อาสนวิหารแม่พระนิรมล (วัดบุ่งกะแทว) วัดคาทอลิกวัดแรกของภาคอีสาน

อาสนวิหารแม่พระนิรมล (วัดบุ่งกะแทว) อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เป็นวัดคาทอลิกวัดแรกของภาคอีสาน คนทั่วไปนิยมเรียกว่า “วัดโรมัน” ผู้ริเริ่มก่อตั้ง คือพระสงฆ์คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1881

church1

ประวัติอาสนวิหารแม่พระนิรมล (วัดบุ่งกะแทว)

เดิมอาสนวิหารแม่พระนิรมล (วัดบุ่งกะแทว) เป็นวัดเล็ก ๆ มีสัตบุรุษประมาณ 30 คน ต่อมาเป็นศูนย์กลางของงานแพร่ธรรมในภาคอีสานอยู่เป็นเวลายาวนานจนกลายเป็นวัดขนาดใหญ่และเป็นวัดศูนย์กลางของสังฆมณฑลอุบลราชธานี ปัจจุบัน มีสัตบุรุษประมาณ 3700 คน

ก่อตั้งโดย พระคุณเจ้า หลุยส์ เวย์ ซึ่งเป็นพระสังฆราชปกครองมิสซังคาทอลิกทั้งในประเทศไทย และลาว ได้แต่งตั้งคุณพ่อยวง บัปติสต์โปรดม และคุณพ่อซาเวียร์ เกโก พระสงฆ์มิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส ให้เดินทางจากกรุงเทพฯ มายังเมืองอุบลฯ เพื่อเริ่มงานแพร่ธรรมในภาคอีสาน

church4

สาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ตัดสินใจมาแพร่ธรรมที่เมืองอุบล ฯ สืบเนื่องมาจากพระคุณเจ้าหลุยส์ เวย์ ได้รู้จักกับเจ้าพรหมเทวาเสด็จหน่อคำ ข้าหลวงเมืองอุบลฯ เมื่อเจ้าพรหมเทวา กลับไปกรุงเทพฯ มักจะพบปะกับคณะธรรมทูตที่จะไปแพร่ธรรมอยู่ภายใต้อำนาจปกครองของท่าน ดังนั้นคณะคุณพ่อพร้อมด้วยครูคำสอน 1 คน และผู้ติดตามอีกจำนวนหนึ่ง จึงได้เดินทางมาถึงเมืองอุบล ฯ เมื่อวันที่ 24 เมษายน ค.ศ. 1881 คณะของคุณพ่อได้รับการต้อนรับจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมืองเป็นอย่างดี โดยจัดให้คณะคุณพ่อที่พักอยู่ห้องด้านหนึ่งของศาลากลางจังหวัดเป็นการชั่วคราว  ขณะที่พักอยู่ที่ศาลากลาง คณะคุณพ่อก็ได้ช่วยเหลือเด็กและสตรีที่ถูกพวกกุลาจับตัวมาจากเมืองพรวน ในแคว้นลาว จำนวน 18 คน เพื่อขายเป็นทาสจนได้รับอิสระ บรรดาทาสเหล่านี้ได้ขออยู่ในความคุ้มครองของคุณพ่อและได้สมัครเรียนคำสอน เป็นคาทอลิกรุ่นแรกของเมืองอุบลฯ

คณะคุณพ่อได้ขอร้องให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองช่วยจัดหาที่ดินเพื่อปลูกสร้างที่อยู่อาศัย เจ้าหน้าที่บ้านเมืองได้มอบที่ดินทางทิศตะวันตกของเมืองอุบลฯ ให้ เป็นบริเวณบึง (บุ่ง) ตามลุ่มฝั่งแม่น้ำมูล เคยมีคนตั้งบ้านเรือนอยู่ที่นี่มาก่อน แต่ได้ละทิ้งไปเพราะอยู่ท่ามกลางป่าดงดิบ มีไข้ป่าและโรคระบาด คนล้มตายเป็นจำนวนมาก ที่บริเวณนี้ชาวบ้านเรียกว่า “บุ่งกะแทว” เมื่อคุณพ่อสำรวจดูแล้วก็มีความพอใจและยังได้พบสวนแห่งหนึ่งซึ่งเจ้าของทำ การเพาะปลูก เพียงครึ่งเดียว คุณพ่อโปรดม จึงซื้อไว้ แล้วคุณพ่อก็ได้ย้ายเข้าไปอยู่ในสวนนั้นเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ค.ศ. 1881 ต่อมาคุณพ่อได้ซื้อบ้านทรงลาว เป็นบ้านมีใต้ถุนสูงหลังเล็ก ๆ บ้านหลังนี้ใช้เป็นโรงสวดและวัดน้อยหลังแรกอีกทั้งยังเป็นที่พักของคุณพ่อด้วย ส่วนคณะผู้ติดตาม พวกทาสที่คุณพ่อได้ช่วยให้ได้รับอิสระ และคนเจ็บป่วยพิการที่ขอให้ความคุ้มครองของคุณพ่อ ก็พากันสร้างกระท่อมอยู่ใกล้ ๆ กับคุณพ่อ เป็นกลุ่มคริสตชนกลุ่มแรกของเมืองอุบล ฯ มีจำนวนประมาณ 30 คน คณะคุณพ่อและคริสตชนกลุ่มแรกนี้มีความศรัทธาต่อแม่พระมาก จึงได้เลือกแม่พระเป็นองค์อุปถัมภ์ของวัดน้อยของพวกเขา โดยตั้งชื่อวัดว่า “แม่พระนฤมลทิน”

church2  การเติบโตของคริสตชนบุ่งกะแทว ด้วยความปรารถนาที่จะช่วยวิญญาณให้รอด บรรดาพระสงฆ์และนักบวชที่มาอยู่บุ่งกะแทวได้เป็นผู้นำในการสืบต่อมาเรื่อย ๆ ทำให้จำนวนสัตบุรุษค่อย ๆ เพิ่มขึ้น สัตบุรุษรุ่นแรก ๆ ประกอบด้วยทาสเชลยที่คุณพ่อได้ช่วยให้ได้รับอิสระ คนเจ็บป่วย คนที่มาเข้าศาสนาเพราะกลัวอำนาจผี และชาวเวียดนาม ซึ่งชาวเวียดนามที่มาอยู่ที่อุบลนี้ ฯ พวกแรกเป็นชาวเวียดนามที่มาค้าขายและตั้งหลักแหล่งอยู่ที่อุบลฯ ก่อน ต่อมาภายหลังจึงมีชาวเวียดนามหนีการเบียดเบียนศาสนาและภัยการเมืองอพยพตามมามากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในปี ค.ศ. 1946 และปีต่อ ๆ มาได้มีชาวเวียดนามอพยพมาอยู่ที่เมืองอุบลเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ดีขณะเดียวกันก็ได้มีสัตบุรุษอีกส่วนหนึ่งอพยพหนีไปอยู่ที่อื่น เพราะพื้นที่ทำนาบริเวณบุ่งกะแทวมีน้อย  และการทำนาไม่ค่อยได้ผล เช่น ในปี ค.ศ. 1885 และปีต่อ ๆ มา สัตบุรุษหลายครอบครัวได้อพยพมาอยู่ที่บ้านคำเกิ้ม จ.สกลนคร บ้านบัวท่า บ้านวังกางฮุง บ้านคำกลาง และที่ใกล้เคียง สัตบุรุษเหล่านี้ ได้กลายเป็นผู้บุกเบิก จัดตั้งกลุ่มคริสตชนขึ้นใหม่ในหมู่บ้านเหล่านั้น ในรายงานโอกาสฉลองครบรอบ 25 ปี ของวัดบุ่งกะแทว เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี ค.ศ. 1906 ปรากฏว่าที่วัดบุ่งกะแทว บัวท่า และวังกางฮุง ซึ่งสมัยนั้นใช้บัญชีวัดเล่มเดียวกัน มีสัตบุรุษ จำนวน 1,008 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนลาวภูเทิงและเวียดนาม

church5

อนึ่งเหตุการณ์ทางการเมือง ในช่วงหลังสงครามอินโดจีน บังคับให้ชาวเวียดนามต้องอพยพออกจากตัวจังหวัดไปอยู่ที่บ้านปากเซน้อยบ้าง ที่พิบูลมังสาหารบ้าง และที่อื่น จนกระทั่งถึงช่วงปี ค.ศ. 1961- 1962 สัตบุรุษชาวเวียดนามจำนวนมาก จึงได้พาครอบครัวอพยพกลับไปอยู่ประเทศเวียดนามหรือที่อื่่น กลุ่มคริสตชนวัดบุ่งกะแทวได้เติบโตขึ้นบ้าง ถดถอยลงบ้างอย่างนี้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน  มีผู้รับศีลล้างบาปที่วัดนี้จำนวน 9,750 คน นอกจากงานอภิบาลและงานแพร่ธรรมแล้ว บรรดาคุณพ่อยังต้องเอาใจใส่จัดให้ชาวบ้านอยู่อาศัยในที่ดินที่เจ้าหน้าที่ บ้านเมืองมอบให้บริเวณบุ่งกะแทว ที่ดินที่จัดให้ชาวบ้านอยู่อาศัยนั้นเป็นที่ดิน เพื่อทำประโยชน์ของวัด มีพื้นที่ประมาณ 300 ไร่

church7

ต่อมาจัดให้ชาวบ้านอยู่ในที่ดินวัดได้เกิดมีปัญหายุ่งยากมากจนกระทั่งถึงปี 1958 พระคุณเจ้า เกลาดิอุส บาเย จึงได้บอกเลิกกรรมสิทธิ์ที่ดินจำนวน  270 ไร่ ทางวัดจึงมีที่ดินที่เหลืออยู่เฉพาะส่วน ส่วนที่เป็นพื้นที่ตั้งวัด อาราม สุสานและโรงเรียน ซึ่งอยู่ท่ามกลางชุมชนบุ่งกะแทว จนทุกวันนี้ สำหรับสถานที่ตั้งวัดและโรงเรียนของวัดในปัจจุบันมีพื้นที่ประมาณ 16 ไร่เศษ

การก่อสร้างวัดหลังใหม่ดังได้กล่าวแล้วว่าตั้งแต่เริ่มแรกที่คณะของคุณพ่อได้ย้ายเข้ามาอยู่ที่บุ่งกะแทว เมื่อปี ค.ศ. 1881 นั้น คณะคุณพ่อได้ซื้อบ้านมาปลูกเป็นที่อยู่อาศัย และเป็นวัดน้อยหลังแรกด้วย ต่อมาจึงจำเป็นต้องสร้างวัดหลังใหม่ดังที่ คุณพ่อดาแบง ได้บันทึกไว้เมื่อปี ค.ศ. 1884 ว่า “ที่อยู่และวัดมีสภาพแย่มาก พอแต่ใช้เป็นที่หลบแดดหลบฝนเท่านั้น ไม่มีอะไร ประดับนอกจากเศษผ้ารอบแท่น”

จำนวนคริสตังเพิ่มขึ้น ต้องต่อเติม 1 หรือ 2 ห้อง ออกไปเรื่อย ๆ ดังนั้น ในปี ค.ศ. 1894 คุณพ่อเจ้าวัดและสัตบุรุษจึงได้เริ่มลงมือก่อสร้างวัดอย่างจริงจัง โดยชาวบ้านบุ่งกะแทว ได้ช่วยกันเท่าที่จะทำได้ เช่นไปตัดต้นไม้ในป่าดงดิบด้านทิศตะวันตกของบ้านสีฐานเพื่อใช้เป็นเสา และสามารถตั้งเสาวัดใหม่ได้ในวันที่ 19 มีนาคม ค.ศ. 1895 เสามีความสูง 10 เมตร ใช้ เวลาในการตั้งเสา 10 วัน บริเวณบุ่งกะแทว มีโรงเตาเผาอิฐและโรงเผากระเบื้อง ผนังของวัดจึงทำด้วยอิฐและหลังคา ก็มุงด้วยกระเบื้องการก่อสร้างเป็นไปด้วยความล่าช้าเนื่องจากช่างไม้ และช่างปูนฝีมือดีมีเพียงอย่างละคน แต่ชาวบ้านก็จับกลุ่ม ๆ ละ 10 คน ผลัดเปลี่ยนกันมาช่วยช่างในการก่อสร้าง

ที่สุดคุณพ่อโปรดม ก็ได้ทำพิธีเสกวัดแรกหลังใหม่ของภาคอีสานอย่างสง่าเมื่อวันที่ 16 มกราคม ค.ศ. 1898 วัดแรกหลังใหม่นี้กว้าง 12 เมตร ยาว 28 เมตร และใช้อยู่ประมาณ 70 ปี วัดแม่พระนฤมลทิน ได้เป็นศูนย์กลางของงานแพร่ธรรมในภาคอีสานตลอดมาจนถึงปี ค.ศ. 1953 เมื่อทางกรุงโรมประกาศแยกมิสซาภาคอีสานออกเป็น 3 มิสซัง คือ มิสซังท่าแร่ – หนองแสง มิสซังอุดรธานี และมิสซังอุบลราชธานี

ครั้นถึงสมัยคุณพ่อมอรีส บริสซอง เป็นเจ้าวัดระหว่างปี ค.ศ. 1959 -1968 ปรากฏว่าวัดอยู่ในสภาพทรุดโทรมมาก คุณพ่อจึงตัดสินใจสร้างวัดหลังใหม่ ห่างจากวัดหลังเก่าทางทิศตะวันตกประมาณ 30 เมตร เริ่มวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ค.ศ. 1965 วัดใหม่นี้สร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กทั้งหลัง ลักษณะเกือบเป็นวงกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง 25 เมตร ไม่มีเสากลางวัดเลย จุดคนได้ประมาณ 1,000 คน ผนังทำเป็นเสาตั้งเรียงซ้อนกัน มีช่องให้ลมผ่านได้ หลังคาเป็นแผ่นคอนกรีตเสริมเหล็กคล้ายกลีบดอกบัวขนาดใหญ่ 3 กลีบ มีช่องแสงปิดด้วยกระจกพลาสติกพาดจากยอดสูงตรงกลางยาวลงไปตามรอยเชื่อมของ แผ่นหลังคาทั้ง 3 ด้าน เพื่อให้แสงสว่างภายในวัดและตรงยอดศูนย์กลางของหลังคาของหลังคานั้นได้คิด ตั้งไม้กางเขนสีทอง สูงจากพื้นดินประมาณ 30 เมตร และพระคุณเจ้าเกลาดิอุส บาเย ได้ทำพิธีเสกเมื่อวันที่ 24 เมษายน ค.ศ. 1967 วัดหลังนี้ยังใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน

ในโอกาสฉลองครบรอบ 100 ปี ของการแพร่ธรรมในภาคอีสานและของวัดบุ่งกะแทว ในปี ค.ศ.1981 คุณพ่อโจเซฟ เตรบาออล เจ้าวัดและสัตบุรุษได้สร้างซุ้มประตูวัดเป็นอนุสรณ์และติดป้ายชื่อวัดว่า “อาสนวิหารแม่พระนิรมล”

church6

ที่ตั้ง อาสนวิหารแม่พระนิรมล (วัดบุ่งกะแทว)

เลขที่ 604 ถนนพรหมราช อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี โทร.0-4526-2656 โทรสาร 045-261239

พิกัดภูมิศาสตร์ อาสนวิหารแม่พระนิรมล (วัดบุ่งกะแทว)

15.227273, 104.850833

บรรณานุกรม

หอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพ. (2558). สังฆมณฑลอุบลราชธานี อาสนวิหารแม่พระนิรมล, 1 สิงหาคม 2560. http://catholichaab.com/main/index.php/1/10/884-2015-11-23-02-04-16

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง