วัดแจ้ง จังหวัดอุบลราชธานี เป็นวัดที่เจ้าราชบุตร (หนูคำ) ผู้ปกครองเมืองอุบลราชธานีสร้างขึ้น ภายในวัดมีสิมเก่า งานสถาปัตยกรรมท้องถิ่นอีสานที่ได้รับยกย่องว่ามีรูปทรงสวยงาม มีงานจำหลักไม้ที่มีฝีมือแบบพื้นบ้านอีสานโดยแท้ และลักษณะเด่นของสิม คือ คันทวยนาคและหางหงส์ที่มีความอ่อนช้อยและงดงาม โดยทำเป็นรูปหัวนาคมีหงอนสะบัดปลายเป็นกนกเปลว
ประวัติวัดแจ้ง อุบลราชธานี
เมื่อเจ้าราชบุตร (หนูคำ) หนึ่งในคณะอาญาสี่ ผู้ปกครองเมืองอุบลราชธานีได้สร้างวัดทองนพคุณสนองพระคุณมารดาแล้วมีใจชื่นชมยินดีมาก จึงให้สร้างวัดอีกวัดหนึ่งขึ้นที่สวนอีกแปลงของท่านและอยู่ทางเหนือของเมือง วัดแจ้งถูกสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2431 ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อเดินทางจากตัวเมืองไปทางเหนือพอมาถึงบริเวณวัดนี้ก็จะสว่างพอดี หรือเรียกว่า แจ้งพอดี จึงขนานนามวัดนี้ว่า “วัดแจ้ง” นอกจากนี้ท่านยังได้สร้างพระประธานประดิษฐานไว้ในศาลาการเปรียญและสร้างอูปมุงสำหรับใส่อัฐิธาตุบรรพชนของท่านไว้ด้วย
สิมวัดแจ้ง อุบลราชธานี
สิมวัดแจ้งนั้นได้รับการยกย่องว่ามีรูปทรงสวยงามและมีงานจำหลักไม้ที่มีฝีมือแบบพื้นบ้านโดยแท้ซึ่งนับวันจะหาดูเป็นตัวอย่างศึกษาได้ยาก สร้างแล้วเสร็จ พ.ศ. 2455 หรือหลังจากการตั้งวัดแล้ว 24 ปี โดยญาท่านเพ็ง เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง มีขนาดความกว้าง 6 เมตร ยาว 15 เมตร สูง 10 เมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันออก
ลักษณะของสิม วัดแจ้ง ตัวอาคารก่อด้วยอิฐฉาบปูน ฐานเอวขันธ์แบบปากพาน มีบันไดขึ้นทางด้านหน้ามีมุขเฉลียงอยู่ด้านหน้า หน้าต่างด้านข้างด้านละ 3 ช่อง ผนังด้านหลังก่อทึบถึงจั่วไม่มีหน้าบัน หลังคาชั้นเดียวมีพะไร (ปีกนก) ทางด้านข้าง รวยลำยองแบบไม่มีนาคสะดุ้ง (รวยระกามอญ) ช่อฟ้า (โหง่) ใบระกาและหางหงส์แบบอีสาน เดิมมุงด้วยแป้นไม้อันเป็นเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมอีสาน ต่อมาเมื่อแป้นไม้ชำรุดจึงเปลี่ยนเป็นกระเบื้องดินขอ มีบันไดอยู่ด้านหน้า ราวบันไดปั้นเป็นรูปจระเข้หมอบ 2 ตัว เอาหัวห้อยลงมาทางตีนบันได ส่วนหางชี้ขึ้นบนส่วนเฉลียงของหน้าสิม เสาด้านหน้าเป็นเสาไม้กลม 4 ต้น หน้าบันสลักไม้เป็นลวดลายแบบพื้นบ้านผสมลายไทยภาคกลาง ด้านบนสุดของหน้าบันแกะสลักไม้เป็นรูปช้างเอราวัณอยู่ตรงกลางระหว่างคชสีห์ 2 ตัว ปิดทองร่องกระจก รวงผึ้งสลักไม้ลายดอกบัวและกอบัวอย่างสวยงาม หากพิจารณาจากปีที่สร้างแล้ว หน้าบันที่สิมวัดแจ้งน่าจะเอาแบบอย่างจากหน้าบันของหอพระพุทธบาทวัดทุ่งศรีเมือง เพียงแต่ช่างได้ประดิษฐ์ลวดลายเพิ่มเติมให้มีความวิจิตรสวยงามมากขึ้นจนโดดเด่น ลักษณะเด่นของสิม คือ ความสวยงามอ่อนช้อยของคันทวยนาคและหางหงส์ที่ทำเป็นรูปหัวนาคมีหงอนสะบัดปลายเป็นกนกเปลว
สิมวัดแจ้งได้รับการยกย่องให้เป็นโบราณสถานที่มีการอนุรักษ์ได้ยอดเยี่ยมและรับเกียรติบัตรในงานนิทรรศการ “สถาปนิก 30” จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี
ที่ตั้ง วัดแจ้ง
ถนนสรรพสิทธิ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
พิกัดภูมิศาสตร์ วัดแจ้ง
15.236057, 104.860106
บรรณานุกรม
ท่องธารธรรม ตามมูนเมืองอุบล แหล่งธรรมะและธรรมชาติ. (2553). อุบลราชธานี: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี.
ปิยะฉัตร ปีตะวรรณ และสุภัต รักเปี่ยม. (2541). สถาปัตยกรรมอุบลราชธานี. อุบลราชธานี: ชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมท้องถิ่น จังหวัดอุบลราชธานี สำนักศิลปวัฒนธรรม สถาบันราชภัฏอุบลราชธานี.
มะลิวัลย์ สินน้อย, ผู้รวบรวม. ฐานข้อมูลวัดในจังหวัดอุบลราชธานี, วันที่ 17 มกราคม 2558. http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/ubon_temple.
วิโรฒ ศรีสุโร. (2536). สิมอีสาน. กรุงเทพฯ: เมฆาเพรส.
ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม วิทยาลัยครูอุบลราชธานี. (2534). รายงานการประชุมเสวนาทางวิชาการ “วัดและประเพณีพื้นบ้าน”. อุบลราชธานี: ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม วิทยาลัยครูอุบลราชธานี.