติดบนก้านธูปตามความยาวที่ต้องการ หรือประมาณ 15-20 เซนติเมตร
3.นำก้านธูปไปจุ่มในกาวยางบง แล้วนำมากลิ้งหรือคลุกกับเครื่องหอมที่ผสมไว้แล้ว เครื่องหอมก็จะติดบนก้านธูป
4. นำมากลิ้งบนไม้กระดานแผ่นเรียบ หรือก้นภาชนะพื้นเรียบ เช่น ถาด ชาม โดยใช้ฝ่ามือกดและกลิ้งก้านธูปไปมาให้ผงเครื่องหอมติดกับก้านธูปอย่างสม่ำเสมอและติดกันแน่นขึ้น
5. นำก้านธูปอันเดิมนั้นไปจุ่มยางบงอีกครั้ง คลุกเครื่องหอม และกลิ้งด้วยมือซ้ำไปมาอีก 2-3 รอบ จนได้ขนาดธูปที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 2-3 เซนติเมตร หรือขนาดตามที่ต้องการ
6. นำไปตากให้แห้ง จึงนำมาใช้งาน
การทำธูปพันหรือประทีป
1.เครื่องหอมต่าง ๆ ที่ใช้จะเหมือนกันกับการทำธูป ยกเว้นยางบงอาจจะไม่ใช้ก็ได้ ผสมและคลุกเคล้าให้เข้ากันดี ถ้าต้องการความหอมมากยิ่งขึ้นให้เพิ่มปริมาณเนียมแม่ฮ้างให้มากขึ้นได้
2. ตัดกระดาษขนาดความกว้างประมาณ 5 เซนติเมตร ความยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร ปัจจุบันนิยมใช้กระดาษทิชชู ซึ่งหาได้ง่าย แทนการใช้กระดาษหรือเจี้ยที่ทำจากปอเต่าไห้
3.นำกระดาษมาวางบนพื้นเรียบ วางก้านธูปไว้ที่ริมกระดาษ แล้วตักเครื่องหอมโรยลงบนก้านธูป เกลี่ยให้สม่ำเสมอกัน
4. พันกระดาษเข้ากับก้านธูปให้แน่น
5. นำเส้นไหมมาพันทับกระดาษเพื่อให้แน่นติดกับก้านธูปยิ่งขึ้น โดยพันเป็นเกลียวลงให้สุดกระดาษแล้วพันทบขึ้นไปอีกรอบ มัดปลายให้แน่น เส้นไหมจะติดไฟง่าย เมื่อจุดไฟแล้วก็จะไหม้ม้วนกอดเข้ากับก้านธูปพัน ทำให้ธูปพันค่อย ๆ ไหม้จนหมด กระดาษไม่รุ่ยออกจากก้านธูป เป็นอันเสร็จขั้นตอนการทำธูปพัน
การทำกระดาษหรือเจี้ย สำหรับทำธูปพัน
1.นำหัวปอเต่าไห้ซึ่งอยู่ใต้ดิน ซึ่งจะมีลักษณะเป็นหัวสีขาวห่อหุ้มด้วยเปลือกสีน้ำตาล นำมาแกะเปลือกออก จะได้ส่วนเนื้อสีขาว นำมาสับและตำให้ละเอียด
2.นำลำไม้ไผ่รวกที่มีความสูงประมาณ 2 เมตร เลือกลำที่เกิดกลางกอ ตัดเอาเฉพาะส่วนตรงกลางหรือส่วนที่มีผิวเปลือกเป็นสีขาว นำมาสับและตำผสมกับหัวปอเต่าไห้ อัตราส่วนปอเต่าไห้ต่อเยื่อไผ่ 3:1 เยื่อไผ่จะช่วยประสานให้เยื่อปอเต่าไห้ติดกันเป็นแผ่น
3.นำไปคั้นกับน้ำเพื่อกรองเอากากออก จะได้เยื่อไม้ที่มีความละเอียดสม่ำเสมอ
4. นำไปต้มให้สุกด้วยไฟอ่อนประมาณ 30 นาทีจนเกิดความเหนียวหนืด ส่วนผสมรวมตัวเป็นเนื้อเดียวกัน
5.นำไปเทลงบนแม่แบบ เกลี่ยให้สม่ำเสมอทั่วกันทั้งแผ่น
6.ตากแดดให้แห้ง ลอกออกจากแม่แบบ แล้วจึงนำไปใช้ทำธูปพัน กระดาษหรือเจี้ยที่ทำจากปอเต่าไห้นั้นเมื่อจุดไฟแล้วจะให้กลิ่นหอมเมื่อผสมกับกลิ่นของตังตุ่นแล้วจะยิ่งเพิ่มความหอมให้กับธูปพันมากขึ้น
ที่ตั้ง บ้านเป้า
วัดปุญญานิวาส ตำบลเป้า อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี
พิกัดภูมิศาสตร์ บ้านเป้า
15.683819, 104.952787
บรรณานุกรม
พระครูไพโรจน์บุญญากร. สัมภาษณ์, 18 พฤษภาคม 2560
พระสุวัฒธนธีรกุล กตปุญโญ. สัมภาษณ์, 18 พฤษภาคม 2560
มูลนิธิห้องสมุดดนตรีรัชกาลที่ 9. คาถาพัน, 28 สิงหาคม 2560. http://www.kingramamusic.org/mahachart/m_page/14.html
ศูนย์วิจัยและพัฒนาสง่า สรรพศรี องค์การสวนพฤกษศาสตร์. (2554). ฐานข้อมูลพรรณไม้, 28 สิงหาคม 2560. http://www.qsbg.org
สมุนไพรดอทคอม. (2559). เนียมหอม, 28 สิงหาคม 2560. https://www.samunpri.com
สมุนไพรดอทคอม. (2559). เล็บครุฑ, 28 สิงหาคม 2560. https://www.samunpri.com
สุดารัตน์ หอมหวล. (2553). ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, 28 สิงหาคม 2560. http://www.phargarden.com