ภูกระแต ตั้งอยู่ริมอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิรินธร อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี เป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจของชาวอุบลราชธานี
ประวัติชุมชนภูกระแต อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี
ปริวรรต สมนึก (2552) ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ของชุมชนเกาะภูกระแตและบันทึกไว้ในวิทยานิพนธ์เรื่องการพัฒนาธุรกิจการท่องเที่ยวที่มีชุมชนเป็นฐาน เกาะภูกระแต ตำบลโนนกลาง อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี พบว่า ชุมชนเกาะภูกระแตเริ่มขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2441 โดยบรรพบุรุษชาวเมืองขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ ได้พากันมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณ “เมืองโดม” ซึ่งในอดีตมีฐานะเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดอุบลราชธานี โดยมีนายอำเภอที่ทางราชการตั้งให้ชื่อ หลวงอุตมะเข (นายผาย นนท์ศิริ) ต่อมามีการแต่งงานระหว่างคนใน 4 หมู่บ้าน ทำให้เกิดตระกูลดั้งเดิมอยู่ในเวลานั้น 3 ตระกูลด้วยกัน ชุมชนตั้งอาศัยอยู่ริมน้ำโดมน้อย อันประกอบด้วย หมู่บ้าน 4 หมู่ด้วยกัน และมีจำนวนคนประมาณ 400 หลังคาเรือน
ต่อมาในปี พ.ศ. 2511 ทางราชการได้มีการสร้างเขื่อนสิรินธร ทำให้บริเวณดังกล่าวถูกน้ำท่วม เนื่องจากเป็นพื้นที่ต่ำจนกลายเป็นเมืองบาดาลที่จมน้ำ ประชาชนแถบนั้นได้รับค่าชดเชยจากที่ทำกินและที่อยู่อาศัยเสียหาย จึงได้แยกย้ายไปอยู่ในพื้นที่ซึ่งรัฐบาลจัดสรรให้และชุมชนเกาะภูกระแตในปัจจุบัน โดยกำนันบุญศรี จันทรสมาน ได้พาชาวบ้านอพยพมา ประมาณ 30-40 หลังคาเรือน โดยมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณที่นาอันอุดมสมบูรณ์ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “บ้านสี่แยกโดมประดิษฐ์” จนถึงปัจจุบัน หลังจากนั้นชุมชนใหญ่ขึ้นก็ได้มีการแยกหมู่บ้านออกไปตั้งเป็น บ้านหนองมะเกลือและบ้านโนนกลาง ตามลำดับ
ภูกระแต บนริมอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิรินธร
เกาะภูกระแต มีลักษณะเป็นเกาะกลางน้ำที่น้ำท่วมไม่ถึงตลอดทั้งปี มีพื้นที่ประมาณ 250 ไร่ ในช่วงฤดูฝนจะมีน้ำล้อมรอบ เป็นเกาะตั้งแต่เดือนกันยายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ที่เรียกว่า “ภูกระแต” เมื่อชาวบ้านมองจากหมู่บ้านขึ้นมาจะเห็นเป็นเนินสูง ซึ่งชาวอีสานจะเรียกเนินว่า ภู และบนภูนั้นมีกระแตซึ่งเป็นสัตว์ป่าชนิดเดียวกันกับกระรอกอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จึงเรียกขานเนินนี้มาว่า “ภูกระแต” สำหรับน้ำที่ล้อมรอบเกาะภูกระแตนั้น เป็นน้ำจากการสร้างเขื่อนสิรินธรเมื่อปี พ.ศ. 2511 หรือน้ำในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนสิรินธรนั่นเอง
ภูกระแตเป็นภูหินปนป่าเบญจพรรณ ที่มีพืชสมุนไพรหลายชนิดขึ้น ในฤดูฝนจะมีเห็ดและมีแมลงต่าง ๆ ที่เป็นแหล่งอาหารของชุมชน ส่วนที่เป็นพื้นที่น้ำจะมีโป๊ะสำหรับตักปลาแก้วและเครื่องมือหาปลาชนิดต่าง ๆ ที่ชาวบ้านใช้ทำการหาปลา นับว่าเป็นเกาะที่กลางน้ำที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรป่าไม้ มีความหลากหลายทางชีวภาพ ชุมชนจะช่วยการอนุรักษ์และรักษาไว้เพื่อการดำรงชีพ และไม่มีชาวบ้านเข้าไปอาศัยอยู่บนเกาะ
บริเวณรอบ ๆ เกาะภูกระแต จะมีทิวทัศน์ที่สวยงาม ในช่วงฤดูแล้งน้ำจะแห้งทำให้สามารถข้ามไปท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจได้ หากเดินทางไปในช่วงหน้าฝนจะต้องนั่งเรือหรือแพหาปลาของชาวบ้านเข้าไป เกาะภูกระแตสามารถลงไปเล่นน้ำและหาดทรายได้ทางด้านทิศเหนือและทิศใต้ของเกาะ ส่วนทางด้านทิศตะวันตกเป็นด้านทางเข้าถือว่าเป็นด้านหลังเกาะ จะเป็นที่ตั้งของสำนักสงฆ์ภูกระแตธรรมตาราม
ภูกระแตอยู่ห่างจากตัวเมืองอุบลราชธานี ตามถนนเส้นทางหลวงหมายเลข 217 สายอุบลราชธานี-วารินชำราบ-พิบูลมังสาหาร-สิรินธร-ช่องเม็ก ประมาณ 70 กิโลเมตร เดินทางตามเส้นทางตามที่กล่าวมา เมื่อผ่านจุดตรวจบ้านนาเจริญประมาณ 2 กิโลเมตร จะพบป้ายชี้บอกทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโดมน้อยทางด้านขวามือ เลี้ยวขวาเข้าไปอีกประมาณ 12 กิโลเมตร จะเป็นถนนเลียบคลองส่งน้ำชลประทาน ผ่านบ้านคำก้อม บ้านโนนจิก จนกระทั่งถึงบ้านหนองมะเกลือทางด้านซ้ายมือ จะเป็นหมู่บ้านแรกของชุมชนเกาะภูกระแต และบ้านโดมประดิษฐ์ ตลอดจนบ้านโนนกลาง และภูกระแต ตามลำดับ
เมื่อเดินทางมาถึงภูกระแต จะได้เห็นวิถีชีวิตของชุมชน นั่นคือ การทำประมง ที่เรียกว่า โป๊ะตักปลาแก้ว ซึ่งจะเป็นการยกยอปลาของแต่ละหมู่บ้าน การประมงโดยใช้แห อวน และเบ็ดตกปลา โดยใช้เรือหางยาวขนาดเล็กจำนวนที่นั่ง 5 คนและแพเป็นพาหนะในการหาปลา
เกาะภูกระแตนั้น เป็นทั้งแหล่งศึกษาธรรมชาติและแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ นักท่องเที่ยวนิยมไปพักผ่อน เล่นน้ำ และรับประทานอาหารร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงวันสงกรานต์
ที่ตั้ง ภูกระแต
ตำบลโนนกลาง อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี
พิกัดภูมิศาสตร์ ภูกระแต
15.079716, 105.373235
บรรณานุกรม
ปริวรรต สมนึก. (2552). การพัฒนาธุรกิจการท่องเที่ยวที่มีชุมชนเป็นฐาน เกาะภูกระแต ตำบลโนนกลาง อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี. วิทยานิพนธ์ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาการท่องเที่ยว. เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยแม่โจ้.