ปราสาทธาตุนางพญา (คูห้วยธาตุ) อำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี ปราสาทหินศิลาแลงและหินทราย โบราณสถานแบบเขมรสมัยบายน แสดงถึงอิทธิพลอาณาจักรขอมในด้านการเมืองการปกครองและศาสนาที่พบในบริเวณจังหวัดอุบลราชธานี
ปราสาทนางพญา (คูห้วยธาตุ) มีลักษณะโบราณสถานก่อด้วยศิลาแลงและหินทราย เป็นปราสาทหลังเดียว หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า สิ่งก่อสร้างสำคัญประกอบด้วย อาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า 1 หลัง ส่วนยอดหรือหลังคาหักพังลงหมดแล้วเหลือเฉพาะฐาน มีกำแพงศิลาแลงล้อมรอบ ด้านหน้าทำเป็นซุ้มประตู (โคปุระ) ก่อด้วยศิลาแลงและหินทรายด้านทิศตะวันออก 1 ด้าน ถัดจากตัวปราสาทไปทางทิศเหนือ มีอ่างเก็บน้ำ (บาราย) ขนาดใหญ่ โบราณสถานแห่งนี้น่าจะเป็นสิ่งก่อสร้างแบบเขมรสมัยบายน ประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ 18 ปราสาทแห่งนี้แสดงถึงอิทธิพลอาณาจักรขอมในด้านการเมืองการปกครองและศาสนาที่พบในบริเวณจังหวัดอุบลราชธานี
กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 53 ตอนที่ 34 วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2479 และกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 98 ตอนที่ 177 วันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2524 พื้นที่ประมาณ 2 ไร่ 2 งาน 52 ตารางวา
ที่ตั้ง ปราสาทธาตุนางพญา
ตำบลหนองสะโน อำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี
พิกัดภูมิศาสตร์ ปราสาทธาตุนางพญา
14.769283, 105.298129
บรรณานุกรม
สมศรี ชัยวณิชยา. (2556). เอกสารประกอบการสอน วิชา 1432 324 ประวัติศาสตร์อุบลราชธานี. อุบลราชธานี: สาขาวิชามนุษยศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.