แก่งสะพือ เกาะแก่งหินที่สวยงามกลางลำน้ำมูล บริเวณอำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี พบเห็นได้ชัดเจนเมื่อน้ำลดในฤดูร้อน เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวอุบลราชธานี และเป็นจุดที่จะได้ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรจังหวัดอุบลราชธานีเป็นครั้งแรกและได้เสด็จพระราชดำเนินมาชมความสวยงามที่แก่งสะพือด้วย
แก่งสะพือ ซำพือ งูใหญ่กลางลำน้ำมูล
แก่งสะพือ มาจากคำว่า “ซำพือ” (ภาษาส่วย หรือ กูย) แปลว่า งูใหญ่ ตามลักษณะของแก่ง ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลพิบูลมังสาหาร อำเภอพิบูลมังสาหาร แก่งสะพือเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติตามสภาพภูมิศาสตร์ซึ่งมีชื่อเสียงมานานคู่กับจังหวัดอุบลราชธานี แม่น้ำมูลบริเวณแก่งสะพือมีความกว้างถึง 1 กิโลเมตร ในฤดูแล้งสามารถเดินข้ามไปมาระหว่างสองฝั่งได้ โดยลัดเลาะไปตามโขดหิน และเดินลุยน้ำเป็นบางตอน
ในลำน้ำมูลกลางแก่งสะพือมีเทวรูปหินในท่าประทับนั่งทรงจักรทางหัตถ์ขวา และดอกบัวทางหัตถ์ซ้าย ชาวบ้านเรียกว่า “พระพือ” หรือ “หินพระนารายณ์” ค้นพบที่ร่องน้ำกลางแก่งสะพือ เชื่อกันว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ควรเคารพบูชา หนุ่มสาวชาวอำเภอพิบูลมังสาหารและใกล้เคียง สมัยก่อนมักจะชวนกันลงไปสาบานรักต่อพระพักตร์ของเทวรูปนี้เพื่อขอพรให้ความรักสมปรารถนา ต่อมา พ.ศ.2506 จึงถูกเคลื่อนย้ายขึ้นบนบก ปัจจุบันประดิษฐานในโบสถ์วัดสระแก้ว
ความงดงามของแก่งสะพือเป็นแรงจูงใจให้ผู้ประพันธ์เพลงจินตนาการตามธรรมชาติให้นักร้องผู้มีชื่อเสียง เช่น ทูล ทองใจ ขับร้องมาแล้ว ปัจจุบันแก่งสะพือได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูลทำให้น้ำท่วมแก่ง จึงได้เกิดข้อตกลงร่วมกันคือ เมื่อถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์นั้นให้ทางเขื่อนปากมูลปล่อยน้ำออกเพื่อลดระดับน้ำลงจนสามารถชมเกาะแก่งได้ ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการท่องเที่ยวแก่งสะพือ คือ เดือนมกราคม-พฤษภาคม ชาวอุบลราชธานีนิยมไปเที่ยวชมแก่งสะพือกันอย่างคึกคักในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปัจจุบันมีบริการให้เช่าเรือท่องเที่ยว สำหรับล่องชมลำน้ำมูลไปยังสถานที่ต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงกับแก่งสะพืออีกด้วย
นอกจากการเที่ยวชมแก่งสะพือเพื่อพักผ่อนหย่อนใจแล้ว ภายในบริเวณแก่งสะพือยังมีร้านค้าต่าง ๆ ที่ขายสินค้าพื้นเมืองแก่นักท่องเที่ยว สินค้าขึ้นชื่อ อาทิ กล้วยทอดหรือกล้วยเบรกแตกทอดใหม่ ๆ ทุกวัน มีความกรอบ หวานหอม กินแล้วจะติดใจจนหยุดไม่ได้ หนังกบแห้ง ปลาแห้ง ปลาย่าง เป็นต้น
ในหลวง รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ แก่งสะพือ
ในปี พ.ศ. 2498 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระมหากรุณาธิคุณเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรจังหวัดอุบลราชธานีเป็นครั้งแรก โดยในการเสด็จฯ ครั้งนี้ ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรในอำเภอพิบูลมังสาหาร ทอดพระเนตรแก่งสะพือ และเสวยพระกระยาหารกลางวัน ในวันพฤหัสบดีที่ 17 พฤศจิกายน 2498 เวลา 14.30 น. ก่อนที่จะเสด็จฯ กลับสู่ที่ประทับกองพลที่ 6 เสวยสุธารส ประทับแรมที่กองพลที่ 6 และในวันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน 2498 กองทัพอากาศได้จัดเครื่องบินดาโกต้า และเฮลิคอปเตอร์ถวายเพื่อเสด็จฯ ทอดพระเนตรภูมิประเทศตามพระราชอัธยาศัย และเสด็จฯ แก่งสะพืออีกครั้ง
ปัจจุบันยังมีแผ่นจารึกพระปรมาภิไธยประดิษฐานบนแผ่นหินขนาดใหญ่รูปทรงแปลก ณ ริมแก่งสะพือฝั่งขวา ตั้งไว้เพื่อให้พสกนิกรได้ชื่นชมและระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของทั้งสองพระองค์มาตราบเท่าทุกวันนี้
หินพระปรมาภิไธยนี้ เดิมเป็นหินทรายที่นำมาจากวัดสระแก้ว มีขนาดความกว้าง 80 เซนติเมตร ยาว 120 เซนติเมตร หนา 25 เซนติเมตร เป็นหินทรายสีน้ำตาล ชาวบ้านคุมวัดสระแก้วนำมาขัดเกลาตกต่างจนเรียบงาม จึงนำขึ้นทูลเกล้าฯ ให้ลงพระปรมาภิไธย เมื่อวันที 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2498 แรกทีเดียวเป็นรอยชอล์กสีขาว ต่อมาจึงได้นำไปแกะสลักตามรอยเดิม เสร็จเรียบร้อยเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2508 และได้จัดสร้างแท่นหินที่ประดิษฐานขึ้นบริเวณริมแม่น้ำมูลใกล้บันไดคอนกรีตลงสู่แก่งสะพือ โดยประกอบพิธี พ.ศ.2510 และแล้วเสร็จในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2510 ชาวอำเภอพิบูลมังสาหาร ได้จัดงานเฉลิมฉลองเป็นเวลา 5 วัน 5 คืน ซึ่งถือเป็นงานยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของชาวอุบลราชธานี
ศาลพละงุม สร้างขึ้นโดยชนกลุ่มลาวอพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งจึงได้ตั้งศาลขึ้นเคารพกราบไหว้ใต้ต้นไม้ใหญ่ระหว่างฝั่งแม่น้ำมูลกับสระแก้ว ซึ่งเปรียบเสมือนศาลหลักเมืองของชาวพิบูลมังสาหาร ศาลพละงุมแต่ก่อนเป็นเรือนไม้ขึงด้วยผ้าแดง ภายหลังได้ถูกรื้อและสร้างใหม่เป็นรูปทรงแบบจีน และยังเป็นที่เคารพกราบไหว้ของชาวเมืองเหมือนเดิม
ที่ตั้ง แก่งสะพือ
เทศบาลตำบลพิบูลมังสาหาร ตำบลพิบูลมังสาหาร อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี
พิกัดภูมิศาสตร์ แก่งสะพือ
15.245815, 105.243675
บรรณานุกรม
มหาวิทยาลัยขอนแก่น. (2540). รอยเสด็จ เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พุทธศักราช 2498. กรุงเทพฯ : หอรัตนชัยการพิมพ์.
สมนึก พานิชกิจ. (2542). สะพือ, แก่ง. ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่มที่ 13.กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.