หัตถกรรมตีฆ้องบ้านทรายมูล อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี การทำฆ้องด้วยการตีมือที่สืบทอดกันมากว่า 30 ปี เอกลักษณ์ของฆ้องบ้านทรายมูลคือ มี 9 จูม ชุมชนบ้านเป็นทั้งแหล่งผลิตและจำหน่ายฆ้องของจังหวัดอุบลราชธานี เป็นงานหัตถถกรรมในครัวเรือนที่สร้างรายได้เสริมหลังฤดูเกษตรกรรม
การทำฆ้องบ้านทรายมูล
ฆ้องเป็นเครื่องประกอบดนตรีชนิดหนึ่งที่ใช้ตี นอกจากนี้ฆ้องยังใช้ในลักษณะอื่นอีกหลายอย่าง เช่น ส่งสัญญาณในการรบ การบอกโมงยาม การทำบุญต่าง ๆ ในทางศาสนา การฟังเทศน์ เป็นต้น เดิมฆ้องทำมาจากโลหะที่เรียกว่า ทั่ง นำมาหล่อในเบ้าหลอม เวลาตีจะมีเสียงกังวานมากแต่ชำรุดเร็ว นิยมผลิตกันที่ประเทศพม่า คนไทยจึงเรียกฆ้องชนิดนี้ว่า ฆ้องพม่า ขนาดของฆ้องจะมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 20-50 นิ้ว
ประวัติการทำฆ้องของชาวบ้านทรายมูล ตำบลทรายมูล อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี เดิมนั้นมีชาวบ้านไปทำงานที่อู่ต่อเรือ ได้พบว่ามีการนำแผ่นทองเหลืองมาประดิษฐ์เป็นฆ้องตูม (จูม) เดียว และมีความทนทานให้งานได้นานกว่าฆ้องพม่า นอกจากนั้นแล้วยังเป็นที่ต้องการของตลาดในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2510 จึงได้รวมกลุ่มกันสั่งซื้อทองเหลืองจากกรุงเทพฯ มาตีเป็นฆ้อง สร้างเป็นธุรกิจหัตถกรรมการตีฆ้องขึ้นมา เป็นอาชีพเสริมเพื่อสร้างรายได้หลังฤดูกาลทำนา ฆ้องของบ้านทรายมูลสามารถส่งขายทั้งในและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ลาว พม่า กัมพูชา สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส อังกฤษ เนเธอแลนด์ และรัสเซีย
ฆ้องบ้านทรายมูลจะมีขนาดตั้งแต่ 8 นิ้ว 60 80 หรือ 120 เซนติเมตร วัสดุที่ใช้ทำมีทั้งทำจากเหล็กและทองเหลือง แต่นิยมทำจากเหล็กมากกว่าเพราะต้นทุนการผลิตน้อยกว่า จะขายได้ดีในช่วงปีใหม่จนถึงช่วงวันสงกรานต์ ซึ่งชาวอีสานนิยมทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ญาติผู้ล่วงลับก็จะนิยมซื้อกลองไปถวายวัด
มีการค้นพบข้อความในหนังสือใบลานที่นครเวียงจันทน์ บอกว่า การให้ทานฆ้อง 9 จูม (ตูม) นมเก้าก้อน ให้เป็นเสนาสนะนั้นได้อานิสงค์ยิ่งนัก ในปี พ.ศ. 2529 ชาวบ้านทรายมูลจึงได้ผลิตฆ้อง 9 จูมขึ้น ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดมากด้วยเช่นกัน นอกจากนั้นแล้ว ชาวบ้านยังได้เพิ่มสีสันและลวดลายลงบนฆ้องเพื่อให้เกิดความสวยงามมากขึ้น
ขนาดของฆ้องมีหลายขนาดตามความต้องการของผู้ซื้อ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้มีจิตศรัทธาซื้อถวายวัดหรือสำนักสงฆ์ตามความเชื่อว่าการให้ทานฆ้อง 9 จูมจะได้อานิสงค์สูง มีความอุดมสมบูรณ์ในภาคทรัพย์ มีน้ำเสียงเสนาะเพราะพริ้ง มีเกียรติยศชื่อเสียง ปรากฏในแผ่นดินทั้งชาตินี้และชาติหน้า อุดมไปด้วยความสุข
ขั้นตอนการทำฆ้องบ้านทรายมูล
1. การเตรียมเหล็กแผ่นสำหรับทำหน้าฆ้อง จะใช้เหล็กแผ่น ขนาดความหนา 5 มิลลิเมมตร กว้างประมาณ 1 เมตร หรือตามขนาดของหน้าฆ้องที่ต้องการ ใช้วงเวียนวาดและตัดเป็นวงกลม
2.การเตรียมเหล็กเส้นสำหรับทำขอบ ขนาดความกว้างขึ้นขนาดของฆ้อง เช่น ถ้าจะทำฆ้องขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 60 เซนติเมตร จะใช้ขอบขนาด 7 เซนติเมตร
3.เชื่อมขอบฆ้องกับหน้าฆ้องเข้าด้วยกัน
4. เตรียมเหล็กเส้นเล็ก ๆ ขนาดความกว้างประมาณ 1 นิ้ว มาติดซ้อนที่ขอบอีกรอบ เหล็กเส้นนี้จะช่วยทำให้ฆ้องมีเสียง
5.เริ่มการตีขึ้นรูปจูมของฆ้องก่อน โดยใช้ค้อนตีส่วนกลางหน้าฆ้องให้นูนขึ้น ถ้าเป็นฆ้องขนาดใหญ่ตีบนพื้นดินที่ขุดหลุมไว้ แต่ถ้าเป็นฆ้องขนาดเล็กจะตีกับไม้หมอนที่เจาะร่องเป็นวงกลมไว้แล้ว หรือเรียกอีกอย่างว่า “เบ้า” กล่าวคือมีทั้งเบ้าดินและเบ้าไม้ หัวค้อนที่ใช้ตีจะมี 2 ลักษณะ ด้านหนึ่งจะใช้ตีให้นูน อีกด้านหนึ่งจะใช้ตีจิกให้เป็นร่อง
6. ตีจูมรอบ ๆ อีก 9 จูม ซึ่งจะมีขนาดเล็กกว่าจูมตรงกลาง
7. ตีจิกรอบ ๆ จูมทุกจูม เพื่อให้เห็นจูมที่ชัดเจน
8. ตีเพื่อไล่เสียงหรือทำให้ฆ้องเกิดเสียง เป็นขั้นตอนสำคัญในการตีฆ้อง โดยใช้ค้อนตีไปบนฆ้อง ซึ่งจะสังเกตเห็นได้ว่าจะเป็นรอยหัวค้อนเต็มไปหมด ระหว่างตีก็จะยกฆ้องขึ้นแขวนแล้วใช้กำปั้นทุบตรงจูมกลาง เพื่อทดสอบดูว่าเกิดเสียงหรือได้เสียงทุ้มกังวานตามที่ต้องการหรือยัง ฆ้องที่มีเสียงดีเมื่อตีแล้วจะดัง “โมง” ยาว ๆ เวลาตีส่วนใหญ่จะเข้าไปตีในป่า เพื่อลดมลภาวะทางเสียงที่จะรบกวนคนในชุมชน
9. ตกแต่งลวดลายของฆ้อง โดยใช้สีน้ำมัน และนิยมใช้สีดำ ทาให้ทั่วทั้งด้านนอกและด้านใน จากนั้นก็จะวาดลวดลายลงบนฆ้องให้สวยงาม นิยมทำลวดลายด้วยสีทอง เทคนิคให้การทำให้สีลื่นเขียนได้ง่ายคือ การใช้สีน้ำมันผสมกับแลกเกอร์เล็กน้อย
10.เจาะรูเพื่อร้อยเชือกสำหรับแขวน โดยจะเจาะตรงกลางขอบ และใช้เชื่อกจะมัดปมเเดียวและไม่ให้ส่วนใดส่วนหนึ่งไปติดกับฆ้อง ไม่อย่างนั้นแล้วฆ้องจะไม่เกิดเสียงทุ้ม
11.ถ้าต้องการให้ฆ้องมันวาว สวยงาม จะขัดด้วยไขปลาวาฬ
12.การทำไม้ตีฆ้อง วัสดุที่ใช้คือไม้สำหรับทำด้าม ยาง (นิยมใช้ยางในรถจักรยานยนต์) กระสอบป่าน (ปอ) ผ้าสีเหลือง และเชือกไนล่อน ขั้นตอนการทำจะนำยางรถ หรือกระสอบป่านมาตัดเป็นเส้นยาว ๆ ความกว้างให้เหมาะสมกับฆ้องแต่ละขนาด กล่าวคือ ฆ้องเล็ก ใช้ไม้ตีเล็ก ฆ้องใหญ่ใช้ไม้ตีใหญ่ นำมาพันกับด้ามให้แน่น หลาย ๆ รอบ จนได้ขนาดที่ต้องการ นำผ้าสีเหลืองมาพันรอบสุดท้าย จากนั้นนำเชือกไนล่อนมาพันกลับไปกลับมาให้หัวฆ้องแน่นหนา เมื่อตีจะได้ไม่หลุด
ที่ตั้ง บ้านทรายมูล
บ้านทรายมูล ตำบลทรายมูล อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี
พิกัดภูมิศาสตร์ บ้านทรายมูล
15.264188, 105.279116
บรรณานุกรม
คณะกรรมการดำเนินงานฝ่ายจัดทำหนังสือ. (2545). พิบูลมังสาหาร 139 ปี. อุบลราชธานี: พูลเพิ่มการพิมพ์.
ภูวนัย ทรายมูล. (2560). สัมภาษณ์ 21 เมษายน 2560