นิทรรศการตามรอยอเล็กซานเดอร์ แหล่งท่องเที่ยวที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องอเล็กซานเดอร์มหาราชที่เคยมาถ่ายทำบางฉาก ณ บริเวณผาแต้ม จังหวัดอุบลราชธานี โดยแบ่งพื้นที่นิทรรศการเป็นกระโจมต่าง ๆ ตั้งอยู่บนเส้นทางที่นักท่องเที่ยวต้องผ่านเมื่อจะเดินทางไปผาแต้ม ในอำเภอสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี
ความเป็นมาของนิทรรศการตามรอยอเล็กซานเดอร์
ตามรอยการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง อเล็กซานเดอร์มหาราชชาตินักรบ ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของกรมการท่องเที่ยว โดยมุ่งเน้นการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับการถ่ายทำภาพยนตร์ ซึ่งประเทศไทยมีกองถ่ายทำภาพยนตร์ต่างชาติมาใช้สถานที่ถ่ายทำในประเทศไทยปีละหลาย ๆ เรื่อง
โดยเมื่อปี พ.ศ.2547 ภาพยนตร์เรื่องอเล็กซานเดอร์ (Alexander) ได้เคยมาถ่ายทำบางฉาก ณ บริเวณผาแต้ม จังหวัดอุบลราชธานี ต่อมากรมการท่องเที่ยวเห็นว่าพื้นที่หมู่ 4 บ้านบัวเทิง มีภูมิประเทศที่เหมาะสมและใกล้เคียงกับฉากในภาพยนตร์เรื่องนี้ และมีการคมนาคมเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน จึงพิจารณาเลือกเป็นสถานที่ก่อสร้างแหล่งท่องเที่ยวตามรอยเส้นทางการถ่ายทำภาพยนตร์ ใช้งบประมาณกว่า 60 ล้านบาท โดยจำลองบรรยากาศจากในภาพยนตร์มาไว้ มุ่งหวังให้เป็นแหล่งเรียนรู้แก่ผู้เข้าชมทุกกลุ่ม แหล่งท่องเที่ยวตามรอยภาพยนตร์เรื่อง อเล็กซานเดอร์ เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ วันที่ 20 พฤศจิกายน 2557
สถานที่ภายในแบ่งออกเป็นกระโจมต่าง ๆ และแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง อเล็กซานเดอร์ ได้แก่ ประวัติความเป็นมาของการสร้างภาพยนตร์ นักแสดงคนไทยที่ได้ร่วมงาน ภาพยนตร์ 4 มิติ แสดงฉากที่ถ่ายทำในประเทศไทย จำลองฉากราชบัลลังก์ ห้องนอน อาวุธยุธโปกรณ์ เครื่องแต่งกาย เป็นต้น นอกจากนั้นแล้ว บริเวณโดยรอบที่เต็มไปด้วยไม้ยืนต้นพันธุ์พื้นเมืองน้อยใหญ่ ก็ได้มีการให้ข้อมูลพันธุ์พืชไว้ให้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ด้วยอีกทางหนึ่ง
ที่มาของการสร้างภาพยนตร์อเล็กซานเดอร์
โอลิเวอร์ สโตน (Oliver Stone) ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดังชาวอเมริกัน ผู้มีผลงานภาพยนตร์มากมาย ทั้งยังได้รางวัลออสการ์หรืออคาเดมีอวอร์ดส (Academy Awards) ในฐานะผู้กำกับยอดเยี่ยมถึง 3 ครั้ง เขารู้จักตำนานของกษัตริย์อเล็กซานเดอร์จากหนังสือในวัยเด็ก และเมื่อเขาได้รับหน้าที่ผู้กำกับภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ชีวประวัติของนักรบผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก สโตนได้สรรค์สร้างให้แผ่นฟิล์มเล่าเรื่องราวองเจ้าชายหนุ่มผู้มีความใฝ่ฝันและความกล้าหาญซึ่งกลายมาเป็นพระมหากษัตริย์แม่ทัพผู้ยิ่งใหญ่นำทัพกรีกเดินทางไปรบในดินแดนตะวันออกที่ไม่เคยมีกษัตริย์องค์ไหนหาญกล้ามาก่อน
พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชถือว่าเป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดองค์หนึ่งของประวัติศาสตร์โลก เรื่องราวความเกรียงไกรของพระองค์ได้ถูกกล่าวขานต่อ ๆ กันมานับตั้งแต่ที่พระองค์สิ้นพระชนม์ที่เมืองบาบิโลนในปีที่ 323 ก่อนคริสตกาลจนถึงปัจจุบันในฉบับภาพยนตร์ของโอลิเวอร์ สโตนที่เข้าฉายในโรงภาพยนตร์เมื่อปี พ.ศ. 2547 (ค.ศ.2004) นั้น
สิ่งที่โอลิเวอร์ สโตน ต้องการสื่อให้ผู้ชมได้รับนั้นมิใช่เพียงตำนานของกษัตริย์หนุ่มที่กล้าหาญ แต่เป็นวิสัยทัศน์ที่ไม่สามารถเข้าใจได้โดยง่าย การเป็นผู้นำทางใจให้ทหารหลายหมื่นนายยอมเดินตามทัพต่อไปเรื่อย ๆ ถึง 7 ปี หลังจากได้ชัยชนะอันยิ่งใหญ่เหนือจักรวรรดิเปอรเซียร์ทั้ง ๆ ที่มีสมบัติมหาศาลพร้อมความสุขสบายที่นครบาบิโลนนั้นย่อมไม่ใช่เรื่องธรรมดาที่ใคร ๆ ก็ทำได้ นอกจากนั้นผู้เขียนบทและผ้ำกับยังได้เสนอความขัดแย้งทั้งภายนอกและภายในใจของอเล็กซานเดอร์มหาราช บุคคลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ณ เวลาที่ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ ทั้งที่พระองค์อยู่เหนือคนทั้งปวงในจักรวรรดิใหม่ที่ทรงปกครอง ทั้งที่พระองค์สามารถหาความสุขสบายในทุกประการที่มนุษย์จะหาได้ ทั้งที่ประองค์คือผู้ที่ประสบความสำเร็จที่สุดในโลกคนหนึ่งด้วยอายุอันน้อยนักเท่าที่ประวัติศาสตร์ของโลกเคยเห็นมา แต่ความขัดแย้งที่ยิ่งใหญ่ในใจของการมีพระราชบิดาที่แกร่งกล้า มีพระมารดาที่คอยควบคุม มีปมของความขัดแย้งในฐานะกษัตริย์จอมทัพต่อเหล่าขุนพลพระสหายทั้งหลาย โดยเฉพาะขุนพลเฮเฟสเทียนที่เป็นคู่พระทัย
เกร็ดพิเศษในการถ่ายทำภาพยนตร์อเล็กซานเดอร์ คือ ผู้กำกับโอลิเวอร์ สโตนได้แต่งชุดทหานมาเคคอนเข้าฉาก แล้วยังมีศาสตราจารย์โรบิน เลย ฟอกซ์นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์โบราณซึ่งเป็นผู้เขียนหนังสือ อเล็กซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great – ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ.1974) ที่เป็นข้อมูลหลักของการเขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้ และเป็นที่ปรึกษาด้านประวัติศาสตร์และโบราณ
การถ่ายทำภาพยนตร์อเล็กซานเดอร์ มหาราชชาตินักรบในประเทศไทย
ทีมงานภาพยนตร์อเล็กซานเดอร์มหาราชนักรบได้ค้นหาและคัดเลือกฉากเพื่อการถ่ายทำทั้งหมด 10 แห่งทั่วโลก และหนึ่งในนั้นคือ ประเทศไทย เนื่องจากความต้องการของผู้กำกับ คือ สถานที่ราบกว้าง แห้งแล้ง และติดแม่น้ำ สำหรับฉากการตั้งค่ายพักทหารกรีกที่ริมแม่น้ำไฮเดสเปก (Hydespes) หรือ แม่น้ำเจลัมในปากีสถาน ปัจจุบันนี้ คุณสมชาย สันติธรางกูล ฝ่ายจัดหาสถานที่ในประเทศไทยได้เสนอผาแต้ม จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อถ่ายทอดเหตุการณ์ดังกล่าว ส่วนฉากป่าประเทศอินเดียที่เป็นสมรภูมิรบระหว่างทัพพระเจ้าอเล็กซานเดอร์กับทัพมหาราชพอรุส คุณสมชายได้ใช้สวนพฤกษศาสตร์ จังหวัดสระบุรี สาเหตุที่เลือกที่นี่ก็เพราะตรงตามความต้องการของผู้กำกับและยังสะดวกสำหรับการเดินทางของช้างที่จะมาเข้าฉากจากเพนียดช้าง จังหวัดอยุธยา ซึ่งนำมาแสดงเป็นช้างศึกของทัพอินเดีย
สำหรับทีมงานไทยอีกท่านคือ คุณไชยัณห์ จันสุทธิวัฒน์ ผู้ทำหน้าที่กำกับศิลป์ในส่วนของฉากที่ถ่ายทำในประเทศไทยซึ่งต้องออกแบบฉาก อุปกรณ์ประกอบฉากรวมถึงดำเนินการจัดสร้าง ติดตั้ง และดูแลฉากให้สมบูรณ์ เพื่อให้ได้ภาพที่ผู้กำกับต้องการ คุณไชยัณห์ออกแบบและเตรียมฉากการรบในป่าประเทศอินเดีย ด้วยการสร้างป่าขึ้นทั้งป่า ต้องเตรียมการอนุบาลต้นไม้เป็นเวลานานหลายเดือนก่อนที่จะนำมาลงปลูกและสร้างเป็นภาพอย่างที่เห็นในภาพยนตร์ได้ นอกจากนั้นก็ได้ออกแบบตัดเย็บเครื่องแต่งกายให้ช้างมากกว่าสิบเชือกซึ่งมีแบบชุดที่แตกต่างกัน โดยศึกษาจากประวัติศาสตร์โบราณเรื่อง การแต่งช้างศึก และต้องระดมช่างหลายสาขาวิชาชีพเพื่องานนี้ เช่น เย็บผ้า ทำงานหนัง สร้างกูบช้าง ตีเกล็ดทอง เป็นต้น
ประเทศไทยนับว่ามีความพร้อมในหลาย ๆ ด้าน สำหรับการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องนี้ และผลที่ออกมาคือ ภาพยนตร์ที่สมบูรณ์สวยงาม ฉากต่าง ๆ มีความน่าเชื่อถือสำหรับผู้ชม แม้แต่ผู้กำกับโอลิเวอร์ สโตนเองก็ได้กล่าวชื่นชมทีมงานไทยถึงการทำงานที่นี่ด้วยเช่นกัน
แหล่งท่องเที่ยวตามรอยภาพยนตร์อเล็กซานเดอร์มหาราช เปิดให้เข้าชมทุกวัน วันจันทร์ – ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 09.30-16.00 น. วันเสาร์ – อาทิตย์ เวลา 10.00 – 17.00 น. อัตราค่าธรรมเนียมเข้าชม ผู้ใหญ่ 20 บาท เด็ก 10 บาท กรณีมาเป็นหมู่คณะ ทำหนังสือประสานแจ้งล่วงหน้า ลดครึ่งราคา
ที่ตั้ง ตามรอยอเล็กซานเดอร์มหาราช
หมู่ที่ 4 บ้านบัวเทิง ตำบลท่าช้าง อำเภอสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี
พิกัดภูมิศาสตร์ ตามรอยอเล็กซานเดอร์มหาราช
15.240539, 104.955844
บรรณานุกรม
ไกด์อุบล. แหล่งท่องเที่ยวตามรอยภาพยนตร์ อเล็กซานเดอร์มหาราช, 3 สิงหาคม 2560. http://www.guideubon.com/2.0/go2ubon/397/
ที่มาของการสร้างภาพยนตร์ .(2557), นิทรรศการ
การถ่ายทำภาพยนตร์อเล็กซานเดอร์มหาราชชาตินักรบในประเทศไทย (2557), (นิทรรศการ)