สามพันโบก แก่งหินที่เกิดการเซาะกัดของน้ำในแม่น้ำโขงจนเกิดเป็นหลุมหรือโบกหลายพันโบกที่มีรูปร่างต่าง ๆ บนสันดอนกว้างใหญ่กว่า 30 ตารางกิโลเมตร เป็นศิลปกรรมที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ไว้อย่างสวยงาม ช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการท่องเที่ยว คือ ปลายฤดูหนาวและฤดูร้อนซึ่งน้ำจะลดทำให้มองเห็นโบกได้ชัดเจน ความสนุกสนาน คือ การตามหาโบกและจินตนาการความสวยงามของโบกต่าง ๆ บริเวณใกล้เคียงสามพันโบกจะมีหาดสลึง แก่งสองคอน ปากบ้อง หินผาศิลาเลข หาดหงส์ ชมวิถีชีวิตการประมงริมฝั่งโขง ตั้งอยู่ในอำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี
สามพันโบก
สามพันโบกเกิดจากการที่น้ำในลำน้ำโขงกัดเซาะแผ่นหินราบมาหลายพันปี เกิดเป็นหลุมหรือแอ่งที่มีขนาดและรูปร่างแตกต่างกันออกไป คนในพื้นที่จะเรียกหลุมหรือแอ่งนี้ว่า โบก ซึ่งบริเวณดังกล่าวมีหลุมในลักษณะนี้มากมายเป็นพัน ๆ จึงเป็นที่มาของชื่อว่า สามพันโบก หินบางก้อนถูกกัดกร่อนคล้ายงานแกะสลักรูปสัตว์ รูปหัวใจ รูปมิกกี้เมาส์ หรือตามแต่จินตนาการของผู้ชม
สามพันโบก เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาภูพานตอนปลายเป็นแนวหินทรายที่ทอดตัวยาวริมฝั่งแม่น้ำโขงที่กั้นระหว่างประเทศไทยและลาว เกิดเป็นสันดอนขนาดใหญ่กว่า 30 ตารางกิโลเมตร และเกิดเป็นร่องน้ำขนาดใหญ่ สูงประมาณ 3-7 เมตร กว้าง 20 เมตร เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาตามธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง
การเดินทางไปท่องเที่ยวสามพันโบก สามารถเดินทางไปได้ทั้งทางบกและทางน้ำ คือ สามารถขับรถไปชมความงามของสามพันโบกอย่างเดียว รถสามารถวิ่งเขาไปถึงและมีที่จอดรถไว้บริการ หรือหากต้องการชมบรรยากาศและศึกษาวิถีชีวิตโดยรอบสามพันโบก จะนิยมลงเรือที่หาดสลึง ปากกะกลาง ตำบลสองคอน โดยสารเรือล่องไปตามลำน้ำโขงระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร ซึ่งก็จะได้พบกับแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ ได้แก่
หาดสลึง
หาดสลึง เป็นจุดลงเรือเพื่อล่องชมแม่น้ำโขง ในช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม เมื่อน้ำในแม่น้ำโขงลดลง จะมองเห็นหาดทรายสีขาวที่สวยงามริมฝั่งแม่น้ำโขง ที่มาของชื่อ “หาดสลึง” มีเรื่องเล่ากันมาว่า สมัยก่อนการคมนาคมยังจำเป็นต้องใช้เรือในการสัญจรและการค้าขาย มีพ่อค้าคนหนึ่งชื่อว่านายหลาง มักจะมาจอดเรือที่หาดแห่งนี้ทุกปีในช่วงเดือนเมษายน เมื่อนายหลางเดินลงบนหาดทรายโดยไม่สวมรองเท้า จะรู้สึกได้ถึงความร้อนระอุ จนเกิดความคิดท้าทายไว้ว่า ถ้าใครสามารถวิ่งจากหัวหาดไปจนถึงท้ายหาดได้โดยไม่สวมรองเท้าและไม่หยุดพัก ซึ่งเป็นระยะทางกว่า 860 เมตร จะได้รางวัลจากนายหลางเป็นเงิน 1 สลึง ชาวบ้านจึงขนานนามหาดแห่งนี้ว่า “หาดสลึง” และที่บริเวณนี้ปัจจุบันได้จัดให้มีบริการต่าง ๆ แก่นักท่องเที่ยวและเหมาะสำหรับการเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการล่องเรือชมแม่น้ำโขง
ปากบ้อง
ปากบ้อง หรือ ช่องแคบ เป็นจุดชมวิวที่หมู่บ้านสองคอน เป็นจุดที่แม่น้ำโขงไหลพาดปะทะแนวเทือกเขาภูพานตอนปลาย เป็นหน้าผาหินที่เกิดจากรอยแยกตัวของแผ่นหินทรายเปลือกโลก ลักษณะเหมือนคอขวด ส่วนที่แคบที่สุดวัดได้ 56 เมตร เป็นจุดที่แม่น้ำโขงแคบที่สุด ซึ่งจะเห็นได้ช่วงที่แม่น้ำโขงลดระดับลงในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงมิถุนายน ชมวิถีชีวิตการทำประมงริมแม่น้ำโขง ซึ่งจะใช้วิธีการที่เรียกว่า “ตักปลา” โดยใช้กระชอนตักที่ริมฝั่งโขง นอกจากนั้นก็มีการใช้กระชอน แห เบ็ดราว ปลาที่หาได้ เช่น ปลากด ปลาเอิน ปลาคัง ปลาเนื้ออ่อน ซึ่งจะอาศัยตามตลิ่ง โขดหิน และทราย ช่วงเดือนมิถุนายน น้ำโขงจะขุ่นและไหลเชี่ยว จะเป็นช่วงที่ปลาขึ้น ซึ่งชาวประมงจะหาปลาได้เยอะ ชาวบ้านสองคอนจะมีประเพณีการตักปลา เป็นประเพณีที่น่าสนใจที่นักท่องเที่ยวและคนต่างถิ่นนิยมเข้าไปชมการจับปลาที่ว่ายจากเวินน้ำกว้างที่จะแหวกว่ายผ่านปากบ้องทวนกระแสน้ำเพื่อขึ้นไปวางไข่เป็นจำนวนมาก
ผาวัดใจ
ผาวัดใจ เป็นชะง่อนผาหินทรายที่ยื่นออกไปในลำน้ำโขงเหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชอบความท้าทายสามารถขึ้นไปกระโดดหน้าผาเพื่อวัดใจได้ และเป็นจุดถ่ายภาพที่สวยงามจุดหนึ่ง
แก่งสองคอน
แก่งสองคอน มีลักษณะเป็นเกาะหินขนาดใหญ่อยู่กลางลำน้ำโขง เรียกว่า หินหัวพะเนียง มีรูปร่างคล้ายใบไถ หรือแท่นไม้ที่ใช้สวมใบไถ ทำให้สายน้ำแยกออกเป็นสองสายหรือสองคอน ซึ่งในภาษาถิ่น คอน แปลว่า แก่ง ซึ่งเป็นที่มาของชื่อบ้าน และตำบลสองคอน บริเวณนี้น้ำจะไหลแรง และมีน้ำวน
หินผาศิลาเลข
หินผาศิลาเลขเป็นร่องรอยประวัติศาสตร์สมัยที่ฝรั่งเศสรุ่งเรืองในแถบอินโดจีน ฝรั่งเศสได้นำเรือกลจักรไอน้ำมาใช้ในการขนส่งสินค้าระหว่างหลี่ผีไปเวียงจันทน์ จะมีการแกะสลักตัวเลขไว้ที่หน้าผาหิน เพื่อบอกระดับน้ำในแม่น้ำโขงเพื่อความปลอดภัยในการเดินเรือ เนื่องจากบริเวณนี้ช่วงที่น้ำหลากจะมีแนวหินโสโครกจำนวนมาก ทำไว้กว่า 200 ปีแล้ว หินผาศิลาเลขอยู่ก่อนถึงหาดหงส์
ลานหินปะการังน้ำจืด
ลานหินปะการังน้ำจืด เกิดจากการกัดเซาะของน้ำเต็มไปทั่วทั้งบริเวณมีลักษณะคล้ายปะการัง
ลานหินสี
ลานหินสีเป็นหินที่มีลักษณะเงามัน ลื่น สันนิษฐานว่าเป็นหินของลูกอุกกาบาตที่ตกบริเวณนี้ หินมีน้ำหนักมากกว่าปกติ เมื่อแตกจะแตกออกเป็นแผ่น เมื่อโดนแดดเผาจะมีผิวมันวาวขึ้น
หินแจกัน
หินแจกัน มีลักษณะรูปร่างคล้ายแจกันสลักอยู่บนโขดหิน
หาดหงส์
หาดหงส์ เป็นเนินทรายแม่น้ำโขงที่เกิดจากการพัดพาของน้ำและนำตะกอนทรายมาทับถมกันจนลักษณะพื้นที่เป็นพื้นทรายกว้างคล้ายกับทะเลทราย เมื่อแสงของดวงอาทิตย์กระทบกับทรายสีขาวจะเกิดความระยิบระยับสวยงาม ข้างหลังเป็นหน้าผาทราย มีแอ่งน้ำเล็ก ๆ ระยะหลังนี้บริเวณหาดหงส์จะมีหญ้าขึ้นปกคลุมมาก เนื่องจากปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงลดลง มีเวลาที่น้ำท่วมน้อยเพียง 1-2 เดือนเท่านั้น ทำให้หญ้าบริเวณนั้นยังไม่ตาย จึงเกิดขึ้นปกคลุมหาดหงส์บดบังความสวยงามไปอย่างมาก แต่ถ้าเมื่อใดที่น้ำในแม่น้ำโขงมาก น้ำท่วมถึงบริเวณหาดหงส์นานสามเดือนหญ้าจะตาย เกิดเป็นหาดหงส์ที่สวยงาม
ชมรมเรือนำเที่ยว หาดสลึง
ชมรมเรือนำเที่ยว หาดสลึง ตั้งอยู่ที่บ้านปากกะลาง ตำบลสองคอน อำเภอโพธิ์ไทร เกิดขึ้นจากการที่สามพันโบกมีชื่อเสียงขึ้นมา มีผู้คนหลั่งไหลเข้ามาชมกันอย่างมากมาย ชุมชนและหน่วยงานทางราชการจึงได้จัดให้มีเรือนำเที่ยวขึ้น เพื่อส่งเสริมและบริการนักท่องเที่ยวในการเที่ยวชมสามพันโบก และแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียงในลำน้ำโขง ซึ่งได้รับอนุญาตและรับรองมาตรฐานจากกรมเจ้าท่าและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยแล้ว ชมรมเรือนำเที่ยวนี้ได้ผ่านการอบรมการช่วยเหลือทางน้ำ การอบรมการเป็นผู้นำเที่ยวหรือมัคคุเทศก์ มีการบริหารจัดการในรูปของคณะกรรมการ สมาชิกที่เข้ามาร่วมในชมรมมี 16 ราย ซึ่งเงื่อนไขการเข้าชมรมนอกจากจะมีเรือและขับเรือได้แล้ว จะต้องรู้จักร่องน้ำต่าง ๆ สามารถเป็นมัคคุเทศก์ได้
การท่องเที่ยวในกลุ่มแหล่งท่องเที่ยวสามพันโบกนี้ ผู้คนจะนิยมมาชมความสวยงามของธรรมชาติในช่วงฤดูน้ำลด ตั้งแต่เดือนธันวาคม-พฤษภาคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวันหยุดเทศกาลต่าง ๆ เช่น วันปีใหม่ วันสงกรานต์ และช่วงวันหยุดยาว ผู้ที่มาเที่ยวชมควรเตรียมพร้อมพกร่ม หมวก หรืออุปกรณ์กันร้อนต่าง ๆ ด้วย เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวจะมีอากาศร้อนและแดดแรง ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการชมคือ 15.00-18.00 น. นอกจากการได้ชื่นชมความสวยงามของสถานที่ต่าง ๆ ชมวิถีชีวิตของคนริมฝั่งโขง ในบริเวณสามพันโบกและพื้นที่โดยรอบแล้ว การไปเที่ยวสามพันโบกยังมีความท้าทายอีกอย่าง นั้นคือ ในการตามหาโบกที่มีรูปร่างต่าง ๆ และการสร้างสรรค์จินตนาการจากหินและโบกที่มีรูปร่างต่าง ๆ อีกด้วย
ที่ตั้ง สามพันโบก
บ้านโป่งเป้า ตำบลเหล่างาม อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี
พิกัดภูมิศาสตร์ สามพันโบก
15.795562, 105.395251
บรรณานุกรม
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. (2560). หาดสลึง, 21 กันยายน 2560. https://thai.tourismthailand.org/สถานที่ท่องเที่ยว/หาดสลึง–3296
นายสัญจร ตะลอนทัวร์. (2556). มหัศจรรย์ลำน้ำโขง สามพันโบกอุบลราชธานี. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เที่ยวเมืองไทย.
ท่องเที่ยว ณ องค์การบริหารส่วนตำบลสองคอน. (แผ่นพับ)
วิจิตร จารุวงศ์. (2560). สัมภาษณ์ 17 เมษายน 2560