ตำรับยาสมุนไพรพื้นบ้านอีสาน ที่รวบรวมโดยคุณตาจำนง กันนิดา หมอยาพื้นบ้านที่เรียนรู้การป้องกันและรักษาโรคมาจากตำรายาโบราณในหนังสือใบลานที่ครูบาอาจารย์ถ่ายทอดให้ในสมัยยังบวชเป็นพระ นำมาผลิตเป็นยาสมุนไพรสร้างรายได้ให้กับชุมชนบ้านม่วง หมู่ 3 ตำบลสมสะอาด อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี
คุณตาจำนง กันนิดา หมอยาสมุนไพรพื้นบ้านแห่งบ้านม่วง ได้รับการถ่ายทอดความรู้เรื่องยาสมุนไพรพื้นบ้านจากครูบาอาจารย์ในขณะที่บวช ตำรายาที่เรียนร่ำเรียนนั้นส่วนหนึ่งถูกเขียนบันทึกไว้ในใบลานที่สืบทอดกันมา คุณตาจำนงได้นำความรู้นั้นมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยและทำคลอดในชุมชน สั่งสมประสบการณ์และมีความเชี่ยวชาญ จนได้รับการยอมรับจากสมาคมแพทย์โบราณพื้นบ้านไทยและสมุนไพร
คุณตาจำนง กันนิดา ได้รวบรวมและบันทึกตำรายาสมุนไพรไว้และอนุญาตให้เผยแพร่ได้ ซึ่งงานข้อมูลท้องถิ่นฯ เห็นว่าเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาเรียนรู้ จึงได้เรียบเรียงและจัดกลุ่มตำรายา เทียบเคียงชื่อสมุนไพรที่เรียกขานในชุมชนกับชื่อสามัญ (เท่าที่ทำได้) ดังต่อไปนี้
สูตรทำลูกประคบสมุนไพรบ้านม่วง ประกอบด้วย ไพล ขมิ้น ว่างนางคำ ใบหนาด ใบมะขาม ใบเป้า ใบส้มป่อย เถาเอ็นอ่อน ตะไคร้หอม เปลือกมะกรูด การบูร 2 ขีด พิมเสน 2 ขีด ผสมกัน เถาวัลย์เปลือง และเกลือ 4 ช้อนโต๊ะ
โรคประดง
- ตำรับ 1 : โรคประดงเข้าข้อ นำแก่นตีนนก (สมอหิน) เครือหมากยาง (คุย) ยาหัว (ข้าวเย็น) อ้อยดำ ต้มน้ำดื่ม
- ตำรับ 2 : โรคประดงปวดขา นำแก่นแดง แก่นข่าลิ้น(คัดลิ้น, กัดลิ้น) แก่นขี้เหล็กใหญ่(ชุมเห็ดเทศ) แก่นขี้เหล็กต้มน้ำดื่ม
- ตำรับ 3 : นำรากขนุน รากต้นถ่อน ขมิ้นเครือ รากส่องฟ้า รากสมัด(สมัดใหญ่) ต้มน้ำดื่ม
- ตำรับ 4 : แก้ปวดประดง นำรากลิ้นไม้ (เพกา) พลูคาว รากพลู่มะลี ฝนทาบริเวณที่ปวด
โรคเบาหวาน
- ตำรับ 1 : นำใบสัก ใบมะยม ต้มน้ำดื่ม
- ตำรับ 2 : นำใบหูกวาง 1 กำมือ ตัดก้านและปลายใบออก เอาเฉพาะส่วนกลางใบต้มน้ำดื่มเป็นประจำ ช่วยลดน้ำตาลในเลือด
- ตำรับ 3 : นำต้นและใบเหงือกปลาหมอ ต้มน้ำดื่ม
- ตำรับ 4 : นำใบเหงือกปลาหมอ 1 กำ รากและต้นไมยราบ 1 กำมือ ใบเตยหอม 1 กำมือ ต้มน้ำดื่ม
โรคเกี่ยวกับระดู
- ตำรับ 1 : แก้ไข้ทับระดู นำกาบและใบมะพร้าว 1 กำมือ ต้มน้ำดื่ม
- ตำรับ 2 : ช่วยขับระดู นำฮางฮ้อน ต้มน้ำดื่ม
โรคนิ่ว
- ตำรับ 1 : โรคนิ่วในไต นำหัวหญ้าแห้วหมู หัวสับปะรด รากดอกเกษ(การะเกด) เหง้าต้นกล้วยตานี ต้มน้ำดื่มหรือ นำแก่นงิ้วผาแดงมาต้มน้ำดื่ม
- ตำรับ 2 : นำรากมะนาว 1 กำ ต้มกับน้ำสารส้ม ต้มน้ำดื่ม
- ตำรับ 3 : นำงวงตาล หญ้าแห้วหมู รากขัดมอญ ต้มน้ำดื่ม
- ตำรับ 4 : สลายนิ่ว นำรากเอี่ยนด่อน(ปลาไหลเผือกใหญ่) ฝนน้ำดื่มจนหาย
ไข้มาลาเรีย
- ตำรับ 1 : นำรากเอี่ยนด่อน(ปลาไหลเผือกน้อย) รากหยิกบ่อถอง(ปลาไหลเผือกใหญ่ ) ต้มน้ำดื่ม
โรคกระเพาะ
- ตำรับ 1 : โรคกระเพาะที่ทำให้แน่นท้อง นำหัวหญ้าแห้วหมู รากหญ้าหวาย เครือพิผ่วน เครือเขาแกลบ ต้มน้ำดื่ม
- ตำรับ 2 : นำแก่นตูมกา(แสลงใจ) แก่นตับเต่า(กระทุ่ม) ต้นคามป่า(ครามป่า) ต้มน้ำดื่ม
- ตำรับ 3 : นำรากพังคี(เจตพังคี) รากพูมารี(กระอวม) รากส้มล้ม ต้มน้ำดื่ม
- ตำรับ 4 : นำรากตำลึง บอระเพ็ด หัวขมิ้น อย่างละพอประมาณ ต้มน้ำดื่ม
โรคไต
- ตำรับ 1 : นำแก่นกระเบา แก่นส้มพ่อหนาม(ส้มป่อย) แก่นเดือยหิน ต้มน้ำดื่ม
โรคริดสีดวง
- ตำรับ 1 : โรคริดสีดวงลำไส้ใหญ่ นำต้น ราก ผล ใบ ของชุมเห็ดเทศในต้นเดียวกัน ต้มน้ำดื่ม
- ตำรับ 2 : นำเหงือกปลาหมอ ชะเอมเทศ อย่างละเท่า ๆ กัน บดให้ละเอียด ผสมน้ำผึ้ง ปั้นเป็นลูกกลอนกิน เช้า 2 เม็ด เที่ยง 1 เม็ด เย็น 2 เม็ด
- ตำรับ 3 : นำแก่นประดู่ แก่นแดง แก่นเชือก แก่นหวดข่า(มะหวด) เครือตาปลา(เถาวัลย์เปรียง) เครือจาน(เถาพันซ้าย) เครือประดง ใบหนาด ต้มน้ำดื่ม
- ตำรับ 4 : โรคริดสีดวงที่เลือดออก นำเปลือกฮังหนาม(เต็งหนาม) เปลือกข่าลิ้น(คัดลิ้น,กัดลิ้น, ลำไยป่า) เปลือกอะเลา(ใบและต้นคล้ายต้นอะลาง)เปลือกหนามคอม(ตะครอง) เปลือกแคฝอย ใส่เกลือเล็กน้อย ต้มน้ำดื่ม
- ตำรับ 5 : โรคริดสีดวงทวาร นำต้นพรายเสมา แก่นงิ้วแดง ต้มน้ำดื่ม
- ตำรับ 6 : โรคริดสีดวงทวารเมื่อถ่ายเป็นเลือด นำรากสับประรด กระเทียม พริกไทยดำ ตำผสมกันแล้วห่อผ้าขาว ต้มน้ำดื่ม
โรคเรื้อนตามมือและเท้า
- ตำรับ 1 : นำเปลือกถ่อนแช่ในน้ำซาวข้าวเปรี้ยว นำไปทาหรือแช่
โรคตับ
- ตำรับ 1 : นำรากหนามโกทา(คนทา) รากหนามหัน รากส้มป่อย รากกระจาย(ต้นกำจาย) รากปอขี้ไก่(ปอขี้ตุ่น) ต้มน้ำดื่ม
- ตำรับ 2 : โรคตับใหญ่ นำแก่นขนุน แก่นเข แก่นนมสาว รากสามสิบกลีบ ต้มน้ำดื่ม
- ตำรับ 3 : มะเร็งตับ เมื่อเริ่มมีอาการ นำยาหัว รากพายสงขาว ต้มน้ำดื่ม
โรคลักปิดลักเปิด
- ตำรับ 1 : นำเขาวัวหรือเขาควายมาเผาไฟให้ไหม้แล้วบดให้ละเอียด นำฝางเสน(ฝาง) ฝนกับน้ำผึ้งแท้ ทาบริเวณที่เป็น
โรคปากเด็กเป็นตุ่มใส
- ตำรับ 1 : นำหอยขมสดมาฝนด้านก้นหอยจนน้ำเมือกหอยออก ผสมน้ำมะนาว ทาตุ่ม
โรคกลากเกลื้อน
- ตำรับ 1 : นำใบพิกุลสดมาตำผสมกับกำมะถันให้ละเอียด ห่อด้วยผ้าขาว จุ่มเหล้าแล้วนำไปทาบริเวณที่เป็นเกลื้อน
- ตำรับ 2 : นำใบขี้เหล็กใหญ่(ชุมเห็ดเทศ) ตำผสมเหล้าขาว ทาวันละ 2-3 ครั้ง
โรคดีซ่าน
- ตำรับ 1 : นำแก่นสัก แก่นประดู่ แก่นฝางเสน ต้มน้ำดื่ม
โรคมะเร็งในกระดูก
- ตำรับ 1 : นำกระดูกควายด่อน(ควายเผือก) กระดูกม้าขาว มาเผาไฟแล้วตำให้ละเอียด ห่อด้วยผ้าขาว แช่น้ำดื่มทุกวัน
วัณโรค หรือหลอดลมอักเสบ
- ตำรับ 1 : นำใบหนุมานประสานกาย 7 ใบ ต้มจนเคี่ยวดื่ม หรือกินสดก็ได้
โรคผิวหนัง ผื่นคัน
- ตำรับ 1 : นำกิ่ง-ใบ-ดอก ต้นมันปลา(กันเกรา) ต้มน้ำอาบ
- ตำรับ 2 : นำใบพลูสด 1 กำมือ หมากสดทุบให้แตก 1 ลูก ยาฉุน 1 ก้อน เปลือกสีเสียด 1 กำมือ สารส้ม 1 ก้อน ต้มกับน้ำให้เดือด เอาสำลีชุบทาบริเวณที่คัน
โรคตับแข็ง
- ตำรับ 1 : นำแก่นโกนา แก่นก้านเหลือง แก่นมะรุม แก่นแดง แก่นตับเต่า โกฐสอ โกฐหัวบัว เครือดอกอัญชัน ต้มน้ำดื่ม
โรคงูสวัด
- ตำรับ 1 : นำเปลือกมังคุดแห้ง ฝนกับน้ำปูนใส ทาแก้บริเวณที่เป็นงูสวัด
- ตำรับ 2 : นำเครือเขาคำมาทุบผสมน้ำเล็กน้อย ทาบริเวณที่เป็นงูสวัด
โรคหวัด หลอดลมอักเสบ
- ตำรับ 1 : ให้ต้มน้ำครึ่งกาพอเดือด หยดน้ำมันดอกไม้ขาว (แปะฮวยอิ้ว) ไฮเป๊ก ลง 2-3 หยด แล้วเอากระดาษแข็งขาวทำเป็นกรวย ครอบปากกาให้ไอน้ำระเหยขึ้นมาบนยอดกรวยแล้วสูดดม ทำวันละ 2-3 ครั้ง อาการก็จะทุเลาหายไป
โรคหืด
- ตำรับ 1 : นำใบหนุมานประสานกายสด ต้มน้ำดื่ม
- ตำรับ 2 : นำหัวบัวบก ต้มน้ำดื่ม
โรคบิด
- ตำรับ 1 : นำใบฟ้าทะลายโจรสดต้มต้มน้ำดื่ม หรือใบแห้งบดผสมน้ำผึ้งกินแก้อักเสบ
โรคหูด
- ตำรับ 1 : นำยางพญาไร้ใบ (สามพันกิ่ง) ทาบริเวณที่เป็นหูด
แก้ปัสสาวะขัด
- ตำรับ 1 : ต้มน้ำกระเจี๊ยบดื่ม
- ตำรับ 2 : แก้ปัสสาวะไม่ออก นำใบส้มป่อย ใบมะขามเปรี้ยว อย่างละ 1 กำ ใบมะนาว 9 ใบ หอมแดง 3 หัว น้ำอ้อย 3 ก้อน ขี้ค้างคาวดิบ สารส้ม อย่างละเท่าหัวแม่มือ ต้มน้ำดื่ม
- ตำรับ 3 : ปัสสาวะขัด นำต้นหางช้าง ต้มน้ำดื่ม
แก้ตกเลือด
- ตำรับ 1 : นำรากหญ้าคา ใบไผ่แห้ง รากหญ้าขัดมอญตัวผู้และตัวเมีย ต้มน้ำดื่ม
- ตำรับ 2 : นำรากตองหมอง ต้มน้ำดื่ม
- ตำรับ 3 : นำหมากอะเลา(ผลอะเลา) เห็ดกระด้าง ต้มน้ำดื่ม
ยาอายุวัฒนะ
- ตำรับ 1 : นำขมิ้นชัน บอระเพ็ด หัวหญ้าแห้วหมู ตากแห้งแล้วบดเป็นผง ผสมกับน้ำผึ้ง ปั้นเป็นลูกกลอนกิน
- ตำรับ 2 : นำเปลือกถ่อน เปลือกโกนา หัวหญ้าแห้วหมู บอระเพ็ด เม็ดข่อย พริกไทยล่อน(พริกไทยขาว) ตากแห้งแล้วบดผสมน้ำผึ้ง ปั้นเป็นลูกกลอน ทานเช้า-เย็น
รักษาแผลไฟไหม้
- ตำรับ 1 : นำน้ำมันมะพร้าว ผสมกับน้ำปูนใส ทาที่แผล
แก้ผีในท้อง
- ตำรับ 1 : นำรากนางนวล ต้มน้ำดื่ม
แก้ปวดขา ปวดเข่า ปวดตามข้อ
- ตำรับ 1 : แก้ปวดขา นำยาหัว (ข้าวเย็น) อ้อยดำ ตาไม้ไผ่ทุกชนิด ต้มน้ำดื่ม
- ตำรับ 2 : แก้ปวดเข่า นำแก่นกระเดา(สะเดา) แก่นตูมกา แก่นแดง ฟ้าทะลายโจร บอระเพ็ด แฮ่ม ปริมาณเท่ากันต้มน้ำดื่ม
- ตำรับ 3 : แก้ปวดตามข้อ เข่า เอว นำแก่นแดง ต้นเบนน้ำ เครือปอแสนพันธุ์ ต้มน้ำดื่ม
แก้ตะขาบกัด
- ตำรับ 1 : นำยอดมะขามอ่อน หัวกระเทียม ตำผสมกัน ทาหรือปิดแผลที่โดนกัด
แก้ช้ำในจากอุบัติเหตุ หรือถูกกระทบรุนแรง
- ตำรับ 1 : นำรากหญ้าเจ้าชู้ น้ำตาลทราย 2 ช้อน ต้มน้ำดื่ม
- ตำรับ 2 : นำน้ำตาลทรายขาว 2 ช้อนโต๊ะ ผสมเหล้าขาวครึ่งแก้ว คนให้น้ำตาลละลาย แล้วดื่มให้หมด
เมื่อแม่ลูกอ่อนกินของแสลง (ผิดกะบูน)
- ตำรับ 1 : ถากเอาแก่นบก(กระบก) แก่นพอก(มะพอก) ถากเอากลีบที่มันตกหงาย ต้มน้ำดื่ม
แก้ตกขาว
- ตำรับ 1 : นำแก่นแดง แก่นฮังหนาม(เต็งหนาม) รากส้มลม รากพายสง ต้มน้ำดื่ม
- ตำรับ 2 : นำแก่นพะยอม ต้มน้ำดื่ม
แก้สะอึกดิบ
- ตำรับ 1 : นำเม็ดบักแต้(มะค่า) เม็ดบักขาม(มะขาม) แก่นข้าวโพด ปริมาณเท่า ๆ กันมาเผาไฟให้ไหม้ แล้วเอาผ้าขาวห่อ แช่น้ำดื่ม
แก้งูพิษกัด
- ตำรับ 1 : นำลูกขนุน หัวหญ้าปากควาย หัวปอเต่าไห้ มาฝนทา
แก้ฝี
- ตำรับ 1 : นำรากมะเขือบ้า(ลำโพง) เปลือกงิ้วผา(งิ้วป่า) มาฝนทา
- ตำรับ 2 : แก้ฝีที่ฝ่ามือ นำใบเสลดพังพอน 1 กำมือ ตำให้ละเอียด แล้วผสมกับเหล้าขาว นำไปพอกที่ฝีนั้น แก้ปวดและคันได้
ยารมฝีในนมหรือมะเร็งเต้านม
- ตำรับ 1 : นำใบดอกช้องใหญ่ ใบดอกพุด ใบดอกอินทวา ปริมาณเท่ากำมือ ต้มน้ำดื่ม
แก้ปวดหัว
- ตำรับ 1 : นำรากคอนแลน (คอแลน) รากดอกอินถวา (พุดซ้อน) รากดอกพุด ฝนทา
- ตำรับ 2 : นำน้ำมะนาวมาผสมกับน้ำปูนกินหมาก ทาที่ขมับตรงที่ปวด
- ตำรับ 3 : นำมุยแดง(มะคังแดง) ย่านางแดง ฝาง จันทร์แดง ตะไคร้ ต้มน้ำดื่ม
แก้ไข้ ตัวร้อน ร้อนใน
- ตำรับ 1 : นำเปลือกและใบกระโดนโคก (จิก, กระโดน) ตำให้ละเอียดแล้วห่อด้วยผ้าขาว จุ่มน้ำพอเปียกแล้วเช็ดตัวให้ผู้ป่วย
- ตำรับ 2 : เครือบอระเพ็ด ต้มน้ำดื่ม ลดการกระหายน้ำ เจริญอาหาร
- ตำรับ 3 : แก้ไข้ตัวร้อนในเด็ก นำรากฮางฮ้อน แก่นว่านหมาว้อ แช่น้ำดื่ม
รักษาแผลถูกสุนัขกัด
- ตำรับ 1 : นำใบกล้วยน้ำว้าแห้งเผาไฟผสมกับสารส้มป่นละเอียด ปิดปากแผล
แก้ปวดฟัน
- ตำรับ 1 : นำเกลือทะเล สารส้ม การบูร มาบดละเอียดผสมกัน แปะบริเวณฟันที่ปวด
แก้เครื่องสืบพันธุ์ตาย
- ตำรับ 1 : นำพริกไทยล่อน(พริกไทยขาว) ผิวมะกรูด หัวกระชาย อย่างละเท่า ๆ กัน งูเห่าย่างไฟให้สุก 1 ตัว ตัวยาทั้ง 4 ตากแดดให้แห้ง แล้วบดเป็นผงละลายกับน้ำตาลโตนด กินสองอาทิตย์ได้ผล
อาเจียนเป็นเลือด
- ตำรับ 1 : นำใบหนุมานประสานกายต้มน้ำจนเคี่ยว ดื่ม
ต่อมทอนซิลอักเสบ
- ตำรับ 1 : นำใบฟ้าทะลายโจร ต้มน้ำดื่ม
แก้เอ็นท้องแข็ง
- ตำรับ 1 : นำแก่นต้นโกนา หรือโกส้มก็ได้ แก่นต้นก้านเหลือง แก่นตูมกา แก่นแดง ขมิ้นเครือ นำมาปริมาณเท่า ๆ กัน แช่น้ำดื่ม
แก้ลมพานใส่
- ตำรับ 1 : นำรากแมงลัก รากส้มลม ตะไคร้ กะเพรา ไพล ต้มน้ำดื่ม
แก้ไอเรื้อรัง
- ตำรับ 1 : นำแก่นเหมือดแอ่ (พลองเหมือด) ต้มน้ำดื่ม
ยาบำรุงกำลัง
- ตำรับ 1 : บอระเพ็ดบด 1 กระป๋อง หัวหญ้าแก้วบด 1 กระป๋อง เกลือทะเลบด 1 กระป๋อง นมข้นหวาน 1 กระป๋อง ผสมกันปั้นเป็นลูกกลอน ทานครั้งละ 2 เม็ด เช้า-เย็น
เนื้องอกในมดลูก
- ตำรับ 1 : หัวว่านหอม(เปราะหอม) รากดอกเกษ (การะเกด) ชุมเห็ดเทศ รากหนามแท่งเตี้ย แก่นตีนเป็ด (สัตตบรรณ) รากมะละกอตัวผู้ รากหญ้าแห้วหมู ต้มน้ำดื่ม
แฮ่ม
สรรพคุณ ใช้ในการรักษาโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ลดความอ้วน ละลายไขมันอุดตันในเส้นเลือด ขับสารพิษที่ตกค้างในร่างกาย โรคมะเร็ง โรคกระเพาะอาหาร ลำไส้เป็นแผล อัมพฤต อัมพาต ปวดหลังปวดเอว ช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพทางเพศ ระดูขาว สตรีอยู่ไฟไม่ได้
วิธีรับประทาน ใช้แฮ่ม 2-3 ชิ้น ต้มในน้ำ 1 ลิตร ต้มจนน้ำเดือด ดื่มวันละ 4 แก้ว หลังอาหารและก่อนนอน ผู้ที่มีปัญหาปวดขาปวดข้อใช้ดองเหล้าก็ได้ สำหรับชนิดผง ใช้แฮ่ม 1 ช้อนชา ชงกับน้ำร้อน 1 แก้ว ดื่มวันละ 4 แก้ว
หมายเหตุ : ตำรับยาทั้งหมดเป็นการรวบรวมไว้เพื่อเป็นหลักฐานแสดงถึงภูมิปัญญาในการรักษาโรคของคนในท้องถิ่น ยังไม่มีการตรวจสอบและรับรองคุณภาพแต่อย่างใด หากจะนำไปใช้จริงควรตรวจสอบจากผู้ที่มีความรู้เฉพาะทางก่อน
ที่ตั้ง : บ้านม่วง หมู่ 3 ตำบลสมสะอาด อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี
พิกัดภูมิศาสตร์ : 14.8440110, 104.9951300
บรรณานุกรม :
จำนงค์ กันนิกา. (2560). สัมภาษณ์ 25 พฤษภาคม 2560
บันทึกตำรายาสมุนไพรของนายจำนง กันนิดา.
สุดารัตน์ หอมหวล. (2561). ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, เข้าถึงเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2561, http://www.phargarden.com
สุดารัตน์ หอมหวล. (2561). ฐานข้อมูลพรรณไม้อ้างอิง คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, เข้าถึงเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2561, http://www.thaiherbarium.com