ผ้าข้าวม้า บ้านนากระแซง

ผ้าขาวม้า บ้านนากระแซง อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี มีความโดดเด่นคือความนุ่ม ไม่ยับง่าย ซึมซับน้ำได้ดี รีดด้วยความร้อนและเรียบง่าย ซักแล้วสีไม่ตกและไม่หด ทอจากด้ายเทยิ่นด้วยกี่กระตุก

ผ้าขาวม้า-นากระแซง-การทอผ้า-กี่กระตุก

กลุ่มพัฒนาอาชีพสตรี บ้านนากระแซง

กลุ่มพัฒนาอาชีพสตรี บ้านนากระแซง เริ่มก่อตั้งกลุ่มในปี พ.ศ. 2553 ประกอบด้วย สมาชิกทั้งหมด 10 คน โดยมีนางกุศล คูณมี เป็นประธานกลุ่ม โดยสมาชิกแต่ละคนจะทำหน้าที่แตกต่างกันไปในแต่ละขั้นตอน ตั้งแต่การเตรียมด้าย ไปจนถึงการทอเป็นผืนผ้า ในการเริ่มต้นก่อตั้งกลุ่มนั้น ได้มีเจ้าหน้าที่ของสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี เป็นผู้เข้ามาให้การสนับสนุนและให้ความรู้เรื่องการทอผ้าขาวม้าเบื้องต้น จากนั้นสมาชิกก็ได้เรียนรู้ ลองถูกลองผิดด้วยตนเอง และพัฒนาการผลิตผ้าขาวม้าเรื่อยมา

ผ้าขาวม้า-นากระแซง-การทอผ้า-กี่กระตุก

ผ้าขาวม้าบ้านนากระแซง

ผ้าขาวม้าบ้านนากระแซง เป็นผ้าขาวม้าที่ผลิตจากเส้นด้ายสำเร็จรูป ซึ่งกลุ่มผู้ทอผ้าจะรู้จักกันในชื่อ “ด้ายเทยิ่น” ซึ่งเป็นเส้นด้ายสังเคราะห์ที่ผลิตจากเส้นใยโพลีเอสเตอร์ (polyester) ผสมกับเส้นใยเรยอน (rayon) ในอัตราส่วนเส้นใยโพลีเอสเตอร์ 65% ผสมกับเส้นใยเรยอน 35% โดยกลุ่มผู้ผลิตจะซื้อด้ายชนิดนี้จากร้ายขายเส้นด้ายสำเร็จรูปในอำเภอเดชอุดม

ผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้าของบ้านนากระแซงนั้นจะมีความนุ่ม ไม่ยับง่าย ซึมซับน้ำได้ดี รีดด้วยความร้อนและเรียบง่าย ซักแล้วสีไม่ตกและไม่หด

ผ้าขาวม้า-นากระแซง-การทอผ้า-กี่กระตุก

ลวดลายของผ้าขาวม้านั้น มี 2 ลวดลาย ได้แก่ ลายตารางใหญ่ หรือที่เรียกกันในชุมชนว่า “ลายตาโก้ง” เป็นลวดลายที่ทอกันมาตั้งแต่เดิม โดยขนาดของตารางเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีขนาดของตารางประมาณ 2×2.5 นิ้ว เท่ากันทั้งผืน ส่วนอีกลายหนึ่งนั้นเป็นลายประยุกต์ขึ้นมาใหม่ เรียกว่า ลายสก็อต คือ การทอเลียนแบบลายตารางของต่างประเทศ เป็นลักษณะของการทอที่มีลายตารางไม่เท่ากัน โดยขนาดของตารางขึ้นอยู่กับการกำหนดของผู้ทอ การเลือกใช้สีในแต่ละผืนจะแตกต่างกันตามความชอบของผู้ทอผ้าผืนนั้น ๆ ดังนั้นจึงทำให้ได้สีสันที่หลากหลาย

ขนาดของผ้าขาวม้านั้นไม่มีขนาดมาตรฐานตายตัว ขึ้นอยู่กับการใช้งานหรือการกำหนดของกลุ่มทอผ้าในแต่ละกลุ่มเป็นผู้กำหนดเอง ซึ่งขนาดของผ้าขาวม้าบ้านนากระแซงนั้นจะมีขนาดเดียว คือ กว้าง 84 เซนติเมตร ยาว 220 เซนติเมตร

ช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้าของกลุ่มผู้ผลิตผ้าขาวม้าบ้านนากระแซง มีหลายระดับ ดังนี้

  1. ระดับชุมชน มีการจำหน่ายผ้าขาวม้าในระดับหมู่บ้านนากระแซงและหมู่บ้านใกล้เคียง เพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน โดยผ้าขาวม้าที่ได้รับความนิยมจะเป็นผ้าขาวม้าลายแบบดั้งเดิม
  2. ระดับจังหวัด กลุ่มผลิตขาวม้าบ้านนากระแซง จะมีการออกร้านเพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าขาวม้าในงานเทศกาลต่าง ๆ ในระดับจังหวัด เช่น งานกาชาด งานเทศกาลแห่เทียนพรรษา โดยกลุ่มลูกค้าจะเป็นนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมงานเทศกาลนั้น ๆ โดยผ้าขาวม้าลายสก็อตจะได้รับความนิยมมากกว่าลายตาโก้ง
  3. ระดับประเทศ กลุ่มผ้าขาวม้าบ้านนากระแซงจะได้รับการติดต่อจากหน่วยงานของรัฐให้ไปออกร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์โอทอปเป็นประจำทุกปี ณ กรุงเทพฯ ซึ่งทำให้ทางกลุ่มผู้ผลิตนั้นได้พบปะกลุ่มลูกค้าที่มีวิถีชีวิตที่แตกต่างกันออกไป ลายที่เป็นที่นิยมคือ ลายตาโก้งหรือลายดั้งเดิม

ผ้าขาวม้า-นากระแซง-การทอผ้า-กี่กระตุก

อุปกรณ์ในการผลิตผ้าขาวม้า

  1. ด้าย
  2. หลักเฝือ
  3. ฟืม
  4. อัก หรือตะกอปั่นด้าย และไม้คอนอัก
  5. หลา
  6. กง
  7. กระสวยและแกนกระสวย
  8. กี่ หรือ หูก

การทอผ้าขาวม้า บ้านนากระแซง

1.การเตรียมด้าย นำด้ายที่เลือกสีไว้แล้วมาใส่ในกง ซึ่งกงเป็นอุปกรณ์ที่ทำจากไม้ไผ่เหลาเป็นซี่ยาวประมาณ 1 เมตร 8 อัน และนำมาผูกโยงเข้ากันด้านละ 4 อัน ด้วยเชือกและมีแกนกลาง 1 แกน เพื่อจะกวักด้ายใส่ไว้ในอัก เป็นการเตรียมด้ายไว้สำหรับขั้นตอนต่อไป

ผ้าขาวม้า-นากระแซง-การทอผ้า-กี่กระตุก

2.การเตรียมเครือ หรือเส้นยืน ภาษาอีสานเรียกว่า การค้นหูก ในขั้นตอนนี้จะต้องดูว่าฟืมที่ใช้มีความกว้างเท่าใด ในท้องถิ่นอีสานฟืมจะมีหน่วยนับความกว้างเป็น หลบ ฟืมที่ใช้ทอผ้าขาวม้าจะมีขนาดความกว้างต่างกัน ตามขนาดของเส้นด้ายที่ใช้ทอ ถ้าเป็นด้ายเส้นใหญ่ จะนิยมใช้ฟืม 10 หลบ ถ้าเป็นด้านเส้นเล็กจะนิยมใช้ 12-15 หลบ ฟืมจะมีตาหรือรู ซึ่ง 1 รู จะใช้เส้นด้าย 2 เส้น คือ เส้นขึ้นและเส้นลง การขึ้นเครือจะมีวิธีการคำนวณเส้นด้าย ดังนี้

          4 รูฟืม เท่ากับ 1 ควม หรือเท่ากับ 8 เส้นด้าย

10 ควม เท่ากับ 1 หลบ หรือเท่ากับ 80 เส้นด้าย

ถ้าเป็นฟืม 10 หลบ เท่ากับ 100 ควม หรือ เท่ากับ 800 เส้นด้าย

เทคนิคการนับเช่นนี้ ถือเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมโดยแท้ซึ่งการกำหนดลำดับก่อนหลังของลายผ้า สี หรือ ขนาดความกว้างของตาผ้าขาวม้านั้น ชาวบ้านจะนับตามหน่วยข้างต้น

ผ้าขาวม้า-นากระแซง-การทอผ้า-กี่กระตุก

3.เมื่อเตรียมด้ายเส้นยืนหรือค้นหูกได้ตามขนาดความกว้างของฟืมแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ การไนด้ายเส้นยืนเข้าฟืม หรือที่เรียกว่า การสืบหูก ฟืมเป็นอุปกรณ์ในการทอผ้าที่มีส่วนประกอบ คือ ตัวฟืม มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าและมีซี่หลาย ๆ ซี่ตรงกลาง และมีเขาฟืมเพื่อดึงเส้นด้ายลายยืนให้ขึ้นลง ขัดกับด้ายลายพุ่งในขั้นตอนการทอ ผ้าขาวม้าจะนิยมใช้ฟืม 2 เขา ซึ่งเป็นลายขัด การสืบหูก คือการนำเครือหรือด้ายเส้นยืนมาต่อเข้ากับด้ายเก่าที่ติดมากับฟืม โดยต้องต่อตามลำดับของลายที่ได้ค้นไว้ทีละเส้น เมื่อต่อเสร็จครบทุกเส้นแล้วจึงนำไปขึ้นกี่เพื่อเตรียมทอต่อไป

ผ้าขาวม้า-นากระแซง-การทอผ้า-กี่กระตุก

4.การเตรียมด้ายพุ่ง คือ การนำด้ายสีเดียวกันกับลายเส้นยืนมาปั่นใส่หลอดกระสวยให้ได้ขนาดของกระสวย โดยใช้หลาเป็นอุปกรณ์ในการปั่นด้ายออกจากอัก

phakaoma6 ผ้าขาวม้า-นากระแซง-การทอผ้า-กี่กระตุก

วิดีทัศน์จาก Youtube : Ocean Life ไทยสมุทรประกันชีวิต

ที่ตั้ง แหล่งทอผ้าขาวม้า บ้านนากระแซง

เลขที่ 400 บ้านนากระแซง หมู่ที่ 13 ตำบลนากระแซง อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี

บรรณานุกรม

ประกาศิต แก้วรากมุข. (2559). รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ การผลิตผ้าขาวม้าลายพิมพ์ กรณีศึกษากลุ่มทอผ้าขาวม้า บ้านนากระแซง ตำบลนากระแซง อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี. อุบลราชธานี : คณะศิลปประยุกต์และสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง