แก่งลำดวน แหล่งศึกษาธรรมชาติ กุ้งเดินขบวน

แก่งลำดวน ในเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี แหล่งศึกษาธรรมชาติและปรากฎการณ์กุ้งก้ามขนเดินขบวนหนีความแรงของน้ำในแก่งที่ไหลเชี่ยวซึ่งหาชมได้ปีละครั้งในช่วงปลายฤดูฝนของทุกปี

แก่งลำดวน-กุ่งเดินขบวน-เส้นทางศึกษาธรรมชาติ

แก่งลำดวน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม

แก่งลำดวนอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม มีต้นกำเนิดอยู่บริเวณเขาพนมดงรัก เป็นน้ำตกที่ไหลมาตามแก่งหิน มีความยาวประมาณ 200 เมตร เป็นส่วนหนึ่งของลำน้ำลำโดมใหญ่ที่ไหลขึ้นเหนือผ่านอำเภอน้ำยืน อำเภอเดชอุดม ลงสู่แม่น้ำมูลที่บ้านปากโดม บริเวณโดยรอบแก่งลำดวนมีต้นไม้ร่มรื่น โดยเฉพาะต้นลำดวนซึ่งมีอยู่มากในบริเวณนี้ และเป็นที่มาของชื่อ “แก่งลำดวน” มีการกำหนดเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติผ่านถ้ำและแก่งต่าง ๆ มีการบอกชื่อพันธุ์ไม้ที่สำคัญไว้ให้ได้ศึกษา ธารน้ำของแก่งลำดวนใสสะอาดสามารถลงเล่นน้ำได้ 

แก่งลำดวน-กุ่งเดินขบวน-เส้นทางศึกษาธรรมชาติ แก่งลำดวน-กุ่งเดินขบวน-เส้นทางศึกษาธรรมชาติ

กุ้งเดินขบวน ปรากฏการณ์การธรรมชาติ ณ แก่งลำดวน

กุ้งเดินขบวน ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นปีละครั้ง ณ บริเวณแก่งลำดวน ในช่วงเดือนปลายเดือนสิงหาคม กันยายน และต้นเดือนตุลาคมของทุกปี เป็นช่วงที่มีฝนตกชุกบนยอดเขาพนมดงรัก กุ้งก้ามขนซึ่งปกติก็จะอาศัยอยู่ในน้ำ เมื่อมีน้ำเยอะไหลแรงก็จะทนแรงน้ำไม่ไหว จึงพร้อมใจกันไต่ขึ้นมาบนโขดหิน และไต่ไปเรื่อย ๆ ความยาวราว 15 เมตร เพื่อให้พ้นช่วงที่น้ำไหลแรงก็จะกลับลงสู่น้ำเหมือนเดิมเพื่อกลับไปผสมพันธุ์และวางไข่ยังแหล่งที่อยู่เดิม เกิดเป็นปรากฎการณ์ที่เรียกว่า “กุ้งเดินขบวน” ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในช่วงเวลากลางคืนหลังฝนตกหนักหรือสายน้ำในแก่งมีความเชี่ยวกราก การไปดูกุ้งเดินขบวนจึงต้องใช้ไฟฉายที่มีกำลังไฟไม่สว่างมาก หรือไฟสีนวลอ่อน ถ้าไฟสว่างมากกุ้งจะไม่ขึ้นมา สามารถดูได้จนถึงเช้าตรู่ แต่จะมากน้อยเท่าใดนั้นไม่สามารถคาดการณ์ได้

แก่งลำดวน-กุ่งเดินขบวน-เส้นทางศึกษาธรรมชาติ

กุ้งก้ามขน กุ้งเดินขบวน

กุ้งก้ามขน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า  Mocrobrachium dienbienphuense มีลักษณะลำตัวเป็นสีน้ำตาลอ่อนหรือส้มอ่อน ความยาวลำตัวประมาณ 0.74-5.26 เซนติเมตร ก้านตามีขนาดสั้นสามารถพับงอได้ กรี (rostrum) มีลักษณะตรงและสั้นกว่าปลายของแผ่นกำบังหนวด (scaphocerite) ซี่ฟันของกรีด้านบนมีจำนวน 11-16 ซี่ ซึ่งมีซี่ฟันเรียงอยู่หลังเบ้าตา จำนวน 3-5 ซี่ และมีซี่ฟันของกรีด้านล่างจำนวน 2-3 ซี่

กุ้งก้ามขนมีขาเดิน (pereiopod) 5 คู่และขาว่ายน้ำ  (pleopod) 5 คู่ ขาเดินคู่ที่ 1 และ 2 ตอนปลายเป็นก้ามหนีบโดยคู่ที่ 2 จะมีขนาดใหญ่กว่าตลอดความยาวของก้ามหนีบมีขนยาวอ่อนนุ่มปกคลุม (จะสังเกตเห็นได้ชัดเมื่อกุ้งโตเต็มวัย) ขาเดินแต่ละขาประกอบด้วยปล้องข้อ 7 ข้อ ส่วนขาว่ายน้ำอยู่ด้านล่างของลำตัวปล้องละ 1 คู่ โดยขาว่ายน้ำแต่ละข้างแยกเป็นสองแผ่นคือ Endopodite เป็นลักษณะแผ่นแบบยาว บริเวณโคนด้านในมีแท่งเรียวขนาดเล็กยื่นมา 1 อัน คือ exopodite มีลักษณะเป็นแผ่นแบนยาวคล้าย Endopodite แต่ขนาดใหญ่กว่า หางเป็นรูปสามเหลี่ยมปลายด้านบนของหางมีลักษณะโค้ง แพนหาง (uropod) มี 1 คู่ ประกอบด้วยแพนหางคู่ใน (endopod) เป็นแผ่นแบบอ่อนปลายกลมเช่นเดียวกัน แต่มีขนาดเล็กกว่า มักอยู่รวมกันเป็นฝูง อาศัยตามผิวน้ำริม ตลิ่ง แหล่งน้ำต่างๆชอบกินจุลินทรีย์และสัตว์น้ำขนาดเล็กเป็นอาหาร

แก่งลำดวน-กุ่งเดินขบวน-เส้นทางศึกษาธรรมชาติ แก่งลำดวน-กุ่งเดินขบวน-เส้นทางศึกษาธรรมชาติแก่งลำดวน-กุ่งเดินขบวน-เส้นทางศึกษาธรรมชาติ แก่งลำดวน-กุ่งเดินขบวน-เส้นทางศึกษาธรรมชาติ

ที่ตั้ง แก่งลำดวน

เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม ตำบลโดมประดิษฐ์ อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี

พิกัดภูมิศาสตร์ แก่งลำดวน

14.434923, 105.105377

บรรณานุกรม

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. (2560).  แก่งลำดวน,  13 กันยายน 2560. https://thai.tourismthailand.org/

voice tv. (2556) กุ้งเดินขบวน มหัศจรรย์ธรรมชาติ ณ แก่งลำดวน, วันที่ 13 กันยายน 2560. https://youtu.be/_p-SnDFL_G4

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง