ปราสาททองหลาง อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี สถาปัตยกรรมศิลปะเขมรแบบปาปวน อิทธิพลของอาณาจักรขอมในจังหวัดอุบลราชธานี
ปราสาททองหลาง มีลักษณะเป็นปรางค์ก่อด้วยอิฐ 3 หลัง ตั้งเรียงบนฐานศิลาแลงเดียวกันในแนวทิศเหนือ-ใต้ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ปรางค์ตรงกลางมีขนาดใหญ่กว่าปรางค์อีกสององค์ที่ขนาบข้าง มีคูน้ำล้อมรอบ โดยเว้นเป็นช่องทางเข้าด้านตะวันออกด้านเดียวทางทิศตะวันออก ห่างประมาณ 100 เมตร ถัดไปทางทิศตะวันออกมีอ่างเก็บน้ำโบราณ (บาราย) ขนาดใหญ่รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างประมาณ 380 เมตร ยาวประมาณ 420 เมตร ซึ่งยังเห็นขอบคันดินได้ชัดเจน
จากลักษณะแผนผังและรูปแบบสถาปัตยกรรม สันนิษฐานได้ว่า มีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 เทียบได้กับศิลปะเขมรแบบปาปวน (พ.ศ.1550-1620) ร่วมสมัยกับปราสาทบ้านเบ็ญจ์ ปราสาทแห่งนี้แสดงถึงอิทธิพลอาณาจักรขอมในด้านการเมืองการปกครองและศาสนาที่พบในบริเวณจังหวัดอุบลราชธานี
กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติโดยประกาศในราชกิจานุเบกษา เล่มที่ 53 ตอนที่ 34 วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2479 และกำหนดเขตที่ดิน โบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 99 ตอรที่ 155 วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ.2525 พื้นที่ประมาณ 6 ไร่ 3 งาน 2 ตารางวา
ชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงจะผลัดเปลี่ยนเวรกันมาทำความสะอาดทุกวันที่ 15 ของเดือน เพื่อให้โบราณสถานแห่งนี้คงเป็นระเบียบเรียบร้อย ความสวยงามและน่าเข้าชม
ที่ตั้ง ปราสาททองหลาง
บ้านท่าโพธิ์ศรี ตำบลท่าโพธิ์ศรี อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี
พิกัดภูมิศาสตร์ ปราสาททองหลาง
14.862786, 105.015366
บรรณานุกรม
สมศรี ชัยวณิชยา. (2556). เอกสารประกอบการสอน วิชา 1432 324 ประวัติศาสตร์อุบลราชธานี. อุบลราชธานี: สาขาวิชามนุษยศาสตร์ คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.