ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ (อุบลราชธานี) หน่วยงานภาครัฐที่ส่งเสริมและสนับสนุนการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การรับรองมาตรฐานผ้าไหม และการแปรรูปผลิตภัณฑ์หม่อนไหม ตลอดจนการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาหม่อนไหม ตั้งอยู่ที่อำเภอสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี
ภาคอีสานตอนล่างยังคงอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมไว้ให้คงอยู่ในวิถีชีวิตประจำวัน ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ สังกัดกรมหม่อนไหม จะเป็นหน่วยงานภาครัฐที่จะช่วยสนับสนุนส่งเสริมและอนุรักษ์ให้ศิลปวัฒนธรรมนี้ให้คงอยู่
ภารกิจศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ อุบลราชธานี
- ศึกษาสภาพปัญหาในพื้นที่ที่รับผิดชอบ
- ศึกษา วิจัย ทดสอบ และพัฒนาเกี่ยวกับเทคโนโลยีการผลิต การขยายพันธุ์หม่อนไหมและวัสดุย้อมสี การอนุรักษ์พันธุกรรมและภูมิปัญญาด้านการทอผ้าไหม
- ดำเนินการผลิต ขยายให้บริการพันธุ์หม่อนไหมและวัสดุย้อมสี
- ทดสอบ ตรวจสอบ รับรองมาตรฐานคุณภาพหม่อนไหม ผลิตภัณฑ์และผลพลอยได้
- เป็นแหล่งข้อมูล ศูนย์บริการข้อมูล และพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ด้านหม่อนไหม
- ถ่ายทอดเทคโนโลยี สร้างเครือข่าย และให้บริการทางวิชาการด้านหม่อนไหมแก่เกษตรกร ผู้ประกอบการและภาคเอกชน
- ปฏิบัติงานร่วมกันหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือที่ได้รับมอบหมาย
ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ อุบลราชธานี ได้จัดให้บริการแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจเข้าไปศึกษาเรียนรู้ ได้แก่
การปลูกหม่อน จะบริการให้ความรู้ด้านพันธุ์หม่อน การปลูกหม่อน การขยายพันธุ์หม่อน การดูแล เขตกรรมแปลงหม่อนและการจัดการระบบน้ำในแปลงหม่อนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีพื้นที่ทดลองปลูกกว่า 140 ไร่ แบ่งเป็นแปลงหม่อน ประมาณ 60 ไร่ ปลูกหม่อนสายพันธุ์ต่าง ๆ กว่า 150 สายพันธุ์ทั่วโลก เป็นศูนย์รวบรวมและอนุรักษ์พันธุกรรมหม่อน ภายใต้โครงการธนาคารเชื้อพันธุกรรมหม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
สายพันธุ์ที่ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเพื่อเลี้ยงไหมคือ พันธุ์บุรีรัมย์ 60 และสายพันธุ์ที่ส่งเสริมให้ปลูกเพื่อกินผลคือ พันธุ์เชียงใหม่ ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปติดต่อขอกล้าพันธุ์เพื่อนำไปปลูกและขยายพันธุ์ได้
การเลี้ยงไหม บริการให้ความรู้ด้านการเลี้ยงไหม พันธุ์ไหม การจัดการหนอนไหมในระยะต่าง ๆ และการเก็บรังไหม เป็นต้น ภายในศูนย์ฯ จะมีโรงเรือนสำหรับเลี้ยงไหม 3 โรงเรือน สาธิตการเลี้ยงไหมแบบพื้นบ้าน และการเลี้ยงไหมในโรงเรือนปิด การต่อไหมหรือขยายพันธุ์ไหมเพื่อให้ได้ไข่ไหมสำหรับแจกจ่ายให้เกษตรกร นอกจากนั้นแล้วยังมีห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคเพบรินของไหมพันธุ์ต่าง ๆ
การผลิตเส้นไหม สาธิตการสาวไหม ตีเกลียว และการกรอเส้นไหมด้วยเครื่องสาวไหมพื้นบ้านและ UB เป็นการถ่ายทอดความรู้เรื่องการสาวไหม สนับสนุนให้เกษตรกรเพิ่มผลผลิตเส้นไหม ด้วยเครื่องมือและวิธีการต่าง ๆ ที่ได้จากการศึกษาวิจัยและถ่ายทอดไปยังเกษตรกร นอกจากนั้นยังมีการจัดกิจกรรม เช่น การแข่งขันสาวไหม เพื่อให้เกษตรกรได้ฝึกฝนเรียนรู้จนเกิดทักษะความชำนาญ และถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กันและกัน
การทอผ้าไหม สาธิตการทอผ้าไหม การฟอกย้อมสีเส้นไหม และการขอรับรองมาตรฐานผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน เพื่อรับรองคุณภาพและมาตรฐานของผ้าไหมไทยให้เป็นสากล และมีการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมคุณภาพของการทอผ้าไหม เช่น การประกวดการผ้าไหมตรานกยูง จากระดับท้องถิ่นสู่ระดับประเทศ นอกจากนั้นยังส่งเสริมกลุ่มชุมชนให้เป็นแหล่งเรียนรู้ในการผลิตผ้าไหม เช่น ชุมชนบ้านสมพรรัตน์ อำเภอบุณฑริก ตชด.ตาเอ็ม บ้านน้ำขุ่น บ้านลาดสมดี บ้านหนองบ่อ บ้านปาว เป็นต้น
การแปรรูปผลิตภัณฑ์หม่อนไหม สาธิตการจัดทำผลิตภัณฑ์จากหม่อนไหม ลดของเหลือใช้จากการผลิตหม่อนไหม เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์หม่อนไหม เช่น การทำชาใบหม่อน การทำดอกไม้ประดิษฐ์จากรังไหม การทำน้ำผลหม่อน และข้าวเกรียบผลหม่อน เป็นต้น
ฟาร์มตัวอย่างเศรษฐกิจพอเพียงด้านหม่อนไหม ให้บริการรูปแบบการเลี้ยงไหมให้เหมาะสมกับสภาพเกษตรกรร่วมกับการปลูกพืช การเลี้ยงสัตว์และการประมง
นอกจากนั้นแล้วภายในศูนย์ฯ ยังมีพิพิธภัณฑ์หม่อนไหม จัดแสดงและนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการปลูกหม่อน การเลี้ยงไหม การทอผ้า และการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากหม่อนและไหมในรูปแบบต่าง ๆ
ที่ตั้ง ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ อุบลราชธานี
หมู่ที่ 1 ตำบลบุ่งมะแลง อำเภอสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี โทร.045-426005 เว็บไซต์ : http://www.qsds.go.th/qssc_ubn/
พิกัดภูมิศาสตร์ ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ อุบลราชธานี
15.276122, 105.035167
บรรณานุกรม
ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ (อุบลราชธานี). (แผ่นพับ)
อสมท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. (2558). รัก ณ ถิ่นไทย : ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติ์ฯ อุบลราชธานี, 2 กันยายน 2560. https://youtu.be/LtFc5_XCYYw
อิทธิเดช ฤทธิแผลง (2560). สัมภาษณ์ 20 เมษายน 2560