วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว ตั้งอยู่บนภูพร้าวใกล้กับด่านพรมแดนช่องเม็ก ภายในวัดมีอุโบสถที่มีความวิจิตรงดงามด้วยรูปแบบงานสถาปัตยกรรมที่มีต้นแบบมาจากวัดเชียงทองของ สปป.ลาว ด้านหลังอุโบสถมีประติมากรรมนูนต่ำภาพต้นกัลปพฤกษ์ที่เรืองแสงได้เมื่อได้รับพลังงานจากแสงอาทิตย์ เพราะสร้างด้วยกระเบื้องเคลือบสารฟลูออเรสเซนต์ จะเห็นการเรืองแสงได้ชัดเจนในช่วงเย็น วัดนี้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและฝึกปฏิบัติธรรมที่ตั้งอยู่ในอำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี
ประวัติวัดสิรินธรวรารามภูพร้าว
วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกกันสั้น ๆ ว่า “วัดภูพร้าว” เดิมพื้นที่แห่งนี้เป็นป่ามีความอุดมสมบูรณ์ แต่เนื่องจากเป็นหน้าผาสูง ไม่มีแหล่งน้ำ จึงไม่มีชาวบ้านอาศัยอยู่ ครั้นเมื่อพระอาจารย์บุญมาก ฐิติปัญโญ เดินทางจากลาวมาเผยแผ่ธรรมะทางฝั่งไทย ท่านได้มาพักปักกลดที่ภูพร้าว ในราวปี พ.ศ.2495-2498 ท่านได้ขอบิณฑบาตพื้นที่แห่งนี้ไว้ สร้างเป็นวัดขึ้น พื้นที่วัดนี้อยู่ใกล้กับจุดผ่านแดนช่องเม็ก ชายแดนแบ่งเขตไทย-ลาว เพื่อเป็นสถานที่บำเพ็ญบุญระหว่างพี่น้องชาวไทย-ลาว เนื้อที่สร้างวัดประมาณ 500 ไร่ และให้ชื่อว่า วัดภูพร้าว
ปี พ.ศ. 2516-2517 พระอาจารย์บุญมาก ฐิติปัญโญ ได้เดินทางกลับไปยังวัดภูมะโรง เมืองจำปาสัก เนื่องจากเกิดความไม่สงบทางการเมืองในประเทศลาว ท่านพระอาจารย์บุญมากตัดสินใจกลับประเทศลาว และมรณภาพลงเมื่อปี 2524 ที่วัดภูมะโรง สิริอายุ 72 ปี วัดภูพร้าวนี้จึงถูกปล่อยร้างเรื่อยมา
ปี พ.ศ. 2535 อำเภอสิรินธรได้แยกตัวออกจากอำเภอพิบูลมังสาหาร และได้เปลี่ยนชื่อวัดตามชื่ออำเภอเป็น วัดสิรนธรวราราม
ปี พ.ศ. 2542 พระครูกมลภาวนากร เจ้าอาวาสและผู้บูรณะพัฒนาวัดภูหล่น ตำบลสงยาง อำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานีได้ ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของพระอาจารย์บุญมาก ฐิติปัญโญได้นำคณะศิษยานุศิษย์มาบูรณะปฏิสังขรณ์วัดสิรินธรวราราม ให้กลับมาเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมได้ดังเดิม พระครูกมลภาวนากร เล่าว่า เมื่อก่อนพื้นที่วัดมีธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์และมีความพิเศษ คือ มีหินคล้ายลูกมะพร้าวเต็มไปหมด เมื่อทุบออกมาจะมีฝุ่นหรือเม็ดหินใส ๆ แวววาวระยับคล้ายเพชรพลอย ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นหินศักดิ์สิทธิ์ เป็นมะพร้าวที่ฤาษีทำเอาไว้ จึงเอาไปรักษาโรค จึงเรียกเขาลูกนี้ว่า “ภูพร้าว” ต่อมามีคนเก็บเอาไปขายจนหมด
- วันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2544 ได้รับหนังสืออนุญาตให้สร้างวัด
- วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2545 ได้รับอนุญาตตั้งวัดในพระพุทธศาสนา ชื่อ วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว มีเนื้อที่วัดทั้งหมด 15 ไร่
- วันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานวิสุงคามสีมา เป็นวัดในสังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุติ
- วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 เวลา 04.19 น. พระครูกมลภาวนากร (สีทน กมโล) ได้มรณภาพลง พระราชทานเพลิงวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 ปัจจุบัน มีพระครูปัญญาวโรบล เป็นเจ้าอาวาส มีภิกษุสามเณรตลอดจนอุบาสกและอุบาสิกามาปฏิบัติธรรมอยู่ประจำมิได้ขาด
มูลเหตุของการสร้างวัดสิรินธรวรารามภูพร้าว
- เนื่องด้วยเป็นสถานที่พระบูรพาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบได้มาอธิษฐานจิตและได้ขอบิณฑบาตไว้เพื่อตั้งวัดในพระพุทธศาสนา
- ลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ชายแดน ติดกับสาธารณรัฐประชาชนลาว ฝ่ายทหารและทางฝ่ายตำรวจตระเวนชายแดน ได้มีความเห็นชอบที่จะให้มีการตั้งวัดขึ้นเพื่อเป็นแนวกันชนระหว่างชายแดน
- เพื่อรักษาและพัฒนาบูรณะปลูกต้นไม้เสริมในเขตแนวป่าไม้ ให้กลับคืนสู่ความสมบูรณ์ของธรรมชาติ
- สถานที่แห่งนี้เป็นที่บำเพ็ญบุญร่วมกันของพี่น้องชาวไทยและชาวลาว ที่เดินทางไปมาหาสู่กัน ก่อให้เกิดความสามัคคีปรองดองกันระหว่างประเทศ
สิ่งสำคัญภายในวัดสิรินธรวรารามภูพร้าว
- พระประธาน อุโบสถ
- อนุสรณ์เจดีย์พระอาจารย์บุญมาก ฐิติปัญโญ
- อนุสรณ์เจดีย์พระครูกมลภาวนากร (สีทน กมโล)
- ศาลาการเปรียญ โรงครัว
- สระน้ำใช้ในเขตสงฆ์ ขนาดประมาณ 40*80 เมตร
- อ่างเก็บน้ำกมโล ภิกขุ ขนาดประมาณ 40 ไร่
- ฝายชะลอน้ำ ได้ความยาวร่องน้ำประมาณ 1 กิโลเมตร ด้านเชิงเขาตะวันออก
อุโบสถวัดสิรินธรารามภูพร้าว
อุโบสถวัดสิรินธรารามภูพร้าว เป็นอุโบสถที่มีความสวยงาม ตัวอุโบสถมีต้นแบบมาจากวัดเชียงทอง ประเทศลาว แต่มีความกว้างมากกว่า 1 เท่า และความยาวมากกว่า 2 เท่า เสาแต่ละต้นเขียนภาพลงลวดลายด้วยมือ โดยรอบนอกเป็นลายดอกบัวและสัตว์ทั้งหลายตามคติบัว 4 เหล่า ทางเข้าเป็นต้นสาละ เขยิบเข้ามาเป็นต้นมะขามป้อม ต้นสมอ และด้านในสุดเป็นต้นโพธิ์ ส่วนพระประธานมีผู้นำมาถวายวัด ดั้งเดิมเป็นองค์พระพุทธชินราช แต่ช่างคณากรได้ออกแบบใหม่โดยถอดรัศมีและพระเกตุมาลาออก แล้วแกะสลักไม้เป็นต้นโพธิ์ไปวางอยู่ด้านหลังพระประธาน ด้านหลังพระอุโบสถ มีภาพประติมากรรมเรืองแสงต้นกัลปพฤกษ์ ฝีมือการออกแบบของ “ช่างคณากร ปริญญาปุณโณ” โดยการติดโมเสกที่ผสมสารเรืองแสงที่เรียกว่า ฟอสเฟอร์ สารเรืองแสงนี้จะทำให้ต้นกัลปพฤกษ์ปรากฏสีเขียวเรืองแสงเมื่อยามกลางคืน คุณสมบัติของสารฟลูออเรสเซนต์จะรับแสงพระอาทิตย์ในตอนกลางวัน แล้วจะฉายแสงคายพลังงานออกมาออกมาในตอนกลางคืน
ศิลปกรรมกุศโลบายต้นกัลปพฤกษ์ วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว
เขาพระสุเมรุ
เขาพระสุเมรุ ตามคติโบราณ กล่าวว่า เขาพระสุเมรุ ตั้งอยู่บนพื้นน้ำ ใต้ฐานรองรับด้วยภูเขา 3 ลูก (สามเส้า) มีภูเขาล้อมรอบอีก 7 ลูก ความสูงลดหลั่นกันไปทีละครึ่ง เป็นที่อาศัยของเทวดาจตุรมหาราชิก และแต่ละลูกถูกกั้นด้วยแม่น้ำทั้ง 7 ถัดออกไปเป็นมหานทีสีทันดร ล้อมรอบเขาพระสุเมรุ โดยจะมีเกาะหรือมหาทวีปอยู่ตรงทิศทั้ง 4 คือ
- ทิศเหนือ อุตรกุรุทวีป เป็นที่อยู่ของต้นกัลปพฤกษ์
- ทิศตะวันออก บุรพวิเทหทวีป
- ทิศใต้ ชมพูทวีป เป็นที่อยู่ของป่าหิมพานต์
- ทิศตะวันตก อมรโคยายทวีป
ถัดมาจากมหานทีสีทันดร จะมีภูเขากั้นโดยรอบเรียกว่า ขอบจักรวาล พ้นไปนั้น เรียกว่า นอกขอบจักรวาล
ต้นกัลปพฤกษ์ (ไม้สารพัดนึก)
“…ฯ…เกิดขึ้นในอุตรกุรุทวีป ด้านทิศเหือของเขาพระสุเมรุ และบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ซึ่งสวนสวรรค์นี้จะมีไม้ประจำสองต้น คือ ต้นทองหลาง และต้นกัลปพฤกษ์…ฯ”
“…ฯ…ด้วยพุทธานุภาพ หรือบุญญาธิการของพระพุทธเจ้า จะบังเกิดต้นกัลปพฤกษ์ผุดขึ้นจำนวน 4 ต้น ที่ประตูเมืองทั้ง 4 ของเมืองนครเกตุมดี มหาชนทั้งหลายจึงได้ในสรรพสิ่ง ปัจจัย 4 ตามที่ต้องการ ด้วยกำลังบุญกุศลที่บุคคลนั้นได้กระทำมา…ฯ”
“…ฯ…แล ต้นกัลปพฤกษ์นั้น ผู้ใดปรารถนา หาทุนทรัพย์สรรพเหตุใด ๆ ก็ดี ย่อมได้สำเร็จในต้นไม้นั้นทุกประการ…ฯ”
มุมมองในต้นกัลปพฤกษ์ (ไม้สารพัดนึก)
องค์กรใดก็ตามที่มีบุคลากรทำหน้าที่ของตนได้อย่างสมบูรณ์เป็นธรรม กิจการขององค์กรนั้น ๆ ย่อมสัมฤทธิ์ผลเจริญรุ่งเรืองและมั่นคง ยังส่งผลให้ออกมาก่อเกิดความเอื้อเฟื้อแบ่งปันและสงเคราะห์ช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ในยามวิกฤต ดั่งที่เห็นเมื่อเกิดมหาภัยพิบัติต่าง ๆ ตามทั่วทุกมุมโลก ความดีเหล่านี้แผ่นไปทั่วโลกธาตุเป็นที่รักของมหาชน เปรียบองค์กรนี้เหมือนต้นกัลปพฤกษ์ไม้สารพัดนึกที่ออกผลได้ตามความต้องการ สมดังพุทธสุภาษิตที่กล่าวว่า “เมตตาธรรมค้ำจุนโลก”
ที่ตั้ง วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว
เลขที่ 99 หมู่ที่ 6 บ้านอ่างประดู่ ตำบลช่องเม็ก อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี
พิกัดภูมิศาสตร์ วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว
15.149074, 105.467786
บรรณานุกรม
วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว. (2560). ป้ายประชาสัมพันธ์
MGR online. (2559). “วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว” วัดเรืองแสง แรงศรัทธา น่าอัศจรรย์ จ.อุบลฯ, 23 กันยายน 2560. http://www.manager.co.th/travel/viewnews.aspx?NewsID=9590000021136