วัดป่าไทรงาม ธรรมะ(ชาติ)รักษากายใจ

วัดป่าไทรงาม วัดสาขาวัดหนองป่าพง อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี สถานที่ปฏิบัติธรรมสายวิปัสสนากรรมฐาน และเผยแพร่แนวคิดแนวปฏิบัติในการปลูกป่าเพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติ ภายในวัดจึงมีความสงบร่มรื่นและตกแต่งด้วยหินจากที่ต่าง ๆ รักษาทั้งสุขภาพกายและใจให้กับพุทธศาสนิกชน

วัดป่าไทรงาม-การอนุรักษ์ป่าไม้-สาขาวัดหนองป่าพง
สวนหินหน้าวัดป่าไทรงาม

ประวัติวัดป่าไทรงาม

วัดป่าไทรงาม เริ่มก่อตั้งเป็นสำนักสงฆ์เมื่อปี พ.ศ. 2515 ในพื้นที่ป่าช้าบ้านตลาดจำนวน 25 ไร่ สภาพแวดล้อมโดยทั่วไปแห้งแล้ง ดินเสื่อมโทรม การก่อตั้งวัดป่าไทรงามเกิดจากชาวเมืองเดชอุดมได้สนับสนุนให้ตั้งสำนักสงฆ์แห่งนี้ขึ้นเป็นวัด พระมหาเถรผู้ใหญ่ในขณะนั้น มีพระครูวิบูลธรรมธาดา อดีตเจ้าคณะตำบลวัดแสงเกษมเป็นผู้ให้การสนับสนุนในการสร้างวัด กลุ่มชาวบ้านต้องการสร้างที่พักสงฆ์ให้เป็นวัดป่าโดยศรัทธาในวัตรปฏิบัติของพระโพธิญาณเถร หรือหลวงปู่ชา สุภทฺโท เจ้าอาวาสวัดหนองป่าพง ท่านได้ให้ความเมตตา ส่งพระอาจารย์อเนก ยสทินฺโน เดิมท่านเคยอาศัยอยู่ในอำเภอเดชอุดม ซึ่งในขณะนั้นท่านบวชได้ 6 พรรษา แม้ท่านจะยังไม่พร้อมด้วยวัยวุฒิและคุณวุฒิ แต่ด้วยศรัทธาในหลวงปู่ชา สุภทฺโท ท่านจึงรับตกลงที่จะมาจำพรรษา ณ วัดแห่งนี้ตลอดมา เมื่อครั้งที่หลวงปู่ชา สุภทฺโท ยังมีชีวิตอยู่ ท่านได้แวะเวียนมาพำนักที่สำนักสงฆ์แห่งนี้ และได้เดินดูรอบ ๆ เห็นต้นไทรเล็ก ๆ ขึ้นอยู่รอบ ๆ ท่านจึงให้ชื่อว่า วัดป่าไทรงาม พระอาจารย์อเนก ยสทินฺโน จึงได้มุ่งมั่นปรับเปลี่ยนพื้นที่วัดแห่งนี้ให้สวยงามตามชื่อที่หลวงปู่ชาให้ไว้

ปี พ.ศ. 2545 ได้ก่อตั้งวัดขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยมีนายพรม สายเมฆ เป็นผู้ขออนุญาต โดยได้รับอนุญาตเมื่อวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2545 ได้ขยายเขตพื้นที่วัดรวมเป็น 14 ไร่ และปีต่อมาได้ขยายเพิ่มอีก 10 ไร่  เพื่อสร้างเป็นสถานที่พักผู้ปฏิบัติธรรมและสร้างศูนย์ฝึกเยาวชน มีพระอาจารย์อเนก ยสทินฺโน เป็นเจ้าอาวาสวัดป่าไทรงาม

วัดป่าไทรงาม-การอนุรักษ์ป่าไม้-สาขาวัดหนองป่าพง
แผนผังวัดป่าไทรงาม
วัดป่าไทรงาม-การอนุรักษ์ป่าไม้-สาขาวัดหนองป่าพง
สวนหินและบรรยากาศภายในวัดป่าไทรงาม

แนวคิดในการปลูกป่าของวัดป่าไทรงาม

ด้วยพื้นที่ตั้งวัดป่าไทรงามนั้นเป็นป่าละเมาะ ไม่มีต้นไม้ใหญ่ พระอาจารย์อเนก ยสทินฺโน เจ้าอาวาสวัดจึงดำริให้มีการปลูกต้นไม้ขึ้นมากมายโดยเฉพาะต้นไทร ภายในวัดจึงมีความร่มรื่นจากพรรณไม้ เหมาะกับการปฏิบัติธรรม บริเวณทั่วไป ท่านตกแต่งด้วยก้อนหิน วางซ้อนทับกันอย่างสวยงาม เป็นปริศนาธรรมให้ญาติโยมได้ขบคิด ก้อนหิน รากไม้ที่นำมาตกแต่งนั้น ยากจะประเมินค่า ท่านส่งเสริมให้มีการปลูกต้นไม้นานาพันธุ์และท่านมีความชำนาญในการปลูกป่าเป็นอย่างยิ่ง

บริเวณลานไทรสำหรับฝึกปฏิบัติธรรม อยู่ใต้ร่มไทร มีความร่มรื่น หินต่าง ๆ ที่วางอยู่อย่างเป็นระเบียบ มีทั้งที่ขอรับบริจาคและจัดซื้อมา ทำให้วัดป่าไทรงามกลายเป็นสวนหินขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานี

การปลูกต้นไม้ของพระอาจารย์อเนก ยสทินฺโน เริ่มจากการปลูกทุกอย่างที่อยากปลูกเพื่อคืนความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดิน ทั้งไม้ใช้สอยและผักสวนครัว และท่านได้เรียนรู้ว่า ต้นไม้ที่เหมาะสมกับพื้นที่แห่งนี้ที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีคือ ไม้พื้นถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้นไทร นอกจากนั้นแล้วยังปลูกไม้ใช้สอยอื่น ๆ เช่น ไม้ตะเคียน ไม้สัก ไม้มะค่า และทำกล้าพันธุ์ไม้ไว้ในวัดด้วย

ปัจจุบันวัดมีเนื้อที่ 130 ไร่ มีการขุดคลองกว้าง 8 เมตร ลึก 4 เมตร แล้วนำดินที่ขุดขึ้นมาทำคูดินให้เป็นกำแพงวัด ปลูกต้นไม้แทนรั้ว เสียงรบกวนต่างๆ และเสียงประกาศจากชุมชนรบกวนได้ยากเพราะกำแพงดิน กำแพงต้นไม้ ช่วยลดปริมาณความดังของเสียงลง

วัดป่าไทรงาม-การอนุรักษ์ป่าไม้-สาขาวัดหนองป่าพง
สวนหินในวัดป่าไทรงาม

ที่ตั้ง วัดป่าไทรงาม

ตำบลเมืองเดช อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี

พิกัดภูมิศาสตร์ วัดป่าไทรงาม

14.899830, 105.059743

บรรณานุกรม

ผดุง กุลวงศ์. (2555). วิดีทัศน์วัดป่าไทรงาม, 1 สิงหาคม 2560. https://www.youtube.com/watch?v=xG8xx1DL-_E

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง