ความสวยงามของขบวนต้นเทียนพรรษาทั้งประเภทแกะสลักและติดพิมพ์ของจังหวัดอุบลราชธานี ที่ปรากฏต่อสายตาประชาชนหรือนักท่องเที่ยวนั้น เกิดจากความรู้ความสามารถทางด้านศิลปะ ภูมิปัญญา ประกอบกับจินตนาการอันบรรเจิดของช่างเทียน ซึ่งการทำขบวนต้นเทียนพรรษาทั้งสองแบบนั้นมีกรรมวิธีและขั้นตอนการทำที่แตกต่างกัน ดังนี้
เทียนพรรษาประเภทติดพิมพ์
- การหล่อต้นเทียนจะหล่อให้มีขนาดเล็กกว่าขนาดที่ต้องการ เนื่องจากจะต้องมีการติดผึ้งแผ่นหรือดอกผึ้งเพื่อตกแต่งลวดลายที่สวยงามให้แก่ต้นเทียน จึงต้องอาศัยความชำนาญในการคำนวณขนาดของต้นเทียนให้พอดีเมื่อติดดอกผึ้งเสร็จแล้ว
- ต้นเทียนและองค์ประกอบต่าง ๆ จะต้องกลึงหรือทำโครงสร้างให้ชัดเจน ทั้งส่วนโค้ง ส่วนนูน และส่วนคอด เนื่องด้วยเวลาติดแผ่นผึ้งหรือดอกผึ้งนั้นจะติดลงไปบนพื้นผิวส่วนโครงสร้างต่าง ๆ เลย โดยไม่มีการเจาะ แกะ หรือเซาะรูปทรงนั้น ๆ อีก
- ขี้ผึ้งที่นำหล่อลำต้นเทียนและแผ่นผึ้งสำหรับทำโครงสร้างจะเป็นขี้ผึ้งผสม คุณภาพไม่ดีนัก มักมีสีเหลือง สีแดง หรือสีส้ม ส่วนดอกผึ้งจะใช้ขี้ผึ้งแท้คุณภาพดี มีสีเหลืองหรือสีเหลืองอ่อน ซึ่งเกิดจากสีธรรมชาติของขี้ผึ้ง หรือเทคนิคการผสมสีที่มีความสม่ำเสมอและกลมกลืน
- ลวดลายของต้นเทียนและองค์ประกอบเกิดจากการติดดอกผึ้งลงบนแผ่นผึ้งที่หุ้มโครงสร้างอยู่ หรือติดลงบนโครงสร้างโดยตรง ซึ่งผิวของโครงสร้างอาจจะเป็นไม้ หรือปูนปลาสเตอร์ ทั้งนี้ขึ้นกับการออกแบบของช่างทำต้นเทียน
- ลวดลายของต้นเทียนและองค์ประกอบอาจจะหลุดลอกออกได้ง่าย โดยเฉพาะเมื่อโดนความร้อน เนื่องจากเป็นการนำดอกผึ้งมาติดเรียงไว้โดยอาศัยความเหนียวของขี้ผึ้งเท่านั้น
- ลวดลายต่าง ๆ ที่ติดลงบนต้นเทียนและองค์ประกอบ จะประกอบด้วยดอกผึ้งเล็ก ๆ หลาย ๆ ชิ้นวางเรียงต่อลวดลายกันไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อแสดงถึงความละเอียด ความปราณีตและความชำนาญในการต่อลวดลาย
- ลวดลายมีความสวยงามแต่ไม่ต่อเนื่องเป็นเรื่องราวเดียวกัน ส่วนใหญ่จะเป็นลวดลายไทย ไม่ปรากฎว่ามีลวดลายที่เป็นรูปมนุษย์หรือคน เทวดา นางฟ้า หรืออมนุษย์ในลวดลายที่ติดลงบนต้นเทียนหรือองค์ประกอบ
- เครื่องมือ และวัสดุที่ใช้ในการพิมพ์ดอกผึ้งมีหลายอย่าง เพราะมีหลายขั้นตอนในการทำดอกผึ้ง
เทียนพรรษาประเภทแกะสลัก
- การหล่อลำต้นเทียนจะมีขนาดใหญ่กว่าขนาดที่ต้องการ เนื่องจากต้องเผื่อขนาดไว้สำหรับการเกลาเทียนออกในขั้นตอนของการแกะสลัก
- ขี้ผึ้งที่นำมาใช้ทำต้นเทียนและองค์ประกอบ จะเป็นขี้ผึ้งชนิดเดียวกัน มีสีเดียว และสีสม่ำเสมอกันทั้งหมด
- ลวดลายของต้นเทียนและองค์ประกอบเกิดจากการแกะสลักลวดลายต่าง ๆ ลงไป เช่น กระหนก นารี กระบี่ คชะ
- ลวดลายบนต้นเทียนและองค์ประกอบมีความคงทน ไม่หลุดลอก เพราะเกิดจากการแกะสลักลวดลายลงไปบนต้นเทียนและองค์ประกอบ แต่อาจจะมีการแตกหักได้
- ลวดลายมีทั้งขนาดเล็กไปถึงใหญ่ มีส่วนหนา นูน เส้นลายลึก สลับซับซ้อน มีมิติ ลวดลายมีความต่อเนื่องกันเป็นเรื่องราว แสดงถึงความสามารถ ความชำนาญในเชิงช่างและจินตนาการของผู้ออกแบบ
- เครื่องมือที่ใช้ในการแกะสลักเป็นเครื่องมือง่าย ๆ วิธีการไม่สลับซับซ้อน แต่มีความยากในการแกะสลัก
ข้อมูลเพิ่มเติม “เส้นสายลายเทียน เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี”
ที่ตั้ง : จังหวัดอุบลราชธานี
พิกัดภูมิศาสตร์ : 15.230193, 104.857329
บรรณานุกรม
ประทับใจ สิกขา, ศกุนตลา เกตวงศา และขนิษฐา ทุมมากรณ์. (2550). มูนมังเทียนพรรษา ใน เลิศล้ำเลอค่า เทียนพรรษาเมืองอุบล. อุบลราชธานี : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี