เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม แหล่งอนุรักษ์และศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่า

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม เป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของเทือกเขาพนมดงรัก เป็นแหล่งอนุรักษ์และศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่า มีการสร้างเส้นทางศึกษาธรรมชาติ มีจุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจ เช่น แก่งลำดวน วังฮีที่มีรูปรอยแกะสลักนารายณ์บรรทมสินธุ์ ภาพแกะสลักและภาพเขียนสีในแหล่งโบราณคดีภูอ่าง ตั้งอยู่ในพื้นที่ของอำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม-ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่า-เส้นทางศึกษาธรรมชาติ

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม

ป่ายอดโดมเป็นส่วนหนึ่งของป่าบนเทือกเขาพนมดงรักซึ่งเป็นเทือกเขาที่กั้น พรมแดนระหว่างไทย-ลาว และไทย-เขมร กรมป่าไม้ได้กำหนดป่ายอดโดมเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เมื่อปี พ.ศ. 2520 โดยมีอาณาเขตอยู่ในป่าสงวนแห่งชาติป่าฝั่งขวาลำโดมใหญ่ ท้องที่ตำบลโดมประดิษฐ์ อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี เนื้อที่ประมาณ 202.55 ตารางกิโลเมตร หรือ 126,595 ไร่ ต่อมาได้เพิกถอนพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดมบางส่วนออก เนื่องจากกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน เขต 3 ขอใช้พื้นที่เป็นที่ตั้งหมวดตำรวจตระเวนชายแดนที่ 314 เนื้อที่ประมาณ 280ไร่ ตามพระราชกฤษฎีกา เพิกถอนเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม ในปี พ.ศ. 2523 ต่อมาได้ผนวกพื้นที่เพิ่มเติมในปี พ.ศ. 2535 รวมเป็นเนื้อที่ประมาณ 140,845 ไร่ ซึ่งก็ยังมีพื้นที่ที่เหมาะสมที่จะควรผนวกเข้าเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอีก โดยผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2538 รวมเป็นเนื้อที่ประมาณ 153,200 ไร่

ภูมิประเทศประกอบไปด้วยเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน ยอดที่สูงที่สุดคือยอดโดม ความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 180 – 770 เมตร มีที่ราบบนยอดเขาบ้างแต่ไม่กว้างมากนัก ส่วนใหญ่จะเป็นที่ลาดซึ่งมีป่าดงดิบขึ้นอยู่ทั่วไป สลับกับทุ่งหญ้า มีลักษณะเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารแหล่งหนึ่งของแม่น้ำมูล ลำห้วยสายหลัก คือ ลำโดมใหญ่ หินที่มีส่วนใหญ่เป็นหินทราย

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม-ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่า-เส้นทางศึกษาธรรมชาติเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม-ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่า-เส้นทางศึกษาธรรมชาติ

เนื่องจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดมนี้ ลักษณะส่วนใหญ่เป็นป่าดงดิบและอยู่ใกล้กับชายแดนประเทศลาวและเขมร ซึ่งป่าตามชายแดนของประเทศทั้งสองก็มีลักษณะเป็นป่าดงดิบ เช่นกัน ดังนั้นป่าบริเวณนี้ จึงมีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ แม้กระทั่งฤดูแล้งก็ไม่แห้งมากนัก และในฤดูฝนฝนจะตกชุก โดยแบ่งสภาพอากาศออกเป็น 3 ฤดู คือ ฤดูร้อน ระหว่างช่วงเดือนมีนาคม – พฤษภาคม ฤดูฝนระหว่างช่วงเดือนมิถุนายน – ตุลาคม ฤดูหนาว ระหว่างช่วงเดือนพฤศจิกายน – กุมภาพันธ์

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดมมี ลักษณะป่าประกอบไปด้วยป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และทุ่งหญ้า โดยที่ส่วนของเชิงเขาจะเป็นป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรัง บริเวณยอดเขาสลับไปด้วยป่าดิบเขา ป่าดิบแล้งและทุ่งหญ้าตามบริเวณทุ่งหญ้านั้นมีหญ้าขึ้นอยู่หลายชนิด มีไม้ดอกขึ้นอยู่สวยงามมากพันธุ์ไม้ในป่าที่สำคัญ ๆ ได้แก่ ชิงชัน กะบาก พยุง เต็ง รัง เหียง พยอม เก็ดแดง เก็ดดำ แดง ประดู่ เคี่ยมคะนอง สมอ หว้า ก่อ มะยมป่า ชมพู่ป่า ตะแบก เหมือด ไทร มะค่า กะโดน ส้าน พลอง เขล็ง เสลา มะกอก ไม้ที่ขึ้นเป็นพื้น ได้แก่ นนทรี คาง ตีนนก ยาง ตะเคียน มะขามป้อม มะม่วงป่า ไม้พื้นล่างได้แก่ ไผ่ต่าง ๆ หวาย ว่านต่าง ๆ กล้วยไม้ หญ้าต่าง ๆ มอส เฟิร์น สัตว์ป่าที่พบในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมี เลียงผา หมี กวาง กระทิง เสือโคร่ง เสือดาว เสือปลา แมวป่า เม่น เก้ง หมูป่า หมาป่า หมูหริ่ง ลิ่น ลิง ค่าง ชะนี ลิงลม กระต่ายป่า ชะมด อีเห็น และคาดว่ายังมีกูปรีอาศัยอยู่ด้วย เพราะเป็นแหล่งกำเนิดตามธรรมชาติของสัตว์ชนิดนี้ สัตว์ป่าพวกนกต่าง ๆ มีนกหลายชนิด ชนิดที่สำคัญคือ นกเป็ดก่า สัตว์เลื้อยคลานมี เต่า เห่าช้าง และงูประเภทต่าง ๆ

จุดเด่นที่น่าสนใจ แก่งลำดวน วังเวิน วังฮี โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่วังฮีมีรูปรอยแกะสลักบนก้อนหินเป็นรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์ แหล่งโบราณคดีภูอ่างเป็นภาพแกะสลักและภาพเขียนสีบนผนังเพิงผาบริเวณภูอ่าง  เป็นศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่า มีการสร้างเส้นทางศึกษาธรรมชาติ เช่น เส้นทางศึกษาธรรมชาติช้างศึก เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติแก่งลำดวน เส้นทางศึกษากล้วยไม้ พยุงของกลาง จระเข้น้ำจืด เป็นต้น

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม-ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่า-เส้นทางศึกษาธรรมชาติเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม-ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่า-เส้นทางศึกษาธรรมชาติเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม-ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่า-เส้นทางศึกษาธรรมชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม-ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่า-เส้นทางศึกษาธรรมชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม-ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่า-เส้นทางศึกษาธรรมชาติ

จระเข้น้ำจืดในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม

เมื่อปี พ.ศ. 2545 ชาวบ้านบ้านกุดเชียงมุน ตำบลโดมประดิษฐ์ อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี มีหนังจระเข้น้ำจืดขนาดความยาว 2.50 เมตร ไว้ในความครอบครอง สอบถามได้ความว่าได้ล่าจระเข้ดังกล่าวมาจากวังป่าอ้อในลำโดมใหญ่ พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม ปัจจุบัน เก็บรักษาไว้ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม

พ.ศ. 2546 เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม พบรอยเท้าจระเข้ บริเวณวังป่าอ้อซึ่งเป็นจุดเดิมที่ชาวบ้านได้พบและล่าจระเข้

พ.ศ.2555 พบกะโหลกจระเข้ถูกนำมาวางขาย ที่ตลาดช่องอานม้า ประเทศกัมพูชา จำนวน 2 หัว ๆ ละ 3000 บาท

พ.ศ.​ 2547-2556 ไปพบร่องรอยของจระเข้น้ำจืดในลำโดมใหญ่ พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม สาเหตุส่วนหนึ่งคือ อาจสูญพันธุ์ไปจากพื้นที่แล้ว และราษฎรไม่ได้เข้าไปหาปลา เนื่องจากเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า จึงไม่มีการรายงานว่ามีการพบเห็นจระเข้แต่อย่างใด

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม-ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่า-เส้นทางศึกษาธรรมชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม-ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่า-เส้นทางศึกษาธรรมชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม-ศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่า-เส้นทางศึกษาธรรมชาติ

โครงการปล่อยจระเข้คืนถิ่น เขตรักษาพันธ์ุสัตว์ป่ายอดโดม เป็นการอนุรักษ์จระเข้น้ำจืดพันธ์ุไทยแท้ไม่ให้สูญพันธ์ุไปจากธรรมชาติ โดยการสร้างระบบนิเวศให้กลับคืนมา และมีจำนวนประชากรจระเข้ที่เพิ่มขึ้นจากการปล่อยสู่ธรรมชาติ ซึ่งจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสถานะของจระเข้น้ำจืดในบัญชี CITES และส่งผลต่อการค้าระหว่างประเทศถึงชนิดพันธุ์พืชป่าและสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ในอนาคตต่อไป อีกทั้งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่และการบริการด้านต่าง ๆ

โครงการนี้มีการเตรียมจระเข้ขนาดใหญ่ น้ำหนักประมาณ 100-200 กิโลกรัม อายุ 15 ปี ที่ได้รับบริจาคจากฟาร์มจำนวน 10 ตัว มาอนุบาลไว้แล้ว พร้อมมีมาตรฐานการป้องกันหลังการป้องกันหลังปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ เช่น การติดตั้งวิทยุติดตามตัวและฝังไมโครชิพ และเทคโนโลยีต่าง ๆ ในการศึกษาข้อมูลด้านชีววิทยาของจระเข้

แต่โครงการนี้ได้ยุติไปเนื่องจากเกรงว่าจะเกิดอันตรายแก่ชาวบ้านที่ทำการประมง และจระเข้ที่ถูกเลี้ยงในฟาร์มอาจจะไม่สามารถอยู่ได้ในแหล่งน้ำธรรมชาติ ปัจจุบันมีบ่อเลี้ยงจระเข้น้ำจืดให้ศึกษาเรียนรู้อยู่ภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม

ที่ตั้ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม

ตำบลโดมประดิษฐ์ ตำบลสีวิเชียร อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี

พิกัดภูมิศาสตร์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม

14.435278, 105.100830

บรรณานุกรม

ไทยรัฐ. (2558). ชาวบ้านโล่ง! เลิกปล่อย ‘บิ๊กเข้’ คืนถิ่นลำโดมใหญ่, 19  กันยายน 2560. https://www.thairath.co.th/content/473790

วิจิตร จันทฤดี. (2560). สัมภาษณ์ 23 มิถุนายน 2560.

วิชัย ภาลุนัย. (2560). สัมภาษณ์ 23 มิถุนายน 2560.

ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี). เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม, วันที่ 19 กันยายน 2560. http://wildlife.dnp9.com

Tag

การทอผ้าไหม การทำต้นเทียนพรรษา การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การปฏิบัติธรรม การแกะสลักเทียนพรรษา ครูภูมิปัญญาไทย บุญมหาชาติ บุญเดือนแปด ชุมชนทำเทียนพรรษา บ้านชีทวน พักผ่อนหย่อนใจ พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ต้นเทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์ ต้นเทียนพรรษาประเภทแกะสลัก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประเพณีท้องถิ่น ประเพณีอีสาน ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัดหนองป่าพง วิถีชีวิตคนอีสาน วิปัสสนากรรมฐาน ศิลปกรรมญวน ศิลปกรรมท้องถิ่นอีสาน ศิลปะญวน สถาปัตยกรรมท้องถิ่น สถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสาน สถาปัตยกรรมในพุทธศาสนา สาขาวัดหนองป่าพง สิม หัตถกรรมการทอผ้า อำเภอพิบูลมังสาหาร อำเภอตระการพืชผล อำเภอน้ำยืน อำเภอม่วงสามสิบ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเขมราฐ อำเภอเขื่องใน อำเภอเดชอุดม อำเภอเมืองอุบลราชธานี อุบลราชธานี อุโบสถ ฮีตสิบสอง