วัดภูหล่น ปฐมสมถวิปัสสนากัมมัฎฐานหรือสถานที่ศึกษาและปฏิบัติธรรมแห่งแรกของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตะ
การบุกเบิกสถานปฏิบัติธรรมภูหล่น
ภูหล่น อยู่ห่างจากบ้านคำบง ซึ่งเป็นบ้านเกิดของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ประมาณ 5 กิโลเมตร ในราวปี พ.ศ. 2440 หลวงปู่เสาร์ กันตะสีโล ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของท่านได้นำท่านมาอบรมสมาธิบนภูหล่นแห่งนี้ ซึ่งมีลักษณะลานหินกว้างมีเพิงหิน เต็มไปด้วยไข้ป่าและสัตว์ร้าย หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ท่านจึงได้นำชาวบ้านมาช่วยขนหิน ดินโคลน ขึ้นมาก่อเป็นถ้ำพอเป็นที่อยู่อาศัยกันสัตว์ร้ายมารบกวนเวลาทำความเพียร เคยมีเหตุการณ์เกิดขึ้นขณะนั่งวิปัสสนาอยู่นั้น ได้มีเสือจะเข้ามาทำร้ายแต่ก็ไม่สามารถจะทำอะไรท่านได้ ปัจจุบันนี้ยังมีรอยเท้าเสือปรากฏอยู่ ณ สำนักสงฆ์ภูหล่นแห่งนี้ เป็นรอยเท้าเสือที่ไม่มีเล็บบนผนังเพิงพักนั้น หลังจากหลวงปู่เสาร์ กันตะสีโล พระอาจารย์ของท่านได้อบรมจนรู้ชัดว่ากำลังสมาธิอันแน่วแน่ ได้เกิดขึ้นแล้วในหลวงปู่มั่น ท่านจึงได้เเยกจากไป หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ท่านได้บำเพ็ญภาวนาอยู่บนภูหล่น ประมาณ 5 ปี ท่านจึงได้จากสถานที่แห่งนี้ไป หลังจากท่านได้แสดงธรรมเทศนาอบรมโยมมารดาจนเกิดศรัทธา ออกประพฤติศีลพรหมจรรย์ตามท่านไป ในราวปี พ.ศ. 2449 หลังจากนั้นท่านก็ไม่ได้ย้อนกลับมาที่ภูหล่นอีก ที่แห่งนี้จึงเป็นปฐมสมถวิปัสสนากัมมัฎฐานของ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต
พระครูกมลภาวนากร (สีทน กมโล) ผู้พัฒนาวัดภูหล่น
ผู้มีบทบาทสำคัญอีกท่านหนึ่งที่เคยได้พักปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัดภูหล่น คือ พระครูกมลภาวนากร (สีทน กมโล) อดีตเจ้าคณะตำบลพิบูลมังสาหาร (ธรรมยุติ) ถือได้ว่าเป็นพระนักพัฒนาสงเคราะห์ที่มีความกตัญญู เสียสละเป็นทิฏฐานุคติแก่บุคคลได้รูปหนึ่ง ชาติสกุลเดิมท่านเกิดในสกุล รักพงษ์ บิดาชื่อ นายเต็ง มารดาชื่อ นางจันดี รักพงษ์ ท่านเกิดเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2493 ที่บ้านเลขที่ 89 หมู่ 1 บ้านห้วยไผ่ ตำบลกุดชมพู อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน 4 คน เป็นชาย 2 คน หญิง 2 คน ท่านเป็นบุตรคนแรก
ท่านจบการศึกษาปีที่ 4 ที่โรงเรียนพิบูลมังสาหาร (วิภาคย์วิทยากร) พออายุครบ 22 ปี ท่านบรรพชาอุปสมบท ณ วัดภูเขาแก้ว เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2515 โดยพระครูพิบูลธรรภาณเป็นอุปัฌาย์ พระอาจารย์สมศรี อุตตโม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์บุญเย็น โรจโน เป็นอนุสาวนาจารย์ หลังจากการบรรพชาอุปสมบทท่านได้ตั้งใจศึกษาพระปริยัติธรรม จนสามารถสอบนักธรรมชั้นเอกได้ ปี พ.ศ. 2517 ด้วยอุปนิสัยสนใจปฏิบัติใฝ่ในวิเวกกรรมฐาน ศึกษาธรรมปฏิบัติกับ หลวงปู่สาย จารุวณฺโณ หลวงปู่กิ ธมมุตตโม และหลวงปู่บุญมาก ฐิติปญโญ ด้วยความอุตสาหะสนใจใครรู้ท่านได้ออกภาวนาตามสถานที่วิเวกต่าง ๆ เพื่อบำเพ็ญสมณะธรรม ครั้งหนึ่งท่านได้พักปฏิบัติธรรมที่วัดภูหล่น หลังจากท่านกลับจากวัดภูหล่นมาพักที่วัดภูเขาแก้ว ท่านได้เกิดนิมิต ในนิมิตนั้นเป็นการบอกให้ท่านกลับไปบูรณะวัดภูหล่น ซึ่งเป็นสถานที่บำเพ็ญปฐมสมถะ-วิปัสสนาของบูรพาจารย์หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล และหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต จากนั้นท่านได้ตัดสินใจเป็นผู้นำการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดภูหล่น ระหว่างปี พ.ศ. 2527 จนได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2538 ปัจจุบันสถานที่แห่งนี้กลายเป็นที่รู้จักของสาธารณะชนทั่วไป
ต่อมา พ.ศ. 2542 ท่านได้รับอาราธนานิมนต์จากทางคณะเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ขอให้ท่านมาบูรณะปฏิสังขรณ์วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว ซึ่งเป็นสถานที่บูรพาจารย์ หลวงปู่บุญมาก ฐิติปัญโญ ในฐานะที่ท่านเป็นศิษย์ท่านจึงรับอาราธนานิมนต์มาบูรณะปฏิสังขรณ์ จนได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ.2547 รวมเวลา 7 ปี
สุดท้ายตรงกับวันจันทร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 ท่านเริ่มอาพาธหนักจนถึงวันศุกร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 เวลา 14.19 น. ท่านได้ละสังขารมรณภาพ รวมสิริอายุ 55 ปี 34 พรรษา
ปัจจุบันสำนักสงฆ์ภูหล่น เป็นสถานที่ที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งที่ชาวบ้านจะเดินทางไปทำบุญอยู่เสมอ และบริเวณโดยรอบของสำนักสงฆ์ภูหล่นนั้นร่มรื่นธรรมชาติสวยงามมาก จากบริเวณนี้มองออกไปจะเห็นทิวทัศน์แนวเทือกเขาหัวตัด และที่นาของชาวบ้านด้านล่างได้ชัดเจน
ที่ตั้ง วัดภูหล่น
ตำบลสงยาง อำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี
พิกัดภูมิศาสตร์ วัดภูหล่น
15.636161, 105.276807
บรรณานุกรม
ชีวประวัติโดยสังเขป พระครูกมลภาวนากร. (ป้ายประชาสัมพันธ์)
ศูนย์ข้อมูลข่าวสารอิเล็กทรอนิกส์ของราชการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย. (2560). วัดภูหล่น, 11 กันยายน 2560. https://thai.tourismthailand.org/