การเส็งกลอง หรือการตีกลอง ประเพณีการละเล่นของชาวอีสานเพื่อขอฝนจากพญาแถน นิยมเล่นกันในงานประเพณีบุญบั้งไฟ และบุญผะเหวดตามฮีตสิบสองของคนอีสาน ชุมชนบ้านเป้า ตำบลเป้า อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี และหมู่บ้านใกล้เคียงยังคงอนุรักษ์และสืบสานประเพณีไว้ให้ลูกหลาน
ประเพณีเส็งกลอง ขอฝนจากแถนของชาวบ้านเป้า
กลองเส็ง หรือ กลองกิ่ง ชาวอีสานจะทำไว้เพื่อตีประชันกันในงานประเพณีสำคัญของชุมชน เรียกว่า “เส็งกลอง” คือ การตีกลองแข่งกัน งานบุญประเพณีที่มีการตีกลองแข่งกัน เช่น งานบุญผะเหวด (บุญเดือน 4) บุญบั้งไฟ (บุญเดือน 6)
จากการสัมภาษณ์ชาวบ้านเป้า ตำบลเป้า อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี ที่แห่งนี้จะนิยมเส็งกลองกันในช่วงบุญบั้งไฟ หรือบุญเดือน 6 ตามฮีตสิบสอง โดยมีความเชื่อว่า จะเป็นการบอกกล่าวพญาแถนว่าถึงฤดูกาลทำนาแล้วให้ท่านบันดาลให้ฝนตก ซึ่งจะทำควบคู่กับการจุดบั้งไฟ และเมื่อทำนาเสร็จแล้วก็จะทำการจุดบั้งไฟอีกครั้งเพื่อบอกพญาแถนว่า มีปริมาณน้ำเพียงพอแล้วให้หยุดฝนเพราะทำนาเสร็จแล้ว ต้นข้าวในนากำลังเข้าสู่ฤดูกาลเก็บเกี่ยว ซึ่งจะตรงกับช่วงออกพรรษา ถ้าหากไม่ทำการจุดบั้งไฟหรือตีกลองเส็ง ก็เหมือนกับว่าไม่มีความต้องการหรือมีความเดือดร้อนที่จะให้ฝนตก พญาแถนก็จะไม่บันดาลให้ฝนตกลงมา ปัจจุบันชาวบ้านเป้าและหมู่บ้านใกล้เคียงยังคงรักษาจารีตนี้ไว้ เมื่อถึงช่วงบุญบั้งไฟก็จะมีการเชิญชวนหมู่บ้านที่มีกลองไปเส็งกลองด้วยกัน บ้างก็ออกมาในรูปของการแข่งขัน เพื่อเป็นการอนุรักษ์และสืบทอดจารีตประเพณีให้สืบต่อกันไป
กลองเส็ง กลองกิ่ง
ชาวบ้านเป้าจะช่วยกันทำกลองเอง ไม้ที่นิยมนำมาทำกลองคือ ไม้ประดู่ มะรุมป่า และขนุน หนังที่ใช้ขึงหน้ากลองจะเป็นหนังวัว นิยมทำเป็นคู่ ๆ มีขนาดเท่ากัน และเรียกชื่อตามขนาดของความยาวของรัศมีหน้ากลอง เช่น 50, 60, 70 นิ้ว กลองทั้งคู่เมื่อตีแล้วจะต้องได้เสียงในระดับเดียวกัน จึงต้องมีการปรับเสียงให้เป็นเสียงเดียวกัน เรียกว่า “การเข่งกลอง” หรือการหมุนหรือขันหนังกลอง ถ้าต้องการให้ได้เสียงดังจะต้องขันหนังกลองให้ตึง
ไม้ที่ใช้ตี ด้ามจับทำด้วยไม้ขนาดพอเหมาะและทำสายคล้องมือเพื่อไม่ให้ไม้หลุดมือเวลาตี ส่วนก้านมักจะทำด้วยเหล็กเส้น ส่วนหัวจะทำด้วยตะกั่ว
ผู้ที่จะเส็งกลองได้ดีจะต้องสามารถตีกลองทั้งคู่ทั้งสองมือได้พร้อม ๆ กัน และมีความแม่นยำในการตี ก่อนตีจะมีการพรมน้ำลงที่หนังหน้ากลองให้หนังนิ่ม เสียงที่ตีได้จะมีความทุ้มนุ่มนวลกว่าการตีกลองที่หนังหน้ากลองแห้ง หากตีกลองจนไม้ที่ทำกลองแตกหรือปริจะทำให้กลองเสียงไม่ดี ภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้คือ การนำเปลือกยางบงมาป่นให้เป็นผงละเอียดนำมาผสมน้ำและยาลงไปบนเนื้อไม้บริเวณที่แตกหรือปรินั้น บ้างก็ตีจนหนังกลองแตก ก็จะมีการเปลี่ยนหน้ากลองใหม่
ปัจจุบันที่บ้านเป้า และหมู่บ้านใกล้เคียง เช่น บ้านคำสมิง ตำบลเกษม บ้านไร่สูง ตำบลไร่ทุ่ง อำเภอตระการพืชผล ยังมีจารีตประเพณีการเส็งกลองอยู่ หมู่บ้านใดที่จัดงานบุญบั้งไฟก็จะเชื้อเชิญหมู่บ้านอื่น ๆ ที่มีกลองมาเส็งกลองหรือตีกลองแข่งขันกัน การตีกลองแข่งขันจะพิจารณาจากเสียงกลอง คู่ที่มีเสียงใสแหลม สูง และหนังหน้ากลองไม่ขาดถือ ปัจจุบันนิยมเล่นแข่งขันกันเพื่อให้เกิดความสนุกสาน เพลิดเพลิน เสียงเร้าใจ เกิดความสามัคคี กลมเกลียวกันในกลุ่มแต่ละหมู่บ้าน และเป็นการแสดงออกถึงความสามารถ ภูมิปัญญาในการจัดทำอุปกรณ์การเล่นเอง
ที่ตั้ง การเส็งกลองบ้านเป้า
วัดปุญญานิวาส ตำบลเป้า อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี
พิกัดภูมิศาสตร์ การเส็งกลองบ้านเป้า
15.683817, 104.952789
บรรณานุกรม
คำ คมสัน. (2560). สัมภาษณ์ 17 พฤษภาคม 2560.
สุรัตน์ วรางรัตน์. (2542). เส็งกลอง (ประชันเสียงกลอง) : การละเล่น ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่ม 14. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.