กลุ่มอนุรักษ์ภาพเขียนไทย บ้านปลาขาว

กลุ่มอนุรักษ์ภาพเขียนไทยบ้านปลาขาว อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี เป็นการรวมกลุ่มกันเพื่อผลิตงานจิตรกรรมเขียนภาพลวดลายแบบไทยด้วยสีน้ำอะครีลิค เน้นภาพเกี่ยวกับการละเล่นต่าง ๆ ภาพประเพณีไทยและอีสาน

ภาพเขียนไทย-ภาพสีอะคริลิก-บ้านปลาขาว

กลุ่มอนุรักษ์ภาพเขียนไทยบ้านปลาขาว ก่อตั้งขึ้นโดยนายอำนวย สุทธัง ผู้ซึ่งมีความรู้เรื่องจิตรกรรมไทย และต้องการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยได้ถ่ายทอดความรู้ ฝึกฝนให้กับเด็กเยาวชน และผู้ที่สนใจในท้องถิ่น

การก่อตั้งศูนย์อนุรักษ์ศิลปกรรมไทย

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 นายอำนวย สุทธัง ได้แรงบันดาลใจจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และด้วยปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในประเทศไม่ว่าจะเป็นประชาชนขาดการศึกษา ติดยาเสพติดและอบายมุขต่าง ๆ ปัญหาการว่างงาน จึงมีแนวคิดว่าตนเองนั้นพอจะมีประสบการณ์และความชำนาญเกี่ยวกับการวาดภาพศิลปกรรมไทยจนเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง หากถ่ายทอดความรู้นี้ไปสู่เยาวชนและประชาชนในท้องถิ่น น่าจะสามารถช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่กล่าวมาได้ จึงเป็นที่มาของการก่อตั้งศูนย์ศิลปกรรมไทยขึ้น

แต่ด้วยคนในชุมชนนั้นยังไม่มีความรู้ทางด้านศิลปกรรมจึงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้คนเหล่านั้นเข้าถึงได้ ต้องอาศัยความชอบและมีใจรักในด้านนี้จริง ๆ ซึ่งไม่เพียงแต่อาศัยพรสวรรค์เท่านั้น ท่านมีวิธีการและขั้นตอน มีหลักจิตวิทยาในการถ่ายทอดความรู้อย่างมาก จนทำให้ศูนย์อนุรักษ์ศิลปกรรมแห่งนี้ประสบความสำเร็จ กลยุทธ์ที่ท่านใช้ ได้แก่ การให้เรียนฟรี การให้เขียนภาพเองโดยอิสระ การสอนงานซึ่งกันและกัน เรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน

ภาพเขียนไทย-ภาพสีอะคริลิก-บ้านปลาขาวภาพเขียนไทย-ภาพสีอะคริลิก-บ้านปลาขาว ภาพเขียนไทย-ภาพสีอะคริลิก-บ้านปลาขาว

การบริหารงานของกลุ่ม เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามระเบียบแบบแผน และมีความโปร่งใส จึงได้มีการกำหดกฎระเบียบของกลุ่มไว้ คือ

  1. ในการบริหารจัดการของกลุ่มประกอบด้วย ประธาน รองประธาน เลขานุการ เหรัญญิก กรรมการ และฝ่ายตรวจสอบ
  2. กำหนดเวลาทำงาน ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานทั่วไป กำหนดให้มีวันหยุด และมีค่าตอบแทนหากมีการทำงานเกินเวลา
  3. ประชุมอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง หรือตามสถานการณ์ความจำเป็น
  4. พิจารณาค่าตอนแทนเป็นรายเดือน หรือ รายปี โดยใช้พฤติกรรมการทำงานเป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณา เช่น ความขยัน อดทน ความต่อเนื่อง ความตรงต่อเวลา และความสามารถของแต่ละคน
  5. การคัดเลือกคณะกรรมการบริหาร ให้คัดเลือกตามความเหมาะสมตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อพัฒนากลุ่มให้ความเข้มแข็ง และเรียนรู้ภาวการณ์เป็นผู้นำ
  6. มีบ่อเลี้ยงปลา นาข้าวไว้รอบศูนย์ โดยอาศัยหลักเศรษฐกิจพอเพียง

กลุ่มอนุรักษ์ภาพเขียนไทย เป็นกลุ่มแรกและกลุ่มเดียวในประเทศไทย ที่ผลิตภาพไทยในชุมชนประสบความสำเร็จและพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนสามารถส่งขายได้ทั้งภายในและภายนอกประเทศ มีคำสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง เคยได้รับรางวัลคัดสรรค์ สุดยอด OTOP ระดับประเทศ ในปี 2546 และปี 2547 เมื่อมีการก่อศูนย์อนุรักษ์ศิลปกรรมไทย ศูนย์แห่งนี้ก็เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับผู้ที่สนใจ และผู้ที่ต้องการเรียนรู้อาชีพ มีบุคคลต่าง ๆ เข้ามาศึกษาเรียนรู้ ชมขั้นตอนการผลิต และสถานที่ฝึกงานให้นักเรียน นักศึกษาจากสถาบันต่าง ๆ หน่วยงาน และผู้ที่สนใจในอำเภอ จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดอื่น ๆ ทั่วประเทศไทย

ภาพเขียนไทย-ภาพสีอะคริลิก-บ้านปลาขาว

ปัจจุบันกลุ่มอนุรักษ์ภาพเขียนไทย บริหารงานโดย นางวรรณา สุทธัง สมาชิกที่อยู่ในกลุ่มจะร่วมกันสร้างสรรค์ผลงาน เป็นภาพเขียนสีอะครีลิค โดยได้รับผิดชอบในส่วนต่าง ๆ แตกต่างกันออกไปตามความเชี่ยวชาญ เช่น ลงสี ตัดเส้นตัดลาย ลงเส้นวาดลวดลาย ฉะนั้นในหนึ่งภาพจะถูกวาดและระบายสีด้วยช่างเขียนภาพหลายคน ภาพที่เขียนส่วนใหญ่จะเป็นภาพคนในอิริยาบถและกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การละเล่น ประเพณีไทยและอีสานตามฮีตสิบสอง พระพุทธรูป เป็นต้น ขนาดภาพที่เขียนและได้รับความนิยม คือขนาด 45*60 เซนติเมตร กลุ่มจะเขียนภาพสะสมไว้และจะออกร้านจำหน่ายในงานต่าง ๆ เช่น งาน OTOP งานแสดงสินค้า 

ภาพเขียนไทย-ภาพสีอะคริลิก-บ้านปลาขาว
นางวรรณา สุทธัง

ประวัติและผลงานของนายอำนวย สุทธัง

นายอำนวย สุทธัง ท่านมีความสนใจในงานจิตรกรรม จึงฝักใฝ่และศึกษาหาความรู้จากครูอาจารย์ที่มีความสามารถด้านงานจิตรกรรมจากวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ ทุ่มเทกายและใจให้กับการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำความรู้ความสามารถกลับมาถ่ายทอดสู่ท้องถิ่น ผลงานที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่น ภาพเขียนชุดเทียนพรรษา การลอยกระทง สงกรานต์ บุญบั้งไฟ พระเวสสันดร พุทธประวัติ การละเล่นของเด็กไทย วิถีชีวิตชาวบ้าน และรามเกียรติ์ เป็นต้น

ภาพเขียนไทย-ภาพสีอะคริลิก-บ้านปลาขาว
นายอำนวย สุทธัง

เกียรติประวัติ นายอำนวย สุทธัง

  • ปี 2543 ได้รับโล่เชิดชูเกียรติคุณรางวัลชนะเลิศผู้นำอาชีพก้าวหน้า
  • ปี 2545 ศิลปินดีเด่น สาขาทัศนศิลป์ จากคณะกรรมการสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ
  • ปี 2546 ได้รับการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ดีเด่น ระดับสามดาว
  • ปี 2547 ได้รับการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ดีเด่น ระดับสี่ดาว

ผลงาน นายอำนวย สุทธัง

  • เป็นผู้บุกเบิกการเขียนภาพไทยประยุกต์ ส่งตามแกลอรี่ต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย
  • จัดแสดงผลงานมาอย่างต่อเนื่อง
  • จัดตั้งกลุ่มเขียนภาพสำหรับเยาวชนผู้ติดยาเสพติดและอบายมุขต่าง ๆ และผู้ว่างงาน
  • สร้างศูนย์อนุรักษ์ศิลปกรรมไทยเพื่อเผยแพร่ผลงานตลอดจนผู้ที่สนใจต้องการเรียนรู้ในด้านศิลปกรรมไทย
  • เขียนภาพตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น โรงแรม โรงพยาบาล โบสถ์วิหารของวัด ร้านอาหาร สำนักงานราชการและเอกชน
  • เป็นวิทยากรเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในคุณค่าของการสร้างสรรค์ศิลปกรรมแก่ประชาชน นักศึกษา และผู้ที่สนใจทั่วไป
  • เป็นกรรมการตัดสินต้นเทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี

ภาพเขียนไทย-ภาพสีอะคริลิก-บ้านปลาขาว

ที่ตั้ง กลุ่มอนุรักษ์ภาพเขียนไทย บ้านปลาขาว

หมู่ที่ 3 บ้านปลาขาว ตำบลยาง อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี

พิกัดภูมิศาสตร์ กลุ่มอนุรักษ์ภาพเขียนไทย บ้านปลาขาว

14.6472234, 105.0140857

บรรณานุกรม

วรรณา สุทธัง. (2560). สัมภาษณ์ 22 มิถุนายน 2560

อำนวย สุทธัง. (2560) สัมภาษณ์ 22 มิถุนายน 2560.

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง