ผ้าลายบัวขาว หรือผ้าลายบุณฑริก เป็นลวดลายที่สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อให้เป็นลวดลายเอกลักษณ์ของอำเภอบุณฑริก เป็นการประยุกต์จากลวดลายกาบบัวของจังหวัดอุบลราชธานี สร้างสรรค์โดย โครงการส่งเสริมศิลปาชีพอำเภอบุณฑริก บ้านสมพรรัตน์ ตำบลหนองสะโน จังหวัดอุบลราชธานี
เมืองบัว บัวบุณฑริก
อำเภอบุณฑริก เป็นอำเภอหนึ่งที่ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของจังหวัดอุบลราชธานี ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 90 กิโลเมตร มีพื้นที่ด้านทิศตะวันออกกับทิศใต้ติดกับประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่ด่านพรมแดนไทย-ลาว “ช่องตาอู”
ประวัติความเป็นมาของอำเภอบุณฑริก เมื่อปี พ.ศ. 2390 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ รัชกาลที่ 3 ให้ยกบ้าน “ดงกระซุ” (บ้านไร่) ขึ้นเป็น “เมืองบัว” ขึ้นตรงต่อนครจำปาศักดิ์ ต่อมาในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ระหว่างปี พ.ศ.2443-2445 มีการปรับปรุงการปกครองส่วนภูมิภาคครั้งใหญ่ เมืองดอกบัวได้ลดฐานะลงเป็นอำเภอแต่ยังคงขึ้นกับนครจำปาศักดิ์เช่นเดิม ในปี พ.ศ. 2446 ไทยเสียดินแดนจำปาศักดิ์ให้กับฝรั่งเศส จึงได้โอนเมืองบัวมาขึ้นกับอำเภอเดชอุดม บริเวณขุขันธ์จนถึงปี พ.ศ. 2452 ได้เปลี่ยนชื่อเมืองบัวเป็น “อำเภอบุณฑริก”
ในสมัยรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ.2455 อำเภอบุณฑริกถูกลดฐานะลงเป็นกิ่งอำเภอ และในปี พ.ศ.2460 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นกิ่งอำเภอโพนงาม โดยขึ้นอยู่กับอำเภอเดชอุดม จังหวัดขุขันธ์เช่นเดิม จนกระทั่งถึง พ.ศ. 2471 จึงได้โอนมาขึ้นกับจังหวัดอุบลราชธานี พ.ศ. 2482 จึงเปลี่ยนชื่อเป็นกิ่งอำเภอบุณฑริกอีกครั้งหนึ่ง พ.ศ. 2501 ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอบุณฑริก
คำว่า “บุณฑริก” มาจากชื่อเดิมว่า “เมืองบัว” บัวบุณฑริก คือ บัวหลวง (ปทุมชาติ) ใบชูเหนือน้ำ ดอกชั้นเดียวสีขาว เมื่อดอกตูมจะเป็นรูปไข่ มีดอกขนาดใหญ่ ปลายเรียว
โครงการส่งเสริมศิลปาชีพอำเภอบุณฑริก โดยชาวบ้านบ้านสมพรรัตน์ ตำบลหนองสะโน อำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี ได้สร้างสรรค์ลวดลายผ้าที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของอำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานีขึ้น ให้ชื่อว่า ลายบัวขาว หรือลายบุณฑริก เป็นการประยุกต์ลวดลายจากผ้าลายกาบบัว ซึ่งเป็นผ้าเอกลักษณ์ของจังหวัดอุบลราชธานี
ผ้าลายบัวขาว หรือลายบุณฑริก
ผ้าลายบัวขาว หรือลายบุณฑริก เกิดขึ้นจากแนวคิดของนายฤทธิสรรค์ เทพพิทักษ์ นายอำเภอบุณฑริกในขณะนั้น ที่อยากได้ผ้าไหมย้อมสีธรรมชาติที่มีลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของอำเภอบุณฑริก จึงมอบหมายให้โครงการส่งเสริมศิลปาชีพอำเภอบุณฑริกโดยกลุ่มชาวบ้านสมพรรัตน์ช่วยดำเนินการออกแบบให้ ซึ่งกลุ่มชาวบ้านได้ออกแบบลวดลายไปให้คัดเลือกประมาณ 3-4 ลาย และลายที่ได้รับการคัดเลือกคือลายดอกบัวขาวหรือลายบุณฑริก ซึ่งออกแบบโดยนางนริศรา เรืองสูง
ผ้าลายบัวขาว หรือลายบุณฑริก เป็นผ้าไหมมัดหมี่ที่ประยุกต์ลวดลายจากลายกาบบัว ซึ่งเป็นลวดลายเอกลักษณ์ของจังหวัดอุบลราชธานี ลวดลายและสีที่ใช้ในการทอผ้านั้น มีความหมายดังนี้
- สีเหลืองทอง หมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง ความมั่งคั่ง ความอบอุ่นและสร้างสรรค์ทางปัญญา
- สายน้ำ หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ การเจริญเติบโต
- สีขาว ดอกบัวตูมและบัวบาน หมายถึง ความสะอาด บริสุทธิ์ ความถูกต้อง และสอดคล้องกับชื่อของอำเภอบุณฑริก ซึ่งแปลว่า ดอกบัวขาว
- สีแดง หมายถึง ความเป็นมิตร ความซื่อสัตย์ ความไว้วางใจ
- ลายฟันปลา สื่อถึงความเลวร้าย ปัญหาและอุปสรรค เส้นตรงแนวนอนบ่งบอกถึงการแบ่งระดับชั้นทางปัญญา
- ลายสี่เหลี่ยม หมายถึง ดอกไม้สวรรค์ที่โปรยลงมาจากสรวงสวรรค์แสดงความปีติยินดีกับบัวที่โผล่พ้นนน้ำ
การทอ ทอด้วยหูก 4 ตะกอ ฟืมขนาด 45 เส้นไหมที่ใช้ทอจะย้อมสีธรรมชาติ ประกอบด้วย
- เส้นยืน ประกอบด้วย เส้นไหมสีเหลืองนวล ที่ได้จากเส้นไหมที่ฟอกสีแล้วแต่ไม่มีการย้อมสี และเส้นไหมสีเหลืองนวลที่ย้อมด้วยเปลือกมะพร้าวสดอ่อน
- เส้นพุ่ง ประกอบด้วย เส้นไหมสีเหลืองที่ย้อมด้วยเปลือกเพกา เส้นไหมสีแดงที่ย้อมด้วยครั่ง และเส้นไหมสีขาวที่ไม่ได้ย้อมสี
อำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี ได้กำหนดให้ผ้ากาบบัวลายบัวขาวหรือบัวบุณฑริกเป็นลายผ้าเอกลักษณ์ของอำเภอ และดำเนินการจดรับรองลิขสิทธิ์ จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์แล้ว เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2557
ที่ตั้ง โครงการส่งเสริมศิลปาชีพอำเภอบุณฑริก
โครงการส่งเสริมศิลปาชีพอำเภอบุณฑริก บ้านหนองสะโน ตำบลหนองสะโน อำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี
พิกัดภูมิศาสตร์ โครงการส่งเสริมศิลปาชีพอำเภอบุณฑริก
14.7286536, 105.2621574
เอกสารอ้างอิง
นริศรา สูงเนิน. (2557). สัมภาษณ์ 17 มิถุนายน 2557.
สำนักศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฎอุบลราชธานี. (2544). นามานุกรมภูมิศาสตร์จังหวัดอุบลราชธานี. อุบลราชธานี : สถาบันราชภัฎอุบลราชธานี.