หัตถกรรมทอผ้าไหมพื้นบ้าน ภายใต้โครงการส่งเสริมศิลปาชีพอำเภอบุณฑริก เป็นแหล่งทอผ้าไหมคุณภาพดีที่ยังคงอนุรักษ์วิธีการและขั้นตอนการทำแบบพื้นบ้านอีสานที่สืบทอดกันมานานไว้เป็นอย่างดี ได้รับการรับรองคุณภาพด้วยรางวัลต่าง ๆ ทั้งในระดับจังหวัดและระดับประเทศ นอกจากนั้นแล้วยังเป็นแหล่งเรียนรู้และถ่ายทอดภูมิปัญญางานหัตถกรรมการทอผ้าไหมพื้นบ้านอีกด้วย โครงการตั้งอยู่ที่บ้านสมพรรัตน์ ตำบลหนองสะโน อำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี
ภูมิปัญญาการทอผ้าไหม บ้านสมพรรัตน์
บ้านสมพรรัตน์ เดิมชื่อว่าบ้านโคกเอ่น ชาวบ้านสมพรรัตน์ส่วนใหญ่จะย้ายถิ่นฐานมาจาก อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ เนื่องจากแหล่งที่อยู่เดิมนั้นน้ำท่วมขังทุกปี ทำเกษตรกรรมไม่ได้ผลเท่าที่ควร อาชีพของชาวบ้านคือการทำนา การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและการทอผ้า เมื่อได้ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ในแหล่งใหม่ที่อุดมสมบูรณ์กว่าก็ยังคงดำรงชีวิตและประกอบอาชีพดั้งเดิมอยู่
ภูมิปัญญาการทอผ้าไหมของชาวบ้านสมพรรัตน์นั้น ได้รับการสืบทอดจากบรรพบุรุษและอนุรักษ์ให้คงอยู่จวบจนจนปัจจุบัน ชาวบ้านมีการสั่งสมประสบการณ์และความรู้ความสามารถในทุกขั้นตอนการผลิตผ้าไหม จากการทอผ้าเพื่อใช้ในครัวเรือนชาวบ้านสมพรรัตน์ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนให้ทอผ้าไหมเพื่อสร้างรายได้มากขึ้นเมื่อปี 2537 ที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จเยี่ยมราษฎรใน อำเภอบุณฑริก กลุ่มชาวบ้านได้ทูลเกล้าฯ ถวายผลิตภัณฑ์ผ้าไหมและผลิตภัณฑ์จักสาน พระองค์จึงพระราชทานเงินเพื่อเป็นทุนแก่กลุ่มชาวบ้านดังกล่าว อีกทั้งยังพระราชทานพระราชดำริให้ราษฎรในพื้นที่ทำงานศิลปาชีพเพื่อเพิ่มพูนรายได้ เป็นอาชีพเสริมเพื่อให้มีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงครอบครัว จึงเกิดเป็น “โครงการส่งเสริมศิลปาชีพอำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี” ขึ้น
งานหัตถกรรมการทอผ้าไหมของชาวบ้านสมพรรัตน์นั้น ชาวบ้านจะดำเนินการเองทุกขั้นตอนตั้งแต่ การปลูกหม่อน การเลี้ยงไหม การสาวไหม การฟอกสี การออกแบบลวดลาย การมัดหมี่ การย้อมสี และการทอผ้า ผลิตภัณฑ์ที่นิยมทำคือ ผ้าไหมมัดหมี่ ผ้าโสร่ง ผ้ากาบบัว ผ้าไหมพื้นเรียบ และผลิตภัณฑ์จากรังไหม
การปลูกหม่อน ชาวบ้านสมพรรัตน์ที่เป็นสมาชิกของโครงการส่งเสริมศิลปาชีพจะได้รับการจัดสรรที่ดินเพื่อปลูกหม่อน ที่ดินทั้งหมด 25 ไร่ จัดสรรให้สมาชิกจำนวน 32 ราย หม่อนที่ปลูกจะเป็นพันธุ์บุรีรัมย์ 60
การเลี้ยงไหม ชาวบ้านจะเลี้ยงไหมในโรงเรือนใต้ถุนบ้านของตนเอง โดยพันธุ์ที่นิยมเลี้ยงคือ พันธุ์นางตุ่ย พันธุ์นางน้อย พันธุ์ไหมลูกผสมอุบลราชธานีหรือพันธุ์ดอกบัว พันธุ์ไหมที่เลี้ยงจะได้จากการต่อไหมเองและได้รับจากโครงการส่งเสริมศิลปาชีพ การเลี้ยงไหมยังให้เส้นไหมไม่เพียงพอสำหรับการผลิตชาวบ้านยังคงต้องใช้เส้นไหมจากโรงงานด้วย
การสาวไหม เส้นไหมที่ได้จะมี 3 ประเภท คือ ไหมเปลือก ไหมน้อย และไหมรวด ชาวบ้านจะเลือกใช้เส้นไหมแต่ละประเภทตามความต้องการ ถ้าต้องการเนื้อผ้าที่ละเอียด และมีความประณีตจะเลือกใช้ไหมน้อย โดยก่อนนำเส้นไหมไปใช้จะต้องทำการฟอกสีไหม เพื่อล้างกาวไหมออกก่อน การฟอกสีไหมจะทำให้เส้นไหมมีสีขาวขึ้น
ลวดลายผ้าไหมที่ชาวบ้านทอนั้น ส่วนใหญ่เกิดจากจินตนาการ การเลียนแบบธรรมชาติ ผสมผสานกับลวดลายพื้นฐานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นลายเส้นตรง ลายฟันปลา ลายขด หรือลายขนมเปียกปูน การออกแบบลวดลายเพื่อทำการมัดหมี่นั้นหากเป็นลายใหม่หรือลายประยุกต์จะออกแบบในกระดาษกราฟก่อน แต่หากเป็นลายดั้งเดิมและคุ้นเคยชาวบ้านจะอาศัยความชำนาญสามารถมัดหมี่ได้เลยโดยไม่ต้องร่างแบบ เช่น ลายหมากจับ หมี่คั่น หมี่ขอ ขนมเปียกปูน เป็นต้น
การย้อมสีเส้นไหม ชาวบ้านจะย้อมทั้งสีจากธรรมชาติและสีเคมี เพื่อให้ได้สีตามที่ต้องการ การย้อมด้วยสีจากธรรมชาติ เช่น ครั่ง เปลือกเพกา ขมิ้น คำแสด เปลือกมะพร้าว มะเกลือ งิ้วผา ผลคูณ จะให้สีอ่อนโทนธรรมชาติแต่มีความคงทน ส่วนการย้อมด้วยสีเคมีจะให้สีสดใส จัดจ้าน
การทอผ้า ส่วนใหญ่จะใช้หูก 2 ตะกอ ยกเว้นการทอผ้ากาบบัว ที่จะใช้หูก 4 ตะกอ ใช้ฟืมขนาด 40-50 ช่างทอผ้าแต่ละคนจะมีฝีมือแตกต่างกัน ทำให้ได้ผ้าที่มีสีสัน ความคมชัด ความละเอียดของลวดลายแตกต่างกันไปด้วย ผ้าไหมที่ทอได้แต่ละผืนจึงเป็นเอกลักษณ์ที่มีเพียงชิ้นเดียวเท่านั้น
จากวัฒนธรรมและภูมิปัญญาการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและการทอผ้าไหมที่สืบทอดกันมาช้านานรุ่นแล้วรุ่นเล่า มีวิถีชีวิตที่คลุกคลีอยู่กับสิ่งเหล่านี้มาตั้งแต่เกิดจนเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิต การถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน ไม่ว่าจะเป็นแม่สู่ลูก หรือเพื่อนสู่เพื่อน และการส่งเสริมความรู้จาก โครงการและหน่วยงานทางวิชาการต่าง ๆ ทำให้ชาวบ้านสมพรรัตน์นั้นกลายเป็นกลุ่มเกษตรกรและช่างทอผ้าที่มีความชำนาญและฝีมือยอดเยี่ยมเป็นที่ยอมรับจากบุคคลและหน่วยงานต่าง ๆ มากมาย ดังจะเห็นได้จากรางวัลต่าง ๆ มากมายที่ช่วยยืนยันในคุณภาพและฝีมือทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ เช่น รางวัลชนะเลิศการประกวดสาวไหม ชนะเลิศการทอผ้าไหม ตรานกยูงพระราชทาน เป็นต้น
การเดินทางไปบ้านสมพรรัตน์นั้น ถ้าเริ่มจากอำเภอเดชอุดม จะใช้เส้นทางเดชอุดม – บุณฑริก ห่างจากอำเภอเดชอุดมประมาณ 28 กิโลเมตร ถึงบ้านจงเจริญ ให้เลี้ยวขวาไปตามเส้นทางถนนลาดยาง ถึงบ้านสมพรรัตน์ประมาณ 18 กิโลเมตร เส้นทางค่อนข้างขรุขระ
ที่ตั้ง โครงการส่งเสริมศิลปาชีพอำเภอบุณฑริก
โครงการส่งเสริมศิลปาชีพอำเภอบุณฑริก บ้านหนองสะโน ตำบลหนองสะโน อำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี เว็บไซต์ : http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/sompornrat
พิกัดภูมิศาสตร์ โครงการส่งเสริมศิลปาชีพอำเภอบุณฑริก
14.7286536, 105.2621574
บรรณานุกรม
ขจร นวศรี. (15 พฤษภาคม 2557). สัมภาษณ์
ถาวร พาผล. (14-15 พฤษภาคม 2557). สัมภาษณ์
นริศรา เรืองสูง. (6 เมษายน, 14-16 พฤษภาคม 2557). สัมภาษณ์
สนิท โคตรอนันต์. (14-16 พฤษภาคม 2557). สัมภาษณ์.