วัดปากน้ำ บุ่งสะพัง จังหวัดอุบลราชธานี วัดที่ตั้งอยู่ในชุมชนบ้านปากน้ำ หมู่บ้านเก่าแก่ที่มีอายุมากกว่า 200 ปี โดยกลุ่มคนที่เดินทางอพยพมาตั้งเมืองอุบลราชธานีพร้อมเจ้าพระวอและเจ้าพระตา ภายในวัดเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อเงิน 700 ปี พระพุทธรูปศิลปะเชียงแสนล้านช้าง อายุ 700 ปี หลวงพ่อนาคปรก พระพุทธรูปนาคปรกหินทราย ศิลปะยุคทวารวดี อุโบสถมิตรภาพไทย-อเมริกัน ที่สร้างขึ้นจากความช่วยเหลือของทหารหน่วยครีเอชั่น กองทัพสหรัฐอเมริกาที่เข้าประจำการ ณ ฐานบินอุบลราชธานี เป็นอุโบสถที่มีสถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างแบบภาคกลาง อุบลราชธานี และเวียงจันทน์เข้าด้วยกัน และมีพิพิธภัณฑ์บ้านปากน้ำ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่เก็บรวบรวมและจัดแสดงโบราณวัตถุและข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ
ประวัติวัดปากน้ำ บุ่งสะพัง อุบลราชธานี
จากคำบอกเล่าของชาวบ้านบ้านปากน้ำ เล่าว่ามีการตั้งชุมชนเนื่องมาเป็นเวลาถึง 200 ปี โดยคนกลุ่มแรกที่มาตั้งถิ่นฐานคือ กลุ่มของตาเนตร ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกันกับกลุ่มเจ้าพระวอ เจ้าพระตาที่อพยพหนีภัยสงครามจากการสู้รบระหว่างพระเจ้าสิริบุญสาร กษัตริย์เวียงจันทน์ กลุ่มของตาเนตรที่อพยพมามีประมาณ 5-6 ครัวเรือน
การตั้งชุมชนเริ่มแรกได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำมูล ปัจจุบันคือ บริเวณที่เรียกว่า ปากน้ำบุ่งสะพัง หรือบุ่งสระพัง การดำรงชีวิตของชาวชุมชนเริ่มแรกคือ การจับปลาจากแม่น้ำมูล ทำนา เลี้ยงสัตว์ ปลูกฝ้าย ปลูกปอ และทอผ้าเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งปัจจุบันชาวชุมชนยังคงดำรงชีวิตแบบดั้งเดิมในการทำนา จับปลา และเลี้ยงสัตว์
ต่อมาได้เกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลให้มีการย้ายหมู่บ้าน คือ เกิดโรคระบาดหรือโรคห่าและน้ำท่วมขึ้น ชาวบ้านในชุมชนจึงย้ายบ้านเรือนจากบริเวณริมแม่น้ำมูลบริเวณบุ่งสระพังขึ้นไปทางทิศเหนือ คือ บริเวณบ้านปากน้ำในปัจจุบัน ซึ่งมีลักษณะเป็นที่เนินสูงน้ำท่วมไม่ถึง เมื่อแรกย้ายมาบริเวณนี้มีต้นไม้ใหญ่ที่สำคัญคือ ต้นกระบาก ชาวบ้านจึงตั้งชื่อหมู่บ้านใหม่ว่า “บ้านบาก”
ใน พ.ศ. 2529 ได้มีการเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านเป็น “หมู่บ้านปากน้ำ” เพื่อให้สอดคล้องกับปากน้ำบุ่งสระพัง ซึ่งเป็นบุ่งที่บรรจบกับแม่น้ำมูล
จากภูมิหลังของชาวบ้านปากน้ำนั้น ทำให้พระครูพัฒนกิจวิมลหรือพระมงคลธรรมวัตร (บุญจันทร์ จัตตสัลโล) เห็นความสำคัญ จึงได้นำพาชาวบ้านร่วมกันอนุรักษ์วัตถุโบราณ เครื่องมือ เครื่องใช้ของชุมชนบ้านปากน้ำเอาไว้ที่วัดปากน้ำ โดยใช้ศาลาการเปรียญของวัดเป็นสถานที่เก็บรวบรวม และมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์สืบทอดให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาและเห็นคุณค่าของโบราณเก่าแก่ที่บรรพบุรุษได้คิดค้นเพื่อใช้ในการประกอบอาชีพ สิ่งเหล่านี้แสดงถึงภูมิปัญญา ศิลปวัฒนธรรม และประเพณีของคนในท้องถิ่น ชาวบ้านเล็งเห็นคุณค่าและความสำคัญจึงนำเอาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ อันล้ำค่ามามอบให้แก่ทางวัด ภายหลังทางวัดได้สร้างอาคารพิพิธภัณฑ์ขึ้นเพื่อเก็บรวบรวมและจัดแสดงสิ่งของเหล่านั้น
โบราณวัตถุและสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์วัดบ้านปากน้ำจะเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนในชุมชน อันประกอบด้วย เครื่องมือสำหรับการทำนา เช่น ไถ เครื่องสีข้าวแรงมือ กระบุง คุ กระติบข้าว เป็นต้น เครื่องมือสำหรับ การทำประมงพื้นบ้าน เช่น ตุ้ม ลาน จั่น สุ่ม เครื่องมือสำหรับการล่าสัตว์ เช่น หน้าเก้ง นาธนู โฮงไฟ เครื่องมือสำหรับการทอผ้า เช่น ฟืม กี่ จ่อ อัก กระสวย พวงสาวไหม และเชี่ยนหมากแบบต่าง ๆ
หลวงพ่อเงินอายุ 700 ปี วัดปากน้ำ บุ่งสะพัง อุบลราชธานี
หลวงพ่อเงินอายุ 700 ปี ;วัดปากน้ำ บุ่งสะพัง เป็นพระพุทธรูปศิลปะเชียงแสนล้านช้าง อายุ 700 ปี เป็นพระชัยหลังช้างหนึ่งเดียวแห่งอีสาน หลวงพ่อเงินเป็นพระพุทธรูป ที่มีความเกี่ยวข้องกับการสถาปนาเมืองอุบลราชธานีศรีวนาลัยแห่งค่ายนักรบในอดีต ขุดพบเมื่อ ปี พ.ศ. 2515 ณ วัดป่าพระพิฆเณศวร์ ริมแม่น้ำมูล ซึ่งอยู่ใกล้กับค่ายดอนมดแดง เมื่อเครื่องบินของทหารอเมริกันในยุคสมัยสงครามเวียดนามสังเกตเห็นว่ามีลำแสงประหลาดพุ่งขึ้นจากบริเวณนั้น
เมื่อคราวพระมงคลธรรมวัฒน์ (บุญจันทร์ จัตตสัลโล) กำลังสร้างพระอุโบสถมิตรภาพไทย-อเมริกัน นั้น ท่านได้นิมิตฝันว่าชายชุดขาวมาบอกว่าที่ วัดป่าพิฆเณศวร์ ยังมีสมบัติอยู่มาก อยากให้ไปเอาขึ้นมาเก็บรักษาไว้ เพื่อเป็นสมบัติของพระศาสนาให้ลูกหลานได้เคารพสักการบูชา ของสิ่งนั้น คือ “พระพุทธรูปเงิน” พร้อมกับกล่าวต่อไปว่ารุ่งขึ้นจะเกิดพายุในตอนบ่าย ต้นตาลภายในวัดจะหักปลายตาลหักไปทางทิศไหน ก็ให้ไปขุดตรงที่ปลายตาลที่ล้มลง ครั้นแล้วชายในชุดขาวก็หายไป และนิมิตฝันนั้นก็ได้เกิดขึ้นจริง ชาวบ้านได้เล่าถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นว่า ปกติต้นตาลเป็นต้นไม้ที่มีความแข็งแรง แม้ถูกลมพัดก็ยากที่จะหักโค่น แต่วันนั้นต้นตาลในวัดร้างเมื่อถูกลมก็หักโค่นลงแบบผิดปกติวิสัย โดยต้นตาลล้มทวนกระแสลมล้มลงทางทิศเหนือ พระมงคลธรรมวัฒน์ จึงได้นำชาวบ้านไปที่วัดป่าแล้วจุดธูปเทียนเครื่องสักการะบูชาคุณพระรัตนตรัย คุณบิดามารดา คุณครูบาอาจารย์ พร้อมกับอธิษฐานจิตอย่างแน่วแน่และมั่นคงว่า “หากเป็นจริงดังนิมิต ท่านก็จะรักษาพระพุทธรูปไว้ให้เป็นที่เคารพสักการบูชาของลูกหลานและพุทธศาสนิกชนสืบไป ขออย่าได้มีอุปสรรคใดๆ มาขัดขวาง” ครั้นแล้วก็ขุดตรงที่ปลายต้นตาลหักลงตามนิมิต ก็ได้พบแผ่นศิลาสี่เหลี่ยมถูกจัดไว้ในเหมือนหีบถูกฝังอยู่ มีความสวยงามและอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ทุกประการ เมื่อขุดขึ้นมาแล้วเปิดฝาหีบออกก็ปรากฏว่าภายในหีบศิลานั้นมีทรายเนื้อละเอียดสีขาวใสบริสุทธิ์เต็มหีบนั้น เมื่อทรายต้องแสงอาทิตย์ก็ส่องประกายวาวระยิบระยับ เมื่อนำทรายออกจากหีบก็เห็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย เนื้อเงินบริสุทธิ์ ประดิษฐานอยู่ภายในดังนิมิต พระพุทธรูปนั้นมีพุทธลักษณะที่งดงาม จึงอัญเชิญมาประดิษฐานไว้ แล้วน้อมลงกราบด้วยปีติและศรัทธาที่ตั้งมั่น และถวายนามว่า “หลวงพ่อเงิน” โดยกำชับชาวบ้านมิให้นำเรื่องนี้ไปบอกกล่าวให้ใครฟัง พระมงคลธรรมวัฒน์และชาวบ้านทุกคนจึงถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องรักษาหลวงพ่อเงินเทพนิมิตไว้เป็นมรดกของลูกหลานในหมู่บ้าน
และจากนิมิตของหลวงพ่อพระมงคลธรรมวัฒน์ ทำให้ทราบว่าหลวงพ่อเงินเป็นพระพุทธรูปที่มีความเกี่ยวข้องกับการสถาปนาเมืองอุบลราชธานีศรีวนาลัยด้วย คือ เป็นพระพุทธรูปประจำกองทัพของเจ้าปางคำแห่งราชวงศ์เชียงรุ้งแสนหวีฟ้า สิบสองปันนา ที่แตกหนีกองทัพจีนฮ่อมาสร้างนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน หนองบัวลุ่มภู หลวงพ่อเงิน น่าจะเป็นพระพุทธรูปประจำเมืองที่มีความสำคัญ หรือพระพุทธรูปประจำค่ายบ้านดอนมดแดงของเจ้าพระวอ ถ้าจะเปรียบก็น่าจะอยู่ในระดับพระไชยหลังช้าง คือ เมื่อจะไปทัพที่ไหน หรือเกิดสงครามที่ใดก็จะอัญเชิญพระพุทธรูปประดิษฐานบนหลังช้างไปกับกองทัพเพื่อให้เป็นสิริมงคลและเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะด้วย การขุดพบพระพุทธรูปเงินศิลปะเชียงแสนล้านช้าง บริเวณวัดป่าพิฆเณศวร์ บุ่งสระพัง จึงมีความเป็นไปได้ว่า บริเวณวัดป่าพิฆเณศวร์น่าจะเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญในการตั้งบ้านเมืองอุบลราชธานีศรีวนาลัย ของกองทัพเจ้าพระวอ ภายหลังอพยพมาจากนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบานสู่ลุ่มน้ำมูล
หลวงพ่อนาคปรก วัดปากน้ำ บุ่งสะพัง
หลวงพ่อนาคปรก วัดปากน้ำ บุ่งสะพัง เป็นพระพุทธรูปนาคปรกหินทราย ศิลปะยุคทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ 12-15 อายุประมาณ 1300 ปี พระพุทธรูปนาคปรกโดยทั่วไปมักจะมีพญานาคตัวเดียวขดเป็นฐานชุกชี แล้วแผ่พังพานออกเป็น 7 หัวเหนือพระเศียรพระพุทธรูป แต่พระพุทธรูปนาคปรก วัดปากน้ำ บุ่งสะพังองค์นี้จะมีพญานาค 7 ตัว ทอดขดกอดเกี้ยวรวมเป็นหนึ่ง แล้วแผ่พังพาน 7 หัว เหนือพระเศียรพระพุทธรูป เรียกว่า พญานาค 7 ตัว 7 เศียร แผ่พังพานเป็นกำบังพระพุทธเจ้า หลวงพ่อนาคปรกเดิมประดิษฐานอยู่ที่วัดป่าพระพิฆเณศวร์
การพบพระพุทธรูปนาคปรกหินทรายศิลปะยุคทวารวดีนี้ สอดคล้องกับหลักฐานทางโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ ทำให้เชื่อได้ว่า บริเวณชุมชนโบราณบุ่งสระพัง เป็นที่ชุมนุมการคมนาคมที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของอีสาน วัฒนธรรมยุคทวารวดีมีพื้นฐานพุทธศาสนาจากอินเดีย มีศูนย์กลางความเจริญรุ่งเรืองอยู่ที่ภาคกลางของไทย เริ่มเข้ามามีความสำคัญในอีสาน ราวพุทธศตวรรษที่ 12-15 ก่อตัวขึ้นภายหลังอาณาจักรเจนละเสื่อมอำนาจลง และ ต่อมาพระพุทธศาสนายุคทวารวดีก็ได้รับความนิยมแพร่หลายเกือบทั่วทั้งอีสานอย่างรวดเร็ว
หลวงพ่อเงิน 700 ปี (จำลอง) วัดปากน้ำ บุ่งสะพัง
หลวงพ่อเงิน 700 ปี (จำลอง) นี้ เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ มีขนาดหน้าตัก 8 เมตร สูง 18 เมตร โดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดสระเกศ กรุงเทพฯ ปฏิบัติหน้าที่แทน สมเด็จพระสังฆราชฯ เป็นผู้ประทานฤกษ์ และยกฉัตรพร้อมบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เพื่ออำนวยศรัทธาพุทธศาสนิกชนได้สักการะหลวงพ่อเงิน 700 ปี ด้วยความสะดวกและเป็นสถานที่รวมจิตใจ ของพุทธศาสนิกชนทั่วไป ตลอดจนเป็นสถานที่สำหรับจัดงานสำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่น งานสมโภชน์ เป็นต้น
พระธาตุพนมจำลอง วัดปากน้ำ บุ่งสะพัง
พระธาตุพนมจำลอง ณ วัดปากน้ำ บุ่งสระพัง อุบลราชธานี มีขนาดกว้าง 5 เมตร ยาว 5 เมตร สูง 25 เมตร ยอดพระธาตุบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และภายในบรรจุพระพุทธรูปทองคำสัมฤทธิ์ที่ได้มาจากวัดป่าพระพิฆเณศวร์ พระมงคลธรรมวัฒน์ได้สร้างพระธาตุนี้ไว้เพื่อเป็นศาสนสถานรำลึกและเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานรำลึกถึงครูบาอาจารย์ พระครูวิโรจน์รัตโนบล (รอด นันตโร) บูรพาจารย์ของท่าน นอกาจากนั้น ภายในพระธาตุพนมยังเป็นห้องที่เป็นที่บรรจุพระอัฐิของพระมงคลธรรมวัฒน์ และรูปภาพถ่ายขาวดำที่ถ่ายทอดและแสดงให้เห็นถึงเรื่องราวเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ท่านได้สร้างตลอดถึงการพัฒนาด้วยความวิริยะ อุสาหะ เพื่อให้ชุมชนบ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองตั้งแต่อดีต
อุโบสถมิตรภาพไทย-อเมริกัน วัดปากน้ำ บุ่งสะพัง
อุโบสถมิตรภาพไทย-อเมริกันหลังนี้สร้างขึ้นจากความช่วยเหลือของทหารหน่วยครีเอชั่น กองทัพสหรัฐอเมริกาที่เข้าประจำการ ณ ฐานบินอุบลราชธานี ในภารกิจซ่อมบำรุงบ้านเมืองที่ได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากสงคราม โดยได้ให้ความช่วยเหลือในการสร้างอาคารเรียนคอนกรีตหลังแรกของหมู่บ้านจนเสร็จสมบูรณ์แล้วยังได้ช่วยเหลือในการสร้างอุโบสถอีกด้วย โดยสนับสนุนอิฐ หิน ปูน ทราย ต่าง ๆ จนสร้างแล้วเสร็จ พระมงคลธรรมวัฒน์ ผู้อำนวยการสร้างได้เลือกนายช่างที่มีฝีมือดีที่สุดของจังหวัดอุบลราชธานีมาสร้าง อุโบสถถูกออกแบบให้มีขนาดเล็กซึ่งเหมาะแก่การประกอบสังฆกรรมของพระสงฆ์ในต่างจังหวัด มีความวิจิตรงดงามอ่อนช้อยประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ตามแบบอย่างอุโบสถทางภาคกลาง ตกแต่งบานประตูและหน้าต่างด้วยไม้แกะสลักฝีมือช่างหลวงจากเวียงจันทน์ที่ทั้งเป็นผู้ออกแบบและสับลาย อุโบสถหลังนี้เป็นงานสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานระหว่าง แบบภาคกลาง อุบลราชธานี และเวียงจันทน์
ที่ตั้ง วัดปากน้ำ บุ่งสะพัง
บ้านปากน้ำ ตำบลกุดลาด อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
http://www.paknamubonclub.com/
พิกัดภูมิศาสตร์ วัดปากน้ำ บุ่งสะพัง
15.284938, 104.97175
บรรณานุกรม
ชมรมส่งเสริมท่องเที่ยวบ้านปากน้ำ บุ่งสระพัง อุบลราชธานี. พระธาตุพนมจำลอง, วันที่ 23 มกราคม 2558. http://www.paknamubonclub.com/พระธาตุพนม-จำลอง-วัดปากน้ำ.
ชมรมส่งเสริมท่องเที่ยวบ้านปากน้ำ บุ่งสระพัง อุบลราชธานี. มหัศจรรย์..หลวงพ่อเงิน 700 ปี แห่ง ชุมชนบ้านปากน้ำ บุ่งสระพัง อุบลราชธานี, วันที่ 23 มกราคม 2558. http://www.paknamubonclub.com/หลวงพ่อเงิน-วัดปากน้ำ-บุ่งสระพัง.
ชมรมส่งเสริมท่องเที่ยวบ้านปากน้ำ บุ่งสระพัง อุบลราชธานี. หลวงพ่อนาคปรก, วันที่ 23 มกราคม 2558. http://www.paknamubonclub.com/หลวงพ่อนาคปรก-วัดปากน้ำ.
ชมรมส่งเสริมท่องเที่ยวบ้านปากน้ำ บุ่งสระพัง อุบลราชธานี. อุโบสถมิตรภาพไทย-อเมริกัน, วันที่ 23 มกราคม 2558. http://www.paknamubonclub.com/อุโบสถมิตรภาพไทย-อเมริกัน.
สมศรี ชัยวณิชยา และเมธี เมธาสุทธิ สุขสำเร็จ. (2554). พิพิธภัณฑ์วัดบ้านปากน้ำ แนะนำพิพิธภัณฑ์วัดบ้านปากน้ำ (บุ่งสระพัง) อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี. อุบลราชธานี: โครงการฟื้นฟูพิพิธภัณฑ์วัดบ้านปากน้ำ.