พบฮูปแต้มหรือจิตรกรรมฝาผนัง ที่สิมของวัดหนองเหล่า อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ถือเป็นแหล่งข้อมูลใหม่ที่เพิ่งถูกค้นพบ ฝีมือการเขียนของช่างโสภา ปางชาติ ภาพเขียนได้บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับบาปบุญคุณโทษ และผลจากการกระทำกรรมแบบต่าง ๆ และนิทานเรื่องสังข์สินไชย
ประวัติวัดหนองเหล่า
วัดหนองเหล่า เป็นวัดในสังกัดสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 8 ไร่ 3 งาน 75 ตารางวา ประวัติของวัดนั้นเล่ากันมาว่าพระอาจารย์ศิลาได้นำชาวบ้านสร้างขึ้นประมาณ พ.ศ. 2250 แต่ไม่พบหลักฐานหรือประวัติเดิม รู้แต่เพียงพอคร่าวๆ ว่า เดิมชื่อวัดบูรพา ต่อมาเมื่อประมาณ พ.ศ. 2479 พระมหาสี เป็นเจ้าอาวาสได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัด “โฆสิตาราม” ถึง พ.ศ. 2497 ทางคณะสงฆ์ได้กำหนดให้ชื่อวัดเรียกตามชื่อหมู่บ้านจึงเปลี่ยนเป็น “วัดหนองเหล่า” แต่บัดนั้นเป็นต้นมา ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2534 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 20 เมตร ยาว 40 เมตร ลักษณะพื้นที่วัดนั้นตั้งอยู่กลางหมู่บ้านมีถนนสาธารณะโดยรอบทั้งสี่ด้าน โดยด้านทิศตะวันออกนั้นติดกับถนนที่ใช้เดินทางระหว่างอำเภอเขื่องในและอำเภอม่วงสามสิบ
การปกครองคณะสงฆ์ วัดหนองเหล่า
วัดหนองเหล่ามีเจ้าอาวาสตามลำดับเท่าที่ทราบ ดังต่อไปนี้
- รูปที่ 1 พระอาจารย์ศิลา (ผู้สร้างวัด) พ.ศ. 2250 ถึง พ.ศ. ใดไม่มีหลักฐานปรากฎ
- รูปที่ 2 พระเทียม พ.ศ. 2430 ถึง พ.ศ. 2440
- รูปที่ 3 พระชู พ.ศ. 2441 ถึง พ.ศ. 2456
- รูปที่ 4 พระลี พ.ศ. 2457 ถึง พ.ศ. 2466
- รูปที่ 5 พระสา พ.ศ. 2467 ถึง พ.ศ. 2472
- รูปที่ 6 พระสี พ.ศ. 2473 ถึง พ.ศ. 2478
- รูปที่ 7 พระมหาสี จตฺตสลฺโล พ.ศ. 2479 ถึง พ.ศ. 2481
- รูปที่ 8 พระสัมพันธ์ ฐานํกโร พ.ศ. 2482 ถึง พ.ศ. 2486
- รูปที่ 9 พระวันทา ฐานิสฺสโร พ.ศ. 2487 ถึง พ.ศ. 2488
- รูปที่ 10 พระพูน โกวิโท พ.ศ. 2488 ถึง พ.ศ. 2492
- รูปที่ 11 พระครูคุณสารโสภณ พ.ศ. 2493 ถึง พ.ศ. 2541
- รูปที่ 12 พระครูอดุลธรรมประสิทธิ์ พ.ศ. 2542 ถึง ปัจจุบัน
ปูชนียวัตถุ วัดหนองเหล่า
- พระประธานในอุโบสถหลังเดิม ขนาดหน้าตักกว้าง 24 นิ้ว สร้างเมื่อ พ.ศ.2479
- พระประธานในอุโบสถหลังใหม่ ขนาดหน้าตักกว้าง 49 นิ้ว สร้างเมื่อ พ.ศ.2527
อาคารเสนาสนะ วัดหนองเหล่า
- อุโบสถ กว้าง 4.6 เมตร ยาว 14 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2527
- ศาลาการเปรียญ กว้าง 15 เมตร ยาว 26 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2515
- หอสวดมนต์ กว้าง 8 เมตร ยาว 11 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2522
- สิม สร้างเมื่อ พ.ศ.2470
อุโบสถสิม วัดหนองเหล่า
สิม ของวัดหนองเหล่า เป็นสิมบกขนาดเล็กก่ออิฐถือปูน เริ่มสร้างในปี พ.ศ. 2470 แล้วเสร็จในปี 2471 โดยดูจากบันทึกที่เขียนไว้ที่เหนือประตูทางเข้าสิมว่า “พระพุทธศักราช ๒๔๗๐ ข้าพเจ้า พระครูสา บ้านหนองเหล่า ได้พร้อมสานุศิษย์ภิกษุ ๑๖ รูป สามเณร ๙ รูป ทั้งอุบาสกอุบาสิกา และพระครูวันดี อุปัฌาย์บ้านผักแว่นเป็นต้น ได้สร้างโบสถ์หลังนี้เมื่อปีเถาะจึงสำเร็จมะโรง พ.ศ. ๒๔๗๑ และมีผู้ใหญ่เคนผู้ใหญ่ยู่เป็นประธาน” รูปแบบของสิมเป็นฝีมือสกุลช่างพื้นบ้าน รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาทรงจั่วมุง มีหน้าต่าง 6 ช่อง ประตูทางเข้า 1 ช่อง เขียนภาพสีประดับผนังด้านหน้าทางเข้าสิม เสา หน้าบันทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ด้วยลวดลายต่าง ๆ ทั้งนี้พบเฉพาะผนังด้านนอก สีที่ใช้เป็นสีเหลือง สีน้ำเงิน และตัดเส้นด้วยสีดำ
ติ๊ก แสนบุญ (2560) กล่าวว่า จากการสืบเสาะข้อมูลฮูปแต้มหรือภาพเขียนบนผนังสิมวัดหนองเหล่านี้ ได้ความว่าเป็นฝีมือของช่างโสภา ปางชาติ ช่างที่มีชื่อเสียงในการเขียนผ้าผะเหวดยุคนั้น โดยใช้เทคนิคการเขียนภาพผสมผสานระหว่างแบบช่างหลวงกรุงเทพฯ และช่างพื้นถิ่น ภาพที่เขียนประกอบด้วยเรื่องราวของพระมาลัย นรกภูมิ นิทานม่วนซื่น สังข์สินไชย เรื่องที่เกี่ยวกับบาปบุญคุณโทษ และกฎแห่งกรรม โดยสอดแทรกวิถีการแสดงออกอย่างชาวบ้านเข้าไปในเนื้อหาไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมความบันเทิงการละเล่นที่สนุกสนาน ที่โป๊ ๆ เปลือย ๆ หัวล้านชนกัน
การเขียนภาพจะมีเฉพาะผนังด้านนอกของสิม ซึ่งสอดคล้องกับจารีตอีสานที่ไม่ให้ผู้หญิงเข้าไปด้านในสิม ซึ่งลักษณะการเขียนแบบนี้จะได้ประโยชน์และมีความเหมาะสมกับการเผยแพร่มากขึ้น เพราะทำให้ผู้หญิงสามารถเข้าไปดูรายละเอียดและพิจารณาภาพเขียนได้อย่างใกล้ชิด
ที่ตั้ง วัดหนองเหล่า
เลขที่ 87 บ้านหนองเหล่า ถนนศรีอำนวย หมู่ที่ 1 ตำบลหนองเหล่า อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี
พิกัดภูมิศาสตร์ วัดหนองเหล่า
15.458171, 104.588380
บรรณานุกรม
ติ๊ก แสนบุญ. (2560). ฮูปแต้มอีสานสกุลช่างโสภา ปางชาติ ณ สิมเก่า วัดหนองเหล่า อำเภอเขื่องใน เมืองอุบล, วันที่ 20 พฤษภาคม 2562. https://www.silpa-mag.com/history/article_13201
วัดหนองเหล่า, 13 พฤษภาคม 2562. https://th-th.facebook.com/วัดหนองเหล่า-170006446457620/
สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, ผู้รวบรวม. (2551). ฐานข้อมูลวัดในจังหวัดอุบลราชธานี, 13 พฤษภาคม 2562. http://www.esanpedia.oar.ubu.ac.th/ubon_temple