วัดทุ่งสว่างอารมณ์ วัดอนุสรณ์สถานที่สร้างโดยชาวกุลาหรือชาวไทยใหญ่จากพม่าที่มาค้าขาย แลกเปลี่ยนสินค้าในแถบอีสาน และตั้งถิ่นฐานสร้างอาชีพช่างทำทองขึ้นที่บ้านโนนใหญ่ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี มีการผสมผสานทางประเพณีและวัฒนธรรมอย่างลงตัว
ประวัติวัดทุ่งสว่างอารมณ์
วัดทุ่งสว่างอารมณ์ ตามหลักฐานที่มีการบันทึกไว้ เป็นวัดในสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีอาณาเขตทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันออกจดที่ดินเอกชน และทิศตะวันตกจดที่สาธารณะประโยชน์ อาคารเสนาสนะสำคัญประกอบด้วย หอสวดมนต์ กว้าง 7 เมตร ยาว 15 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ.2527
ศาลาการเปรียญวัดทุ่งสว่างอารมณ์ สถาปัตยกรรมผสมแบบพม่า
ศาลาการเปรียญของวัดทุ่งสว่างอารมณ์มีรูปแบบแปลกตากว่าที่อื่น ๆ มีลักษณะคล้ายคลึงกับสถาปัตยกรรมของพม่า เนื่องว่าที่บ้านโนนใหญ่นั้นเคยมีชาวกุลาจากพม่ามาอาศัยอยู่ ในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 3 หรือราวปี พ.ศ. 2390 เมื่อเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านก็ได้แต่งานกับหญิงชาวพื้นเมืองและตั้งหลักแหล่งอยู่ที่บ้านโนนใหญ่ ชาวกุลานั้นเดินทางมายังเมืองต่าง ๆ เพื่อค้าขาย สิ่งของที่นำมาขาย เช่น ผ้าฝ้าย ผ้าไหม ที่นำมาจากหมู่บ้านทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยแต่เมื่ออายุมากขึ้นก็เริ่มลงหลักปักฐาน ชาวกุลาที่เข้ามาอยู่ที่บ้านโนนใหญ่นั้นมีประมาณ 15 ครอบครัว มีพ่อใหญ่คำปานเป็นหัวหน้า และในกลุ่มของผู้มานั้นประกอบด้วยหลายเผ่า เช่น ไทยใหญ่ ต้องซู่ ยาง กะเหรี่ยง พม่า เป็นต้น ว่ากันว่ากุลาที่บ้านโนนหญ่นั้นเป็นกลุ่มที่มีจำนวนคนมากที่สุด เมื่อเข้ามาอยู่รวมกันชาวกุลาก็ได้นำเอาวัฒนธรรมประเพณีของตนเองมาด้วย ทำให้เกิดการผสมผสานกันทางวัฒนธรรม
ชาวกุลาได้ย้ายเข้ามาอยู่ที่บ้านโนนใหญ่มากขึ้น ด้วยว่าเป็นหมู่บ้านที่มีการทำทองขาย เศรษฐกิจดี ข้าวปลาอุดมสมบูรณ์ ว่ากันว่าในสมัยนั้นว่าอาชีพการตีเหล็ก, ช่างทำเงิน, และช่างทำทอง นั้นเป็นอาชีพที่ทำรายได้ดีให้แก่ผู้ทำ โดยชาวบ้านโนนใหญ่ได้เรียนรู้จากคนลาวคนลาวที่ไปได้เทคนิควิธีการทำจากพ่อค้าชาวจีนในเมืองอุบลราชธานี หรือไม่ก็จากพวกคนลาวกันเองที่ไปทำงานนี้ในแขวงสะหวันนะเขต ชาวกุลาชอบการค้าขาย เมื่อเดินทางมาที่บ้านโนนใหญ่ก็นำสินค้ามาขาย บ้างก็มาซื้อสินค้าจากบ้านโนนใหญ่ไปขายยังที่ต่าง ๆ เมื่อมาถึงบ้านโนนใหญ่ก็เห็นว่าทำเลดี ก็มักจะมาตั้งถิ่นฐานสร้างครอบครัว จนบ้านโนนใหญ่เป็นที่รู้จักกันในนามบ้านโนนกุลา
ชาวกุลาได้ร่วมใจกันสร้างวัดของกุลาขึ้น เพื่อเป็นจุดศูนย์รวมจิตใจ ที่สำหรับทำบุญ และเป็นที่สำหรับให้บุตรหลานได้ศึกษาพระธรรม คือ วัดทุ่งสว่างอารมณ์ในปัจจุบัน ชาวกุลาบ้านโนนใหญ่ได้นิมนต์เจ้าบุญจ้างอินตา พระที่มีฝีมือด้านการช่างมาสร้างวัด สร้างเสร็จ เมื่อ ปี พ.ศ.2454 ที่ดินที่สร้างวัดนั้นได้มาจากการซื้อบ้างการเรี่ยไรบ้าง ไม้ที่ใช้ในการก่อสร้างได้มาจากดงทางปากเซ (จำปาสัก) และไม้ในบริเวณหมู่บ้าน สิ่งใดที่ไม่มีก็หามาจากพม่า อังวะ หงสาวดี เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปหินอ่อนแบบพม่า ศาลาการเปรียญมีลักษณะแบบพม่า เป็นอาคารไม้หลังคามุงด้วยสังกะสี แกะลดลวน สังกะสีที่ประดับมียอดเป็นชั้น ๆ ห้อยกระดิ่งขนาดเล็ก ๆ โดยรอบ เมื่อวัดสร้างเสร็จ ระยะแรกได้นิมนต์พระสงฆ์จากพม่ามาจำพรรษา มีพระพม่าอยู่ 3 รูป ได้แก่ พระกัตติยะ เจ้าบุญหม่าน (เป็นเผ่าต้องซู่) พระอุเต็กตะ พระอุเต็กตะ มรณภาพในปี พ.ศ. 2500 หลังจากนั้นก็ไม่มีพระพม่ามาจำพรรษาอีกเลย ช่วงที่มีพระพม่ามาจำพรรษาอยู่นั้น ยังมีการบวชส่างลองตามประเพณีของพม่าอยู่ และหลังจากไม่มีพระพม่าแล้วก็นิยมบวขภิกษุสามเณรตามประเพณีไทย ปี พ.ศ. 2524 ศาลาการเปรียญได้พังลงด้วยความเก่าแก่ ศิลปวัตถุของชาวกุลาก็สูญหายไปด้วย ปัจจุบันศาลาการเปรียญหลังใหม่นั้นได้สร้างขึ้นเพื่อเลียนแบบหลังเก่า เป็นอนุสรณ์แก่ชาวกุลา
ที่ตั้ง วัดทุ่งสว่างอารมณ์
บ้านโนนใหญ่ หมู่ที่ 3 ตำบลก่อเอ้ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี
พิกัดภูมิศาสตร์ วัดทุ่งสว่างอารมณ์
15.357683, 104.602509
บรรณานุกรม
คนึงนิตย์ จันทบุตร. (2542). กุลา (บ้านโนนใหญ่) : ชาติพันธุ์ ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่ม 1. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.
ถวิล แสงสว่าง. ประวัติบ้านโนนใหญ่ (หมู่3-4 ต.ก่อเอ้ อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี). อุบลราชธานี : ศิริธรรม.
สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2559). กุลา (เป็นชาวไทยใหญ่จากพม่า) บ้านโนนใหญ่ ที่อุบลราชธานี, 25 กันยายน 2560. https://www.matichon.co.th/news/247936
สุจิตต์ วงษ์เทศ. (2559). กุลาที่อุบลฯ มีประเพณีเหมือนไทยใหญ่ในพม่า, 25 กันยายน 2560. https://www.matichon.co.th/news/249087
มะลิวัลย์ สินน้อย, ผู้รวบรวม. (2551). ฐานข้อมูลวัดในจังหวัดอุบลราชธานี, 13 กรกฎาคม 2560. http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/ubon_temple