จากหลักฐานทางโบราณคดีที่ขุดพบที่บริเวณบ้านทุ่งใหญ่ ตำบลบ้านไทย อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ทำให้สันนิษฐานว่าบ้านทุ่งใหญ่ในอดีตนั้นเคยเป็นชุมชนขอมมาก่อน ที่เรียกกันว่า บ้านขะโหมย ปัจจุบันยังคงเก็บรักษาเหลือซากโบราณวัตถุต่าง ๆ ไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษา ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธรูปหินทราย ศิลาจารึก ใบเสมา ชุมชนบ้านทุ่งใหญ่ยังคงสืบสานจารีตประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างเหนี่ยวแน่นตามฮีตสิบสอง มีประเพณีที่สำคัญเป็นเอกลักษณ์ คือ การแทงหยวกแห่ประสาทผึ้ง การลอยเรือไฟ การถวายผ้าห่อคัมภีร์ การถวายพระบฏ โดยมีวัดโพธิ์ศรีทุ่งใหญ่เป็นศูนย์รวมจิตใจ
บ้านทุ่งใหญ่ ดินแดนบ้านเขมร
ประวัติความเป็นมาบ้านทุ่งใหญ่ เรียบเรียงจากป้ายที่บันทึกเรื่องราวไว้ ณ วัดทุ่งใหญ่ กล่าวไว้ว่า บ้านทุ่งใหญ่ ตำบลบ้านไทย อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี เดิมเรียกกันว่า บ้านขะโหมย แปลว่า บ้านเขมร จากหลักฐานทางโบราณคดีสันนิษฐานกันว่า เดิมที่แห่งนี้น่าจะเป็นชุมชนขอมโบราณ ด้วยปรากฏว่าพบร่องรอยสิ่งก่อสร้างและวัตถุโบราณต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น กู่ปราสาท เจดีย์ขนาดใหญ่ ซุ้มประตูหินที่ทางเข้าหมู่บ้านทั้งด้านทิศตะวันออก ทิศตะวันตก และทิศเหนือ พระพุทธรูป ใบเสมา หินศิลาจารึก ด้านทิศตะวันตกของหมู่บ้านมีซากเตาเผาโบราณและเตาเผามุงหลังคา ที่เรียกว่า ดินขอ
นอกจากนั้นโดยรอบหมู่บ้าน ยังพบว่ามีการขุดบ่อน้อยใหญ่เพื่อนำดินมาถมที่สร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ลักษณะเหมือนบาราย ได้แก่ หนองอีโฮง ที่อยู่ด้านทิศตะวันออกไปทางทิศใต้ และโค้งมาด้านทิศตะวันตกจดกับหนองหว้า และหนองช้างตาย หนองน้ำต่าง ๆ นอกจากจะเป็นแหล่งทำมาหากินของชุมชนแล้วยังเป็นแหล่งรวมตัวและแหล่งหากินของนกนานาชนิดอีกด้วย เช่น นกกระยาง นกกาบบัว นกกระทุง ซึ่งในตอนเย็นนกเหล่านี้จะกลับมานอนที่โนนยางที่ตั้งอยู่กลางหมู่บ้าน
บริเวณโนนยางจะเป็นที่เนินสูง มีต้นยางขนาดใหญ่อยู่ 2 ต้น โดยต้นหนึ่งนั้นมีการนำหินทรายแดงขนาดใหญ่มาวางไว้ที่คาคบไม้ ทำให้ต้นยางแยกเป็น 2 กิ่งขนาดใหญ่ จนคล้ายว่าเป็นต้นยาง 2 ต้น หินทรายแดงนี้ ว่ากันว่าเป็นหินที่ตัดมาจากเขมร และกำลังจะนำไปสร้างพระธาตุพนม แต่พระธาตุพนมสร้างเสร็จก่อน จึงเอามาเก็บไว้ที่คาคบต้นยางดังกล่าว ปัจจุบันต้นยางต้นนี้ได้ตายไปแล้ว
ภายหลังที่มีชุมชนใหม่ย้ายเข้ามาอยู่ที่บ้านขะโหมย ชาวบ้านก็ได้ใช้ประโยชน์จากบ่อน้ำหรือหนองน้ำที่ขุดไว้ ไม่ว่าจะเป็นแหล่งทำมาหากิน อุปโภค บริโภค ทำเกษตรกรรม เลี้ยงสัตว์ ประมง เป็นแหล่งรับน้ำเพื่อไม่ให้น้ำท่วมหมู่บ้าน และเป็นแนวป้องกันการบุกรุกของข้าศึกศัตรู ดินที่ได้จากการขุดบ่อก็นำมาถมที่ให้เป็นเนินสูงที่น้ำท่วมไม่ถึงสำหรับการปลูกบ้านเรือน อาคารและสถานที่ต่าง ๆ
นายแสง ฑีฆะสุข ได้เขียนจากคำบอกเล่าของคุณปู่ท้าวเพียพรหม โสภาทีฆะสุข ซึ่งเมื่อ พ.ศ. 2450 ท่านอายุได้ 91 ปี กำลังป่วยด้วยโรคชรา ส่วนนายแสง ฑีฆะสุข อายุ 14 ปี ได้เล่าประวัติความเป็นมาของการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่บ้านทุ่งใหญ่ว่า
เมื่อครั้งเกิดขบถขึ้นที่เมืองเวียงจันทร์ ได้มีกลุ่มคนลาวได้อพยพจากเวียงจันทร์ย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณต่าง ๆ ของเมืองอุบลราชธานี ไม่ว่าจะเป็นห้วยแจระแม บริเวณลุ่มน้ำชีตั้งแต่บ้านชีทวน บ้านท่าไห บ้านสร้างถ่อ บ้านโพนทราย บ้านโพนทอง เมืองมหาชนะชัย รวมทั้งบ้านขะโหมยนี้ด้วย กลุ่มเจ้านายคนสำคัญที่เป็นผู้นำพรรคพวกมาสร้างบ้านแปงเมืองที่บ้านขะโหมยนั้น ประกอบด้วย ท้าวศรีศิริมหาพล ท้าวพลมาศ ท้าวเพียพรหมโสภา นายชัย แก่นสาร นายสิงห์ พรชัย ภายหลังท้าวโคตรหลักคำ ก็ได้แยกตัวนำพรรคพวกไปสร้างชุมชนใหม่ทางทิศเหนือของบ้านขะโหมยอีก เป็นบ้านไผ่ และบ้านกลางในปัจจุบัน ลูกหลานของท้าวโคตรหลักคำก็ได้ใช้ชื่อของท่านเป็นนามสกุล “หลักคำ” สืบทอดวงศ์ตระกูลต่อกันมา
ในปี พ.ศ. 2487 นายม้วน สุวกร ได้ย้ายมาดำรงตำแหน่งนายอำเภอเขื่องใน ได้มาตรวจราชการถึงบ้านขะโหมยและได้มาพบเห็นท้องทุ่งและนาข้าวเป็นผืนดินกว้างใหญ่ปราศจากต้นไม้และสิ่งกีดกัน จึงได้ประชุมราษฎรภายในหมู่บ้านและประกาศว่าจะขอเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านขะโหมยใหม่ โดยให้ชื่อว่า บ้านทุ่งใหญ่ เพื่อความเหมาะสมแก่สภาพภูมิประเทศ
วัดโพธิ์ศรีทุ่งใหญ่ แหล่งศึกษาโบราณคดี
วัดโพธิ์ศรีทุ่งใหญ่ หรือวัดบ้านทุ่งใหญ่ ตั้งอยู่บริเวณด้านทิศเหนือของบ้านทุ่งใหญ่ เดิมเรียกว่า วัดบ้านขะโหมย สภาพที่ตั้งวัดเดิมเป็นเนินดินขนาดใหญ่และสูงกว่าบริเวณอื่น ๆ ภายในวัดพบโบราณวัตถุที่เป็นหลักฐานทางโบราณคดี ได้แก่ เสาหินขนาดใหญ่ตั้งอยู่ 4 มุม ใบเสมาหินทรายและศิลาแลงตั้งอยู่โดยรอบบริเวณที่สร้างพิพิธภัณฑ์ในปัจจุบัน ซากโบราณสถานและประติมากรรมหินทรายและศิลาแลง กรอบประตูหินทราย พระพุทธรูปปางต่าง ๆ ที่ทำจากหินทราย ไม้ โลหะ และทองคำ พระเกสรทั้งเนื้อว่านและเนื้อครั่ง หินหมากข่าง (ปัจจุบันอยู่ที่วัดสุปัฏนารามวรวิหาร)
พระพุทธรูปหินทรายปางสมาธิ สมัยพุทธศตวรรษที่ 13 ที่พบจำนวน 1 องค์ ได้ถูกนำไปจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี
ศิลาจารึกวัดโพธิ์ศรีทุ่งใหญ่ บ้านทุ่งใหญ่
ลักษณะทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมของศิลาจารึกจำนวน 2 หลักของวัดโพธิ์ศรี (วัดทุ่งใหญ่) ที่ตั้งอยู่บริเวณพิพิธภัณฑ์ที่เก็บโบราณวัตถุที่อยู่ทางด้านข้างของอุโบสถ จัดทำโดย ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศมรดกศิลปวัฒนธรรม กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม พบว่ามีลักษณะดังนี้
- เป็นศิลาจารึกรูปเสมา ทำด้วยหินทรายสีแดง ตัวอักษรไม่ชัดเจน
- หลักที่ 1 มีขนาดความกว้าง 55 เซนติเมตร หนา 10 เซนติเมตร สูง 86 เซนติเมตร หลักที่ 2 มีขนาดความกว้าง 60 เซนติเมตร หนา 16 เซนติเมตร สูง 150 เซนติเมตร
- อักษรที่จารึกในหลักที่ 1 เป็นอักษรอินเดียใต้รุ่น 3 หลังปัลลวะ มีจารึกทั้ง 2 ด้าน แต่ไม่ชัดเจน หลักที่ 2 ลักษณะอักษรเช่นเดียวกับหลักที่ 1 แต่มีอักษรเพียง 2 บรรทัด ด้านเดียว
ศิลาจารึกทั้งสองหลักน่าจะจารึกไว้เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 14-15 และมีข้อมูลทราบจากพระครูขันติคุณาภรณ์ ว่าตั้งอยู่ที่นี่มาแต่เดิมไม่มีการเคลื่อนย้ายใด ๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า บริเวณหมู่บ้านทุ่งใหญ่เคยเป็นชุมชนเก่าแก่ในอดีตอย่างเห็นได้ชัด เพราะนอกจากจะมีศิลาจารึกอยู่ที่นี่แล้ว ยังพบใบเสมาศิลา และฐานศิวลึงค์หลงเหลืออยู่
นอกจากพบวัตถุโบราณต่าง ๆ ในวัดแล้ว ยังพบอยู่ทั่วไปในหมู่บ้าน แต่ภายหลังบางส่วนก็ถูกทำลายไปจากการปรับพื้นที่หน้าดินให้เสมอกันเพื่อจัดสรรให้ชาวบ้านได้จับจองเป็นเจ้าของ และบางส่วนถูกลักลอบขุดขโมยไป
ในเมื่อปี 2557 วัดได้ดำเนินการสร้างพิพิธภัณฑ์ขึ้นเพื่อใช้เป็นสถานที่เก็บรักษาวัตถุโบราณของวัดที่ยังคงเหลืออยู่ให้มีปลอดภัยและเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชน
ลำดับเจ้าอาวาส วัดโพธิ์ศรีทุ่งใหญ่
- พระครูโคตร พ.ศ.2334-ย้าย พ.ศ.2343
- พระอุปัจฌาย์ลุน พ.ศ.2343-มรณะ พ.ศ.2365
- พระครูปัสสา พ.ศ.2366-มรณะ พ.ศ.2385
- พระครูฮุย พ.ศ.2386-ลาสิกขา พ.ศ.2392
- พระครูสีดา พ.ศ.2393-ย้าย พ.ศ.2398
- พระครูเสมียน พ.ศ.2399-มรณะ พ.ศ. 2418
- พระครูสม พ.ศ.2419-มรณะ พ.ศ.2429
- พระครูหลวง พ.ศ. 2429-ลาสิกขา พ.ศ. 2439
- หลวงพ่อพรหมโสภา พ.ศ.2439-ลาสิกขา พ.ศ.2443
- พระครูมึ้ม พ.ศ.2443-ลาสิกขา พ.ศ. 2448
- พระครูกา พ.ศ.2448-ลาสิกขา พ.ศ. 2455
- พระครูลี พ.ศ. 2455-ลาสิกขา พ.ศ. 2463
- เจ้าอธิการพรหม ปุญเญสโก พ.ศ.2463-มรณะ พ.ศ. 2495
- พระครูขันติคุณาภรณ์ พ.ศ.2495-มรณะ พ.ศ. 2552
- พระสมุห์ประมวล จนฺทสาโร พ.ศ. 2552-ลาสิกขา 2554
- พระครูภัทรเขตพิทักษ์ พ.ศ.2554-
ชุมชนบ้านทุ่งใหญ่ มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย อาชีพหลักคือการทำนาและรับจ้างทั่วไป ชุมชนมีวัดบ้านทุ่งใหญ่ศูนย์รวมและเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ชาวบ้านมีความเชื่อและถือปฏิบัติตามจารีตประเพณีที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน อาทิ การแทงหยวกแห่ปราสาทผึ้ง ลอยเรือไฟ ในบุญออกพรรษา การถวายผ้าห่อคัมภีร์ การถวายพระบฏ เพื่อแก้บน
ถวายพระบฏแก้บน วัดโพธิ์ศรีทุ่งใหญ่
พระบฏ คือ ผืนผ้าที่มีรูปพระพุทธเจ้าเป็นต้นและแขวนไว้เพื่อบูชา คำว่า บฏ มาจากคำในภาษาบาลีว่า ปฏ (อ่านว่า ปะ-ตะ) แปลว่า ผ้าทอ หรือ ผืนผ้า ส่วนมากเป็นผ้าแถบยาว มีวาดภาพพระพุทธเจ้า นิยมแขวนไว้ในสถานที่จัดพิธีกรรมในพุทธศาสนา ใช้แทนที่พระพุทธรูป เพื่อเป็นที่เคารพบูชา
ชาวบ้านทุ่งใหญ่ เมื่อมีเรื่องทุกข์ใจ มีปัญหา เจ็บไข้ได้ป่วย สิ่งของและสัตว์เลี้ยงหาย จะไปสอบไปเกณฑ์ทหาร หรือมีความปรารถนาในสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็จะมาบนบานศาลกล่าวกับหลวงปู่ทองดำ พญาขอม พระพุทธรูปหินทราย (ปัจจุบันเททองครอบไว้) พระคู่บ้านที่ชาวบ้านเคารพนับถือที่ประดิษฐานอยู่ในพิพิธภัณฑ์ ว่าหากสมหวังจะถวายพระบฏ เมื่อสิ่งที่ขอหรือบนบานไว้ได้ตามที่ต้องการแล้ว ก็จะมาแก้บนโดยการทำพระบฏมาถวายเป็นพุทธบูชาตามที่สัญญาไว้
การทำพระบฏนั้น ชาวบ้านจะให้พระสงฆ์เป็นผู้ทำให้ ที่วัดทุ่งใหญ่จะมีแท่นไม้สำหรับพิมพ์ภาพพระบฏลงบนกระดาษหรือผ้าขาว ลักษณะแท่นพิมพ์จะเป็นไม้สี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดกว้างประมาณ 30 เซนติเมตร และสูงประมาณ 20 เซนติเมตร หนา 1-2 เซนติเมตร เซาะร่องเป็นรูปพระพุทธเจ้า 2 องค์ ประดับด้วยดอกบัว
การทำพระบฏจะพิมพ์ภาพพระพุทธรูปกี่องค์นั้นขึ้นกับว่าไปบนบานไว้เท่าใด วิธีการพิมพ์เริ่มจากการทาสีย้อมไหมลงบนแป้นพิมพ์ ซึ่งจะนิยมใช้สีเหลืองหรือสีทอง ปาดสีส่วนเกินออก แล้วนำกระดาษมาวางบนแท่นพิมพ์ กดและเกลี่ยให้กระดาษติดสี แล้วจึงลอกกระดาษออก ผึ่งลมให้แห้ง จากนั้นเขียนชื่อของผู้แก้บนลงไป ติดเชือกทำเป็นที่ห้อย บ้างก็ปิดทองลงไปด้วย พระสงฆ์จะสวดชุมนุมเทวดา (ป่าวสัคเค กาเม) แต่งแก้ (สะเดาะเคราะห์) ให้ ชาวบ้านจะนิยมมาแก้บนในช่วงออกพรรษา เป็นความเชื่อที่ชาวบ้านปฏิบัติสืบทอดกันมานาน เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับตนเองและครอบครัว
ที่ตั้ง วัดโพธิ์ศรีทุ่งใหญ่
บ้านทุ่งใหญ่ ตำบลบ้านไทย อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี
พิกัดภูมิศาสตร์ วัดโพธิ์ศรีทุ่งใหญ่
15.472804, 104.410817
บรรณานุกรม
ธวัชชัย นามรมย์. (2560). สัมภาษณ์, 26 พฤศจิกายน 2560
พระครูภัทรเขตพิทักษ์. (2560). สัมภาษณ์, 26 พฤศจิกายน 2560
สุวัฒน์ ทองผา. (2562). ประวัติบ้านบ้านทุ่งใหญ่ ต.บ้านไทย อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี. เข้าถึงเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2562, https://youtu.be/eELZ68R7tik
ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศมรดกศิลปวัฒนธรรม กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม. (2561). วัดบ้านขะโหมย. เข้าถึงเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2562, http://www.qrcode.finearts.go.th/index.php/th/historic-site/hs-ubon-rajchathani/item/427-hs-ubonrajchathani-010